พรรคกำนันไม่แลกเก้าอี้'รมต.'


เพิ่มเพื่อน    


        พลังประชารัฐล็อบบี้ฝุ่นตลบแน่ รองหัวหน้าพรรคเผยประชุมพรรคอังคารนี้ กรรมการบริหารพรรคลงมติกำหนดตัวบุคคลเป็นรัฐมนตรี จากนั้นส่งโผรายชื่อให้บิ๊กตู่ แต่ถึงส่งไปแล้ว เป็นอำนาจของนายกฯ ในการตัดสินใจ รปช.ขึงขัง ไม่ยอมแลกเก้าอี้แรงงานกับเสี่ยเฮ้ง มีอึ้ง! ซูเปอร์โพลอ้างผลสำรวจคนรุ่นใหม่ไม่เชื่อมั่นปรับ ครม.จะได้คนดีบริหารประเทศ
        เมื่อวันที่ 19 ก.ค. นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า วันที่ 21 ก.ค.พรรค พปชร. มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค ในเวลา 15.00 น. โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเป็นประธาน 
    "ทั้งนี้ นอกเหนือจากพิจารณาเรื่องทั่วไปแล้ว ยังมีการพิจารณาเรื่องของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ในการปรับคณะรัฐมนตรี เพื่อมีมติให้หัวหน้าพรรคดำเนินการต่อไปในการส่งรายชื่อให้นายกฯ พิจารณา ทั้งนี้เป็นตามข้อบังคับพรรค ที่การเสนอรายชื่อรัฐมนตรีต้องเป็นมติกรรมการบริหารพรรค เช่นเดียวกับพรรคการเมืองอื่นๆ สำหรับรายชื่อรัฐมนตรี หลังหัวหน้าพรรคนำเสนอนายกฯ แล้ว จะขึ้นอยู่กับดุจพินิจของนายกฯ พิจารณา ส่วนจะเปิดเผยรายชื่อหรือไม่หลังที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคมีมติ ขึ้นอยู่กับมติที่ประชุม" รองหัวหน้าพรรค พปชร.กล่าว 
       นายไพบูลย์กล่าวว่า จากนั้นเวลา 16.00 น. จะเป็นการประชุมส.ส.ที่ว่าด้วยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันพุธ พฤหัสบดี และการประชุมรัฐสภาในวันศุกร์ รวมถึงเรื่องที่ ส.ส.ต้องการหารือคณะกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้จะมีการเปิดตัว พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคประชานิยม เป็นสมาชิกพรรค พปชร. หลัง กกต.ประกาศพรรคประชานิยมสิ้นสภาพ โดย พล.ต.อ.ยงยุทธได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคแล้ว และ พล.ต.อ.ยงยุทธได้ทำหนังสือเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียบร้อยแล้ว พรรค พปชร.เป็นพรรคใหม่ขนาดใหญ่ แต่มั่นใจกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และการนำพรรคของ พล.อ.ประวิตร จะทำให้พรรคมีเอกภาพและแข็งแกร่ง เลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นพรรคอันดับ 1 ได้ ส.ส.บวก-ลบ 200 เสียง 
    นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า ส่วนการเตรียมความพร้อมในเลือกตั้ง ขณะนี้ได้แบ่งทีม 10 หัวหน้าภาค ที่มาจาก ส.ส.แต่ละภาค มีหัวหน้าภาค รองหัวหน้าภาค และเลขาฯ ภาค ดูแลประชาชนและการเลือกตั้งต่างๆ ในเขตพื้นที่ โดยมีกรรมการบริหารพรรคกำกับดูแล ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นที่แต่ละพรรคเริ่มขยับเตรียมความพร้อมบ้างแล้วนั้น ในส่วนของพรรคเห็นว่ายังมีเวลา และขอรอความชัดเจนจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่แน่นอนพรรคต้องเฟ้นหาตัวผู้สมัคร รวมถึงตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.
    มีรายงานถึงการปรับ ครม.ว่า หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ออกมาระบุสัดส่วนโควตาพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ทำให้การปรับครั้งนี้อาจเพียงปรับทดแทนใน 4 ตำแหน่งที่ว่างลงเท่านั้น คือ รองนายกฯ, รมว.การคลัง,  รมว.พลังงาน และ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 
    ทั้งนี้ ล่าสุดเก้าอี้ รมว.การคลัง ยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ คือนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทยจะมานั่ง ส่วนนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีต รมช.คมนาคมและอดีตผู้บริหาร ปตท. ที่มีชื่อในโผ จะมานั่งเป็น รมว.พลังงาน และอาจมีชื่อไปเป็นรองนายกฯ ด้วย ซึ่งต้องรอดูการตัดสินใจของนายกฯ เนื่องจากเวลานี้พรรค พปชร.ยังคงจะเสนอชื่อนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองหัวหน้าพรรคและ รมว.อุตสาหกรรม เป็น รมว.พลังงาน และให้นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค ไปนั่ง รมว.อุตฯ แทน ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ที่มีข่าวพรรคจะเสนอให้นั่ง รมว.แรงงาน โดยเอา อว.ไปแลกโควตาของพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่เสนอชื่อนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมการบริหารพรรค เป็นรัฐมนตรีนั้น ล่าสุดพรรค​ รปช.ยืนยันว่าจะไม่ยอมแลก จะขอโควตาเดิม ซึ่งการปรับ ครม.ของพรรค พปชร. ยังต้องรอความชัดเจนการประชุม กก.บห.ในวันที่ 21 ก.ค.
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พรรคพลังประชารัฐรอให้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค วันที่ 21 ก.ค. เคาะโผรัฐมนตรีรอบสุดท้าย ก่อนส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมพิจารณา ว่าถึงวันนี้อดีตรัฐมนตรี 4 กุมารน่าจะโล่งใจมากกว่าเสียใจ ที่หลุดพ้นจากวังวนความล้มเหลวของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ การปรับ ครม.เศรษฐกิจยกชุดครั้งนี้ เป็นยิ่งกว่าคำสารภาพว่านโยบายด้านเศรษฐกิจตั้งแต่คสช.ถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ประจานซ้ำด้วยการชิงชักปลั๊กกระโดดหนีตายของคนที่รู้ว่าวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้เป็นวิกฤติโลกซ้อนวิกฤติไทย ขนาดนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่เข้าใจเศรษฐกิจการตลาดในมิติการเมือง ยังยอมยกธงขาว คนอื่นๆ ที่จะเข้ามารับเผือกร้อนจะไหวหรือ จึงไม่แปลกใจที่ในหน้าสื่อจะนำเสนอข่าวคนที่ถูกทาบทามรุมปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายแล้วการลงทุนสร้างสถานการณ์เพื่อขับไล่กลุ่ม 4 กุมารของนักการเมืองพันธุ์โบราณที่สร้างมุ้ง แย่งชามข้าวหวังยึดโควตารัฐมนตรี จนภาพลักษณ์พรรคพลังประชารัฐตกต่ำ อาจกลายเป็นการตีงูให้กากิน มีแต่เสียไม่มีได้ คนนอกไม่กล้าเข้า คนในประชาชนก็ปฏิเสธ ภาคธุรกิจให้โจทย์ว่า ครม.ใหม่ที่ประกาศชื่อออกมาต้องว้าว แต่ถ้าดาหน้ากันปฏิเสธหนักขนาดนี้ สุดท้ายจะได้ ครม.ที่ประชาชนยี้  
      “พรรคพลังประชารัฐแย่งเก้าอี้รัฐมนตรีเหมือนไก่จิกตีกันในเข่ง น่าเสียดายที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และเกิดจากอะไร เพราะถ้ารู้ตัวว่า พล.อ.ประยุทธ์คือศูนย์กลางของปัญหาและความขัดแย้ง ต้องลาออกไปนานแล้ว” นายอนุสรณ์กล่าว
    ความเห็นดังกล่าวทำให้นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวตอบโต้นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย โดยย้ำว่า ขอให้นายอนุสรณ์หยุดเล่นการเมืองแบบเก่าได้แล้ว วันนี้ทุกคนจะต้องเดินหน้าแก้ไขวิกฤติและปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ร่วมกัน ที่ผ่านมานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้บริหารจัดการการแก้ไขปัญหาวิกฤติโควิด-19 ได้ดีมากถึงมากที่สุด มีความเข้าใจปัญหา ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส และการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องเข้าใจว่าทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบทั้งสิ้น และจะต้องแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งด้านสาธารณสุขและการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ 
    รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐกล่าวอีกว่า ในส่วนของกรณีที่มีการกล่าวหาว่าพรรคพลังประชารัฐแย่งชามข้าวนั้น ถือเป็นการกล่าวด้วยถ้อยคำที่ไม่สร้างสรรค์ ขาดวุฒิภาวะ และการให้เกียรติกัน ความจริงวันนี้คือ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้มีการปรับ ครม.แต่อย่างใด โดยพรรคพลังประชารัฐได้เคารพในการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งการจัดให้มีการประชุมเสนอชื่อรัฐมนตรีในส่วนของพรรคนั้น เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณา เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะเลือกบุคคลที่ดีที่สุด ที่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ 
     นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลว่า เราต้องคาดหวังผู้มาทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจที่มีวิสัยทัศน์และสามารถมองปัญหาในเชิงระบบ มีความรู้ความสามารถสูง มีประสบการณ์ เพราะต้องมาบริหารและแก้ปัญหาในช่วงวิกฤตการณ์ และดูเหมือนว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในช่วง 70-80 ปีที่ผ่านมา มุ่งแก้ปัญหาในระดับมหภาค เพราะหากมัวแต่พะวักพะวนกับปัญหาในระดับจุลภาค จะชักนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่มีประสิทธิผลต่อภาพโดยรวมของระบบเศรษฐกิจ และอาจหลงทางได้ 
    "แน่นอนที่สุด ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์ มีความโปร่งใส ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการลงทุนในการช่วยทำให้เราฝ่าวิกฤติได้ หากทีมเศรษฐกิจเป็นนักเศรษฐศาสตร์มหภาค และเป็นนักบริหารที่กล้าตัดสินใจ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี ต้องทำงานเป็นทีม เพราะไม่มีใครเก่งคนเดียว รู้ทุกเรื่อง หัวหน้าทีมต้องเป็นคนที่ตัดสินใจเก่ง กล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน มีการทำวิจัยมาก่อนเพื่อสร้างทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับประเทศในสถานการณ์ต่างๆ ฉากทัศน์ต่างๆ ในอนาคต ซึ่งเรายังไม่มีรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น" นายอนุสรณ์กล่าว 
    วันเดียวกันนี้ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง เสียงคนรุ่นใหม่ต่อการปรับ ครม. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,243 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 16-18 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา 
    โดยเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ว่าคนที่จะมาแทนรัฐมนตรีกลุ่มสี่กุมารไม่มีประวัติด่างพร้อย เป็นคนดี พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.9 ไม่เชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 13.1 เชื่อมั่น และเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ว่าคนที่จะมาแทนรัฐมนตรีกลุ่มสี่กุมาร เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง ไม่กอบโกยผลประโยชน์ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.7 ไม่เชื่อมั่น 
    ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของคนรุ่นใหม่ว่าคนที่จะมาแทนรัฐมนตรีกลุ่มสี่กุมารจะได้รับการปกป้องจากสุภาพชน คนให้เกียรติกัน ไม่ถูกทรยศหักหลัง ไม่เสร็จนาฆ่าโคถึก พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 ไม่เชื่อมั่น
    นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ มุมมองของคนรุ่นใหม่ต่ออนาคตของประเทศชาติ พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.0 ระบุมีความเหลื่อมล้ำ คนจน จนมากขึ้น รองลงมาคือร้อยละ 78.5 ระบุเด็กและเยาวชนไม่มีพื้นที่ที่แสดงออกในเวลาที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ใหญ่, ร้อยละ 75.5 ระบุผู้ใหญ่ให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนน้อย เอาความอยู่รอดของตัวเองและพรรคพวกเป็นใหญ่, ร้อยละ 74.9 ระบุผู้ใหญ่หลงตัวเอง คิดว่าตัวเองดี ตัวเองเก่ง มากกว่าเด็ก และร้อยละ 74.5 ระบุใช้อำนาจควบคุม มากกว่าใช้อำนาจให้เกิดความไว้วางใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"