“ประวิตร-วิษณุ” โยนฝ่ายความมั่นคงแจงม็อบเยาวชนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ “ศรีสุวรรณ” บี้ตำรวจเร่งจัดการบอกใครก็อยู่เหนือกฎหมายไม่ได้ สภาสูงจี้ต้องจัดการพวกแอบแฝงหมิ่นสถาบัน “ธนาธร” ปัดเป็นท่อน้ำเลี้ยงม็อบ แต่รับ “ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ร่วมชุมนุมไม่แปลก เพราะเป็นอดีตอนาคตใหม่ที่หนุนแก้รัฐธรรมนูญ พร้อมขู่เร่งเจรจาหาทางออกก่อนเกิดวิกฤติที่รุนแรง คำม็อบมุ้งมิ้งพ่นพิษแห่ชุมนุมหน้า บก.ทบ.
เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.ค.ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) และสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ที่จัดขึ้นบริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามที่ว่าการชุมนุมดังกล่าวผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ ว่า ต้องไปถามเจ้าหน้าที่ ถามตนเองไม่รู้หรอก ส่วนเรื่องด้านความมั่นคงดูแลอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง เอาเรื่องอื่นดีกว่า
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ตอบเรื่องนี้เช่นกันว่า "ไม่ทราบ ไม่มีความเห็น" และเมื่อถามอีกว่าการชุมนุมกระจายตัวไปยังต่างจังหวัดบ้างแล้ว นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ทราบ ต้องถามฝ่ายความมั่นคง" เมื่อถามย้ำว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงหรือไม่ นายวิษณุย้ำว่าต้องไปถามฝ่ายความมั่นคง
ขณะที่กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. พร้อมผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงานต่างๆ ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับข้อกฎหมาย รวมถึงการรวบรวมพยานหลักฐานของการชุมนุมดังกล่าว ทั้งใน กทม.และพื้นที่อื่นว่ามีความผิดใดหรือไม่
โดย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา กล่าวภายหลังว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนจะออกหมายเรียกแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาสอบสวนหรือไม่ อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวน จึงยังไม่สามารถระบุหรือชี้ชัดได้ว่ามีผู้ใดเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาความผิดจะอยู่ภายใต้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ และ พ.ร.บ.การจราจรทางบก โดยขอฝากไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมขอให้คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ฝากเตือนไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่า หากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน เนื่องจากอาจส่งผลให้ถูกดำเนินคดีได้ในอนาคต ส่วนการนัดชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ยอมรับว่าเป็นห่วงเรื่องบุคคลที่ 3 ที่อาจมาสร้างสถานการณ์
ขณะเดียวกันในการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.ตั้งกระทู้ถามด้วยวาจาต่อนายกรัฐมนตรีถึงการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าว ว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและยาวอย่างไร เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าบ้านเมืองจะไม่กลับไปเหมือนก่อนปี 2557 รวมทั้งการชุมนุมยังมีการเขียนป้ายที่ไม่ได้เกี่ยวกับข้อเรียกร้อง ซึ่งสร้างผลกระทบกระเทือนจิตใจให้ประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลจะมีวิธีการบริหารจัดการหรือสื่อข่าวสารไปยังผู้ชุมนุมอย่างไร เพราะจากประวัติศาสตร์เมื่อมีเรื่องเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองแล้ว ค่อนข้างจะอันตรายและสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง
ห้ามละเมิดสถาบัน
ด้าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกฯ กล่าวว่า นายกฯ ห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและห่วงใยผู้ชุมนุมด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับการบริหารจัดการการชุมนุมเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นไปตามสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงออกทางการเมืองนั้น รัฐบาลได้มอบแนวทางให้เจ้าหน้าที่ในการดูแลเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และไม่เกิดผลกระทบกับประชาชน หรือถ้าเกิดก็ต้องเกิดให้น้อยที่สุด โดยให้เจ้าหน้าที่มีความอดทนอดกลั้นชี้แจงกับผู้ชุมนุมถึงข้อกฎหมาย สร้างความเข้าใจร่วมกันว่าตรงไหนปฏิบัติได้ ตรงไหนปฏิบัติไม่ได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมมีการสื่อสารกันตลอดเวลา ส่วนการชุมนุมต่อเนื่องในแต่ละพื้นที่ต่อจากนี้ไปนั้น รัฐบาลได้มอบหมายให้ สตช.ไปทบทวนและกำหนดมาตรการในการดูแลผู้ชุมนุมให้เหมาะสม เป็นไปตามกฎหมาย และต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปด้วย
“ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นรัฐบาลก็รับฟัง โดยในขั้นต้นข้อเสนอทั้ง 3 ข้อนั้นมีการดำเนินการในปัจจุบันอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น แต่การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่น ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไม่มีนัยแอบแฝง และต้องไม่ละเมิดสถาบันโดยเด็ดขาด โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมาย ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบในทุกกรณี” พล.อ.ชัยชาญระบุ
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "ในการชุมนุมของม็อบวันก่อนมีกลุ่มล้มสถาบันเข้าร่วมมากมาย ทั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและที่เชียงใหม่ จึงเตือนผู้มีหน้าที่และอำนาจอย่าได้ละเลยการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และใช้ความระมัดระวังละเอียดรอบคอบและตรงไปตรงมาต่อผู้กระทำความผิดดังกล่าวตามภาพ"
นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กล่าวเช่นกันว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนใน จ.เชียงใหม่และอุบลราชธานี เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 209 ฐานเป็นอั้งยี่ และความผิดฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง 2493 ด้วย จึงเป็นหน้าที่ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่และอุบลราชธานี ที่ต้องเร่งออกหมายเรียกและติดตามจับกุมผู้ที่ต้องสงสัย โดยเฉพาะแกนนำม็อบ เช่นเดียวกับม็อบเยาวชนปลดแอก เพราะจะใช้กฎหมู่มาอยู่เหนือกฎหมายมิได้ และหากตำรวจไม่ดำเนินการก็เข้าข่ายความผิดตาม ป.อ.157
อัดเสียคนตอนแก่
ด้านความคิดเห็นของบรรดานักการเมืองนั้น นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านในสภา และนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้นักศึกษากลุ่มเยาวชนปลดแอกต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้สำเร็จ ว่าขณะนี้ประเทศไทยก็เป็นประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งแล้ว จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการโพสต์แบบนี้เพื่อต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง หรือมีนัยทางการเมืองแอบแฝง โดยอาศัยจังหวะความเคลื่อนไหวของน้องๆ นักศึกษาในขณะนี้ เพราะก่อนหน้านี้นายภูมิธรรมและนายจาตุรนต์ก็เคยระบุไว้ว่าอยากตั้งพรรคการเมืองใหม่ จึงอยากให้ยุบสภาเร็วขึ้นเพื่อที่กลุ่มของตนจะได้ลงสนามเลือกตั้งใหม่ให้เร็วขึ้นเช่นนั้นหรือไม่ โดยไม่สนใจปัญหาความแตกแยกวุ่นวายของบ้านเมือง
“แทนที่จะช่วยกันเตือนสติรุ่นน้องให้หันมาร่วมมือช่วยกันพัฒนาบ้านเมือง กลับมีวิธีคิดที่จะยุยง เช่นนี้ถือว่าใช้ไม่ได้เลย พฤติกรรมเช่นนี้จะทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่มองว่าลุแก่อำนาจ ถ้าสมองคิดแต่ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายเช่นนี้ มีนัยอะไรแอบแฝงร่วมกับคณะก้าวหน้า นายธนาธร นายปิยบุตร และ น.ส. พรรณิการ์หรือไม่ สังคมอาจสงสัยได้ ผมจึงขอเตือนทั้งสองท่านไว้ว่าระวังจะเสียผู้ใหญ่ตอนแก่ เก็บความนับถือศรัทธาไว้ให้คนในสังคมบ้าง อย่าให้คนในสังคมเสื่อมศรัทธาไปมากกว่านี้ จนไม่มีที่ยืนในสังคมเหลืออีกเลย" นายสุภรณ์กล่าว
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุถึงกรณี ส.ส.ที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเชิญชวนและเข้าร่วมการชุมนุม ว่าอาจเป็นการกระทำที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งมีโทษยุบพรรคการเมือง และหากมีการยื่นยุบพรรคจริงก็จะปั่นกระแสสังคมอีกว่าถูกกลั่นแกล้ง ทั้งที่ใจก็รู้อยู่แล้วว่าสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย ซึ่งหากมีการกระทำดังกล่าวจริงก็ควรหยุดและให้น้องๆ เยาวชนแสดงออกโดยปราศจากการแทรกแซงของพรรคการเมือง นอกจากนี้การเตรียมการที่จะใช้ตำแหน่ง ส.ส.ประกันตัวนั้น อาจทำให้น่าสงสัยว่า ส.ส.มีความสัมพันธ์กับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ยืนยันว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมครั้งนี้ และไม่เคยให้เงินเป็นค่าจ้างแก่กลุ่มแกนนำ และเชื่อว่าการออกมาชุมนุมของกลุ่มคนเหล่านั้นก็ไม่ได้รับอามิสสินจ้างจากใครด้วย แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ส่วนที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรค พปชร.ให้ท้าสาบานว่าไม่ได้อยู่เบื้องหลังการชุมนุมนั้น ไม่ขอต่อล้อต่อเถียงด้วย
นายธนาธรยังกล่าวถึงกรณีตำรวจเตรียมดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและการละเมิดสถาบัน ว่าขอเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในวันนี้ เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นทำเพื่ออนาคตของประเทศ หากไม่ปกป้องก็จะไม่มีใครออกมาต่อสู้แทนประชาชนได้ เพราะถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความกล้าหาญ การออกมาข่มขู่ว่าจะดำเนินคดีเป็นกลยุทธ์ของฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลัว ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และการที่คนของคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลไปร่วมชุมนุมด้วยไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะคนของอดีตพรรคอนาคตใหม่ต่างก็เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อมีการออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้พวกเราก็พร้อมร่วมสนับสนุน
ขู่เร่งเจรจาก่อนวิกฤติ
“ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหันหน้าเข้าหากัน เพราะถึงจุดใกล้เกิดวิกฤติการเมืองแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้วิกฤติการเมืองครั้งนี้เกิดขึ้น มันจะรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมามาก แต่ยังพอมีเวลาเหลืออยู่ที่จะยับยั้งวิกฤตินี้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียขึ้นอีก อย่ารอให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายขึ้นมาก่อนแล้วค่อยหันหน้าพูดคุยกัน ซึ่งข้อเสนอนี้ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางออกเดียวของสังคมไทย เพื่อหาข้อตกลงใหม่ ที่เป็นที่ยอมรับร่วมกัน” นายธนาธรกล่าวตอบในเรื่องการชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งถึงการชุมนุมว่า "ขอให้ยึดข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้มั่นคงถึงที่สุด เพราะเป็นความชอบธรรม แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนและสุ่มเสี่ยงต่อการนำพาไปสู่ความสูญเสียเช่นดังประวัติศาสตร์การชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งมีรุ่นพี่คนหนึ่งเคยพูดว่า การต่อสู้ทางการเมืองต้องไม่เดินเลยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีความหมายถึงระบอบการปกครองของไทยยึดติดกับประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ในฐานะคนผ่านทางได้เห็นปรากฏการณ์และมีความหวั่นวิตกโรคแทรกซ้อนใดๆ ก็ตามจะทำลายการต่อสู้ของขบวนการอันชอบธรรมของนักศึกษา รวมทั้งต้องยอมรับความจริงว่า ถ้าเราต้องการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขนั้น จะต้องขีดเส้นใต้ว่าไม่ยุ่งเกี่ยวหรือก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะถ้าเลยอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไป ความชอบธรรมในระยะต่อไปนั้นจะมีความสูญเสียตามมาเป็นลำดับ"
นายจตุพรกล่าวอีกว่า "สิ่งสำคัญที่สุดของวันนี้คือ ปรากฏการณ์ชุมนุมของนักศึกษานี้ ถ้าไม่เกิดโควิด-19 สถานการณ์ไปไกลกว่านี้เยอะ แต่ขณะนี้ถ้าไม่บริหารจัดการในผู้ชุมนุมแล้ว เส้นแบ่งบางๆ พร้อมขาดสะบั้นได้ทุกเวลา เพราะไม่มีอะไรที่น่ากลัวไปกว่าความโกลาหล ดังนั้นจึงต้องมีความพร้อมในการจัดการ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย และรัฐต้องส่งคนเข้าไปร่วมบริหารจัดการเพื่อไม่ให้เป็นชนวนน้ำผึ้งหยดเดียว ซึ่งเป็นความละเอียดอ่อนอย่างมาก การต่อสู้ต้องรักษาความชอบธรรมให้ยาวนานที่สุด ถ้าเสียความชอบธรรมไปจะนำพาให้เกิดความสูญเสียมากมายอย่างที่คาดไม่ถึง ซึ่งห่วงใยจากใจจริงที่สุด"
นายพิพัฒน์ชัย ไพบูลย์ หนึ่งในแกนนำ นปช.กล่าวว่า ขอให้กำลังใจน้องๆ ทุกคน ในฐานะที่เคยอยู่ในเวทีการชุมนุมมาก่อน ขอฝากให้ทุกคนดูแลกันและกันให้ปลอดภัย ระวังบุคคลที่สามจะเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนข้อเรียกร้องทั้ง 3 ประการของกลุ่มนักศึกษาเห็นด้วยทุกประการ แต่หากถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ คงตอบว่าเป็นไปได้ยาก
วันเดียวกัน ตั้งแต่ช่วงเช้าทีมประชาสัมพันธ์กองทัพบกได้แจ้งสื่อมวลชนว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) จะแถลงข่าวในเวลา 10.30 น.ในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุม แต่ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ได้สั่งการให้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก และ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบกมาแถลงแทน เพราะเกรงว่าจะเป็นการปลุกกระแสม็อบที่จะมาชุมนุมด้านหน้า บก.ทบ.ในช่วงเย็น
โกรธถูกเรียก 'ม็อบมุ้งมิ้ง'
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการโพสต์ของ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร หรือหมวดเจี๊ยบ นายทหารประจำกรมยุทธการทหารบก ที่ระบุว่าม็อบเยาวชนปลดแอกเป็นม็อบมุ้งมิ้ง ว่าเป็นลักษณะส่วนบุคคลในฐานะประชาชนในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันเจ้าตัวไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่รองโฆษก ทบ.แล้ว และเจ้าตัวได้ตัดสินใจลบโพสต์ไปแล้ว จึงอยากขอให้สังคมอย่าเชื่อมโยงประเด็นนี้กับองค์กร เนื่องจากในระยะหลังพบว่ามีบางกลุ่มบางบุคคลพยายามแสดงความเห็นต่อกองทัพบก รวมถึงผู้บังคับบัญชาในลักษณะเชิงอคติและไม่เป็นธรรม
และเมื่อเวลา 15.00 น. สำหรับบรรยากาศการดูแลรักษาความปลอดภัยด้านหน้ากองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) หลังจากที่นายอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับประกาศนัดชุมนุมในเวลา 17.00 น. เพื่อแสดงออกเนื่องจากไม่พอใจการโพสต์ของ พ.อ.หญิง นุสรานั้น เมื่อเวลา 16.30 น. เจ้าหน้าที่ทหารได้ปิดประตูรั้วด้านหน้า บก.ทบ.ทั้งหมด ส่วนพื้นที่ด้านหน้ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน. นางเลิ้งมาดูแลความเรียบร้อย ทั้งนี้ด้านนอกบริเวณรั้ว บก.ทบ.ได้มีการขึงสแลนตั้งแต่บริเวณข้างกำแพงติดกับยูเอ็นจนถึงโรงเรียนแผนที่ทหารไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน เพื่อทำการปรับปรุงซ่อมรั้วและทาสีหลังจากที่ไม่ได้ปรับปรุงมากว่า 10 ปี
ต่อมากลุ่มเยาวชนปลดแอกและ สนท.นำโดยนายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ อดีตพรรคอนาคตใหม่, นายอานนท์, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ เยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้ทยอยเดินทางมารวมตัวชุมนุม โดยใช้เครื่องขยายเสียงพร้อมตั้งเวทีปราศรัยขนาดเล็ก ซึ่งมีมวลชนส่วนหนึ่งชูกล้วยและป้ายระบุข้อความว่า "หยุดซื้อเรือ เครื่องบิน เพื่อปากท้องประชาชน", "ทหารคือรั้ว อย่ามั่วเป็นเจ้าของบ้าน" และ "ทหารมีไว้ทำไม"
สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยนั้น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนนครบาล 1 จำนวน 1 หมวด เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง และตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย พร้อมรถเครื่องขยายเสียง และเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวประมาณ 20 นายคอยทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย ขณะที่เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารบก กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ได้ปิดประตูทางเข้าด้านหน้าในเวลา 17.00 น. ทั้งนี้ก่อนที่แกนนำจะเริ่มทำกิจกรรม ตำรวจ สน.นางเลิ้งได้อ่านประกาศและข้อกำหนดโทษที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.การจราจร ผ่านรถเครื่องขยายเสียงโดยหันลำโพงไปที่กลุ่มผู้ชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้สนใจ
จากนั้นนายภาณุพงศ์ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยตอนหนึ่งว่า "ม็อบเราไม่ใช่ม็อบมุ้งมิ้ง เวลาเราทำกิจกรรมจะมีเจ้าหน้าที่แต่งกายคล้ายทหารไปหาที่บ้าน ถ่ายรูปครอบครัวและขอเบอร์โทรคนที่บ้าน สิ่งเหล่านี้คือการคุกคามประชาชนหรือไม่ ขอให้ช่วยแยกแยะอำนาจกับสิทธิเสรีภาพประชาชนด้วย ทั้งนี้ผู้นำควรรับฟังเสียงประชาชน ทั้งผู้เห็นด้วยและผู้เห็นต่าง"
จนกระทั่งเวลา 18.30 น. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ได้ขึ้นเวทีปราศรัยโจมตีกองทัพบกและ พล.อ.อภิรัชต์อย่างต่อเนื่อง โดยตอนท้ายได้ระบุว่า "เมื่อมาถึงกองทัพบกก็ต้องมีอะไรพิเศษ" พร้อมนำภาพถ่ายของ พล.อ.อภิรัชต์ที่สวมเครื่องแบบสีเขียวเต็มยศมาฉีก ท่ามกลางผู้ที่มาฟังการปราศรัย ประมาณ 30 คน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |