ในเวลานี้ธนาคารพาณิชย์ได้ทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่า บรรดาแบงก์ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าจากพิษของโควิด-19
โดยจากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่ากำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยในไตรมาส 2/63 จะลดลง -52.2% ถึง -42.0% มาอยู่ที่ 2.68-3.25 หมื่นล้านบาท จากที่มีกำไรสุทธิ 6.37 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 1/63 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจหลัก ท่ามกลางผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ย หรือการพักชำระหนี้ รวมถึงการตั้งสำรองฯ เพื่อเตรียมการรองรับความไม่แน่นอน ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการไตรมาส 2/63 คาดว่าจะลดลงประมาณ 35.0% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก เนื่องจากบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สะดุดลงในหลายภาคส่วนจากการล็อกดาวน์
โดยสิ่งที่น่าห่วงก็คือ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของระบบธนาคารพาณิชย์ มีโอกาสขยับขึ้นมาที่ 3.30-3.40% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาส 2/63 จากระดับ 3.05% ในไตรมาส 1/63 โดยคงต้องติดตามสัญญาณด้อยคุณภาพของสินเชื่อในพอร์ตลูกค้า SMEs และลูกค้ารายย่อย อาทิ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันอย่างใกล้ชิด
ล่าสุด วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้ขอให้สถาบันการเงินออกโครงการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และไม่เป็นเอ็นพีแอล เพราะการเข้าช่วยเหลือจะทำให้สถาบันการเงินไม่ต้องแบกภาระเอ็นพีแอลที่ต้องนำเงินมากันสำรอง โดยยอมรับหลังจากนี้เอ็นพีแอลจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นการป้องกันล่วงหน้าไม่ให้เอ็นพีแอลเพิ่มอย่างรวดเร็ว
“แนะให้ลูกหนี้คุยกับเจ้าหนี้โดยเร็วเพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยยอมรับหลังจากนี้เอ็นพีแอลจะปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปรับโครงสร้างหนี้จะช่วยลดหนี้เสียไม่ให้เพิ่มเร็ว และยังขอให้สถาบันการเงินต่างๆ แปลงหนี้เป็นระยะยาว เพื่อให้ค่างวดลดลง เพราะการลดดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยได้เพียงพอและไม่สอดคล้องกับรายได้ และแม้จะลดดอกเบี้ยลง แต่ก็ยังอยู่ระดับสูง” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตาก็คือสถานะของสถาบันการเงิน จะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะค่อนข้างชัดเจนว่า ในไตรมาส 3 จะเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาที่สุดของหลายธุรกิจ ที่อาจจะต้องเจอภาวะล้มละลาย เพราะจะมีบริษัทต่างๆ ที่จะไปต่อไม่ไหว ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัญหาอันหนักหน่วงของธนาคารพาณิชย์ ที่จะกำไรหดตัวลงและอาจจะเจอหนี้เสียจำนวนมหาศาล จนอาจจะถึงกับกระทบสถานะของแบงก์ได้
ต้องทราบก่อนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสำหรับวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 เพราะครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลกถูกกระทบทั้งหมด ส่งผลให้โลกกำลังเข้าสู่วงจรเศรษฐกิจที่ตกต่ำมากที่สุดครั้งใหญ่ และในตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนเลยว่าวิกฤติการระบาดของไวรัสจะได้รับการแก้ไขเมื่อใด ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อย่างจัง และรุนแรงกว่าครั้งต้มยำกุ้งด้วยซ้ำ ประเมินจากอัตราการขยายตัวของจีดีพีที่ติดลบไปมากกว่า แม้ว่าครั้งนี้ในส่วนของระบบสถาบันการเงินไทยรอบนี้มีความเข้มแข็งมาก และรองรับปัญหาและความช่วยเหลือต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ก็ยังเชื่อว่าแม้จะมีธุรกิจที่ล้มละลายเป็นจำนวนมาก แต่ไม่น่าจะกระทบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์หนักเท่ากับช่วงปี 2540 ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ระวังเรื่องหนี้เสียและการตั้งสำรองเท่าปัจจุบัน ซึ่งรัดกุมกว่ามาก
แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถประมาทได้ เพราะตอนนี้ไทยอยู่ได้เพราะเงินผันจากรัฐบาลที่ลุยกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล แต่ถ้าเกิดว่าเงินในส่วนนี้หมดไป แล้วโควิด ยังกลับมาอีกระลอก สิ่งไม่คาดฝันทางเศรษฐกิจก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีกครั้ง.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |