ความเคลื่อนไหวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงที่ผ่านมา ระหว่างการกดดันจากพรรคพลังประชารัฐ กับท่าทีของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อาจทำให้ดูเหมือน “บิ๊กตู่” กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชารัฐ กระทบกระทั่งกัน
แต่อีกมุมหนึ่ง หากมองดูความจริงที่เกิดขึ้นอาจเป็นนักการเมืองต่างหากที่นอกจากจะไม่สามารถกดดันหรือเรียกร้องอะไรได้แล้ว ยังอยู่ภายใต้การสะกดของพี่น้อง 3 ป.เสียอยู่หมัด
“บิ๊กป้อม” หูเบา ฟังนักการเมืองในพรรคพลังประชารัฐมากไปจริงหรือ? หากเป็นอย่างนั้น เหตุใดสิ่งที่ลูกพรรคเรียกร้องจนออกมาเป็นมติพรรคเมื่อวันที่ 21 ก.ค. ไม่ว่าจะเป็นการเสนอให้ พล.อ.ประวิตร เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบ รมว.มหาดไทย นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นั่ง รมว.พลังงาน นายอนุชา นาคาศัย นั่ง รมว.อุตสาหกรรม นายสุชาติ ชมกลิ่น นั่ง รมว.แรงงาน และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ นั่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงไม่ถูกรับปากว่าจะได้ตามนั้น
ขณะเดียวกัน ในช่วงการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในวันดังกล่าว “บิ๊กป้อม” แจ้งต่อแกนนำว่า “บิ๊กตู่” ให้มาแค่ 2 ที่ หรือ 3 ที่เท่านั้น พร้อมกับระบุว่า ใครในพรรคจะเสนออะไรก็เสนอไป แต่เรื่องการสลับตำแหน่งจะเป็นอำนาจองนายกฯ ขณะเดียวกันยังแจ้งว่าจะไม่รับตำแหน่ง รมว.มหาดไทยตามที่มีเสียงเชียร์จากคนในพรรค
หากพรรคพลังประชารัฐเขย่า “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” ได้จริง สภาพการณ์จะไม่ออกมาเป็นแบบนี้เลย
อย่างไรก็ตาม ประเด็น รมว.มหาดไทย ที่แกนนำในพรรคพลังประชารัฐผนึกกำลังกันยุให้ “บิ๊กป้อม” ไปนั่ง โดยหว่านล้อมสารพัดสารเพ แล้วโยกเอา “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไปเป็น รมว.กลาโหมนั้น ส่วนหนึ่งเพราะพรรคต้องการใช้กลไกนี้ไปใช้ในท้องถิ่นและพื้นที่ของ ส.ส.
ประกอบกับที่ผ่านมา “บิ๊กป๊อก” คือ 1 ใน 3 ป. ที่ไม่ค่อยสมาคมกับบรรดา ส.ส.และนักการเมืองสักเท่าไหร่ ทำให้บรรดาลูกพรรคเข้าไม่ถึง ไอเดียนี้จึงเกิดขึ้น
แต่เมื่อ 3 พี่น้องคุยกันแล้วว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะทำแบบนั้น ข้อเสนอนี้จึงถูกปฏิเสธ อันเป็นการทำให้เห็นอีกครั้งว่า ทฤษฎีเลือดข้นกว่าน้ำนั้นเป็นจริง
3 ป.อาจไม่ใช่พี่น้องที่พ่อแม่เดียวกัน แต่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ขึ้นหลังเสือพร้อมกันมาหลายสมรภูมิ ต่างจากนักการเมืองเหล่านี้ที่เพิ่งเข้ามาในชีวิต ดังนั้น ข่าวเสี้ยมผิดใจ-แตกคอ จึงไม่สามารถขย่มความสัมพันธ์ได้
แล้วหากลงลึกลงไปอีก การที่ “บิ๊กตู่” ให้เก้าอี้รัฐมนตรีแก่พรรคพลังประชารัฐรอบนี้เพิ่มอีก 2 ที่นั่ง กลับเป็น “กำไร” ไม่ใช่ “ขาดทุน”
เพราะรัฐมนตรีที่ลาออกไป ได้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีต รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 4 ตำแหน่งนั้น อย่างน้อย 3 คนเป็นโควตาของพรรคพลังประชารัฐ
โดย นายอุตตม ได้รับตำแหน่ง รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ได้รับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ในฐานะเลขาธิการพรรค และนายสุวิทย์ได้รับตำแหน่ง รมว.อว. ในฐานะรองหัวหน้าพรรค
แต่ครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ให้คืนกับพรรคพลังประชารัฐมาแค่ 2 ที่นั่ง ขณะที่ตำแหน่ง รมว.คลัง และ รมว.พลังงาน หมายมุ่งจะใช้คนนอกที่เป็นมืออาชีพ
ขณะที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ส่อเค้าต้องจมกับความผิดหวังอีกครั้ง แม้พรรคจะเสนอชื่อก็ตาม เพราะคำว่า 2 ที่นั่ง หรือ 3 ที่นั่ง ที่ “บิ๊กป้อม” นำสารจากนายกฯ มาแจ้งลูกพรรคนั้น หากถอดรหัสคำนี้ให้ละเอียดจะพบว่า คือ 2 ที่นั่งนั้นได้แน่นอน แต่ 3 ที่นั่งนั้นไม่ชัวร์
2 ที่นั่งที่ “บิ๊กตู่” ให้แก่พรรค แน่นอนว่าคนแรกที่อุ่นใจได้ก่อนคือ นายอนุชา เพราะเป็นเลขาธิการพรรค ส่วนนายสุชาติกับนางนฤมลนั้น หากวัดกันปอนด์ต่อปอนด์ในทางการเมือง นายสุชาติมีภาษีดีกว่า ทั้งในแง่อาวุโสและ ส.ส.ที่อยู่ในมือ
นอกจากนี้ แม้นางนฤมลจะใกล้ชิดกับ “บิ๊กป้อม” แต่การให้ตำแหน่งรัฐมนตรีอาจจะทำให้ตอบคำถามกับลูกพรรคคนอื่นไม่ได้ เพราะเป็น ส.ส.สมัยแรก ไม่มี ส.ส.ในมือ และผลงานไม่ได้ประจักษ์มากนักในตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อาจจะยิ่งสร้างความไม่พอใจ และเกิดบรรทัดฐานใหม่ว่า ต่อไปใครอยากได้ตำแหน่งก็แค่ “เข้าหานาย”
ที่สำคัญ เจตนาของ “บิ๊กป้อม” ในการเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค คือการแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน การให้ “อนุชา” กับ “สุชาติ” คือ 1 ในยุทธศาสตร์ที่กระจายอำนาจอย่างทั่วถึงเพื่อสยบคลื่นลมที่เคยมี
แม้ภายนอกจะดูเหมือน “บิ๊กป้อม” จะลำเอียงกับลูกพรรคบางคน แต่หากดูการจัดสรรตำแหน่ง ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ทั้งกรรมการบริหารพรรค ทั้งตำแหน่งทีมโฆษกพรรค เน้นกระจายให้ทุกก๊วนแบบเท่าเทียม ไม่มีใครมากกว่าใคร
เช่นเดียวกับตำแหน่ง รมว.พลังงาน ที่พรรคเสนอชื่อนายสุริยะ หาก “บิ๊กป้อม” จะให้จริงๆ คงไม่โยนไปให้ “บิ๊กตู่” ตัดสินใจ แต่ทุบโต๊ะขอได้เลย เพราะพี่กับน้องย่อมคุยกันได้
การที่ “บิ๊กป้อม” ยอมให้พรรคเสนอ เป็นเพียงแค่การลดแรงกดดันจากลูกพรรค และทำในฐานะหัวหน้าพรรค ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้ใครจะได้ ใครจะอด ย่อมเป็นการตัดสินใจของ “บิ๊กตู่”
เป็นการใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารคน
ดังนั้น การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นการสะท้อนได้อย่างแจ่มชัดที่สุดว่า “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” หรือพี่น้อง 3 ป. ถือไพ่เหนือกว่าฝ่ายการเมือง ทหารยุคนี้ไม่ได้เป็นหมูให้เคี้ยวง่ายๆ
ขณะที่เก้าอี้ รมว.พลังงานที่นายสุริยะปรารถนา หากท้ายที่สุดไม่สมหวัง แต่ก็ไม่ถือว่าล้มเหลว เพราะการที่นายอนุชาได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรี หมายความว่าขณะนี้กลุ่มสามมิตรเป็นก๊วนที่มีรัฐมนตรีมากที่สุดในพรรค คือนายสุริยะ นายสมศักดิ์ และล่าสุดคือ นายอนุชา
กลายเป็นเหมือนการเล่นเกมต่อรอง ที่โดยทฤษฎีต้องขอมากไว้ก่อน ที่สุดแม้ไม่ได้สูงตามที่ต้องการ แต่การได้เพิ่มถือว่ากำไร
ส่วนอีกตำแหน่งที่ต้องจับตาคือ หากนฤมลอกหักซ้ำสอง ตำแหน่งนี้จะถูก “บิ๊กตู่” นำไปใช้ดึงคนนอก หรือจะเป็นพรรคพลังท้องถิ่นไทของนายชัชวาลล์ คงอุดม ที่คราวก่อนยอมหลีก ไม่เกเร ซึ่งน่าสนใจ.
////////////////
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |