การเคลื่อนไหวของ สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย หรือ สนท. และ กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free YOUTH) ที่ร่วมกันจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันเสาร์ที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา บริเวณถนนราชดำเนิน-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
บนข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อของกลุ่มเคลื่อนไหว คือ 1.หยุดคุกคามประชาชน 2.ประกาศยุบสภา และ 3.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าหากภายใน 2 สัปดาห์นับตั้งแต่นี้ ไม่มีการตอบรับใดๆ จากทางรัฐบาล กลุ่มผู้เคลื่อนไหวจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป
จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นการกลับมาอีกครั้งของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน-นอกรัฐสภา ที่มีแกนนำกลุ่มนักศึกษาเป็นผู้ขับเคลื่อน หลังก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ แฟลชม็อบ ของนักศึกษาหลายสถาบันทั่วประเทศ เคยเขย่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มาแล้วในช่วงหลังมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ จนสร้างความหนักใจให้แกนนำรัฐบาลพอสมควร แต่บังเอิญมาเจอกับ วิกฤติไวรัสโควิด เลยทำให้การเคลื่อนไหวต้องยกเลิกไปโดยอัตโนมัติ
ทว่าการกลับมารอบนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นการออกมาในช่วงที่ยังคงมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังอยู่ในช่วงที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงเตือนให้คนไทยระวัง อย่าการ์ดตกในการเฝ้าระวังการแพร่เชื้อโควิด แต่กลุ่มแกนนำที่เคลื่อนไหวดังกล่าวก็ยังสามารถนัดชุมนุมการเมือง นำคนออกมาเขย่ารัฐบาลได้ในระดับหนึ่ง
ในเชิงมิติทางการเมือง ทำให้หลังจากนี้เมื่อดูจากแนวทางการเคลื่อนไหว ที่แกนนำบอกว่าพร้อมจะกลับมาอีกครั้งหลังจากนี้ภายในสองสัปดาห์ข้างหน้า ที่ดูแล้วถึงยังไงข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ไม่มีทางที่ รัฐบาลจะทำตาม เช่น การยุบสภา เมื่อเป็นเช่นนี้ หากกลุ่มที่เคลื่อนไหวยังไม่ล้มเลิกหรือโดนสกัดกั้น แกนนำกลุ่มก็คงต้องหาทางกลับมารวมตัวกันอีก เพียงแต่จะกลับมาตอนไหนและจะเคลื่อนไหวอย่างไร
เมื่อเป็นดังนี้ ในทางการเมืองสิ่งที่ต้องติดตาม จากการเคลื่อนไหวกลับมาทำการเมืองบนท้องถนนอีกครั้งของ สนท.-กลุ่มเยาวชนปลดแอก ก็จะมี 2 ปมสำคัญที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวการเมืองบนท้องถนนดังกล่าว อันได้แก่
1.การตัดสินใจของรัฐบาลและ ศบค.ในการต่ออายุ-ไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ที่คาดว่าภายในช่วงปลายสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจนระดับหนึ่ง ว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคง จะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร
ยิ่งเมื่อการตัดสินใจดังกล่าว หากสุดท้ายมีการให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหลังครบกำหนด 31 ก.ค. ก็ย่อมทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย-ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล นำไปเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลได้ว่า ฉวยโอกาสต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อหวัง สกัด-เอาผิดกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง ทั้งที่จำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์มาหลายสัปดาห์แล้ว จึงไม่มีเหตุให้ต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยแม้ต่อให้รัฐบาล จะอ้างเหตุสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดยังไม่น่าวางใจจึงจำเป็นต้องต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากการนัดชุมนุมเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา มองดูแล้วถึงมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ยากที่จะสกัดไม่ให้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวนัดชุมนุมได้ ยกเว้นโดนสกัดด้วย เงื่อนไขคดีความส่วนตัว จนเคลื่อนไหวไม่ได้ ดังนั้นหากรัฐบาล-ศบค.จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คงต้องหาเหตุผลที่มีน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม มาอธิบายเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกหนึ่งเดือน
2.ทำให้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในโหมดความสนใจทางการเมืองอีกครั้ง
ที่ผ่านมา เรื่องการแก้ไข รธน.ได้ถูกดึงให้กลับมาอยู่ในกระบวนการของรัฐสภาผ่าน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นประธาน โดยก็มีความเห็นของ กมธ.จากหลายพรรคการเมือง แม้แต่จากพรรคฝ่ายค้านอย่าง "เพื่อไทย-ก้าวไกล" ที่สะท้อนความเห็นว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับ กมธ.ชุดนี้ เพราะดูแล้ว คงไม่มีข้อสรุปอย่างที่ฝ่ายค้านต้องการให้มีการแก้ไข รธน.ใหม่ทั้งฉบับ อย่างมากอาจได้แค่เสนอให้แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบางเรื่องเท่านั้น ผนวกกับการพิจารณาก็มีความล่าช้า ยิ่งมาเจอตอนโควิดจนทำให้ กมธ.ต้องขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีก 90 วัน นับจากวันที่ 25 มิ.ย. ซึ่งกว่าจะสรุปผลก็ปลายเดือนกันยายน และไม่มีอะไรบ่งชี้ได้ว่าฝ่าย กมธ.ซีกรัฐบาลจะเห็นด้วยกับการให้แก้ไข รธน.ใหม่ทั้งฉบับผ่านการตั้งสภาร่าง รธน. ยิ่งปัจจุบันคนเดือดร้อนจากวิกฤติเศรษฐกิจ จากผลโควิด เลยทำให้คนไม่สนใจเรื่องแก้ไข รธน.กันมากนักเพราะกลัวอดตายมากกว่า เลยทำให้การทำงานของ กมธ.เงียบไปโดยปริยาย
แต่มาวันนี้เมื่อกระแสเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ไข รธน.กลับมาอีกรอบ ผ่านการกดดันนอกรัฐสภา ที่คาดได้ว่าหากสถานการณ์สุกงอม คงมีอีกหลายกลุ่มการเมืองที่รอจังหวะอยู่เพื่อกดดันให้มีการแก้ไข รธน.ก็คงพร้อมออกมาผสมโรงด้วย ทำให้หลังจากนี้การทำงานของ กมธ.ชุดดังกล่าวของสภาคงกลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนมากขึ้น
ปมการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ กับความชัดเจนเรื่องการแก้ไข รธน.ของพรรคร่วมรัฐบาล จึงเป็นบริบทการเมืองที่ทำให้คนต้องติดตาม หลังการกลับมาของการเมืองบนท้องถนน ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |