อย่าให้ใครดึงเราไป เผชิญหน้ากับใคร


เพิ่มเพื่อน    

     เมื่อทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไมเคิล ดีซอมบรี ออกบทความร้อนแรงวิพากษ์บทบาทของจีนในภูมิภาคนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศในไทยก็ต้องวิเคราะห์ว่า หรือนี่จะเป็นการขยายตัวของ "สงครามเย็นมหาอำนาจ" รอบใหม่หรือไม่

            ที่สำคัญสำหรับไทยคือ จะต้องไม่ถูกลากเข้าไปอยู่ในค่ายใดค่ายหนึ่งเหมือนในช่วงสงครามเย็นรอบเก่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

            ในจังหวะนั้นไทยเรากระโดดเต็มตัวอยู่ข้างสหรัฐฯ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นฝ่าย "ประชาธิปไตย" ขณะที่จีนกับสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำของโลก "ค่ายคอมมิวนิสต์"

            อเมริกามาทำสงครามเวียดนาม ไทยเราเปิดทางให้สหรัฐฯ มาใช้ฐานทัพเพื่อถล่มเวียดนาม

            จีนกับสหภาพโซเวียตอยู่ข้างเวียดนามเหนือ ไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ หนุนข้างเวียดนามใต้

            เมื่อคนอเมริกันไม่สนับสนุนรัฐบาลสหรัฐฯ ในการทำสงครามเวียดนาม วอชิงตันก็ถอนทหารกลับบ้าน เวียดนามเหนือกับใต้รวมเป็นชาติเดียวกัน

            ประเทศไทยเราปรับนโยบาย หันไปสร้างสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน หลังจากที่ประธานาธิบดีริชาร์ด  นิกสันบินไปหาประธานเหมา เจ๋อตงของจีน

            "สายลมบูรพา" เริ่มเปลี่ยนทิศ ไทยเราปรับตัวเพื่อคบหากับจีน ขณะที่สหรัฐฯ ถอยกลับไปตั้งหลัก

            เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงพร้อมกับการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน ก็มีแนววิเคราะห์จากตะวันตกว่าเป็น "อวสานแห่งประวัติศาสตร์" หรือ The End of History แล้ว

            ความหมายคือ ระบอบเสรีนิยมตะวันตกชนะแล้ว สหภาพโซเวียตล่มสลาย ผู้นำจีนภายใต้เติ้ง เสี่ยวผิงปรับทิศทาง ใช้แนวทาง "สังคมนิยมเอกลักษณ์แบบจีน"

            นั่นหมายถึงการใช้ระบบทุนนิยมมาผสมผสานกับการเมืองรวมศูนย์ของคอมมิวนิสต์

            ประวัติศาสตร์ไม่ได้สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของระบอบตะวันตกต่อคอมมิวนิสต์ แต่เป็นบทใหม่ของประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ

            วันนี้จีนผงาดขึ้นมาเทียบเคียงสหรัฐฯ และอเมริกาภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์กำลังจะนำประเทศตกอยู่ในสภาพ "ขาลง" เพราะถอยออกจากเวทีระหว่างประเทศ

            วิกฤติโควิด-19 ตอกย้ำถึงการทดสอบ ว่าระบบการเมืองและสังคมแบบใดที่สามารถแก้ปัญระดับโลกได้ดีกว่ากัน

            กลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในเกือบทุกๆ วงการ ว่าระหว่างจีนกับอเมริกา ใครจะเป็นผู้พิสูจน์ว่าระบบของตนเองเหนือกว่า

            แถลงการณ์จากวอชิงตันในช่วงสัปดาห์ก่อนที่จับจีนเป็นเป้าของการรุกหนักทางการเมือง การทูต  เศรษฐกิจ และความมั่นคงอย่างหนักนั้น แสดงชัดว่าสหรัฐฯ กลัวจีนจะแซงหน้าตนในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งของโลก

            สะท้อนว่าทรัมป์กำลังใช้การฟาดฟันจีนเป็นเครื่องมือหาเสียงเพื่อให้ตนกลับมาเป็นผู้นำสมัยที่สอง

            สงครามการค้าทำให้ทั้งสองยักษ์ต่างก็เจ็บ กลายเป็นการต่อสู้เพื่อจะพิสูจน์ว่า "ใครเจ็บมากกว่ากัน"  และ "ใครอึดกว่ากัน"

            บทความของท่านทูตสหรัฐฯ ที่วิพากษ์จีนในหลายๆ มิติ และพยายามวาดภาพให้ไทยเห็นถึงนโยบายจีนที่กลายเป็นข้อขัดแย้งกับไทยและสมาชิกอาเซียนอื่นนั้น ย่อมถูกมองได้ว่าเป็นการ "ดึงไทยเป็นพวก"

            นั่นเป็นแนวทางที่ไทยต้องพิเคราะห์อย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง

            เพราะโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนดุลแห่งอำนาจของโลกได้อีกรอบหนึ่งอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

            คุณหยาง ซิน รักษาการเอกอัครราชทูตจีนประจำไทย บอกผมว่าจีนเข้าใจประเทศในอาเซียนซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกันมาตลอด แม้จะมีปัญหากันบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ต้องพูดจาและแก้ไขกันอย่างตรงไปตรงมา

            ทุกประเทศย่อมต้องรักษาผลประโยชน์ของตน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพในสิทธิของกันและกัน

            ท่านทูตหยาง ซินบอกว่า "จีนไม่ต้องการจะทำให้ประเทศเพื่อนๆ ของเราต้องถูกกดดันให้เลือกข้างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ"

            ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ไทยเราจะต้องสามารถร่วมมือกับเพื่อนอาเซียน ในการสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทุกค่ายเพื่อผลักดันความร่วมมือระกับสากล โดยไม่กลายเป็นการเผชิญหน้ารอบใหม่

            เพราะไม่ว่าจะเป็นสงครามในรูปใดระหว่างมหาอำนาจ ความเสียหายย่อมจะเกิดขึ้นกับประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กอย่างไทยแบบที่ปฏิเสธไม่ได้

            ผมเชื่อว่าโควิด-19 จะทำให้ประเทศขนาดกลางและเล็กมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในการเป็นสะพานเชื่อมและเป็น "พลังที่สาม" เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของเรา ของภูมิภาค และของโลกได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"