ขู่ฟันผู้ประกอบการ โกงเราเที่ยวด้วยกัน ธปท.ชี้2ปีศก.ปกติ


เพิ่มเพื่อน    

  คลังฮึ่ม! จ่อลงดาบผู้ประกอบการฉวยโอกาสฟันค่าบริการ "โครงการเราเที่ยวด้วยกัน" ชี้ได้ไม่คุ้มเสียส่งผลธุรกิจในอนาคต จ่อชง ครม.ขยายเฟส 2 หากมีงบฯ เหลือ ขณะที่ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้สถานการณ์จ้างงาน "ภาคท่องเที่ยว-บริการ" น่าห่วงสุดกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโลกใหม่ไม่ได้ ประเมิน 2 ปีเศรษฐกิจเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

    นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า ในภาพรวมมีผลตอบรับตามเป้าหมาย มีผู้ประกอบธุรกิจที่พักสนใจเข้าร่วมแล้ว 6 พันราย โดยหลังจากที่ได้เปิดให้ประชาชนจองที่พักภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกันตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.63 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ประชาชนสามารถวางแผนและเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้โดยมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการจะเริ่มมีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงธุรกิจในช่วงที่ขาดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศที่มีสัญญาณบวกมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19
    "ดังนั้นเพื่อรักษาแรงส่งต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจไทย จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจที่พักที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันส่วนน้อยบางราย ซึ่งอาศัยโอกาสปรับราคาสูงขึ้นในช่วงนี้ ขอให้เว้นจากการดำเนินธุรกิจตามแนวทางดังกล่าว เนื่องจากผลประโยชน์ในระยะสั้นอาจได้ไม่คุ้มเสียทั้งชื่อเสียงและโอกาสธุรกิจในอนาคต เพราะผู้บริโภคในปัจจุบันมีการหาข้อมูลวางแผนการเดินทาง และมีเทคโนโลยีช่วยในการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพการบริการจากหลายแหล่ง ทำให้สามารถเลือกรับบริการจากผู้ประกอบการที่มีคุณภาพในราคาที่เป็นธรรมได้ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะมีการติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจะมีการพิจารณามาตรการที่เหมาะสมมากำกับดูแลต่อไป" นายลวรณระบุ
    นายลวรณกล่าวต่อไปว่า โครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาลมีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนค่าที่พักในสัดส่วน 40%  ของค่าที่พัก สูงสุด 3,000 บาทต่อห้องต่อคืน สนับสนุนค่าอาหารและค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยว 600  บาทต่อห้องต่อคืน และสนับสนุนค่าบัตรโดยสารสายการบินในสัดส่วน 40% ของค่าบัตรโดยสาร สูงสุด 1,000 บาทต่อที่นั่ง
    ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่ากำลังเตรียมการพิจารณาโครงการเราเที่ยวด้วยกันในระยะแรก หลังจากเปิดให้ประชาชนเข้าจองห้องพักในวันแรกเมื่อวันที่ 18  ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมียอดชำระเงินค่าห้องพัก 87,960 สิทธิ์ จึงขอเวลาพิจารณาอีก 2 สัปดาห์ หรือประมาณต้นเดือน ส.ค. ก่อนที่จะเสนอ ครม.ให้ขยายโครงการระยะที่ 2 หากมีวงเงินในโครงการเหลือ
    วันเดียวกัน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการ ธปท. สำนักงานภาค ประจำปี 2563 ในหัวข้อ "ก้าวต่อไป...ทิศทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิดภิวัตน์" ว่า แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 แต่ยืนยันว่าในครั้งนี้ไทยไม่จำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากปัจจุบันระบบการเงินมีความแข็งแกร่งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง มีทุนสำรองระหว่างประเทศระดับสูง
    นายวิรไทกล่าวต่อว่า ขณะที่การกู้เงินจากต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ กลไกการกำกับดูแลสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งมาก มีการบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 แม้ว่าในภาคเศรษฐกิจจริงได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ในภาคการเงินถือว่าแตกต่างมาก  เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจมหภาคของไทยมีความเข้มแข็งมาก สถานะของไทยไม่ได้เป็นเหมือนปี 2540
    "มุมมองของ ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 2/2563 ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งของไทยและทั่วโลกหยุดชะงัก หลังจากนี้เศรษฐกิจไทยจะมีลักษณะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป คงไม่ได้ฟื้นตัวได้เร็วอย่างก้าวกระโดด ในคาดการณ์ของ ธปท.หากไม่มีการระบาดรุนแรง ประเมินว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ได้ประมาณปลายปี 2564 หมายความว่าจะใช้เวลาเกือบ 2 ปีที่เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับขึ้นมา" นายวิรไทกล่าว
    นายวิรไทกล่าวอีกว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดหลังจากนี้คือ เรื่องการจ้างงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 กระทบกับไทยแรงมาก โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงภาคการผลิต ซึ่งทั้ง  2 ส่วนมีการจ้างงานในระดับสูง การระบาดของโควิด-19 ที่มาแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้หลายคนตกงานจำนวนมาก ที่สำคัญถ้ามองระยะยาวหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เชื่อว่าหลายคนจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกใหม่ได้ เพราะตลาดแรงงานโลกใหม่จะต่างจากก่อนเกิดการระบาดด้วยหลายปัจจัย คือกำลังการผลิตส่วนเกินในโลกที่สูงมาก
    "ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงคาดหวังให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาปีละ 40 ล้านคนเหมือนเดิมไม่ได้  ดังนั้นแรงงานจำนวนมากในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจะกลับมาได้ รูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก็จะแตกต่างไปจากเดิม ดังนั้นจะต้องไปดูทักษะของแรงงานที่ตกงานว่าจะต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อทำให้มีโอกาสกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานโลกใหม่" นายวิรไทระบุ
    ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังระบุถึงความความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากผลกระทบโควิด-19 ของ ธปท. วงเงิน 5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้มีการปล่อยสินเชื่อไปกว่าแสนล้านบาทแล้ว ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ส่วน คือ เยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในเบื้องต้น และช่วยเรื่องของการฟื้นฟูหลังสถานการณ์แพร่ระบาดคลี่คลายลง โดยแม้จะกำหนดระยะเวลาไว้ว่าสิ้นสุดเดือน ธันวาคม 2563 แต่สามารถต่ออายุมาตรการได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 6 เดือน
    "จะเสนอให้มีการต่ออายุมาตรการออกไปจนถึงสิ้นปี 2564 ซึ่งจะช่วยให้ซอฟต์โลนที่ยังมีวงเงินเหลืออยู่นี้ช่วยในเรื่องการฟื้นฟูได้ เป็นต้นทุนดอกเบี้ยต่ำให้ภาคธุรกิจในช่วงฟื้นฟูเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมา อาจมีบรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาร่วมด้วย เพราะตาม พ.ร.ก.การชดเชยความเสียหายจะอยู่ในช่วง 2 ปีแรกในช่วงที่มีความไม่แน่นอนสูง สถาบันการเงิน และผู้ประกอบการจึงเห็นว่า หากมีการค้ำประกันสินเชื่อได้ระยะยาวขึ้นก็จะเป็นประโยชน์ เป็นแนวทางที่กำลังพิจารณา" นายวิรไทกล่าว
     ด้าน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาคำร้องขอให้ตรวจสอบการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับว่า ขณะนี้ได้รับหนังสือชี้แจงจากนายกรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องออกกฎหมายดังกล่าวเป็นพระราชกำหนด ว่าหากไม่มีเอกสารสถาบันการเงินก็จะเกิดความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะดำเนินการจริงหรือไม่ และกฎหมายรองรับหรือไม่ หากรอพระราชบัญญัติต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถไปกำหนดได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไร  รวมทั้งความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการแก้ปัญหาโควิด-19 เช่น เรื่องการจัดตั้งสถานกักกันที่รัฐจัดให้ หากล่าช้าก็จะเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามคิดว่าภายในสัปดาห์นี้คิดว่าผู้ตรวจฯ น่าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมาได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"