'คารวตาศาสตร์' ของนายกฯ


เพิ่มเพื่อน    

 

          นายกฯ นี่........

                ท่านเป็นคนแฟรงก์ๆ แฟร์ๆ ดีนะ!

            เมื่อวาน นักข่าวงัดโพย "เต้ารายวัน" ไล่เช็กเรียงรายชื่อ

            คนนี้จะมาเป็นรัฐมนตรีมั้ย คนโน้นล่ะ...จะมามั้ย โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีคลังน่ะ?

            ท่านทำการบ้านให้นักข่าวหมด ส่วนใหญ่ปฏิเสธ ครอบครัวไม่อนุญาต เขากลัวต้องมาเสียผู้-เสียคนเพราะการเมือง!

            แต่นายกฯ พูดอยู่ตอน ฟังแล้ว "จบคัมภีร์" เลย ลองอ่านดู!

            "ฟังนะ ในเมื่อนายกฯ เป็นฝ่ายเศรษฐกิจแล้ว นายกฯ ก็ต้องดูแลทุกกระทรวง อะไรที่มีรายได้ นายกฯ สั่งการได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องมาหารือกัน

                ต้องเข้าใจว่า เมื่อก่อนนี้ มันต่างกันที่เศรษฐกิจมี 'นายสมคิด' เป็นผู้คุม ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการจัดตั้งเป็นกรณีพิเศษ

                ท่านก็สามารถจัดการประชุมและสั่งการได้ทุกกระทรวง    แต่วันนี้ 'กระทรวงเศรษฐกิจ'  หลายกระทรวงไปอยู่ในสัดส่วนพรรคร่วมรัฐบาล แต่ผมเป็นผู้คุมทั้งหมด

                ดังนั้น เมื่อนายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ไม่ใช่ว่าผมเก่งเศรษฐศาสตร์ หรือเก่งด้านอะไร

                แต่ผมต้องการเอาทุกอย่างมาพิจารณาและวิเคราะห์ ศึกษา และปรึกษากับที่ปรึกษา ที่มีหลายภาคส่วนด้วยกัน วันนี้ ทั้งหมดเราต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จำเป็นต้องเอาคนที่มีความรู้มาเสริมด้วย จะได้เหมาะกับห้วงเวลานี้"

                คะแนนเต็ม ๑๐ เอาไป ๙.๙ หักค่าสวมหน้ากากพูดฟังไม่ชัดไป ๐.๑!

            ๔ ปี "นายกฯ คสช." มีตัวเองกับคนรอบข้าง ๒-๓ คน เป็นที่ปรึกษา ท่านเป็นทหาร ไม่ใช่นักการเมือง

            ๑-๒ ปี "นายกฯ เลือกตั้ง" มีประชาชน, มีผู้รู้, มีผู้ปฏิบัติการ แต่ละสาขา "ทั่วประเทศ" เป็นที่ปรึกษา ท่านเป็นนักการเมือง ไม่ใช่ทหาร

            การที่ท่าน "พนมมือ ๑๐ ทิศ" เข้าหาทั้งมิตรและศัตรู เปิดใจรับฟังปัญหาและความคิดเห็น

            "ร้อยเศรษฐศาสตร์".......

            ยังสู้ "หนึ่งคารวตาศาสตร์" ที่ท่านนายกฯ เจนจบแล้วตอนนี้ไม่ได้!

            ไม่อย่างนั้น จะไม่สามารถพูดอย่างนี้ได้เลย ที่พูดได้ เพราะ "อัตตา-ตัวตน" ความเป็น "พลเอกประยุทธ์" ไม่มีแล้ว

            มีแต่ "นายกฯ ของประชาชน" ผู้มีประชาชนอยู่ในหัวใจ!

            เคยถาม "นายอนุชา นาคาศัย" เลขาฯ พปชร.ว่ากระทรวงเศรษฐกิจอยู่ใน "พรรคร่วมคุม" ก็มี เป็นปัญหามั้ย?

            นายอนุชาตอบน่าฟัง ไม่มี นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ประสานงานกันได้หมด!

            เมื่อวิสัยทัศน์นายกฯ เช่นนี้ ทำให้นึกถึงบุคคลท่านหนึ่งคือ "ดร.เสนาะ อูนากูล" ผู้กำหนดทิศทางพัฒนาประเทศมาถึงปัจจุบัน ร่วมกับท่านอาจารย์ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์"

            จากยุคจอมพลสฤษดิ์ ถึงยุคพลเอกเปรม และยุคท่านอานันท์ ปันยารชุน

                Eastern Seaboard ที่พลิกประเทศให้ไทยโชติช่วงชัชวาล ก็ด้วยมันสมองและสองมือ "ดร.เสนาะ" นี่แหละ

            ตอนนี้ ประเทศ "กินบุญเก่า" หมดแล้ว EEC ที่นายกฯ ประยุทธ์กำลังทำ จะเป็นบุญต่อยอด

            ฟังคนรอบทิศแล้ว.......

            ผมคิดว่า ถ้านายกฯ ไปขออนุศาสน์จากปูชียบุคคลวัย ๘๘ ปีท่านนี้ จะถึงพร้อมด้วย มงคล ๓๘  ประการ

            "ประเสริฐ" สถานเดียว!

            เคยอ่านที่ "คุณธนกร จ๋วงพานิช" สัมภาษณ์ไว้ปีก่อน ใน thaitribune.org ขออนุญาตคัดบางตอน เป็นวิทยาทาน

            ..................

            ดร.เสนาะ อูนากูล ย้อนรอยเทคนิคของ 'เทคโนแครต' ที่นำพาประเทศมา ...thaitribune.org

                คลื่นลูกที่สาม

            ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทุกคนตระหนักดีว่า ความสำเร็จของ Eastern Seaboard พระเอกของแผนฯ 5 ซึ่งทำให้จีดีพีต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า

            และผลักดันให้ไทยกระโดดจากประเทศเกษตรกรรมสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมได้ คือแรงบันดาลใจของ Eastern Economic Corridor หรือ EEC

            พระเอกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หวังให้พาไทยไปสู่เศรษฐกิจแห่งความรู้และนวัตกรรมที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมของโลกอนาคต

            อย่างเช่น รถไฟฟ้า หุ่นยนต์ ดิจิทัล การบิน และไบโอเคมี

            เราต้องเอาเรื่องความยั่งยืนเข้ามาให้เร็ว มันถึงจะเป็นทางสายกลาง คือไม่ใช่ทำทางใดทางหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่าง แอคทีฟทั้งคู่ แล้วให้เกิดสมดุลระหว่างสองแรง แรงที่จะไปข้างหน้า กับแรงที่จะดูแลให้มันยั่งยืน

            "ผมคิดว่า ครั้งนี้จะเป็น Third Wave เป็นยุคที่สามของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง

            จากสมัยคุณป๋วยในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ มาถึงรัฐบาลคุณเปรม แล้วก็รัฐบาลพลเอกประยุทธ์กับคุณสมคิดในครั้งนี้

            ผมมองว่า มันสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็น technology/innovation  driven ประเทศไทยไม่มีวัฒนธรรมในเรื่องนี้เท่าไหร่ หลังจาก Eastern Seaboard แล้ว ก็ใช้บุญเก่าจนหมด ยังไม่รู้จะไปไหนกัน

            มันก็จำเป็นต้องทำสิ่งเหล่านี้มาเปลี่ยน เพื่อจะทำให้เรามีวัฒนธรรมของสตาร์ทอัพ เป็น Digital  Transformation ขึ้นมา

            สำคัญอยู่ที่หลังการเลือกตั้งคราวนี้ โครงการจะต่อเนื่องไปได้นานไหม ความต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญมากของการพัฒนา

            อย่างคุณเปรม ถ้าอยู่ไม่ถึง 8 ปี ถ้าแค่ 5 ปีนะ จะไม่มีอะไรโผล่มาเลย ยังอยู่ในกระดาษ ยังเป็นตอม่อฝังอยู่ใต้ดิน ปีที่ 6 ถึงจะโผล่ ปีที่ 7 ถึงจะพอมองเห็นอะไร

            ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา ความต่อเนื่องสำคัญที่สุด ผมไม่อยากจะพูดว่า เผด็จการหรืออะไร ผมมองในแง่ทางเศรษฐกิจ

            ถ้ามีความต่อเนื่อง มันจะมาช่วยเปลี่ยนทุกอย่างหมด อย่างน้อยขออีก 5 ปี ถ้า 10 ปี ได้ยิ่งดี เพราะคราวนี้เรื่องใหญ่มาก"

            แน่นอนว่า การเรียกร้องความต่อเนื่องของโครงการที่กำเนิดในรัฐบาลรัฐประหาร ย่อมถูกโจมตีถึงความไม่ชอบธรรม

                แต่ ดร.เสนาะ ดูจะเห็นว่าการถกเถียงในประเด็นนี้เป็นความเสียโอกาสชนิดหนึ่ง ไม่ต่างกับการตีม้าที่ตายไปแล้ว

            "เดี๋ยวนี้ narrative ของบ้านเมืองเรา มันกลายเป็นเรื่องประชาธิปไตย vs. เผด็จการไปหมด

            แน่นอนภายใต้ narrative นี้ ยังไงเผด็จการก็แพ้ เรียกว่าไม่ต้องนำสืบกันแล้ว เพราะนำสืบกันจนกระทั่งเผด็จการตกเตียงแล้ว

            แต่สิ่งที่ควรจะทำให้มากขึ้นคือ อะไรที่เขาทำถูกแล้ว ก็ควรช่วยกันพูดถึง ช่วยกันเอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ ไม่ใช่เชียร์นะ แต่เอาข้อเท็จจริงให้ปรากฏ

            ไม่อย่างนั้น narrative มันจะครอบคลุม substance ไปหมด อย่าไปห่วงว่าจะเป็นการช่วยเผด็จการ  ดูจากเนื้องานสิ เนื้องานเขาเยอะมาก

            อย่างกรณีโครงการ PPP (การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ) ระดมเงินจากเอกชนได้ถึง 5-6  แสนล้าน ลดภาระที่รัฐต้องกู้เงินมาพัฒนาประเทศ

            ไม่เคยมีในประเทศไทย เป็น achievement แต่ไม่มีใครพูดถึง ยิ่งถ้ามีการประมูลโครงสร้างพื้นฐานเรื่องใหญ่ๆ อย่างรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน และอุตสาหกรรมการบินอู่ตะเภา และการพัฒนา S-Curve 12 ประเภท

            บ้านเมืองจะไปอีกมหาศาล และก้าวข้ามไปสู่ความเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมันนำไปสู่ direct investment แต่ถ้าไม่มีมันก็ไม่เกิด

            อย่าดูถูก narrative ทางการเมือง มันมีพลังมาก ผมจำได้ ตอนเปลี่ยนจากยุคคุณเปรม เป็นยุค  Buffet Cabinet สีของผังเมืองของเรา ที่เคยระบายไว้ที่มาบตาพุด สีของเขตนิคมอุตสาหกรรม เขตอนุรักษ์ อะไรต่ออะไร

            มันเปลี่ยนได้หมดเลย ภายใน 7 วัน 14 วัน

            ดังนั้น การเมืองมี impact สูงมาก สภาพัฒน์เปลี่ยนสภาพจากตัวกลาง กลายเป็นไปนั่งอยู่ปลายโต๊ะ นั่งดู ทนแทบไม่ได้เลย เห็นเขาส่งลูกกัน คนนั้นเสนออันนั้น...โอเค คนนี้เสนออันนี้...โอเค

            แบ่งเค้กกันหมด ดังนั้น ผมถึงบอกคนในรัฐบาลว่า ต้องรู้จักสื่อสาร ของที่ได้ทำเพื่อมาค้านกับ  narrative ทางการเมืองที่เป็น emotion

            สุดท้าย มันต้องประกอบกัน หนึ่ง คือให้โอกาสเขาหรือผู้ใดที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลทำงานได้ต่อเนื่อง

            แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวัง เพราะไม่ระวังแล้วรัฐบาลจะเหลิง

            ต้องคอยเช็กดูให้ดี เรื่องความโปร่งใส เรื่องการตรวจสอบพวกนี้ต้องมาแรง

            การประมูลต่างๆ ต้องมีกฎเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานสากล ถ้าไม่ทำเรื่องพวกนี้ให้มาก คนที่มีอำนาจ  absolute เขาจะ corrupt absolutely

            สังเกตได้ว่าสมัยคุณเปรมไม่เคยมีเรื่องอื้อฉาว อันนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ อย่าให้เกิดอะไรอื้อฉาวขึ้นมาเป็นอันขาด ตลอด 8 ปีของคุณเปรม เราถือหลักไว้ว่า หนึ่ง เราทำงานเพื่อส่วนรวม ไม่มีอะไรเป็นส่วนตัว

            สอง ทุกเรื่องทำบนโต๊ะ ไม่มีใต้โต๊ะ ความน่าเชื่อถือมันเกิดจากตรงนี้ แล้วถ้าคราวนี้รักษาตรงนี้ไว้ได้ ก็จะมีความสำเร็จ"

            จนกว่าจะพบกันอีก

            ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปพร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยี วิกฤตภัยทางสิ่งแวดล้อม หรือความผันผวนทางการเมืองของโลก

            ทำให้เทคโนแครตผู้สร้างยุคโชติช่วงชัชวาลของไทยมักถูกมองว่า เป็นร่องรอยของอดีต ที่มีแต่จะเลือนรางไปพร้อมกับยุคสมัยที่พวกเขาได้สร้างมา

            แต่หากฟังจากเทคโนแครตท่านนี้ 'เทคนิค' หรือหลักวิชาบางอย่าง อาจทนทานต่อกาลเวลาได้มากกว่านั้น

            "เศรษฐศาสตร์จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องตายตัวอะไรหรอก หลักใหญ่ คือ

             เรื่องการตัดสินใจ เรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งยังไงโลกก็หนีไม่พ้นเรื่องนี้

            แต่ว่าบริบทมันเปลี่ยน ก็ต้องรู้จักประยุกต์หลักวิชา เพื่อจะวิเคราะห์โลกยุคใหม่ ซึ่งกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 2 ด้าน ซึ่งดูจะขัดแย้งกันอยู่

            ด้านหนึ่ง คือการเจริญเติบโตของการตลาดแบบ globalization และพัฒนาการทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แต่ที่เป็น disruptive technology ก็มีมากมาย จนทำให้เกิดปฏิกิริยา

            อีกด้านหนึ่ง คือ คนไม่เอาตลาด ไม่เอาโลกาภิวัตน์

            ดังนั้น เราต้องเอาเรื่องความยั่งยืนเข้ามาให้เร็ว มันถึงจะเป็นทางสายกลาง

            คือไม่ใช่ทำทางใดทางหนึ่ง แต่ทำทั้งสองอย่าง แอคทีฟทั้งคู่ แล้วให้เกิดสมดุลระหว่างสองแรง แรงที่จะไปข้างหน้ากับแรงที่จะดูแลให้มันยั่งยืน

            ยั่งยืน ก็คือไม่ดูแต่ทางเศรษฐกิจ แต่ดูทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย และก็ต้องไม่เอาทรัพยากรของคนรุ่นหลังมาใช้จนหมด

            จะเห็นว่าทางสายกลางไม่ใช่ทำอะไรอย่างเดียวโด่เด่ไป แต่ทำหลายอย่างพร้อมกัน แล้วให้มันเกิดความสมดุล"

            ................................

                narrative วันนี้.......

                ก็ "ดรามา-เฟกนิวส์" ที่ท่วม substance คือ "แก่นสารสาระ" นั่นแหละครับ!

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"