จับประเด็นวาทะทูตมะกันซัดจีน


เพิ่มเพื่อน    

               หัวข้อบทความชื่อ “การธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของรัฐทั้งมวล” เขียนโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี

                เป็นบทวิเคราะห์ที่สะท้อนมุมมองและจุดยืนของสหรัฐฯ ต่อจีนที่ดุดันที่สุดครั้งหนึ่ง

                ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ บทความนี้พยายามจะดึงเอาไทยเข้าไปร่วมใน “สงครามเย็น” รอบใหม่ระหว่างสองมหาอำนาจ

                เป็นประเด็นที่คนไทยและรัฐบาลไทยจะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพื่อวางจุดยืนของประเทศให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติไทยในภาวะที่กำลังเกิด “ระเบียบโลกใหม่หรือโควิด-19” หรือ Post-Covid New World Order ที่จะมีผลกระทบต่อไทยและทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญยิ่ง

                บทความดังกล่าวชี้ว่า โครงการ “Blue Sea 2020” ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของจีนนั้นที่จีนอ้างว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อ “ยกระดับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล”

                ท่านทูตบอกว่า “แต่แท้จริงแล้วจีนใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อจัดการกับประเทศอื่นๆ ที่รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ที่จีนอ้างเอกสิทธิ์ครอบครอง”

                บทความนี้ยกตัวอย่างเรือของจีนจมเรือประมงเวียดนามเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และทางการจีนยังได้เสริมกำลังของฐานทัพหลายแห่งรอบหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ ด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปประจำการเพิ่ม และจัดตั้ง “สถานีวิจัย” หลายแห่ง

                ตลอดจนส่งเรือสำรวจแหล่งพลังงานและกองเรือรบติดอาวุธลงพื้นที่เพื่อข่มขวัญผู้ประกอบการน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งมาเลเซีย และยั่วยุอินโดนีเซียโดยการส่งเรือประมงและเรือคุ้มกันจำนวนหลายร้อยลำเข้าไปยังน่านน้ำรอบเกาะนาทูนา (Natuna Island) ของอินโดนีเซีย

                ท่านทูตบอกว่าทางการจีนเตือนว่าผู้ใดก็ตามที่ต่อต้านคำกล่าวอ้างอธิปไตยอันน่าขันของจีนเหนือทะเลจีนใต้นั้น “จะต้องประสบกับความล้มเหลว”

                บทความนี้โยงถึงไทยด้วย โดยยกเอาประเด็นแม่น้ำโขงมาให้เห็นภาพถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับไทยและประเทศอื่นทางตอนล่างของแม่น้ำสายนี้

                “ไทยเองก็เคยได้รับประสบการณ์จากการกระทำของจีนทางสิ่งแวดล้อมจากภัยแล้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในแม่น้ำโขง ซึ่งขัดกับคำมั่นที่จีนเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งปันทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศปลายน้ำ

                “แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรากลับเห็นหลักฐานว่าการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ต้นน้ำของจีน ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำสามารถควบคุมการไหลของน้ำมายังปลายน้ำเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษ

                ไม่แต่เท่านั้น บทความนี้ยังชี้ว่า

                “การกระทำของทางการจีนในทะเลจีนใต้สะท้อนถึงความเพิกเฉยต่อสิทธิอธิปไตยของชาติอื่นโดยสิ้นเชิง

                “การห้ามทำประมงและการคุกคามเรือในทะเลตามอำเภอใจของจีน ทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนอกชายฝั่งของตน รวมไปถึงน้ำมันและก๊าซมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และพื้นที่การประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

                “ทั้งหมดนี้นับเป็นมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับกระแสชีวิตของชุมชนชายฝั่งทะเล และความเป็นอยู่ของประชากรอาเซียนหลายล้านคน

                ทูตสหรัฐฯ บอกด้วยว่า ต้นตอของการกระทำเหล่านี้ทั้งหมดคือความเชื่อของจีนที่ว่า “อำนาจสร้างความชอบธรรม” และจีนไม่ได้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ใดๆ

                “ทางการจีนใช้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจกับประเทศที่เล็กกว่าหลายต่อหลายครั้ง เช่น

                การปล่อยให้ผลิตผลทางการเกษตรที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์เน่าเสียที่ท่าเรือของจีน เพื่อประท้วงที่ทางการฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการตัดสินประเด็นทะเลจีนใต้

                การคว่ำบาตรนอร์เวย์ เนื่องจากคณะกรรมการโนเบลตัดสินมอบรางวัลสาขาสันติภาพให้แก่ นายหลิว เสี่ยวโป

                การตัดขาดการค้ากับเกาหลีใต้ที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD เพื่อยับยั้งการทดสอบยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

                ทูตสหรัฐฯ บอกด้วยว่า

                “ทั้งหมดนี้ทำให้ทัศนคติการมองโลกของจีนเป็นที่ประจักษ์ เช่นเดียวกับคำกล่าวของนายหยาง เจียฉือ นักการทูตแนวหน้าของจีน ต่อบรรดานักการทูตอาเซียนในปี 2553 ที่ว่า “จีนเป็นประเทศใหญ่ และประเทศอื่นๆ เป็นประเทศเล็ก และนั่นเป็นความจริง”

                ทูตสหรัฐฯ ย้ำว่า

                “การกระทำทั้งหมดของจีนที่กล่าวมานั้นแสดงถึงทัศนคติของจีนต่อพหุภาคีนิยม คำกล่าวข้างต้นของนายหยาง เจียฉือ เกิดขึ้นระหว่างการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ซึ่งเป็นเวทีเพื่อการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยไม่คำนึงถึงอำนาจทางการทหารหรือเศรษฐกิจ

                ทูตดีซอมบรีย้ำว่า

                “เรายังสามารถเห็นทางการจีนบ่อนทำลายเวทีระดับพหุภาคีในลักษณะดังกล่าว รวมถึงหลักการที่เวทีเหล่านี้ยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ความโปร่งใส ความเปิดกว้าง หรือการเคารพหลักนิติธรรม จากการกระทำของจีนต่อองค์การการค้าโลก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหประชาชาติอีกด้วย”

                พรุ่งนี้ : ไทยกับจุดยืนระหว่างสหรัฐฯ กับจีน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"