จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ทำให้รูปแบบการเรียนการสอนของเด็กไทยเปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับปัจจุบันโรงเรียนได้เปิดเรียนปกติ แต่การใช้เทคโนโลยีออนไลน์ก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเรียนการสอนของเด็กไทยก็ว่าได้ ที่ลืมไม่ได้นั้นคือการออกแบบการเรียนออนไลน์ควบคู่กับการเรียนแบบออฟไลน์ เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการเรียนรู้ของคุณน้องๆ หนูๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ
(พริษฐ์ วัชรสินธุ)
งานนี้ “STARTDEE EDUCATION FORUM 2020” แอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่มุ่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทย โดย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการศึกษาทั้ง 5 ส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ภาคเทคโนโลยี ฯลฯ มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “เมื่อโฉมหน้าห้องเรียนหลังเปิดเทอมเปลี่ยนไป ออกแบบการศึกษาอย่างไรให้เด็กไทยเรียนรู้ได้อย่างไร้รอยต่อ” เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาไทย เพื่อให้สอดรับนโยบาย New Normal ที่สำคัญเด็กและเยาวชนได้รับความรู้อย่างไม่มีสะดุด
(ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล)
แวดวงเสวนาเริ่มต้นด้วย ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิชาการด้านการปฏิรูปการศึกษา จากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สะท้อนให้ฟังหลังจากโรงเรียนเปิดเทอม ซึ่งรูปแบบการเรียนการสอนนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป โดยย้อนให้ฟังเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ จากที่ได้มีการสำรวจและเก็บข้อมูลไว้ว่า ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเทอมนั้น ปัญหาอันดับแรกที่พบในการเรียนออนไลน์ของเด็กและเยาวชนในช่วงปิดเทอมยาวนั้น มีตั้งแต่
1.ความไม่พร้อมของเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ แม้ว่าเด็กไทยจะสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนได้ถึงร้อย 80 ก็ตาม 2.คุณครูไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ทุกคน และไม่สามารถเตรียมการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ทุกคน 3.เนื่องจากเด็กอยู่บ้านในช่วงปิดเทอมนั้น จะทำให้ความรู้ความสามารถด้านวิชาการตก เพราะช่วงเวลาที่เด็กปิดเทอมก็จะใช้เวลาช่วงดังกล่าวเล่นเกม หรือทำกิจกรรมอย่างอื่น ดังนั้นการเรียนออนไลน์ในช่วงที่ปิดเทอมไป ประกอบกับเมื่อเปิดเทอมเด็กก็ต้องเรียนซ้ำอีก ตรงนี้ก็จะทำให้ปัญหาเกิดเพิ่มขึ้น
“การที่เราจะใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในรูปแบบไหนที่จะเข้ากับเด็กและเยาวชน เพื่อให้เขาจบการศึกษาออกมา และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องปรับตัว 3 เรื่องคือ 1.เรื่องเทคโนโลยีการเรียนการสอนที่ต้องทำให้ง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ อีกทั้งวิธีการใช้ก็ต้องใช้งานง่าย 2.ควรยืดหยุ่นทั้งตารางเรียนและเวลาเรียน หมายความว่าเราควรนับชั่วโมงกิจกรรมที่เด็กทำนอกเวลาเรียนเข้าไว้ในตารางเรียนด้วย และรูปแบบเนื้อหาการเรียนออนไลน์จะต้องเหมาะกับเด็กแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มแบบเคสบายเคสด้วยเช่นกัน”
(ร่มเกล้า ช้างน้อย)
ด้าน ครูร่มเกล้า ช้างน้อย ครูคณิตศาสตร์รุ่นใหม่จาก รร.มัธยมวัดดุสิตาราม บอกว่า “หลังจากโรงเรียนเปิดเทอมได้ไม่กี่วันนั้น ปัญหาที่พบคือการที่โรงเรียนยังไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่มได้ เพราะที่ผ่านมาทางโรงเรียนจะจัดการเรียนการสอนแบบกลุ่ม และคุณครูก็จะถามเด็กนักเรียนกลุ่มนี้ว่าอย่างไร และนักเรียนกลุ่มนั้นว่าอย่างไร แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำการเรียนการสอนแบบเดิมได้ เพราะต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งการเรียนการสอนรูปแบบใหม่หลังจากนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทาย
“สำหรับการจัดรูปแบบการเรียนในช่วง new normal ของทางโรงเรียน จากเดิมที่วิชาเรียนจะอยู่ที่ 10 วิชา แต่เราเลือกให้เหลือเพียง 5 วิชาที่สำคัญ เพื่อให้เหลือวิชาเรียนที่จำเป็นจะต้องเรียนกับครูจริงๆ หรือวิชาไหนที่เด็กเรียนหรืออ่านและทำยังไม่ได้ เนื่องจากมีความยากในรายวิชานั้นๆ โรงเรียนก็จะเพิ่มเวลาเรียนจากคาบละ 50 นาที เป็น 100 นาที ซึ่งตรงนี้จะทำให้เด็กได้เรียนล่วงหน้าในวิชาดังกล่าว แทนสัปดาห์ที่เด็กต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน
ทั้งนี้มุมมองของผมคืออยากให้รูปแบบการเรียนการสอนในช่วง new normal เป็นแบบผสมผสานระหว่างออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน โดยทางโรงเรียนของเราได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนออกเป็น 2 รูปแบบทั้ง ออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งหากเด็กเรียนออนไลน์อยู่บ้าน รูปแบบของการเรียนก็จะมีทั้งศึกษาจากเอกสารต่างๆ จากชุดเครื่องมือการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้เด็กได้ตอบคำถามที่สะท้อนให้เห็นว่าเด็กเรียนออนไลน์ได้แค่ไหน และสามารถตอบคำถามโจทย์ที่ครูผู้สอนได้จัดทำได้กี่ข้อ ซึ่งการจัดทำชุดข้อมือเรียนออนไลน์นั้น มีตั้งแต่การที่เราลงพื้นที่เก็บข้อมูลข้อดีข้อเสียในการเรียนออนไลน์ของเด็ก และสำรวจครูผู้สอนว่าสามารถจัดทำสื่อออนไลน์ได้แค่ไหน ถ้าอาจารย์คนไหนทำไม่ได้ ทางโรงเรียนก็จะมีการให้ความรู้กับครูอาจารย์ หรือแม้แต่การนำข้อมูลจากทาง สถาบัน TDRI มาประกอบ ปรึกษากับผู้อำนวยการโรงเรียนในการเพิ่มเติมการเรียนการสอน เป็นต้น
หรือแม้แต่การที่เด็กมาโรงเรียนและได้เรียนออนไลน์ โดยการดูคลิปวิดีโอที่คุณครูได้จัดทำ โดยอาจารย์คอยดูแลเด็กๆ แต่ทั้งนี้ในรายวิชาที่จำเป็นอย่างวิชาหลักอย่าง คณิตศาสตร์ อังกฤษ ภาษาไทย สังคม ตรงนี้เด็กจำเป็นต้องมาเรียนกับคุณครูที่โรงเรียน หรือเป็นระบบออฟไลน์ ยกตัวอย่างวิชาพลศึกษา ทางโรงเรียนจะแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม A และกลุ่ม B ทั้งนี้หากเด็กกลุ่ม A เรียนวิชาพื้นฐานทั้ง 5 วิชา วิชาละ 1-2 ชั่วโมงในช่วงเช้าแล้ว ส่วนช่วงบ่ายเด็กที่ต้องเรียนวิชาพลศึกษา ครูก็จะให้เด็กกลับไปทำงานที่บ้านเพื่อส่งครู เช่น การมอบหมายภารกิจเกี่ยวกับวิชาพละบางอย่าง โดยที่สัปดาห์ต่อไปให้ออกมารายงานครู ทั้งนี้คุณครูได้ทำชุดข้อมูลแบบคิวอาร์ชีต และลิงก์เข้ากับยูทูบ ทั้งนี้หากเด็กคนไหนที่ต้องเรียนออนไลน์ในช่วงบ่ายที่บ้าน เกี่ยวกับวิชาพลศึกษา หรือวิชาเสริมอื่นๆ ก็สามารถเปิดดูการเรียนการสอนได้หลายๆ รอบจนกระทั่งเข้าใจเนื้อหา และสามารถตอบคำถามในรายวิชานั้นๆ ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น”
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้ง StartDee แอปพลิเคชันด้านการศึกษาที่มุ่งนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาระบบการศึกษาไทย สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับคำถามที่ว่า “การเรียนออนไลน์ที่ดีนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? และถ้ามีอยู่จริงจะมีบทบาทอย่างไร ในการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้เกิดกับเด็ก?” ทั้งนี้เจ้าตัวมองว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีนั้นมีอยู่จริง แต่ต้องเป็นไปโดยปราศจากการบังคับให้เด็กเรียน
“ที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 18 พ.ค.นั้น จะเห็นได้ชัดว่าการเรียนออนไลน์ค่อนข้างจะมีปัญหามาก แต่ส่วนตัวเชื่อว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีนั้นมีอยู่จริง แต่ทั้งนี้จะไม่เกิดขึ้นโดยการบังคับเด็ก ซึ่งเราจะเห็นข่าวที่มีคุณยายพาหลานไปซื้อโทรศัพท์มือถือให้เด็ก ในขณะที่คุณยายมีฐานะยากจน หรือแม้แต่การที่เด็กบางคนถูกบังคับให้เรียนหนังสือผ่านหน้าจอทีวี ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ในบางครอบครัวเด็กจะต้องไปทำงานช่วยเหลือพ่อแม่ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดไม่อยากให้มองว่าที่ผ่านมานั้น เราเรียนออนไลน์กับแบบถูกบังคับ หรือเด็กไทยต้องเรียนออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากให้มองว่าการเรียนออนไลน์ที่ดีนั้น คือสิ่งที่นำมาใช้เสริมควบคู่กับการเรียนการสอนในห้องเรียน
ที่สำคัญต้องไม่ใช่การก๊อปปี้หรืออัดเทป ที่คุณครูสอนในห้องเรียนมาแปะไว้ให้เด็กๆ ดู แต่อยากให้การเรียนออนไลน์นั้นเกิดจากการนำประสบการณ์มาใช้พัฒนาเพื่อให้สอดข้องกับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ผ่านรูปแบบของการเรียนบวกกับการเล่น เช่น การที่เราพัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการเรียนรู้ ซึ่งหากเด็กคนไหนที่เปิดแอปพลิเคชัน StartDee ก็จะพบว่าหัวข้อหรือไอคอนที่ง่ายไปหายาก เนื่องจากเราได้มีการสัมภาษณ์ผู้ใช้งานออนไลน์จริงแล้วว่า การเรียนออนไลน์ที่ดีนั้นจะต้องผนวกเข้าระหว่างการเรียนและการเล่นไว้ด้วยกัน
ทั้งนี้รูปแบบของการออกแบบหลักสูตรให้สอดคล้องไปกับประสบการณ์เรียนออนไลน์ ประกอบด้วยหลัก 3 ด้านคือ 1.“การจูงใจ” ให้เริ่มจากการดึงดูดผู้เรียนให้อยากเข้ามาใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ โดยทำให้การเรียนกลายเป็นเรื่องสนุก ผ่านฟีเจอร์ StartDee World ที่สอดแทรกความเป็นเกม (Gamification) เข้าไปในการเรียนรู้ ซึ่งพบว่าจะช่วยให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นถึง 72 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เด็กตั้งใจเรียนได้ดี แม้ไม่มีคุณครูคอยควบคุมกำกับการเรียนการสอน 2.“จดจ่อ” เมื่อจูงใจให้เข้ามาใช้งานได้แล้ว ต้องออกแบบบทเรียนที่ดึงความสนใจให้เรียนจนจบได้ จากการวิเคราะห์พฤติกรรมการรับชมคลิปวิดีโอกว่า 3,000 รายการของ StartDee พบว่าคลิปที่มีความยาวประมาณ 2-3 นาที มีอัตราการชมคลิปสูงสุดถึง 70-80% ในขณะที่คลิปซึ่งมีความยาวเกิน 6 นาที จะมีจำนวนคนรับชมคลิปวิดีโอจนจบ แต่หากคลิปวิดีโอยาวเกิน 10 นาที จะเหลือผู้เรียนที่รับชมคลิปจนจบเพียง 50% เท่านั้น
3.“จดจำ” การออกแบบบทเรียนออนไลน์ให้สัมฤทธิผลสูงสุดต้องเข้าใจและจดจำได้ง่าย ซึ่งบทเรียนของ StartDee ใช้วิธีการ story-telling คือเริ่มต้นคลิปด้วยบทบาทสมมติที่สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละบทเรียน พร้อมกับแอนิเมชันและ Real-time pop-up text ที่ช่วยให้ journey ในการเรียนลื่นไหลและง่ายต่อการจดจำ”
(เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์)
ด้าน เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้ง BASE Playhouse โรงเรียนแนวใหม่ที่ให้เด็กทุกคนเติบโตและเก่งในแบบของตัวเองได้ บอกว่า “การที่เทคโนโลยีจะทำให้เด็กๆ ก้าวผ่านช่วงรอยต่อของการเรียนรูปแบบใหม่ในช่วง New Narmal นั้นต้องเริ่มจากการที่เด็กๆ จะต้องเก่งในแบบของตัวเอง จึงจะสามารถนำประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากตัวเองไปใช้ชีวิตในสังคมตามที่ได้คาดหวังไว้ ทั้งนี้ความเก่งของเด็กแต่ละคนจะต้องมาจาก 3 ด้านคือ ชุดความรู้ที่เกิดจากความเข้าใจ, ชุดความรู้ที่เกิดจากการอ่าน, ทักษะการฝึกฝนที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรง เช่น การขับรถยนต์ที่เราจะต้องมีทั้งความรู้จากการใช้งานของอุปกรณ์แต่ละชนิด เช่น เบรกมีไว้เหยียบ พวงมาลัยเป็นตัวควบคุมรถยนต์ พูดง่ายๆ ว่าการใช้งานจริงจะต้องมีการฝึกซ้อมที่ดีโดยอาศัยประสบการณ์ตรง
“แม้ว่าข้อดีของออนไลน์นั้น คือการที่สามารถเผยแพร่ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่การจะส่งมอบความรู้ที่ดีจะต้องประกอบด้วยชุดความคิดที่สมบูรณ์แบบทั้ง 3 ด้าน เช่น นำประสบการณ์จริงมาใช้ประกอบร่วม ทั้งการอ่าน การฝึกฝน มีวิธีการออกแบบที่ซับซ้อน เพื่อให้เด็กได้ฝึกฝนความคิดและความรู้ รู้จักพัฒนาตัวเอง เพื่อนำมาสู่การคิดหาวิธีแก้ปัญหา ที่สำคัญการออกแบบการเรียนออนไลน์ที่ดีจะต้องทำควบคู่กับการเรียนการสอนในห้องเรียนด้วย”.
(กัญญาภัค บุญแก้ว)
ผู้ปกครองปรับตัวช่วยลูกหลานเรียนออนไลน์
เป็นทั้งผู้ปกครองเด็ก และควบตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา สำนักพิมพ์ NanmeeBooks อย่าง คุณกัญญาภัค บุญแก้ว ได้มาสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากการออกแบบสื่อออนไลน์ให้เหมาะกับช่วงวัยเด็กและเยาวชน โดยเลือกใช้เนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของเด็กๆ แล้ว สิ่งสำคัญยิ่งในช่วงยุค New Normal นั้นคือรูปแบบการเรียนการสอนของเด็กจะไม่ยึดติดอยู่กับในห้องเรียน ดังนั้นผู้ปกครองยุคใหม่จึงจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการดูแลบุตรหลานในการเรียนรู้ผ่านสื่อออนไลน์ โดยการเปิดรับเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี เพื่อเป็นไกด์ไลน์ให้กับบุตรหลาน เพราะเป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ สามารถหาความรู้ที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะสื่อในโลกโซเชียล
“ในมุมของคนเป็นพ่อแม่นั้น รู้สึกเห็นด้วยกับคนรุ่นใหม่ที่หันมาพัฒนารูปแบบการศึกษา ดังนั้นพ่อแม่ยุคใหม่จึงจำเป็นต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ เพราะอย่าลืมว่าสถาบันครอบครัวนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และการเรียนรู้ผ่านออนไลน์ของเด็กยุคนี้มักจะให้ความสำคัญกับอินฟลูเอนเซอร์ ที่ค่อนข้างมีอิทธิพลกับเด็กให้ทำตาม ซึ่งจะเห็นได้จากการที่เด็กเล่นแอปพลิเคชันติ๊กต๊อกเลียนแบบดาราหรือคนดังในแวดวงต่างๆ ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นแม่ก็ต้องทั้งความเข้าใจเกี่ยวกับแอปพลิเคชันดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพราะเป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาในช่วงโควิด-19 และต้องช่วยเด็กๆ ในการคิดวิเคราะห์เพื่อเลือกรูปแบบการเล่นให้เหมาะกับลูกๆ หรือการที่เขาติดตามอินฟลูเอ็นเซอร์ เพื่อทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เราจะต้องช่วยดูว่าเด็กๆ สามารถทำกิจกรรมเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือเหมาะกับพวกเขามากแค่ไหน หรือบางครั้งในแอปพลิเคชันดังกล่าวมีโฆษณาแฝงอะไรที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ เราในฐานะผู้ปกครองจะต้องคอยดูแลสอดส่องลูกค่ะ เพราะอย่าลืมการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีของเด็กๆ นั้น เราไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระหรือหน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว”
"สิ่งสำคัญในการเรียนรู้ผ่านการใช้เทคโนโลยีนั้น ประกอบกับข่าวสารต่างๆ ที่ออกมาในเชิง ของการที่ผู้ปกครองยุคใหม่ไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้สื่อออนไลน์ดังกล่าว หรือมีปัญหาติดขัดในการใช้โซเชียล เช่น การที่เด็กอยู่กับปู่ย่าตายาย และจำเป็นต้องวิ่งไปให้เพื่อนบ้านช่วย เพื่อให้ลูกหลานได้เรียนออนไลน์ ทางออกของปัญหานี้คือการที่ครูจะต้องเข้าไปในชุมชน เพื่อให้ความรู้กับผู้ปกครองเกี่ยวกับวิธีในการใช้สื่อเพื่อสอนลูกหลาน เช่น ที่ผ่านมามีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่โคราช จ.นครราชสีมา ได้ทดลองทำโดยการที่ครูลงพื้นที่ให้ความรู้กับผู้ปกครอง และในส่วนของนานมีบุ๊คส์เองนั้นก็คาดว่าจะมีการจัดสัมมนาโดยการให้ความรู้กับผู้ปกครองในรูปแบบของงานแฟร์ ควบคู่กับให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ เพื่อให้ผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลบุตรหลาน เพื่อให้ได้รับความรู้อย่างไม่ตกยุคสมัย”
คุณกัญญาภัค บอกว่า ต่อให้การเรียนรู้ของเด็กในช่วง New Normal นี้จะเป็นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมควบคู่การเรียนการสอนในห้องเรียน แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรลืมเลือน คือการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับลูกๆ เพราะการที่เด็กอ่านหนังสือนั้น เป็นการเรียนรู้ในทุกสาขาวิชา และถึงแม้ว่าเด็กเจเนอเรชัน Z นั้นจะมีสมาธิอ่านหนังสือได้น้อยลง ดังนั้นจึงควรฝึกให้เด็กอ่านในเรื่องที่ง่ายๆ ก่อน เช่น การที่จะให้ความรู้กับเด็กเกี่ยวกับทักษะการใช้ชีวิตนั้น ควรเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนที่น่ารัก สวยงาม ชวนติดตาม และที่สำคัญเมื่ออ่านแล้วเข้าใจง่าย ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีที่ไม่ทิ้งเรื่องการอ่าน ซึ่งเป็นรากฐานของการเรียนรู้ทั้งปวง เพื่อให้น้องๆหนูๆ พร้อมที่จะใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |