มองโอกาสกู้วิกฤติท่องเที่ยวไทย ต้องเร่งช่วยให้พ้นจากปากเหว
ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างมาก สำหรับโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่เริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนตั้งแต่วันแรกเมื่อ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผ่าน www.เราเที่ยวด้วยกัน.com เพื่อให้ประชาชนที่สนใจจองสิทธิ์ที่พักโรงแรม สายการบิน เพื่อท่องเที่ยวต่างจังหวัด ตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย โดยมีรายงานว่าเพียงแค่วันแรกก็มีประชาชนสนใจลงทะเบียนร่วม 2 ล้านคน
จากวิกฤติโควิด-19 ที่กินเวลามาหลายเดือน เห็นได้ชัดว่าภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง จากการแพร่ระบาดของโควิด จนทำให้ต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศ ปิดน่านฟ้า ระงับการเดินทางระหว่างต่างประเทศ นั่นก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จนทำให้มีการประเมินกันว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปีนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณแค่ 7-8 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมปีที่แล้ว 39.8 ล้านคน และรายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะเหลือแค่ 7 แสนกว่าล้านบาท เมื่อเทียบจากปี 2562 ที่มีรายได้ 3 ล้านล้านบาท
สถานการณ์การท่องเที่ยวของไทยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงการพลิกฟื้น-กู้วิกฤติการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยเริ่มต้นที่การกล่าวถึง โครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ที่ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนจำนวนมากว่า โครงการดังกล่าวเป็นแพ็กเกจที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยผ่านการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ รัฐบาลต้องการกระตุ้นในเรื่องการข้ามจังหวัด-การพักค้าง-การใช้จ่าย และเพิ่มความถี่ในการเดินทาง จึงจะเห็นได้จากงบประมาณที่ลงเข้ามา เช่น การให้ประชาชนไปจองโรงแรมที่พัก พอจองแล้ว ค่าห้องที่พัก 60 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนต้องจ่ายไปก่อน โดยจ่ายไปที่ผู้ประกอบการ พอเข้าไปพักแล้วเช็กเอาต์ออกจากที่พัก จากนั้นรัฐบาลโอนเงินส่วนที่เหลืออีก 40 เปอร์เซ็นต์ของค่าห้องพัก โดยโอนไปที่ผู้ประกอบการ
"ความคาดหวังก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการ Lockdown ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวตายสนิทเลย แต่ว่ามาตรการในการช่วยเหลือของรัฐตรงๆ ไม่ใช่ว่าไม่มี ก็มี แต่ว่ามันอาจน้อยเกินไป เช่น Softloan ก็ไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ โครงการนี้จึงเป็นวิธีการที่จะกระตุ้นภายในประเทศ
สิ่งที่เราคาดหวังก็คือว่า โครงการดังกล่าวที่มีระยะเวลาดำเนินการคือ กรกฎาคมถึงตุลาคม เราก็หวังว่า หลังจากนั้นมันน่าจะมีการเปิดประเทศในสักระดับหนึ่ง จนทำให้พอที่จะมีกำลังซื้อเข้ามาเติมในช่วงปลายปีที่เป็น High Season ก็จะทำให้ผู้ประกอบการพออยู่รอดได้ไปสักระยะหนึ่ง" ผู้ว่าฯ ททท.ระบุ
ยุทธศักดิ์-ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวต่อไปว่า สำนักงาน ททท.เราทำสิ่งที่เรียกว่า ประมาณการจุดวิกฤติในอุตสาหกรรมในธุรกิจโรงแรม คล้ายๆ กับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำตอนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ทาง ททท.เราก็ทำ ทำให้เราได้ทราบว่า โรงแรมทั้งประเทศ อัตราการเข้าพักที่จะทำให้ธุรกิจโรงแรมอยู่ไม่ได้ก็คือ ถ้าต่ำกว่าประมาณ 27-28 เปอร์เซ็นต์ ก็คือธุรกิจไปต่อไม่ได้ ก็ต้องปิดกิจการ ซึ่งเหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำประมาณการของสถาบันการเงินว่า หากหลุดจากจุดไหน แบงค์จะล้ม อันนี้ก็เหมือนกัน คือมันไม่มีกำไรแล้ว
"ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา อัตราการเข้าพักโรงแรมภายในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 0-5 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่มีการทำทั้งนโยบายของรัฐบาล และแพ็กเกจต่างๆ ที่ออกมากระตุ้น คือการดึงผู้ประกอบการให้พ้นจากปากเหวก่อน คือทั้งประเทศต้องมีอัตราการเข้าพักโรงแรมไม่ต่ำกว่า 28 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์ ก็หวังว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน นอกจากจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการแล้ว จะเข้าไปทำให้ผู้ประกอบการพ้นจากจุดวิกฤติ เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเกิดปัญหาเลิกจ้าง ธุรกิจล้ม"
-สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หากถึงสิ้นปีถ้าสถานการณ์แย่สุด ภาคแรงงานต่างๆ จะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน?
ขณะนี้แรงงานในระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่น่าจะต่ำกว่า 4 ล้านคน แต่คงไม่ได้รับผลกระทบทั้งหมด เราคาดการณ์ว่าน่าจะใกล้เคียงกับตัวเลขที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ว่า ถึงสิ้นปีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณแค่ 7-8 ล้านคนเท่านั้น จากเดิมปีที่แล้ว 39.8 ล้านคน รายได้จากการท่องเที่ยวอาจจะเหลือแค่ 7 แสนกว่าล้านบาท เมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่มีรายได้ 3 ล้านล้านบาท แต่นี่คือข้อเท็จจริงที่เป็นความจริงที่เจ็บปวดที่ว่า หลายอย่างที่ต้องการความสมดุลในการที่จะทำ ที่ก็เหนื่อย ตรงนี้ไม่อยากคิดว่าจะมีแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องตกงานเท่าไหร่ เพราะทุกคนก็ประคับประคอง
โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลทำออกมาในเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ แต่เป็นการทำให้ธุรกิจอยู่ได้ เราได้พูดคุยกับตัวแทนภาคเอกชน เราก็บอกว่าภาครัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือ แต่ขอว่าขอให้ช่วยพยุงการจ้างงานเอาไว้ สถานการณ์ก็ถือว่าวิกฤติ ที่ก็เหมือนกันกับทุกประเทศ แต่จะหนักกว่าที่อื่น เพราะเราพึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง ที่เมื่อห้ามการเดินทาง ห้ามเคลื่อนย้ายคน ห้ามรวมคนจำนวนมาก ก็เลยกระทบโดยตรงกับการท่องเที่ยว แต่ตอนนี้ที่เริ่มมีการผ่อนคลายลง ให้มีการเดินทางกันได้ แต่ก็ยังอยู่ในเงื่อนไข เช่น การจำกัดจำนวนคน ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เช่น รถทัวร์ เครื่องบิน เพราะทำเยอะๆ ต้นทุนต่ำๆ ทำไม่ได้ เห็นได้จากเช่นราคาตั๋วเครื่องบิน เมื่อก่อนจะมีโปรโมชั่น 699 บาท หรือ 799 บาท ยิ่งกว่าโปรโทรศัพท์มือถือ แต่ตอนนี้ไป-กลับขอนแก่นก็ร่วม 4,000-5,000 บาท สมัยก่อนคนชั้นกลางเที่ยวได้ แต่ตอนนี้คนชั้นกลางต้องคิดหนัก เพราะน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤติเศรษฐกิจตอนนี้ ก็ทำให้อาจชะลอการเดินทาง ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
ผู้ว่าฯ ททท. กล่าวย้ำถึงวิกฤติของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยหากดูจากมิติของตัวเลข เป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเท่าที่มีการเก็บตัวเลขสถิติของการท่องเที่ยวของประเทศไทยมาเลย ถามว่าร้ายแรงขนาดไหน ก็ตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร สำนักงาน ททท.มา ก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ แม้เราอาจจะเคยเจอเหตุการณ์การระบาดของโรคมาบ้าง เช่น โรคซาร์ส ไวรัสเมอร์ส หรือภัยธรรมชาติ เช่น สึนามิ รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง แต่ครั้งนี้หนักหนาสาหัสที่สุด
...ผู้ประกอบการบางรายบอกว่า ไม่เคยเจอมาก่อนเลยตั้งแต่เกิดมากับสถานการณ์แบบนี้คือ รายรับเป็นศูนย์ ซึ่งหากนำจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศมาเป็นเป้าหมายในการทำงาน เดิมก่อนมีโควิด เราตั้งเป้าไว้ว่าปีนี้ 2563 จะต้องเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปีที่แล้วคือ 3 ล้านล้าน ก็ตั้งไว้สิบเปอร์เซ็นต์ ตอนแรกตัวเลขเดือนมกราคมของปีนี้ดีขึ้น จากนั้นกราฟก็เริ่มตกลงมาเรื่อยๆ จนถึงเดือนเมษายน ที่เราปิดน่านฟ้าและรัฐบาลห้ามการเดินทาง "อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ" ทุกอย่างก็นิ่งสนิท เป็นตัว L มาเรื่อยๆ เลียดๆ ซึ่งปกติหากถามว่ารุนแรงขนาดไหน ก็ตอบได้ว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ เรามีนักท่องเที่ยวเดือนละ 3-4 ล้านคน แต่ตอนนี้เหลือหลักร้อย ที่ส่วนใหญ่ก็พวกตกค้าง หรือไม่ก็พวกที่มีความจำเป็นต้องเข้ามา ตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนและ ศบค.
สิ่งที่มันรุนแรงมากกว่านั้นก็คือ พอไม่มีนักท่องเที่ยว ประเทศไทยเราพึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูง ดูจากรายได้ก็ประมาณสัก 18 เปอร์เซ็นต์ โดย 1 ใน 3 มาจากนักท่องเที่ยวในประเทศ และ 2 ใน 3 มาจากต่างประเทศ ตอนนี้ที่เกิดขึ้นคือ สถานประกอบการส่วนใหญ่จะปิดชั่วคราว เพื่อรอเวลาว่าเมื่อใดจะมีแรงซื้อเข้ามา ดังนั้นพูดง่ายๆ ว่า ขอให้คนไทยกลับมาเที่ยวกันเหมือนเดิม ให้ตัวเลขทุกอย่างเท่าเดิม มันก็ได้แค่ 1 ใน 3 ส่วนอีก 2 ใน 3 ยังไม่รู้ว่าจะมายังไง ดังนั้นไม่น่าแปลกใจที่สถานประกอบการบางแห่งก็ยังไม่เปิดกิจการ โรงแรมก็ยังไม่เปิด บางแห่งก็จะไปเปิดช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม บางรายก็จะกลับมาเปิดอีกที ปีหน้าไปเลย เพราะตราบใดที่ยังมีข้อจำกัดในการเดินทางเข้ามาแล้ว ยังต้องกักตัว ทำให้โอกาสที่เขาจะเข้ามาก็น้อยลงไปเรื่อยๆ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเริ่มเห็นตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป โดยที่ผ่านมารัฐบาลก็มีการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น การให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5 พันบาท ธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ แต่เมื่อทุกอย่างกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากนี้ธุรกิจจะอยู่ได้หรือไม่ เปิดโรงแรมตอนนี้ บางแห่งเคยรับแต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เมื่อไม่มีใครเข้ามา โดยที่บางแห่ง ค่าใช้จ่ายในการประกอบการสูงมาก กำลังซื้อคนไทยไม่พออยู่แล้ว และขณะเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศไทยเองที่บอกไว้ว่าให้คนไทยกลับมาเที่ยวในเมืองไทยกันเต็มที่ ก็ยังได้แค่ 1 ใน 3 แล้วจะเที่ยวกันไหวหรือไม่
...ต้องยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศไทยเราก็ไม่ได้ดีมาก แล้วถ้าคนยังมองว่าสถานการณ์โควิดยังคงต้องอยู่กับเราอีก ความไม่แน่นอนก็ต้องมีมากขึ้น ทุกคนก็ต้องพยายามที่จะไม่ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ทำให้การท่องเที่ยวอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นในสายตาของคนบางกลุ่ม ก็อาจทำให้ความรุนแรงของปัญหามันลึกเข้าไปอีก ทั้งหมดคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเรายังมีข้อจำกัดในการเดินทาง เรายังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังซื้อภายในประเทศ สิ่งที่จะกระทบกระเทือนต่อไปก็คือ อุตสาหกรรมนี้จะเหลือรอดสักเท่าไหร่ ที่จะรองรับการเปิดประเทศ รองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับเข้ามา หากยังไม่ปรับตัว
ทางรอดธุรกิจท่องเที่ยวไทย เน้นน้ำบ่อใกล้-จับปลาตัวโตๆ
-ภายในสิ้นเดือนนี้จะเห็นภาพรวมที่ชัดเจนมากขึ้นถึงทิศทางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากนี้?
ภาพที่ชัดเจนผมคิดว่ามันยาก มันน่าจะเป็นสิ่งที่เป็นลักษณะแบบที่พูดกันคือ ฉากทัศน์ที่เป็น scenario มากกว่า ที่จะขึ้นอยู่กับปัจจัย เช่น คนไทยออกมาเที่ยวกันมากน้อยขนาดไหน ซึ่งพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยจะขึ้นอยู่กับวันหยุด วันหยุดยาว บางคนมาเสนอความเห็นว่า ทำไมผู้ว่าฯ ททท.ไม่เสนอให้มีการให้มีวันหยุดยาวทุกสัปดาห์เลย ให้หยุดยาวศุกร์-อาทิตย์ รับรองคนจะออกมาเที่ยวแน่นอน เพราะหากหยุดวันศุกร์ด้วยคนจะได้เดินทางไปเที่ยวกันมากขึ้น โดยให้นำวันหยุดช่วงเดือนเมษายนที่ไม่ได้หยุดให้นำมาใช้ในช่วงนี้ แต่ถามว่ากำลังซื้อในประเทศจะมีหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ไม่มีใครรู้
ผู้ประกอบการบางรายก็รอ โดยมองว่าแล้วทุกอย่างก็จะกลับมา จะมีมาตรการ Travel Bubble แต่บอกเลยว่าภาพที่ ททท.เห็น จำนวนนักท่องเที่ยวจะไม่ได้กลับเข้ามาเยอะมาก แต่จะเป็นแบบค่อยๆ เพิ่ม ซึ่งดูแล้วเฉลี่ยปีหน้า 2564 ตลอดทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวน่าจะกลับมาแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของปี 2562 อันนี้คือสเต็ปของการที่เริ่มจะฟื้นตัว แต่สำคัญที่สุดก็คือจนกว่าจะถึงวันนั้น ภาคธุรกิจก็ต้องปรับตัวด้วย ผมก็พยายามบอกตลอดที่อาจเป็นความจริงที่ปวดร้าว คือเวลามีคนถามผมว่า "ตกลงนักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาประเทศไทยได้เมื่อใด" ซึ่งมันเป็นเรื่องที่พูดยาก เพราะตราบใดที่ยังมีรายงานการติดเชื้อจากคนที่กลับจากต่างประเทศเข้ามาไทย เพราะสิ่งสำคัญรัฐบาลไทยก็ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของคนไทย
"ผมก็เลยบอกพวกเขาว่า บางทีอย่าไปหวังพึ่งน้ำบ่อหน้า เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะมีการเปิดประเทศได้เมื่อใด แต่ธุรกิจต้องเดินต่อไป ลูกจ้างยังต้องทำงานอยู่ ก็มีการถามกลับมาว่า แล้วจะมีน้ำบ่อใกล้หรือไม่ที่จะหวังได้ ซึ่งน้ำบ่อใกล้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี อันแรกเลยก็คือคนไทยที่เคยไปเที่ยวต่างประเทศ ที่ปีหนึ่งๆ มีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคน ไปใช้จ่ายต่างประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ถ้าทำให้คนกลุ่มนี้มาเที่ยวในประเทศได้ โดยให้มีการเที่ยวแบบกระจายตัว ผมก็ว่าน่าจะโอเค ให้ใช้จ่ายสัก 2-3 แสนล้านบาท เพราะยังไงก็ออกไปต่างประเทศไม่ได้อยู่แล้วตอนนี้"
...นอกจากอย่าหวังน้ำบ่อหน้าแล้ว ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ต้อง อย่าหว่านแห คือ ต้องตกปลาตัวโตๆ เพราะต้นทุนในการทำธุรกิจมันสูงขึ้น สมัยก่อนเราบอกให้เปิดเยอะ รับคนเข้ามามากๆ ต้นทุนก็ถูกลง แต่ตอนนี้มีเรื่องของการจำกัดจำนวนคน การรักษาระยะห่างทางสังคม ก่อนหน้านี้ภาคธุรกิจอาจคำนวณทุกอย่างจากลูกค้าที่จะได้ 100 คน แต่ต่อไปจะคำนวณจาก 100 คนไม่ได้ เพราะจำนวนต้องถูกทอนลงจากมาตรการด้านสาธารณสุข ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทำให้การจะไปหว่านแหแบบเดิม ได้ปลาอะไรมาก็กินได้ ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะบางอย่างที่อาจได้มาอาจไม่ปลอดภัย กินไม่ได้ อย่าง กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย ตอนนี้กลุ่มสูงวัยกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าต่อไปให้เน้นจับปลาตัวโตๆ คือ กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ขึ้นมา เช่นกลุ่มคนไทยเที่ยวเมืองนอก
...นอกจากนี้ผมยังได้บอกไปอีกว่า อย่าไปหวังว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า เพราะหากจะรอให้ภาครัฐเข้ามาอุ้ม แต่ว่าภาครัฐก็มีลูกหลายคน ต้องช่วยคนหลายกลุ่ม เพราะทุกกลุ่มเดือดร้อนหมด ดังนั้นเราก็ต้องช่วยตัวเอง เราจะต้องอยู่ในยุคที่ ปลาเร็วถึงจะอยู่รอด ปลาเร็วก็คือความสามารถในการปรับตัว เช่น ปรับตัวโดยมองตลาดท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพราะว่ากว่าจะมีวัคซีนขึ้นมา ทำให้ก็ไม่รู้ว่าจะเปิดให้มีการเดินทางได้เมื่อใด อย่างที่ผมบอก น้ำบ่อใกล้ นอกจากไทยเที่ยวนอกแล้ว ก็ยังมีพวก expat คนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยที่มีประมาณ 2 ล้านคน พวกนี้ก็มีกำลังซื้อ ส่วนกลุ่มที่ 3 คือพวก กลุ่มจัดประชุมสัมมนา พวกนี้ต้องกระตุ้นให้เขาออกมาให้มากขึ้น
...การท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ตอนนี้รัฐบาลเหลือแค่สองขา คือการใช้จ่ายภาครัฐกับกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชน ก็ต้องดูว่าภาครัฐจะทำให้ออกมาได้หรือไม่ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ต้องมีมาตรการอย่างอื่นเข้ามา เช่นมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้คนไปเที่ยว แต่ปีนี้ก็มีการบอกกันว่าตอนนี้คนไม่มีรายได้เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่อย่างนั้นก็อาจต้องมีมาตรการคล้ายๆ กับ ช็อปช่วยชาติ คือให้ไปเที่ยวให้ไปกิน แล้วมีมาตรการลดหย่อนให้ อย่างตอนนี้ที่อังกฤษมีมาตรการลด vat เพื่อให้คนไปใช้จ่ายที่ร้านอาหาร แต่เราเองหากจะทำอะไรก็ต้องดูให้รอบคอบ เพราะฐานะการเงินแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ออกมาไม่แพ้ประเทศอื่น มีการให้เยอะมากและดีกว่าหลายประเทศด้วย
ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ย้ำว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังจากนี้ต้องปรับตัว โดยมองตลาดในประเทศให้มากขึ้น ปรับตัวไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพราะยังไงเราหนีไม่ทันอยู่แล้ว เพราะเทคโนโลยีมาช่วยลดความเสี่ยง มาช่วยทำให้ประสบการณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวมีคุณค่ามากขึ้น เรามองว่าทิศทางการขับเคลื่อนเรื่องการท่องเที่ยวหลังโควิด น่าจะเป็นธีมเรื่องของการท่องเที่ยวแบบปลอดภัยและยั่งยืนมากขึ้น ไม่ใช่พอทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ แล้วจะต้องนำนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาให้ได้เยอะๆ เพราะผู้ประกอบการเดือดร้อน แต่สิ่งที่จะกลับมามันต้อง "เข้มแข็ง-แข็งแกร่ง" กว่าเดิม โดยไปผูกกับเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนให้มากขึ้น
โอกาส-ความเป็นไปได้ Travel Bubble
-ถึงตอนนี้ความเป็นไปได้ในการจับคู่ต่างชาติเดินทางเข้าไทย หรือ Travel Bubble จะเกิดขึ้นได้หรือไม่?
เรื่องจับคู่ Travel Bubble เป็นไปได้ครับ แต่ต้องดูจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย เพราะพอกำลังจะมีการระบาด คนไทยก็ค่อนข้างกังวล ทุกคนถามผมหมดเรื่องแนวทาง Travel Bubble ตกลงจะมาได้เมื่อไหร่ แต่เป็นคำตอบที่ยาก เราไม่เคยหยุด ทำงานทุกวัน ตั้งแต่นำเรื่อง Travel Bubble เข้าไปให้ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาตั้งแต่ 12 มิ.ย. หลังจากนั้นก็มีการปรับ มีการคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ล่าสุดก็คุยกับสำนักงานที่จีน คุยกันว่าหากมีการให้เข้ามาในรูปแบบที่คิดไว้ เขาจะมาหรือไม่ เช่นเข้ามาต้องตรวจ ต้องกักตัว ก็ต้องรอดูก่อนว่าทางสำนักงาน เอเยนต์ในจีนเขาจะว่าอย่างไร เช่นมาจากพื้นที่เสี่ยงต่ำ มีใบรับรอง มาถึงประเทศตรวจซ้ำ ซื้อประกัน มีคนรับรองว่าเข้ามาแล้วจะเดินทางกลับ มีระบบติดตามตัว และให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัด โดยทุกอย่างอยู่ภายใต้การคอนโทรลทั้งหมด อันนี้คือสิ่งที่กำลังหารือกันว่าเขาจะว่าอย่างไร โดยแลกกับการไม่ต้องกักตัว แต่ค่าใช้จ่ายก็ต้องสูงขึ้น"
เมื่อถามว่าเวลานี้ประเทศไทยมีชื่อเสียงเรื่องระบบสาธารณสุข จากเรื่องโควิดจะนำเรื่องนี้มาเป็นจุดแข็ง จุดขายในด้านการท่องเที่ยวได้หรือไม่ เช่น Medical Hub หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ประเด็นดังกล่าว ยุทธศักดิ์-ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ททท.เราคิดไว้แล้วว่า 3 จุดขายสำคัญที่เราจะนำมาใช้หลังวิกฤติโควิด เรื่องแรกคือเรื่อง ความปลอดภัย จากสาธารณสุขที่เรามีความเข้มแข็ง ความสามารถของรัฐบาลในการจัดการเรื่องโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก อันที่สองเรื่อง ความคุ้นเคย เพราะหากคนจะเดินทางไปยังที่ใหม่ๆ ที่คนไม่รู้ว่าจะมีมาตรการในการดูแลอย่างไร คงขายไม่ได้ แต่เราจะมาต่อยอดความคุ้นเคยที่มี เช่น อาหาร วัฒนธรรม จุดขายที่สาม ก็คือเรื่อง ความสวยงาม เช่น ธรรมชาติที่ฟื้นฟูขึ้นมา หรือแม้กระทั่งความเอื้ออาทรของคนไทยในยามที่เราทุกข์ยากร่วมกัน ที่เป็นเรื่องสำคัญ เราก็จะหยิบเรื่องพวกนี้มาเป็นจุดขาย
อย่างเรื่อง "ความปลอดภัย" เราก็จะทำในรูปแบบลักษณะ medical and wellness resort of the world ก็คือรีสอร์ตที่เรามีอยู่เยอะ แต่ว่ามาแล้วไม่ใช่แค่มารักษาตัว แต่มาแล้วได้มาทำในสิ่งที่จะทำให้มีสุขภาพที่ดี ส่วนความคุ้นเคยเรื่องของอาหาร วัฒนธรรม เราก็จะทำในรูปแบบ Thailand Shopping Delight เพราะบางทีเขามาประเทศไทยแค่มากินอาหาร ช็อปปิ้ง เขาก็มีความสุข ทั้งหมดคือสิ่งที่เราจะทำ จากสิ่งที่เราได้เผชิญมาในช่วงโควิด-19
“ตั้งแต่จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 เราต้องยอมรับว่าการกลับมาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มันก็เหมือนคนล้มป่วย กลับมาปุ๊บบอกให้วิ่งเลยคงยาก การเปิดประเทศเองก็ค่อยๆ ทำอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำแบบระมัดระวัง คิดว่าไทม์ไลน์เราจนถึงสิ้นปี ก็ฟื้นฟูก่อน อย่างน้อยที่สุดให้พ้นจากปากเหว พ้นจากจุดวิกฤติ พอปีหน้ามกราคมจะเหมือนกับ Restart ใหม่ แต่ Restart ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ค่อยๆ เดิน แล้วก็เดินเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวิ่ง”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |