ภาพเศรษฐกิจของหลายประเทศจากการถูกโควิด-19 โจมตีอย่างหนัก ในขณะที่ทุกอย่างไม่นิ่งยังไม่อาจประเมินได้แน่นอนว่าใครจะรอดหรือไม่รอด
สัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นตัวเลขจีดีพีของสิงคโปร์สำหรับไตรมาส 2 หดตัวแรงกว่าคาดมาก คือติดลบถึง 41.2 ขณะที่ไตรมาสแรกหดตัว 12%
แต่จีนกลับเห็นการเด้งขึ้นในไตรมาสที่ 2 โดยมีตัวเลขจีดีพีเป็นบวกที่ 3.2% ทั้งๆ ที่ไตรมาสที่ 1 มีการหดตัวถึง 6.8%
ตัวเลขไตรมาส 3 และ 4 จึงเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะมีการหวนคืนของโควิดรอบที่ 2 และรอบที่ 3 อย่างไรหรือไม่
ของไทยเราเองนั้น ผู้ว่าแบงก์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภพ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะฟื้นตัวไตรมาส 3
พูดง่ายๆ คือ ของเราไตรมาส 2 น่าจะเป็นจุดต่ำสุดแล้ว ต่อไปนี้ควรจะเริ่มโงหัวขึ้น
แต่จะโงหัวแบบไหนเป็นเรื่องที่ต้องคอยจับตาดูของจริงกันต่อไป
คุณวิรไทบรรยายสรุปในที่ประชุมของนักวิเคราะห์ หรือ Analyst Meeting สัปดาห์ก่อนว่า แม้ว่าล่าสุด ธปท.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบ 8.1% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
และหากควบคุมไม่ให้มีการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยได้ จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคลี่คลายและค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา
"ลักษณะของโรคระบาดจะกลับมาได้เป็นระยะๆ แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเราจะสามารถควบคุมการระบาดได้ ทำให้การออกมาตรการแรงๆ และเป็นระยะเวลานานๆ อาจไม่จำเป็น ส่วนคนไทย ธุรกิจไทยเอง ก็เรียนรู้เรื่องการปรับตัวและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีก ดังนั้นเมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจคลี่คลาย ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยไตรมาส 2 ถือเป็นจุดต่ำสุดแล้ว" คุณวิรไทบอก
แต่ท่านก็เตือนว่าเราต้องไม่อยู่ในความประมาท
หากเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบ 2 ในประเทศไทยอีก ธปท.เชื่อว่ามีเครื่องมือพร้อมใช้สำหรับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งจะมีมาตรการเพิ่มเติมออกมา เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งทีมงานของ ธปท.กำลังพิจารณา และมีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้แต่ละกลุ่มเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
แนวทางการบริหารจัดการวิกฤตการณ์โควิด-19 และวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ คุณวิรไทนำเสนอไว้ 5 ประเด็น ได้แก่
1.วิกฤติที่เกิดขึ้นในรอบนี้มีผลกระทบกว้างไกลมาก และไม่มีนโยบายใดนโยบายหนึ่งที่จะสามารถจัดการกับวิกฤติรอบนี้ได้ ดังนั้น การประสานนโยบายต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนโยบายการคลัง นโยบายการเงิน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน เช่น นโยบายด้านสินเชื่อ และนโยบายด้านอุปทาน เป็นต้น
"นโยบายการคลังจะเป็นพระเอกในช่วงแรก เพราะวิกฤติรอบนี้ทำให้คนขาดรายได้ กิจกรรมเศรษฐกิจชะงักงัน จึงต้องเติมรายได้ ซึ่งเป็นบทบาทที่สำคัญของนโยบายการคลัง ส่วนนโยบายเงินและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงิน จะเป็นนโยบายที่ช่วยเสริมเพื่อทำให้เกิดการปรับตัว ไม่ให้เกิดการสะดุดหยุดลง ดังนั้น การจัดการกับวิกฤติรอบนี้จึงเป็นเรื่องของการประสานนโยบาย และจัดลำดับความสำคัญของนโยบายให้เหมาะสม"
2.ด้านการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน
ธปท.ต้องทำให้กลไกของระบบการเงินและตลาดการเงินที่สำคัญๆ ทำงานและทำหน้าที่ต่อไปได้
ที่สำคัญต้องรักษาความเข้มแข็งระบบสถาบันการเงินเอาไว้ต่อไป
จะเห็นได้ว่า ธปท.ให้ความสำคัญกับการทำนโยบายล่วงหน้า โดยไม่รอให้เกิดปัญหาจนกระทบเป็นลูกโซ่ แล้วค่อยไปตามจัดการปัญหาทีหลัง
เพราะถ้ารอให้เกิดปัญหากระทบเป็นลูกโซ่ก่อนแล้วจึงลงไปแก้ จะมีต้นทุนที่สูงมากกับทุกฝ่าย ทั้งสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้ออม และต้นทุนของภาครัฐ
3.แม้ว่า ธปท.จะประเมินว่าเศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 8.1% แต่ก็เชื่อว่าไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
และหากช่วยกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยอีก กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะคลี่คลายและค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาได้
มีสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ต่อช่วงต้นไตรมาสที่ 3 กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาแล้ว
พูดอีกนัยหนึ่งก็น่าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือจะต้องไม่ให้มีการระบาดเกิดขึ้นอีก
4.เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว น้ำหนักของนโยบายเศรษฐกิจต้องปรับจากการเยียวยาไปสู่การฟื้นฟู
ในช่วงนี้การเยียวยากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงยังต้องมีอยู่
แต่การให้น้ำหนักจะต้องมาอยู่ที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะโลกใหม่หลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม โดยเราต้องปรับเปลี่ยนการใช้ทรัพยากร เช่น ทุน แรงงาน จากภาคเศรษฐกิจที่กำลังการผลิตส่วนเกินปรับไปสู่ภาคเศรษฐกิจใหม่หลังโควิด พร้อมๆ กับการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก
"การจ้างงานเป็นหัวใจที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมา ทำให้กำลังซื้อกลับมา ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการด้านอุปทาน ควรให้น้ำหนักไปที่การจ้างงาน การรีสกิล ทำให้คนที่ตกงานหรือคนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงก้าวไปสู่โลกเศรษฐกิจหลังโควิดได้ ทั้งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและเศรษฐกิจภาคชนบท เพราะจะมีแรงงานที่กลับไปในภาคชนบทและไม่สามารถกลับไปทำงานในเมืองใหญ่ได้ โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีกำลังผลิตส่วนเกินมาก" นายวิรไทกล่าว
5.ไทยยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนที่สูงในตลาดการเงินต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่ง
เหตุผลส่วนหนึ่งเป็นเพราะการมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ในระบบการเงินโลกสูงมาก เพราะธนาคารกลางทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศอุตสาหกรรมหลัก ได้ออกนโยบายเพิ่มสภาพคล่องเพื่อแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องของตลาดการเงิน และมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างเร็ว จึงทำให้มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน ตลาดการเงินและสภาพเศรษฐกิจจริงเริ่มมีลักษณะ Divergent (แตกต่าง) มากขึ้น
เหตุเพราะว่าในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงยังมีปัจจัยพื้นฐานที่หดตัวทั่วโลกและมีความน่ากังวล แต่ในแง่ของตลาดการเงินจะเห็นว่าราคาสินทรัพย์หลายๆ ตัวปรับตัวสูงขึ้นในระดับสูง
แต่ราคาสินทรัพย์เหล่านี้จะลดลงได้หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น เช่น การระบาดที่กลับมารุนแรงในบางประเทศ
ที่ต้องเตือนกันอีกประเด็นหนึ่งก็คือ อัตราแลกเปลี่ยนจะยังมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง
ผู้ประกอบการและนักลงทุนต้องให้ความสำคัญกับการระมัดระวังในเรื่องการบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงิน
แต่ถ้ามาตรการผ่อนปรนหมดลงสำหรับ SMEs ทุกคนจะ "ตกหน้าผา" กันหมดหรือไม่?
อ่านต่อพรุ่งนี้ครับ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |