“ประยุทธ์” บอกประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์ประเทศด้วย ประชุมสภาระอุ! ถกญัตติชุมนุมนิสิต-นักศึกษา “รังสิมันต์” ไฮด์ปาร์กอัดลุงตู่ประพฤติชั่ว พร้อมยกวลีหนังมหาศึกชิงบัลลังก์ Winter Is Coming ส่งท้าย ปชป.เตือนรัฐบาลอย่าประมาท ม็อบครั้งนี้หนักกว่าอดีต เพราะมีการเคลื่อนไหวเป็นระบบ ทะแม่ง! ลงมติตั้ง กมธ.วิสามัญรับฟังข้อเสนอเยาวชน แต่ฝ่ายค้านไม่ยอมส่งชื่อ อ้างเป็นการซื้อเวลา “หน่อย”โผล่ซัดเป็นแค่เกราะป้องนายกฯ กระทุ้งผู้นำต้องลงไปพบเด็กๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 ก.ค. ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2563 โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวช่วงหนึ่งว่า วันนี้ถือว่าทุกคนทำงานเพื่อประเทศไทยเพื่อประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพยิ่ง ขอให้ข้าราชการทุกคนทั้งในและต่างประเทศทุกกระทรวง ทุ่มเท เสียสละ มีความอุตสาหะ จริงใจ มีทัศนคติที่ดี เพราะการทำงานในช่วงต่อไปนี้ แตกต่างจากช่วงรัฐบาลก่อนที่ผ่านมา ขอทุกคนช่วยกันเดินหน้าประเทศต่อไป แม้แต่เรื่องความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ก็สามารถเป็นไปได้ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องอัตลักษณ์และความเหมาะสมของประเทศด้วย
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติขยายการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 1 เดือน โดยจะไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะว่า หากมีการชุมนุม ทำกิจกรรมก่อนถึงสิ้นเดือน ก.ค. ก็ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงการชุมนุมที่เกิดขึ้นไปก่อนหน้านี้ ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 18 ก.ค. หรือหน้ากองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 20 ก.ค. หรือการชุมนุมแสดงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในต่างจังหวัดในหลายๆ พื้นที่เมื่อวันที่ 22 ก.ค. โดยตำรวจยังคงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
“ขอฝากถึงคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองหรือครอบครัวของบุตรหลานหรือเยาวชนผู้ที่จะเข้าร่วมการชุมนุมด้วยว่า อยากให้เตือนบุตรหลานและเยาวชน ต้องเคารพกฎหมาย ในการทำอะไรต่างๆ ถ้าหากว่าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาแล้วทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องดำเนินการ ซึ่งอาจส่งผลต่ออนาคตไม่มากก็น้อย และอาจมีประวัติการต้องโทษติดตัวไปตลอด ไม่สามารถลบออกไปได้”
และเมื่อเวลา 15.30 น. ที่สวนรัชดานุสรณ์ ตรงข้ามศาลากลาง จ.ขอนแก่น ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมจากพื้นที่ต่างๆ ของ จ.ขอนแก่นและใกล้เคียง ต่างทยอยเดินทางมาภายในบริเวณโดยรอบสวนรัชดานุสรณ์ ที่กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นและกลุ่มขอนแก่นพอกันที ได้จัดกิจกรรม “อีสานบ่ย่านเด้อ” ด้วยการเปิดเวทีสาธารณะและจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและฝ่ายปกครองที่วางกำลังโดยรอบ
จ่อเริ่มอดอาหาร
ส่วนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ นายศุภโชติ กระต่ายป้อง ฝ่ายประสานงานแนวร่วมนวชีวิน พร้อมนายภูมิวัฒน์ แรงกสิวิทย์ กลุ่มแนวร่วมนวชีวิน เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องขอให้ดำเนินมาตรการเยียวยาปากท้องเพื่อนร่วมชาติถ้วนหน้าทันที ถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยมีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ โดยนายภูมิวัฒน์กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมนวชีวินว่า ในเวลา 18.00 น.เป็นต้นไป จะมีกิจกรรมทอล์กโชว์ เพื่อให้คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ตกงาน การบริหารผิดพลาดของรัฐบาล มาพูดคุยปัญหาเศรษฐกิจในบริเวณที่อดอาหาร และในวันที่ 24 ก.ค. เวลา 11.20 น. แนวร่วมนวชีวินกับกลุ่มภาคีศาลายา จะจัดแฟลชม็อบหน้าทำเนียบรัฐบาล
“หากภาครัฐยังนิ่งนอนใจ วันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายที่ผมจะทานอาหารเพียง 1 มื้อ วันพรุ่งนี้จะเริ่มอดอาหาร ทานแต่เครื่องดื่มเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หากรัฐบาลไม่ตอบรับจะยกระดับต่อไป และในพื้นที่ที่ผมอดอาหาร จะทำเป็นหมู่บ้านคนจน เพื่อเป็นพื้นที่ให้รัฐบาลเห็นความยากลำบาก” นายภูมิวัฒน์ระบุ
ขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาญัตติด่วนขอให้รับฟังความคิดเห็นของนิสิตนักศึกษา ซึ่งเป็นการอภิปรายต่อเป็นวันที่สอง โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า อยากให้มองการชุมนุมด้วยแว่นมนุษยธรรม ซึ่งข้อเรียกร้องของนักศึกษามี 3 ข้อ หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่จำเป็นและเข้มแข็งมาก และเราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญนี้เป็นระบบที่ถูกสร้างมาโดยไม้ใกล้ฝั่ง สภาที่ร่างรัฐธรรมนูญอายุรวมกันเกินพันปี นิสิตนักศึกษาคนรุ่นใหม่ไม่มีส่วนร่วมเลย เราจึงต้องกลับมาทบทวนว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ปลดปล่อยโซ่ตรวจเผด็จการ ให้คนรุ่นใหม่สูดอากาศหายใจในแบบที่เขาต้องการ
“ขอฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ว่าบาปกรรมทั้งหลายที่ท่านได้ก่อขึ้นวันนี้ ประชาชนกำลังทวงถาม นายกฯ ต้องไม่โยนบาปให้สภา ท่านต้องอธิบายกับนิสิต นักศึกษา และหากนายกฯ ยังปฏิบัติเช่นเดิม ไม่อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่คุกเข่าอ้อนวอน ยังพูดจาไม่ดี ประพฤติชั่วเหมือนแต่ก่อน ผมขอเรียนนายกฯ ว่า Winter is coming”
ต่อมาเวลา 12.20 น. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) อภิปรายว่า นิสิต-นักศึกษาเรียกร้อง 3 ข้อ ข้อแรกแก้รัฐธรรมนูญ แต่ติดปัญหา พล.อ.ประยุทธ์นอนกอดรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้ามีความจริงใจในการแก้ไข ต้องส่งสัญญาณไปยังพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว. ดังนั้น อุปสรรคสำคัญที่สุดคือนายกฯ ข้อสอง เรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน ซึ่งคนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดคือนายกฯ ไม่ใช่สภา และข้อสาม เรียกร้องให้ยุบสภา ซึ่งผู้กุมอำนาจยุบสภาคือนายกฯ คนเดียวเท่านั้น
“เห็นด้วยที่สภาต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ แต่คู่กรณีโดยตรงในข้อเรียกร้องนี้คือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ผ่านมานายกฯ รับฟังคนอื่นได้ แต่ทำไมลูกหลานอยากให้รับฟังถึงไม่รับฟัง พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เวทีสภาเพื่อยื้อเวลาต่อไปอีกไม่ได้” น.ส.จิราพรกล่าว
ปชป.เตือนอย่าประมาท
ต่อมาเวลา 12.40 น. นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายสนับสนุนญัตติของ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. ที่ให้สภาตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นนักเรียน นิสิต นักศึกษา และเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของนิสิต-นักศึกษาทั้ง 3 ข้อ แต่จำเป็นต้องมีวิธีการ และเงื่อนเวลาในการปฏิบัติด้วย โดยข้อเสนอให้ยุบสภายังไม่ใช่ทางออก แต่ปัญหาที่แท้จริงมาจากปัญหารัฐธรรมนูญ
“การเคลื่อนไหวของน้องนิสิตนักศึกษาทุกวันนี้ เป็นการเคลื่อนไหวที่คล้ายกันกับการเคลื่อนไหวสมัย ต.ค.16 และ 19 แต่นี่มีอานุภาพมากกว่า เพราะมีการเคลื่อนไหวในท้องถนน ในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียน และการเคลื่อนไหวทางโซเชียลอย่างเป็นระบบ ผมบอกรัฐบาลได้เลยว่าอย่าประมาทและมองข้ามเสียงเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา เพราะนั่นคือปัญหาข้อเท็จจริงของประเทศในการเดินไปข้างหน้า” นายชัยชนะกล่าว และว่า ไม่ขัดข้องที่น้องๆ จะลงถนน แต่เวทีหนึ่งที่เราเป็นตัวกลางได้ก็คือตั้ง กมธ.วิสามัญ ไม่อยากเห็นเหตุการณ์บานปลายไปมากกว่านี้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลต้องรับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียน นิสิต นักศึกษา อย่างจริงใจ ต้องไม่มองเป็นศัตรู ไม่มองเป็นภัยคุกคาม และไม่ดูถูก โดยพรรคเสนอให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยไม่ต้องกำหนดวุฒิการศึกษา แต่กำหนดอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งหมดคือบันไดขั้นแรกที่จะเป็นทางออกของประเทศในตอนนี้ และขอให้พวกเราตั้งสติใหม่ เปิดใจ ปรับมุมมอง เพราะถ้าเราไม่พร้อมรับฟัง มองเยาวชนที่ออกมาแสดงความเห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อสถาบันฯ เช่นนั้นประเทศจะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตของประเทศเองแล้ว
จากนั้นเวลา 14.15 น. นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ได้สั่งให้ลงมติว่าจะให้สภาร่วมกันพิจารณาและส่งเรื่องให้รัฐบาลรับไปพิจารณาต่อหรือไม่ ผลปรากฏว่า เห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วย 261 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงไม่มี นอกจากนี้ นายศุภชัยยังให้ที่ประชุมลงมติญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล ขอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ หรือไม่ ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วย 260 เสียง ไม่เห็นด้วย 178 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง โดยตั้ง กมธ.วิสามัญฯ 39 คน ระยะเวลาทำงาน 90 วัน
ต่อมานายศุภชัยได้ให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอชื่อบุคคลเป็น กมธ. ปรากฏว่าพรรคซีกฝ่ายค้าน ทั้งพรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล, เสรีรวมไทย และประชาชาติ ไม่เสนอชื่อบุคคลเข้าร่วมเป็น กมธ.วิสามัญฯ โดยนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การตั้ง กมธ.วิสามัญจะเพิ่มขั้นตอนการรับฟัง อีกทั้งเป็นการทำงานซ้ำซ้อนกับคณะ กมธ.สามัญ รวมทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งนี้ การตั้ง กมธ.จะรับฟังเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องตั้งคณะ กมธ.
ด้านนายพิธาระบุว่า พรรคไม่ส่งสมาชิกเข้าร่วมคณะ กมธ. เพราะข้อเรียกร้องของนักศึกษาส่งสัญญาณชัดเจนไปยังนายกฯ ไม่ใช่สภา และคิดว่าการตั้ง กมธ.เป็นการประวิงเวลา
ทั้งนี้ นายศุภชัยได้กล่าวว่า จะให้พักการเสนอชื่อของฝ่ายค้านไว้ก่อน เผื่อมีการเสนอชื่อในภายหลัง
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรค พท.โพสต์เฟซบุ๊กว่า สภาควรมีมติส่งข้อเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาให้นายกฯ ไปพบ และตอบข้อเสนอของนิสิตนักศึกษาด้วยตัวเอง การตั้ง กมธ.วิสามัญ เป็นการซื้อเวลาและเป็นเกมการเมือง เพื่อลดแรงปะทะให้กับนายกฯ เท่านั้น
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงการชุมนุมของนิสิตนักศึกษา ว่ามีนิสิตนักศึกษาออกมาชุมนุมมากกว่าเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และพฤษาทมิฬ 35 โดยการชุมนุมต้องยึดข้อเรียกร้อง 3 ข้ออย่างเคร่งครัด แต่ห่วงใยว่าการชุมนุมต้องไม่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะจะทำให้จุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน ที่สำคัญจะนำพาไปสู่การสูญเสียจำนวนมาก
เตรียมรับ"สาธิต"
“พล.อ.ประยุทธ์ควรเป็นผู้ที่ลงมารับฟังความคิดเห็นจากนักศึกษามากที่สุด เพราะข้อเรียกร้อง 2 ข้อ ได้แก่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญและยุบสภา เกี่ยวข้องกับนายกฯ โดยตรง” นายจตุพรกล่าว
มีรายงานข่าวจากกองทัพบก กรณีนายสาธิต เซกัล นักธุรกิจที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุจะเดินทางพร้อมมวลชนมาพบ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ในวันที่ 24 ก.ค.เวลา 14.00 น. เพื่อสนับสนุนและหารือเรื่องการดูหมิ่นสถาบันฯ ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้ส่งตัวแทนเข้าพบ หรือให้ยื่นหนังสือผ่านผู้แทน ส่วนกรณีนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแกนนำสหภาพนักเรียนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ฉีกรูป พล.อ.อภิรัชต์ในระหว่างชุมนุมหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น ก็ไม่ได้มีการแจ้งความเอาผิดแต่อย่างใด
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานอนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูป ทบทวน และแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ใน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังที่ประชุมได้เชิญตัวแทนกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมือง อาทิ นายจตุพร, นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม มาร่วมรับทราบข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
นายชวลิตกล่าวว่า ทุกคนได้ตกผลึกทางความคิดว่า ความเห็นต่างทางการเมืองไม่ใช่สิ่งที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองตลอดไป ทำอย่างไรจึงจะลดความเกลียดชังของแต่ละฝ่าย ส่วนข้อเสนอการนิรโทษกรรมนั้น จะเป็นข้อหนึ่งที่เสนอไปยังรัฐบาลว่าต้องทำอย่างไรบ้าง แต่คงไม่อาจหาญเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเอง ส่วนการชุมนุมของนักศึกษาในเวลานี้ รัฐบาลควรรับฟัง สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทราบไทม์ไลน์การเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ อนุ กมธ.จะเชิญตัวแทนนิสิตนักศึกษามาให้ข้อมูลด้วย
นายสุริยะใสกล่าวว่า สถานการณ์โควิดจะเห็นคนไทยรวมใจเป็นหนึ่งเดียว หากทำได้อย่างนี้ เชื่อว่าความขัดแย้งจะผ่านไปได้ และพร้อมนำความเห็นของอนุ กมธ.ไปพูดคุยกับมวลชน ซึ่งทุกวันนี้คุยกับคนเสื้อแดงมากกว่าคนเสื้อเหลืองเสียอีก และพร้อมรับฟังเพื่อให้ข้อเสนอแนะในทุกเวที
ขณะที่นายจตุพรกล่าวว่า เหตุการณ์วันเสียงปืนแตกที่บ้านนาบัว จ.นครพนม เมื่อปี 2508 จนมาถึงการออกนโยบาย 66/2523 ใช้เวลา 15 ปี เช่นเดียวกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 15 ปีเช่นกัน และยังไม่แน่ใจว่าจะเข้าสู่ปีที่ 16 หรือไม่ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์ต่อไปยังมีความขัดแย้งอยู่ หากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ เราต้องไม่ตั้งคำถามว่าใครติดคุกมากกว่าใคร หรือใครติดคุกน้อยกว่ากัน ในความเห็นต่างต้องไม่มีใครมาตาย ดังนั้นอะไรที่เป็นทางออกของประเทศต้องเร่งดำเนินการ แต่ในฐานะที่มีผลประโยชน์ จะไม่ขอพูดถึงเรื่องของการนิรโทษกรรม.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |