ถ้ามาตรการช่วยเหลือหมด จะ ‘ตกหน้าผา’ กันไหม?


เพิ่มเพื่อน    

          วิกฤติโควิด-19 ยังจะต้องอยู่กับเราไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นทุกอย่างยังอยู่บนความไม่แน่นอนที่สูงตลอด

                เงื่อนไขสำคัญที่เศรษฐกิจไทยจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดหรือไม่ อยู่ที่ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสตัวนี้ไม่หวนกลับมาจนต้องมีมาตรการล็อกดาวน์กันอีก

                คำถามต่อมาก็คือ เมื่อมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือน ต.ค.นี้ จะเกิดอะไรขึ้น?

                ผู้ว่าแบงก์ชาติ คุณวิรไท สันติประภพ วิเคราะห์ให้ที่ประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analysts’ Meeting เมื่อสัปดาห์ก่อนตอนหนึ่งบอกว่า

                ธปท.ทำงานร่วมกับสถาบันการเงินในการดูแลเอสเอ็มอี และสถาบันการเงินเองได้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ของเอสเอ็มอีให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด

                แต่ก็ต้องยอมรับว่า สำหรับมาตรการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้เอสเอ็มอีในระยะต่อไปนั้นจะทำให้ธุรกิจระดับกลางและย่อยมีอันต้องล้มหายตายจากไปมากขึ้นหรือไม่

                คุณวิรไทตั้งคำถามและหาคำตอบเองว่า

                “ทุกคนจะตกหน้าผากันหมดหรือไม่เมื่อหมดมาตรการ ผมคิดว่าไม่ เพราะสถาบันการเงินที่เราพูดคุยกันต่อเนื่อง เรียกว่าคุยกันรายอาทิตย์เลย โดยมีการตามลูกหนี้กลุ่มต่างๆ อย่างไรบ้าง และมีการดำเนินมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างไรบ้าง

                อีกทั้งสถาบันการเงินเองก็ไม่ต้องการให้เกิดสภาวะเอ็นพีแอลกระโดดขึ้นสูงเหมือนกัน

                ที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่งคือ แนวโน้มอัตราว่างงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 สวนทางกับเศรษฐกิจที่ถึงจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2

                คุณวิรไทยอมรับว่า เรื่องการว่างงานเป็นประเด็นที่ ธปท.เป็นห่วงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

                เพราะขณะนี้มีหลายภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการจะยังไม่กลับมา ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมก็ยังมีการผลิตส่วนเกินอยู่ และจะไม่กลับมาเท่าเดิม

                อีกทั้งผู้ประกอบการจะใช้ระบบอัตโนมัติและเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมากขึ้น

                “การส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ และไม่ใช่แค่ปัญหาช่วงสั้นๆ เท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง”

                ที่น่าห่วงเป็นพิเศษในระยะสั้นคือ นักศึกษาที่จบใหม่ในปีนี้จะเข้าสู่ตลาดแรงงานค่อนข้างยาก

                และหากเขาว่างงาน ไม่ได้ทำอะไร 1-2 ปี ก็จะมีผลกระทบในระยะยาว จึงต้องมีการสร้างตลาดแรงงานไปพร้อมๆ กับการพัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการแรงงานสมัยใหม่

                อีกด้านหนึ่งที่น่าจะเป็นมาตรการเสริมคือ การดึงเอา บสย.มาช่วยเอสเอ็มอี

                คุณวิรไทพูดถึงการปล่อยเงินกู้ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ของ ธปท.ว่า ในช่วงการเยียวยาผลกระทบโควิดนั้น ธปท.ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยซอฟต์โลนไปแล้ว 1.03 แสนล้านบาท

                ส่วนซอฟต์โลนที่ยังเหลืออยู่อีกเกือบ 4 แสนล้านบาท จะมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินให้กับภาคธุรกิจ ในช่วงของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการทยอยเปิดประเทศ

                ที่ผ่านมาทั้ง ธปท. ธนาคารออมสิน ร่วมกับสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบแล้ว 2.4 แสนล้านบาท

                แต่มีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่บอกว่ายังเข้าไม่ถึงเงินก้อนพิเศษนี้ เพราะกฎเกณฑ์หลายอย่างยังไม่เอื้อต่อการช่วยให้การปล่อยเงินกู้สะดวกกว่าเดิมแต่อย่างใด

                ผู้ว่าแบงก์ชาติบอกว่า ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้เงินซอฟต์โลนให้คล่องตัวมากขึ้น

                สถาบันการเงินได้มีข้อเสนอแนะมายัง ธปท.หลายวิธี เช่น การให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามามีส่วนร่วมในการชดเชยความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ ธปท.จะต้องไปหารือกับกระทรวงการคลังก่อน และภายใต้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนก็ได้กำหนดเรื่องนี้เอาไว้ด้วย

                ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ กองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหุ้นกู้ที่อาจมีปัญหา

                กองทุน BSF มีวงเงิน 4 แสนล้านบาท ล่าสุดยังไม่มีเอกชนรายใดขอใช้เงินจากกองทุนนี้เลย

                เหตุเป็นเพราะเอกชนสามารถระดมทุนได้ในตลาดเงิน หรือขอกู้เงินแบงก์ได้

                “ซึ่งก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของ ธปท.ที่บอกว่า เราต้องการเป็นแหล่งเงินแหล่งสุดท้ายที่จะมาช่วยเติมเต็มในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง แต่หากมีคนมาขอใช้เงินจากกองทุนนี้ เราจะเปิดเผยรายชื่อและวงเงินที่ได้รับ ผ่านเว็บไซต์เช่นเดียวกับการขอซอฟต์โลน” คุณวิรไทบอก

                รัฐบาลกำลังจะมีทีมเศรษฐกิจใหม่ และเราก็จะได้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่เช่นกัน

                ความสำเร็จหรือล้มเหลวจะตัดสินกันด้วยความสามารถในการส่งไม้ต่อ, การบูรณาการและการปรับนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แปรผันได้ตลอดเวลา

                เพราะคนวางนโยบายจะไม่อยู่ทำจนจบ และคนที่มารับไม้ต่อก็ไม่ได้เป็นคนวางแผนการเหล่านี้แต่อย่างใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"