พอช.ชี้แจงเรื่องร้องเรียนกองทุนสวัสดิการตำบลนาหว้า จ.นครพนม เสนอดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาเงินคืนกองทุนฯ


เพิ่มเพื่อน    

 การลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า  อ.นาหว้า  จ.นครพนม  หลังมีการร้องเรียน  

                                

นครพนม / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ชี้แจงรายละเอียดกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า  จ.นครพนม  หลังจากมีการร้องเรียนเรื่องการยุติกองทุนสวัสดิการฯ และการจ่ายเงินคืนสมาชิกน้อยกว่าจำนวนเงินที่สมทบเข้ากองทุนฯ  เผยผลตรวจสอบพบอดีตประธานกองทุนสวัสดิการฯ นำเงินกองทุนฯ ไปใช้ผิดวัตถุประสงค์กว่า 1 ล้านบาท  และยอมชดใช้แต่ยังชำระไม่หมด  ขณะที่กองทุนฯ มีสถานะการเงินเสี่ยงหากดำเนินการต่อ  จึงทำประชามติสำรวจความเห็นจากสมาชิก  โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ยุติกองทุนฯ และนำเงินที่เหลือเฉลี่ยคืนสมาชิก  ด้านคณะตรวจสอบกองทุนฯ เสนอดำเนินการตามกฎหมายเพื่อเอาเงินจากอดีตประธานกองทุนฯ มาคืนกองทุน

 

ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนว่า  สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า (กองบุญเพื่อสวัสดิการองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า) อำเภอนาหว้า  จังหวัดนครพนม (บางส่วน) ประมาณ 40 คน  ร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าซึ่งได้ยุติการดำเนินงานเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา  โดยองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาหว้า  แจ้งยุบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าอย่างกะทันหัน  โดยอ้างว่าขาดทุนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ทำให้ชาวบ้านจำนวน 1,700 คนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนฯ วันละบาท  ไม่ได้รับเงินคืน  บางรายส่งเงินเข้ากองทุนมานานถึง 12 ปี   แต่ได้เงินคืนเพียง 612 บาท   บางคนเพิ่งส่งไม่กี่ปีได้เงินคืนแค่ 9 บาท   เป็นต้น 

 

ผวจ.นครพนมสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

หลังจากปรากฏข่าวดังกล่าวในสื่อมวลชน  ในวันที่  20  กรกฎาคม  นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดนครพนม (ศปก.นพ.) โดยในวาระการประชุมได้มีกรณีสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า (กองบุญเพื่อสวัสดิการองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า) ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนรวมอยู่ด้วย  นายสยามจึงมอบหมายให้ น.ส.แสงดาว อารีย์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม (พมจ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าโดยเร่งด่วน  เนื่องจากมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก

 

นายอำเภอนาหว้า (นั่งกลาง) นำคณะลงตรวจสอบข้อมูล

 

ต่อมาในวันที่ 21 กรกฎาคม  ช่วงเวลา 14.00 - 17.30 น. นายทินกร  ขันแก้ว  นายอำเภอนาหว้า  พร้อมด้วยพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม  ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม  เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และตัวแทนคณะขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครพนม  ได้ลงพื้นที่ติดตามข้อข้อเท็จจริง  โดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาหว้า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า  และสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  ประมาณ 70 คนเข้าร่วมให้ข้อมูลและสังเกตการณ์

 

พอช.ภาคอีสานชี้แจงกองทุนสวัสดิการตำบลนาหว้า

ล่าสุดวันนี้ (22 กรกฎาคม) นายสุพัฒน์  จันทนา  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในฐานะหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน  ชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า (กองบุญสวัสดิการฯ) ว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม  ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 มีสมาชิกแรกเริ่มจำนวน 111 คน  โดยมีนายสนั่น  บุตรจันทร์  นายก อบต.นาหว้าในขณะนั้น  เป็นประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  และก่อนยุบกองทุน (ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2562) มีสมาชิกสะสมรวม 1,754 คน  สมาชิกมาจากชาวบ้านตำบลนาหว้า 14 หมู่บ้าน  ร่วมกันสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  เพื่อนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก 

 

นายสุพัฒน์  จันทนา  ผอ.พอช. สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ระหว่างปี 2553 - 2559  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าได้รับสมทบงบประมาณการจัดสวัสดิการชุมชนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  รวม  3 ครั้ง  คือ ในปี 2553 ปี 2555 และปี 2556  รวมงบประมาณ 918,320 บาท  และจากการสมทบของ อบต.นาหว้า  ตั้งแต่ปี 2554-2559  รวมงบประมาณกว่า 300,000 บาท  แต่เกิดข้อร้องเรียนเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนสวัสดิการฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์   ทางคณะกรรมการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครพนมจึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จในเดือนมิถุนายน 2557

 

จากการตรวจสอบพบว่า  มีการเบิกงบประมาณกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าออกมาใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์จริง โดยนายสนั่น บุตรจันทร์  ประธานกองทุนสวัสดิการฯ  ยอมรับว่าตนเองเป็นผู้ดำเนินการเอง  และจะขอชดใช้เงินตามจำนวนที่มีการเบิกจ่ายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์จำนวน 1,061,590 บาทให้แก่กองทุนสวัสดิการฯ  หลังจากนั้นนายสนั่นได้นำเงินสดมาชดใช้หลายครั้ง  และได้ทำหนังสือยอมรับสภาพหนี้จำนวนที่เหลืออีก 791,890 บาทเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558   

 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2560  นายสนั่นได้ทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ (เลขที่ 1/2560 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560) ยินยอมให้หักเงินเดือนๆ  ละ 20,000 บาท  เพื่อชำระหนี้กองทุนสวัสดิการฯ  ตามจำนวนที่คงเหลือ   หลังจากได้ชำระเงินไปแล้ว 16 เดือน  นายสนั่นได้รับคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งข้าราชการการเมือง (นายกฯ อบต.) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 จึงได้ขาดชำระเงินให้แก่กองทุนสวัสดิการฯ นับแต่นั้นมา   โดยยังคงมีภาระผูกพันตามจำนวนหนี้คงเหลืออีก 421,590 บาท

 

กองทุนฯ มีความเสี่ยง-ขอมติจากสมาชิกแก้ไขระเบียบ

นายสุพัฒน์ชี้แจงรายละเอียดต่อไปว่า  ตั้งแต่ปี 2557-2563 ได้มีการเปลี่ยนคณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า  เพื่อเข้ามาดำเนินการแทนคณะกรรมการชุดเดิม (ชุดนายสนั่น  บุตรจันทร์)  จำนวน 2 ชุด  โดยมีนายคำทูน ประกิ่ง  เป็นประธานกองทุนสวัสดิการฯ ชุดปัจจุบัน   โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้ร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลสถานะการเงินของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้า ณ  วันที่ 29 พฤษภาคม 2563  พบว่า  มีเงินคงเหลือทั้งสิ้น 832,089.15 บาท (เงินในบัญชีจำนวนหนึ่ง  และบางส่วนนำไปซื้อสลากออมสิน จำนวน 400,000 บาท)

 

“คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชนต่อไปได้ในระยะยาว  เนื่องจากมีการจ่ายเงินช่วยเหลือกรณีสมาชิกเสียชีวิตสูงเกินไป  ทำให้เงินกองทุนเหลือน้อย  จึงเห็นว่าควรจะทำประชามติสมาชิกกองทุนสวัสดิการ  เพื่อแก้ไขกฎระเบียบการจ่ายสวัสดิการให้สอดคล้องกับสถานะการเงินของกองทุนฯ”  นายสุพัฒน์กล่าว

 

 

กล่าวคือ  ตั้งแต่ปี 2557 - มิถุนายน 2563  กองทุนได้จ่ายสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกรวมทั้งสิ้น 4,189,030 บาท  แบ่งเป็นสวัสดิการสำหรับนอนโรงพยาบาล จำนวน  381,900 บาท  สวัสดิการกรณีเสียชีวิต จำนวน 3,791,400 บาท  (ตั้งแต่รายละ   300 – 30,000 บาทตามอายุการเป็นสมาชิก)  สวัสดิการแต่งงาน 4,500 บาท  สวัสดิการงานบวช 300 บาท  และอื่นๆ  จำนวน 10,930 บาท  

 

ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ จึงมีความเห็นสมควรทำประชามติสอบถามความเห็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าทุกคนว่า  จะมีความประสงค์ให้ 1.คงใช้ระเบียบเดิม   หรือ  2.ให้แก้ไขระเบียบ   โดยให้กรรมการรายหมู่บ้านลงพื้นที่สำรวจประชามติ  เพราะไม่สามารถจัดเวทีประชาคมใหญ่ได้  เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19    โดยจะสำรวจประชามติในวันที่ 12 พฤษภาคม  และสรุปผลในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ที่ห้องประชุม อบต.นาหว้า

 

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกกองทุนบางส่วนเข้าร่วมประชุมที่ อบต.นาหว้า  โดยมีข้อเสนอจากสมาชิกกองทุนฯ บางส่วนว่า  ควรเพิ่มเติมข้อคิดเห็นประชามติจาก 2 ข้อ  เป็น 3 ข้อ  และให้จัดทำประชามติใหม่ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2563  โดยมีประชามติให้เลือกรวม 3 ข้อ  คือ 1.เห็นควรให้ใช้ระเบียบเดิม  2.เห็นควรให้แก้ไขระเบียบใหม่   และ 3.เห็นควรให้ยุติการดำเนินงานกองทุนฯ

 

สมาชิกส่วนใหญ่ลงมติให้ยุติกองทุนสวัสดิการฯ เฉลี่ยเงินคืนสมาชิก 

ต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน 2563  มีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ อีกครั้ง  โดยรวบรวมเอกสารการลงประชามติได้จำนวน 1,479 คน  จากสมาชิกทั้งหมด 1,754 คน  ผลการลงมติปรากฎว่า  มีผู้เห็นชอบให้ใช้ระเบียบเดิม (ข้อ 1) จำนวน 69 คน   เห็นควรให้แก้ไขระเบียบใหม่  (ข้อ 2) จำนวน 369 คน  และเห็นควรให้ยุติการดำเนินงานกองทุนฯ (ข้อ 3)จำนวน 1,041 คน   

 

ดังนั้นมติที่ประชุมจึงให้ยุติการดำเนินงานกองทุนสวัสดิการชุมชน  และให้เฉลี่ยเงินคืนให้สมาชิกทุกคนตามยอดเงินคงเหลือ  โดยลดหลั่นกันไปตามระยะเวลาการเป็นสมาชิก   โดยให้เจ้าหน้าที่ อบต.นาหว้าช่วยคำนวณเปอร์เซ็นต์ที่สมาชิกจะได้รับคืนจากยอดเงินคงเหลือของกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ

 

 

ต่อมาในวันที่ 9 กรกฎาคม 2563  มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ  และชี้แจงการคำนวณเงินคืนแก่สมาชิก  ซึ่งจากการคำนวณ  สมาชิกจะได้เงินเฉลี่ยคืนจากเงินที่เหลือคนละ 15.67 เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้ดำเนินการจ่ายเงินคืนแก่สมาชิกให้แล้วเสร็จในวันที่ 17 กรกฎคม 2563 ที่ผ่านมา  

 

วันที่ 18 กรกฎาคม 2563  สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ บางส่วน  ประมาณ 40 คน  ไม่เห็นด้วยกับการจ่ายคืนเงินจำนวนดังกล่าว  เนื่องจากเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่ตนเองได้สมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการฯ  จึงร้องเรียนต่อสื่อมวลชนเพื่อเข้ามาตรวจสอบ

 

ทำประชามติอีกครั้ง-ไล่บี้เอาเงินคืน

นายสุพัฒน์กล่าวในตอนท้ายว่า  จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลนาหว้าเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม  โดยนายอำเภอนาหว้า  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครพนม  ท้องถิ่นจังหวัดนครพนม  เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ตัวแทนคณะขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดนครพนม  ฯลฯ  คณะผู้ตรวจสอบข้อมูลได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาดังนี้

1.ให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ จัดทำรายละเอียดการรับ  การจ่ายงบประมาณ  พร้อมหลักฐานประกอบ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ ทั้ง 14 หมู่บ้าน  จำนวน  1,754 คน  ให้รับทราบโดยทั่วกัน  2.ให้คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ  ลงพื้นที่ประชุมใหญ่ประจำปี  เพื่อขอมติจากสมาชิกให้ยุติการดำเนินงานกองทุนฯ ให้ถูกต้องตามระเบียบของกองทุนฯ  โดยให้ลงประชามติเป็นรายหมู่บ้าน   แทนการนัดประชุมใหญ่ทั้ง 1,754 คนครั้งเดียว

3. การดำเนินการเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของอดีตประธานกองทุนสวัสดิการฯ นั้น  ให้คณะกรรมการกองทุนฯ  และนายคำทูน ประกิ่ง ในฐานะตัวแทนสมาชิกผู้เสียหายและผู้รับสัญญา  ดำเนินการตามกฎหมายเพื่อนำเงินที่คงเหลือ  พร้อมดอกเบี้ยมาชำระคืนกองทุนฯ  และ 4.ส่วนผู้สมาชิกกองทุนฯ  ผู้เสียหายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวนได้

 

สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ ร่วมให้ข้อมูลและรับฟังการตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานของกองทุนฯ  เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"