หมีขั้วโลกเดือดร้อนจากการใช้ทรัพยากรเกินขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก
โลกกำลังเผชิญวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำมือมนุษย์ มีการชี้เป้าว่า ปีนี้เป็นปีที่มีความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติอันหลากหลาย ตั้งแต่วิกฤตการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา ตั๊กแตนที่ระบาดไปทั่วแอฟริกาตะวันออกในรอบ 70 ปี จนถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เหล่านี้อาจเป็นการส่งสัญญาณจากธรรมชาติมาถึงมนุษย์ก็ว่าได้
การเรียกร้องให้ผู้คน ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก ตั้งแต่การบริโภคอาหาร จนถึงระดับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ที่คำนึงถึงความยั่งยืน เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลปกป้องผืนป่า การสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เป็นแกนนำสำคัญ ปกป้องโลกเป็นเรื่องเร่งด่วน
ในเวทีหัวข้อ”ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงที่เสี่ยงเกินขีดจำกัดและผลกระทบต่อมนุษย์ชาติและระบบนิเวศโลก “ ซึ่งจัดโดย ลอรีอัล กรุ๊ป เมื่อวันก่อน เผยปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยมี รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ อเล็กซานดรา พัลต์ รองประธานบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความรับผิดชอบขององค์กร ลอรีอัล กรุ๊ป พูดคุยอย่างเข้มข้นในทุกประเด็น
รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่สำรวจขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
รศ.ดร. สุชนา ชวนิชย์ นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่สำรวจขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ กล่าวว่า ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก เป็นการประเมินถึงศักยภาพของโลกในการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีกิจกรรมมากมายที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และก้าวข้ามขีดจำกัดความปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สิ่งสำคัญคือขีดจำกัดความปลอดภัยมีขอบเขตและต้องได้รับการแก้ไขร่วมกัน ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้ผลิต รวมทั้งผู้บริโภคเอง ต้องร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนภายในปี 2030 เพื่อความเป็นอยู่อย่างยั่งยืนของทุกคนและโลกใบนี้
“ วันนี้ คือ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทะเล ป่าไม้ น้ำ สิ่งสำคัญคือมนุษย์จะยอมรับหรือเปล่า แม้แต่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ภาวะอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ควรจะเกิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่มันเร็วขึ้น ทั้งอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้น ฤดูกาลที่แปรปรวน หน่วยงานไอพีซีซี ระบุว่า ในอีก 80 ปี ข้างหน้าต้องควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 3 องศาเซลเซียส แต่ขั้วโลกอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเกิน 3 องศาไปแล้วเวลานี้ เราเห็นภาพเพนกวินตาย แมวน้ำขั้วโลกอัตรารอดชีวิตน้อยลง หมีขั้วโลกกำลังจะตาย แสดงว่า การพยากรณ์ประเมินต่ำไป เพราะกิจกรรมมนุษย์และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เร่งสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม “ รศ.ดร.สุชนา กล่าว
แนวปะการังเสื่อมโทรม ปัญหาทวีความรุนแรงในไทยและเอเชีย
นักวิทยาศาสตร์หญิงระบุด้วยว่า น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายเร็วขึ้น 6 เท่าจากโลกร้อนขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลในไทยเพิ่มสูงขึ้น เฉพาะน้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย ดันระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 5 เมตร และมีการพยากรณ์ว่า หากแผ่นน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลาย สูญเสียน้ำแข็งปริมาณมาก ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 50 เมตรเทียบเท่าอนุสาวรียชัยสมรภูมิ กรณีนี้มีความสำคัญมากสำหรับกรุงเทพฯ จะเกิดน้ำท่วม แผ่นดินทรุด และการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทะเล ไม่เพียงแค่นั้นแนวปะการังตาย นำไปสู่การตายของปลา นี่คือ แหล่งโปรตีนสำคัญของไทยและโลก กระทบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีการจ้างงานและสร้างรายได้จากการแนวปะการังมากกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ที่หนักไม่แพ้กันปัญหาขยะทะเล ผลพวงจากพฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ขยะบกไหลลงแม่น้ำลำคลอง ออกสู่ทะเล โดยเฉพาะพลาสติกเป็นอันตรายอันดับต้นๆ ของมหาสมุทร ปะการังมีพลาสติกติดอยู่ สัตว์น้ำกินพลาสติก ส่งผลกระทบกลับมาหาเราในรูปแบบไมโครพลาสติก นักวิทยาศาสตร์เร่งศึกษา มีรายงานระบุพบไมโครพลาสติกจำนวนหมื่นชิ้นอยู่ในท้องมนุษย์
ขยะพลาสติก-โฟม มลพิษสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมมนุษย์
“ ภาวะโลกร้อนและขยะทะเลเกิดจากพฤติกรรมมนุษย์ที่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม โลกเรากำลังป่วย แต่แก้ไขได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ช่วยกันลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวในชีวิตประจำวัน เพราะทุกๆ 1 นาที ทั่วโลกจะซื้อขวดพลาสติก 1 ล้านใบ ใช้ถุงพลาสติก 2 ล้านถุง และหลอดพลาสติก 7 พันล้านหลอด ขณะที่ในไทยมีขยะพลาสติกไม่ถึงครึ่งที่เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง เล็ดลอดสู่ทะเลกลายเป็นปัญหาคร่าชีวิตสัตว์ทะเลมากกว่า 1 ล้านตัว รวมถึงพะยูนมาเรียม และวาฬเกยตื้น ตัวเองได้ทำงานร่วมกับยูเนสโกหาเทคนิคใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สร้างผู้นำคนรุ่นใหม่ ที่จะไปขยายผลคนในครอบครัว ชุมชน ขณะที่ผู้ใหญ่ก็เร่งทำความเข้าใจ ไม่ให้สร้างความเสียหายหนักกว่านี้ “ รศ.ดร.สุชนา กล่าว
ในฐานะทูตแห่งมหาสมุทรเพื่อความยั่งยืนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ให้ภาพสถานการณ์แนวปะการังในเอเชียแปซิฟิกด้วยว่า เผชิญปัญหามลภาวะจากพลาสติกอย่างรุนแรง ปะการังเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีคุณค่า ผู้คนพึ่งพาแนวปะการังเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว หรือในแง่ความสำคัญทางวัฒนธรรม หันกลับมาที่ประเทศไทยแนวปะการังที่สมบูรณ์มีน้อยมาก เพราะมีการใช้ประโยชน์เกินขีดจำกัด ปกติธรรมชาติฟื้นตัวได้เอง แต่ต้องใช้เวลาพักไม่ต่ำกว่า 5 ปี ช่วงโควิด 3-4 เดือน ธรรมชาติ ได้พัก เห็นปลากลับมาเยอะ แต่ไม่พอ หลายชนิดพันธุ์เสี่ยงหายไป ระบบนิเวศที่ถูกใช้เกินขีดจำกัด จะให้ฟื้นฟูเองลำบาก เราสามารถกระตุ้นให้ยาช่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อย่าง การผสมพันธุ์ปะการังเทียม
เพนกวินขั้วโลกตาย เหตุภาวะโลกร้อน
“โลกร้อนจะหยุดไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่ชะลอให้ช้าลงได้ ธรรมชาติที่เสียหายไปแล้ว ไม่สามารถกลับคืนมาดั่งเดิมเหมือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว แต่ต้องเอากลับคืนมาให้ได้มากที่สุด นอกจากผู้บริโภค ภาคการผลิตก็มีบทบาทสำคัญสร้างความยั่งยืน ทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจให้อยู่ภายใต้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลกและร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ “ รศ.ดร.สุชนา ย้ำทางออกวิกฤตสิ่งแวดล้อม ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือให้ธรรมชาติฟื้นคืน เพื่ออนาคตของลูกหลานในวันพรุ่งนี้
อัตรารอดแมวน้ำขั้วโลกลดลงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มาถึงภาคธุรกิจ ต้องผายมือไปที่ นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลอรีอัลได้เปลี่ยนแปลงอย่างมากและนำความยั่งยืนมาเป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ ด้วยพันธสัญญาใหม่นี้ บริษัทฯ ได้ก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง ที่ไม่เพียงแต่มุ่งลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำงานของให้มากยิ่งขึ้น แต่ยังสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกสรรผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมความงาม เชื่อว่า เป็นส่วนหนึ่งช่วยสร้างสังคมเพื่อการอยู่ร่วมกันและยั่งยืน อีกทั้งเป็นการสนับสนุนให้เกิดความยั่งยืนตลอดระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่รวมถึงคู่ค้า ผู้ผลิต และผู้บริโภค
นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
“ เป้าหมายสำคัญที่ลอรีอัลได้กำหนดบนพื้นฐานการทำงานภายใต้ขีดจำกัดความปลอดภัยของโลก ได้แก่ ภายในปี 2568 โรงงานและศูนย์กระจายสินค้าของลอรีอัลทุกแห่ง ต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้พลังงานทดแทน 100% ภายในปี 2573 พลาสติกใช้ในบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์ลอรีอัลทั้งหมด 100% จะมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือจากแหล่งวัสดุชีวภาพ ปีเดียวกันนี้ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละผลิตภัณฑ์สำเร็จลง 50% เมื่อเทียบกับปี 2559 ความท้าทาย คือ ต้องปฏิรูปการทำงานทั้งองค์กร มีเป้าหมายเดียวกัน จะทำให้พัฒนาขึ้นทุกๆ ปี สิ่งท้าทายต่อมาความเต็มใจกับความต้องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค หากเพียงแต่คิด แต่ไม่เต็มใจทำ ก็หยุดปัญหาไม่ได้ “นางอินเนส กล่าวถึงธงในการปฏิรูปธุรกิจ
ผู้บริหารหญิง กล่าวต่อว่า ลอรีอัลสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยการแสดงข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมดังกล่าวมีคะแนนระดับ A ถึง E โดย “A” หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ “มีความเป็นเลิศด้านความยั่งยืนมากที่สุด” ในแง่ของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบได้บนหน้าเว็บไซต์ของแบรนด์ โดยระดับคะแนนดังกล่าวได้การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และรับรองข้อมูลโดย บูโร เวอริทัส เซอร์ทิฟิเคชั่น หน่วยงานด้านการตรวจสอบอิสระระดับโลก ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมของแบรนด์การ์นิเย่ จะเป็นแบรนด์แรก แสดงข้อมูลนี้ โดยจะทยอยขยายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น รวมถึงแบรนด์อื่นๆ และทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนผู้บริโภคในไทยจะได้มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีความยั่งยืนมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลที่จัดจำหน่ายในประเทศไทยได้รับการพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนผสมทางชีวภาพ บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกรีไซเคิลหรือวัสดุชีวภาพ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ของผู้บริโภคได้.