"นายกฯ" ถก ศบค.ชุดใหญ่ ยกระยองเป็นสัญญาณเตือนทุกคนต้องไม่ประมาท ย้ำเกิดเหตุต้องรีบชี้แจงทันที พร้อมเคาะเกณฑ์เปิดเฟส 6 สร้างสมดุลสาธารณสุข-เศรษฐกิจ พบติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6 รายกลับจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักตัวรัฐ "โพล" เผย ปชช.กังวลโควิดรอบ 2
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 22 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งก่อนการประชุม ศบค. พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนและสัญญาณเตือน พวกเราทุกคนจะต้องไม่ประมาท ภายหลังที่พวกเราทุกคนประสบความสำเร็จและมีความร่วมมือที่ดี จึงขอให้กำลังใจทุกคนอย่างต่อเนื่อง ทราบดีทุกคนพยายามและทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง ขออย่าท้อถอยหรือปล่อยมือ ขอให้ทุกคนอดทนโดยเฉพาะความพยายามของการรักษาสมดุลด้านการสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะมีความสลับซับซ้อนมากมาย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรายังต้องเผชิญเรื่องการบิดเบือนต่างๆ เพื่อประโยชน์อะไรก็ตามจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขอให้ทุกคนยืนหยัดและตั้งมั่นในเจตนารมณ์ที่บริสุทธิ์ที่จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง และก้าวเดินสู่ความสำเร็จโดยรวม ขอขอบคุณทีมประชาสัมพันธ์และโฆษก ศบค. วันนี้เราจะต้องเข้มงวด ละเอียด รอบคอบในการพิจารณาทบทวนมาตรการต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งแผนเผชิญหน้าในเชิงรับและเชิงรุกและแผนเผชิญเหตุที่ต้องประสานให้สอดคล้องทุกขั้นตอน
"มาตรการที่จะพิจารณาต้องรับฟังเสียงและความคาดหวังของประชาชนส่วนใหญ่ พร้อมช่วยกันชี้แจงทำความเข้าใจหลักการและเหตุผลที่เราตัดสินใจ ตอบคำถามประเด็นข้อสงสัย สื่อมวลชนและสังคมได้ทันท่วงที รวมไปถึงชี้แจงผ่านช่องทางการติดต่อสื่อสารออนไลน์ต่างๆ ด้วย อย่างกรณีเหตุการณ์ที่จังหวัดระยองนั้น ได้ลงพื้นที่ทันทีในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปสร้างขวัญกำลังใจให้ประชาชน เราคาดหวังเหตุการณ์ต่างๆ กำลังดีขึ้น มีการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น เพื่อเตรียมรับนักท่องเที่ยวในประเทศ" นายกฯ กล่าว
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ในการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ นายกฯ ขอบคุณประชาชนในพื้นที่ จ.ระยองและ กทม.ในการรับมือสถานการณ์ช่วงที่ผ่านมา พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ขออย่าได้ท้อถอย เพราะโรคนี้อยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร แต่จะต้องรักษาสมดุลเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ มีแผนการทำงานเชิงรับ เชิงรุก และแผนเผชิญเหตุที่ต้องจัดการ พร้อมรับฟังเสียงและความคาดหวังของประชาชนที่ต้องเป็นไปตามความเป็นจริงเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มเติมการสื่อสารไปถึงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์
"ที่สำคัญเราได้รับรถพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัย ซึ่งเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ดูแลประชาชน จ.ระยอง อีกไม่กี่วันก็จะครบ 14 วัน ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้นายกฯ ยังห่วงใยกรณีมีการชุมนุม ซึ่งต้องรักษาสมดุลจัดการเว้นระยะห่าง เนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
โฆษก ศบค.กล่าวว่า ศบค.ยังได้พิจารณาข้อตกลงพิเศษให้กลุ่มนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ และนักการทูต จัดทำความร่วมมือช่องทางพิเศษ แต่ทั้งหมดเมื่อเข้ามาแล้วต้องอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐรับรอง โดยจะให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำรายละเอียดเพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือในกิจการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและกิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีใบอนุญาตการทำงาน และวีซ่าแล้ว จำนวน 69,235 ราย และกลุ่มที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำงานและวีซ่า จำนวน 42,168 ราย
"คนกลุ่มนี้เมื่อเดินทางเข้ามาต้องมีหนังสือรับรองแพทย์ ผู้ประกอบการ ต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายก่อนนำแรงงานเข้ามา ซึ่งการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องมีการตรวจสุขภาพ อบรม ณ สถานที่กักตัว รับใบอนุญาตทำงานเมื่อครบกำหนดกักตัว และนายจ้างต้องจัดยานพาหนะมารับแรงงานดังกล่าว เมื่อแรงงานถึงสถานที่ทำงานแล้ว ต้องรายงานให้สาธารณสุขจังหวัดรับทราบ และจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบ ติดตาม เพราะการจะให้ทั้งหมดเข้าไปอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ ถือว่ามีต้นทุนที่สูง เพราะตกอยู่ที่ 2 หมื่นบาทต่อคน จึงมีแนวคิดให้เจ้าของกิจการจัดพื้นที่ขึ้นมา เพื่อให้แรงงานกักตัวมากกว่า 1 คนต่อห้อง โดยต้องมีมาตรฐานและระบบป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ออกนอกพื้นที่ ซึ่งตรงนี้จะให้กระทรวงแรงงานไปพิจารณารายละเอียดและดำเนินงาน" โฆษก ศบค.กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ศบค.ยังเห็นชอบผ่อนคลายเฟส 6 ซึ่งทั้งหมดที่ได้รับการผ่อนคลายจะต้องกักตัว 14 วัน โดยให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดการแสดงสินค้าในราชอาณาจักร ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.เป็นต้นไป มีแนวทางปฏิบัติที่เข้ามาแล้ว ต้องอยู่ที่โรงแรมที่ได้รับการรับรองมีเจ้าหน้าที่ดูแล 1 ต่อ 10 คน ตรงนี้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. จะเป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียด อีกทั้งยังมีการอนุมัติในหลักการสำหรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีมูลค่าสูง ตรงนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะดำเนินการในรายละเอียดก่อนจะเปิดให้เข้ามาในช่วงที่เหมาะสม
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 6 ราย ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,261 ราย หายป่วยสะสม 3,105 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98 ราย ผู้เสียชีวิตคงที่ 58 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่ 4 รายเป็นนักศึกษาที่เดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ ถึงประเทศไทยวันที่ 8 ก.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐที่ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 21 ก.ค. โดยเที่ยวบินดังกล่าวมีผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้แล้ว 11 ราย ส่วนรายที่ 5 เป็นหญิงไทยอายุ 36 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกา ถึงประเทศไทยวันที่ 10 ก.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 20 ก.ค. ไม่มีอาการ ขณะที่รายที่ 6 เป็นหญิงไทยอายุ 57 ปี อาชีพแม่บ้าน เดินทางกลับจากเยอรมนี ถึงประเทศไทยวันที่ 16 ก.ค. เข้าพักสถานที่กักตัวของรัฐ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิดวันที่ 20 ก.ค. ไม่มีอาการ
"สถานการณ์ทั่วโลกยอดผู้ติดเชื้อรวม 15,093,712 ราย ถือว่าแตะยอด 15 ล้านเป็นวันแรก โดยมียอดเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 แสนราย เสียชีวิต 619,467 ราย จึงถือว่าสถานการณ์โลกยังถือว่าวิกฤติ" โฆษก ศบค.กล่าว
อย่างไรก็ตาม ช่วงท้าย นพ.ทีวศิลป์กล่าวว่า หลังจากสถานการณ์ที่ จ.ระยองคลี่คลายแล้ว การแถลง ศบค.จะปรับการแถลงให้เหลือแค่วันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยตนจะแถลงวันจันทร์และวันศุกร์ ส่วนวันพุธจะให้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข
วันเดียวกัน นิด้าโพลเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่องโควิด-19 รอบ 2 พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 35.46 ระบุกังวลมาก เพราะประชาชนบางกลุ่มละเลยการป้องกันตนเอง และหากมีการแพร่ระบาดอีกจะทำให้การใช้ชีวิตแย่ลงกว่าเดิม รายได้จะหายไปมากกว่าเดิม, ร้อยละ 31.05 ระบุค่อนข้างกังวล เพราะยังพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ และมาตรการการป้องกันไม่รัดกุม โดยเฉพาะการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศ, ร้อยละ 16.23 ระบุว่าไม่ค่อยกังวล เพราะมั่นใจในการทำงานของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในขณะที่บางส่วนบอกว่าอาศัยอยู่ในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นพื้นที่เสี่ยง และประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี และร้อยละ 17.26 ระบุว่าไม่กังวลเลย เพราะประชาชนส่วนใหญ่ดูแลและป้องกันตนเองดี เชื่อมั่นในมาตรการการป้องกันของรัฐบาล และไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศติดต่อกันนานมาก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |