ช่วงเดือนธันวาคม หรือมกราคมของทุกปี ผมจะไปญี่ปุ่น ทำหน้าที่ศาสตราจารย์พิเศษสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮิโตะสึบาชิ (Hitotsubashi University) กรุงโตเกียว สอนหลักสูตรปริญญาโทด้านนโยบายสาธารณะ เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ และนักศึกษาทั้งหมดจะเป็นข้าราชการจากหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เป็นงานสอนที่ผมได้ทำมาทุกปี ตั้งแต่ออกจากงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งก็เกือบสิบปีแล้ว และผมก็ชอบมาก คือ นอกจากได้สอนและได้รู้จักกับนักศึกษา ซึ่งจะเป็นผู้ทำนโยบายเศรษฐกิจรุ่นต่อไปของเอเชียแล้ว ยังเป็นโอกาสได้พบเพื่อนฝูงชาวญี่ปุ่นและพักผ่อนไปด้วย ซึ่งแต่ละครั้งก็จะอยู่ที่ญี่ปุ่น 7-14 วัน แล้วแต่โอกาส
ปีนี้ผมไปตอนต้นเดือนมกราคม ก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19 และทุกครั้งที่ไปผมจะไปร้านหนังสือและซื้อหนังสือติดตัวกลับเมืองไทย ร้านหนังสือที่ผมไปทุกครั้งที่ไปสอนคือ ร้านมารูเซ็น (Maruzen) สาขานิฮอมบาชิ อยู่กลางเมืองใกล้สถานีรถไฟโตเกียว เป็นร้านที่มีหนังสือภาษาอังกฤษมาก และไปทุกครั้งก็จะซื้อหนังสือทุกครั้ง คราวนี้ก็ซื้อมาสามเล่ม และเล่มหนึ่งที่ซื้อก็คือ "นักเศรษฐศาสตร์ยามสงคราม" หรือ Economists at war ตีพิมพ์ปีนี้
หนังสือพูดถึงนักเศรษฐศาสตร์เจ็ดคนจากห้าประเทศ ช่วงปี 1935-55 ที่แต่ละคนได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ของตนช่วยประเทศในยามประเทศมีวิกฤติคือมีสงคราม ในฐานะต่างๆ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าการธนาคารกลางและที่ปรึกษารัฐบาลด้านเศรษฐกิจ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เศรษฐกิจในรูปแบบที่น่าอ่าน สนุก และน่าสนใจมาก เพราะสงครามไม่ได้แพ้ชนะด้วยกำลังทหารอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยกำลังทางเศรษฐกิจที่ต้องระดมทรัพยากรที่ประเทศมีเข้าทำสงคราม เป็นเรื่องของนักเศรษฐศาสตร์เจ็ดคนที่ได้เข้ามาทำบทบาทนี้รับใช้ชาติ เมื่อประเทศของตนเข้าสู่สถานการณ์สงคราม
อีกเหตุผลที่ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ก็เพราะผู้แต่ง คือ นายอลัน โบลาดร์ (Alan Bollard) ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย เวลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ อดีตเคยเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางนิวซีแลนด์ ที่ผมได้มีโอกาสรู้จักและเคยร่วมประชุมด้วยหลายครั้งสมัยผมทำงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านผู้นี้มีความรู้และมีอัธยาศัยดีมาก ไม่ถือตัว และเป็นนักเขียนตัวยง
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มที่สามที่เขียน และผมก็ซื้อไว้เพื่อหาความรู้จากงานเขียนของท่าน
ปี 1935-55 เป็นช่วงที่โลกเต็มไปด้วยความขัดแย้งเกิดการประจัญหน้ากันของประเทศต่างๆ ที่นำไปสู่การระเบิดขึ้นของสงคราม ประชากรโลกกว่า 80 ล้านคนต้องเสียชีวิตจากสงครามและความขัดแย้งดังกล่าว ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ก็ได้ถูกนำมาใช้เพื่อระดมทรัพยากรและบริหารเศรษฐกิจยามสงคราม รวมถึงปิดจุดอ่อนทางเศรษฐกิจที่ประเทศมีและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงคราม ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่วิชาเศรษฐศาสตร์มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางนโยบายและวิเคราะห์ปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศมี ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคของเคนส์ ระบบบัญชีรายได้ประชาชาติ การวิเคราะห์ตารางปัจจัยผลผลิต (input-output analysis) แบบจำลองคณิตศาสตร์เชิงเส้นตรง (linear programming) ทฤษฎีดุลยภาพทั่วไป (General Equilibrium) และทฤษฎีเกม (Game Theory) ความรู้เหล่านี้ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในพันธกิจสงคราม และส่วนใหญ่เป็นผลงานทางวิชาการของนักเศรษฐศาสตร์เจ็ดคนที่หนังสือเล่มนี้พูดถึง ที่บุกเบิกแนวคิดและนำความรู้มาใช้เพื่อประโยชน์ของประเทศในยามสงคราม ภายใต้เงื่อนไข สถานการณ์และภูมิหลังของแต่ละคนที่แตกต่างกัน บางคนเรียนเศรษฐศาสตร์มาโดยตรง และบางคนเรียนเศรษฐศาสตร์ด้วยตัวเอง
นักเศรษฐศาสตร์เจ็ดคนที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงคือ หนึ่ง ทากาฮาชิ โคริกิโย (Takahashi Korekiyo) อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศญี่ปุ่นรอดจากภัยของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงทั่วโลกช่วงปี 1930s รวมถึงความพยายามของเขาที่ต่อสู้เพื่อลดการใช้จ่ายด้านการทหารของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นต้องการแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารในเอเชียก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
สอง นายเอชเอช คุง (H.H.Kung) อดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ว่าการธนาคารกลางจีน สมัยรัฐบาลก๊กมินตั๋ง จบเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเยลสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการระดมทุนและเงินเพื่อทำสงคราม รวมถึงกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ช่วงปี 1930s และ 1940s
สาม Hjalmar Schacht นักเศรษฐศาสตร์ และนายธนาคารที่เป็นทั้งผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีเศรษฐกิจสมัย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hiler) แต่ถูกปลดจากตำแหน่งเพราะความคิดไม่ตรงกับผู้นำประเทศ ถูกจับกุมแต่ก็รอดชีวิตมาได้หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง
สี่ นายจอห์น เมนาร์ด เคนส์ (Maynard Keynes) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคและบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวคิดที่หลายประเทศได้นำไปปฏิบัติใช้ในการแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงปี 1930s เป็นผู้แทนรัฐบาลอังกฤษในการวางระเบียบระบบเศรษฐกิจการเงินโลกใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ห้า Leonid Kantorovich นักคณิตศาสตร์ชาวรัสเซีย ที่ได้รับรางวัลโนเบิลด้านเศรษฐศาสตร์จากการศึกษาเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำงานให้กับรัฐบาลรัสเซียช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ที่เด่นมากคือ บุกเบิกวิชาแบบจำลองคณิตศาสตร์เชิงเส้นตรง (linear programming) เพื่อการวางแผนเศรษฐกิจและใช้วิชาดังกล่าวคำนวณความหนักสูงสุดของคาราวานรถบรรทุกที่จะขับบนทะเลสาบที่ผิวน้ำเป็นน้ำแข็งเพราะความหนาวโดยไม่จมลงบนเส้นทางยาวถึง 220 กิโลเมตร เพื่อส่งอาวุธและเสบียงให้กับชาวเมืองเลนินกราด ที่ถูกปิดล้อมโดยกองทัพเยอรมัน
หก นาย Wassily Leontiff นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เชื้อสายรัสเซีย ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้บุกเบิกแนวคิดเกี่ยวกับตารางปัจจัยผลผลิต (InputOutput Table) และนำความรู้ดังกล่าวมาวิเคราะห์ขนาดและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจเยอรมัน ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง วิเคราะห์อุตสาหกรรมที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจเยอรมันเพื่อชี้เป้าของการทิ้งระเบิดของพันธมิตร
เจ็ด นายจอห์น วอน นิวแมน (John Von Neumann) นักเศรษฐศาสตร์อเมริกา เชื้อสายฮังการี ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัย Pri nceton ผู้บุกเบิกทฤษฎีเกม และนำความรู้ดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาการคำนวณโดยคอมพิวเตอร์ความเร็วสูง การวางเป้าการทิ้งระเบิดปรมาณู และศึกษาความเป็นไปได้ของการเมืองระหว่างประเทศ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
อ่านมาแค่นี้คงรู้สึกได้ว่าหนังสือเล่มนี้สนุกแน่ และใครที่เรียนเศรษฐศาสตร์ก็จะคุ้นชื่อนักเศรษฐศาสตร์ทั้งเจ็ดคนนี้เป็นอย่างดี ที่น่าสนใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้คือ ให้รายละเอียดบุคคลเหล่านี้ในมุมมองที่เราอาจไม่เคยได้ทราบมาก่อนคือ ชีวิตสมัยเด็ก การต่อสู้เพื่อโอกาสในการศึกษาเล่าเรียน ความยากลำบากในการเติบโตช่วงสงคราม ความเก่งฉกาจของบุคคลเหล่านี้ในแง่ความคิดและมันสมอง โอกาสในการได้ทำงานเพื่อชาติ ความสุขและความสำเร็จในบั้นปลายชีวิต และจุดจบของแต่ละคน ต่างล้วนมีสีสัน ทำให้เราเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมและแรงจูงใจที่ทำให้บุคคลเหล่านี้กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก และบทบาททางสาธารณะของพวกเขาที่ใช้ความรู้ความสามารถช่วยเหลือประเทศชาติในยามวิกฤติ แม้จะต้องเอาความปลอดภัยของครอบครัวและชีวิตของตนเข้าแลก
บทความ "เขียนให้คิด" วันนี้คงจะกล่าวถึงความเป็นตัวตนของคนเหล่านี้ไม่ได้ทั้งเจ็ดคน แต่จะขอพูดถึงหนึ่งคนพอเป็นตัวอย่างให้เราได้สัมผัสความน่าอ่านของหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ ทากาฮาชิ โคริกิโย นักเศรษฐศาสตร์ที่เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีการคลังของญี่ปุ่น เจ็ดครั้งช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง
โคริกิโย เกิดปี 1854 ที่โตเกียว บิดาเป็นศิลปินวาดรูป ตั้งแต่เด็กโตมาในครอบครัวคนอื่นที่หวังดีและส่งเสริมให้เขาใฝ่หาความรู้แต่เด็ก เขาเรียนหนังสือโรงเรียนมิชชั่นนารีมาตลอด ทำให้ความรู้ภาษาอังกฤษดีมาก เดินทางไปผจญภัยที่อเมริกาคนเดียวตั้งแต่อายุ 13 แต่ก็ต้องหนีกลับญี่ปุ่นปีต่อมาพอรู้ว่าถูกหลอกให้ไปทำงานในไร่ ประสบการณ์นี้ทำให้เขาเห็นการเติบโตและความก้าวหน้าของสหรัฐ เขาจึงอ่านและศึกษาเรื่องต่างๆ ด้วยตนเองตลอดเวลา ที่ญี่ปุ่น เขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และช่วยงานหน่วยราชการญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหาและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น จนมีโอกาสได้ทำงานให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำได้ดีจนได้บรรจุเป็นผู้จัดการสาขาเมื่ออายุ 36 เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มสูง แก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ดีจากการศึกษาเศรษฐศาสตร์และธุรกิจด้วยตัวเอง ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการภาคและร่วมทีมผู้บริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นไปดูงานต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาระบบการเงินญี่ปุ่น การดูงานคราวนี้ทำให้เขาได้รู้จักและสร้างเครือข่ายกับนักการธนาคารทั้งในยุโรปและสหรัฐ เข้าใจถึงความละเอียดอ่อนของการออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินในต่างประเทศ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลญี่ปุ่นต่อมาในการระดมเงินจากต่างประเทศ ให้ฝ่ายทหารทำสงครามกับรัสเซียเพื่อขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นในเอเชีย ซึ่งเขาก็ทำได้สำเร็จ ได้เลื่อนเป็นรองผู้ว่าฯ และผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นในที่สุด
สิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากเศรษฐกิจช่วงสงคราม คือ สงครามใช้เงินมาก นำไปสู่การสร้างหนี้และความเดือดร้อนของประชาชน เขาคิดว่าการสร้างความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจให้กับญี่ปุ่นสำคัญกว่าไม่ใช่ด้านการทหาร และธุรกิจจะต้องเป็นหน้าที่ของเอกชน รัฐบาลต้องมีวินัยด้านการคลัง ไม่สร้างหนี้ ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนเอกชนให้พัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ เก็บภาษีต่ำและทำอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ ไม่ใช่การใช้จ่ายด้านการทหาร แนวคิดดังกล่าวทำให้ฝ่ายทหารไม่ชอบเขา ในแง่เศรษฐศาสตร์แนวคิดดังกล่าวไปไกลกว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์สมัยนั้นมาก โดยเขาศึกษาเองและวิเคราะห์เองจากการอ่าน โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่เขาอ่านทุกวัน
หลังหมดหน้าที่ผู้ว่าการธนาคารกลาง ความรู้ความสามารถของเขา โดยเฉพาะชื่อเสียงของเขาในต่างประเทศ ทำให้พรรคการเมืองอยากได้เขาเป็นรัฐมนตรี ซึ่งเขาก็แบ่งรับแบ่งสู้และตอบรับเป็นรัฐมนตรีการคลังถึงเจ็ดครั้งในช่วง 22 ปีต่อมา รวมถึงเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย
ช่วงนั้นการเมืองญี่ปุ่นสั่นคลอนมาจากบทบาทของฝ่ายทหารที่กระหายสงครามและมีอิทธิพลทางการเมืองสูงถึงขนาดวีโต้การตัดสินใจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ งานใหญ่ที่เขาทำ คือ ช่วยเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้หลุดพ้นจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกช่วงปี 1930s ด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่ถือว่าเป็นต้นแบบของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของโลก คือ ลดค่าเงิน ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยภาคอุตสาหกรรม และขยายการใช้จ่ายของภาครัฐที่ไม่เกี่ยวข้องกับด้านการทหาร ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวได้อย่างน่าพอใจ แต่การที่เขาเป็นคนเดียวที่กล้าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มการใช้จ่ายด้านการทหารมาตลอดในฐานะรัฐมนตรีคลังก็นำภัยมาสู่ตัวเขาในที่สุด เดือนกุมภาพันธ์ ปี 1936 กลุ่มทหารหนุ่มบุกเข้าบ้านเขาตอนเช้ามืด และสังหารเขาอย่างเลือดเย็น ตอนนั้นโคริกิโย อายุ 82 ปี คนญี่ปุ่นเสียใจทั้งประเทศและยืนเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อเคารพศพเขา
อีกแง่มุมที่น่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ก็คือ ช่วงยี่สิบปีที่หนังสือเขียนถึงนักเศรษฐศาสตร์เจ็ดคนนี้ มีหลายกรณีที่นักเศรษฐศาสตร์ทั้งเจ็ดคนเคยพบกันแม้จะไม่พร้อมกัน ต่างคนต่างอ่านข่าวของแต่ละคนแม้จะไม่เคยรู้จักกัน บางคนเคยร่วมประชุมกัน หรือพบกันในงานสัมมนาวิชาการโดยไม่ตั้งใจ หนังสือเล่าเรื่องเจ็ดคนนี้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1935 และจบในปี 1955 ทำให้เราเห็นพัฒนาการของแนวความคิดและสิ่งที่คนเหล่านี้ได้ทำให้ประเทศของตนที่เป็นภาพต่อเนื่องยี่สิบปี ซึ่งน่าสนใจมาก
ที่สำคัญ ทั้งเจ็ดคนนี้มีอะไรหลายอย่างเหมือนกัน คือ มีความรักประเทศ ต้องการใช้ความรู้ ความสามารถที่มีช่วยประเทศของตนในยามที่ประเทศมีวิกฤติ เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง เชื่อในความคิดของตน เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเรื่องเศรษฐกิจและเป็นที่ยอมรับ ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศได้อย่างสำเร็จ และวางมือหมดหน้าที่เมื่อปัญหาต่างๆ จบลง โดยไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว
นี่คืออุทาหรณ์สำคัญของการแก้ไขปัญหาของประเทศในยามวิกฤติ ที่คนในประเทศต้องลุกขึ้นใช้ความรู้ที่มีช่วยประเทศชาติเพราะปัญหาเป็นปัญหาความอยู่รอดของคนทั้งประเทศ ที่ต้องได้คนที่มีประสบการณ์มีความรู้เข้ามาแก้ไขปัญหา เข้ามาทำงาน ไม่ใช่ใครมาก็ได้ หรือมาเพราะอยากได้ตำแหน่งหรือเป็นพวกฉวยโอกาส ต้องเป็นคนที่มีหลักมีวิชาเป็นที่ยอมรับเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชน ที่สำคัญต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง หรือความทะเยอทะยานทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องของส่วนรวม
หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมาก ใครสนใจควรหาซื้อไว้ รับรองสนุกไม่ผิดหวัง.
บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |