แนวทางสร้างความปรองดองผ่านการออกกฎหมาย นิรโทษกรรม กลับมาเป็นที่พูดถึง เป็นข่าวอีกครั้ง หลัง คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายกลางที่ประชุมวุฒิสภาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ด้วยการเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพื่อสร้างความปรองดองของคนในประเทศ จนทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายต่างๆ ตามมา
ความเห็นจากภาคประชาชน ที่มีการเคลื่อนไหวและแสดงความเห็นเรื่องการสร้างความปรองดอง-นิรโทษกรรม มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’35 และอดีตคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้ทัศนะต่อการที่หลายฝ่ายกลับมาพูดถึงเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองอีกครั้งในเวลานี้ว่าถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งแม้ท่าทีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังไม่แสดงความชัดเจนอะไรออกมา แต่ก็อยากบอกถึงพลเอกประยุทธ์ด้วยว่า นายกรัฐมนตรีต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองด้วยว่า ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำประเทศ หากคนในประเทศแตกความสามัคคี ไม่รักใคร่กัน จึงเป็นหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีที่ต้องทำหน้าที่ประสานให้คนมีความเข้าใจต่อกัน หรือหากมีวิถีทางใดที่ทำได้เพื่อทำให้คนในชาติกลับมาปรองดองสามัคคีกัน ก็เป็นหน้าที่ของนายกฯ ที่ต้องทำ ไม่ใช่ให้คนมาขอร้องให้ทำ
“ที่ผ่านมาก็เริ่มมีข้อครหาว่า ที่มีการปล่อยและทำให้เสื้อเหลืองเสื้อแดงแตกคอกัน มีความเกลียดชังกันจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันมาตลอด ก็เกิดจากการที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เคยเป็นหัวหน้า คสช. เป็นอดีต ผบ.ทบ.ที่ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนเข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งไปด้วย เป็นตัวที่เข้ามาทำให้ขัดแย้งเสียเอง จากที่ประชาชนขัดแย้งอยู่แล้ว แทนที่จะเข้ามาแล้วทำให้ประชาชนรักใคร่สามัคคีกัน แต่กลับเข้ามาเป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งด้วย การกระทำของท่านมันชัดเจนก็คือว่า นั่นคือวิถีทางของการแบ่งแยกแล้วปกครอง อันเป็นหลักการของเผด็จการทหารที่ใช้มาทุกยุคทุกสมัย ที่ผ่านมาไม่ชัดเจน แต่ตอนนี้ชัดเจนแล้ว ผลประจักษ์ชัดแล้วว่า ท่าทีของนายกฯ กำลังเข้าไปสู่การที่มีคนตั้งข้อครหากันไว้ ว่าเป็นการแบ่งแยกแล้วปกครอง ดังนั้นนายกรัฐมนตรีอย่าทำเลย”
อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะผู้นำประเทศ หากทำเรื่องการสร้างความปรองดองสามัคคีให้กับคนในชาติได้ ยามเมื่อลงจากหลังเสือ หมดอำนาจแล้ว นายกฯ ก็จะเป็นรัฐบุรุษได้ แต่ถ้าไม่ทำเรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นโมฆบุรุษ ก็ขอเตือนไว้ เพราะหากสานสามัคคีให้คนในชาติได้ ประชาชนก็จะมีความสุข ประชาชนทุกคนต่างก็อยากสามัคคีและอยากแสดงออกถึงความรักความสามัคคี เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงของเรา ในโอกาสวันสำคัญที่จะมาถึงในวันที่ 28 ก.ค.นี้
เมื่อถามว่า ช่วงเวลาขณะนี้เหมาะสมหรือยังที่จะมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อดุลย์ ยืนยันว่าเป็นช่วงเหมาะสมมาก เพราะหากมีการสร้างความปรองดอง มีการนิรโทษกรรม จะทำให้ประชาชนที่ยังมีการแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายหลักๆ จะได้ลดความเกลียดชังลง เพราะความสำคัญของการปรองดองนิรโทษกรรมคือเพื่อนำไปสู่การลดความเกลียดชัง ความขุ่นเคืองที่มีต่อกัน จะได้มาช่วยกันสร้างชาติ พัฒนาบ้านเมือง และหากพูดกันอย่างให้ความยุติธรรม หากเสื้อเหลืองเสื้อแดงต่างต้องได้รับโทษแล้ว เหตุใดบางฝ่าย เช่น การที่กลุ่มทหารออกมาทำรัฐประหารแล้วตอนหลังมาเขียนรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมตัวเอง นิรโทษการทำรัฐประหาร ทั้งที่การทำรัฐประหารก็ผิดเหมือนกัน มันก็ไม่ยุติธรรม
“คนเสื้อเหลืองเสื้อแดงและกลุ่มต่างๆ ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ได้รับโทษ จนบางคนต้องบ้านแตกสาแหรกขาด บางคนก็ถูกยึดทรัพย์ ลำบากกันไปถ้วนหน้า ต้องคิดให้ดีว่าพวกท่านคือเหยื่อของระบบ ของทหารที่ใช้กุศโลบายแบ่งแยกแล้วปกครอง เพราะคนที่ทำให้พวกเขาที่เป็นประชาชนแตกแยกแล้วสู้กันในช่วงที่ผ่านมา ก็คือคนที่ได้รับผลประโยชน์จากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
พวกเขาจึงควรตั้งสติ แล้วรวมตัวเข้าด้วยกัน จะได้มาร่วมกันพัฒนาบ้านเมือง เพราะบางที พวกเขาก็เป็นเหยื่อของกับดักในนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง แต่ตอนนี้หลายคนมีสติแล้ว กำลังรวมตัวกัน พลเอกประยุทธ์ต้องคิดดูให้ดี หากพวกเขาเข้าใจเมื่อใดว่าเขาถูกกับดักดังกล่าว แล้วเขารวมตัวกันได้เมื่อใด แล้วคุณจะหนาว”
....ผมยืนยันได้ว่า จากที่ได้คุยกับแกนนำ-แนวร่วมของกลุ่มการเมืองกลุ่มต่างๆ ทุกฝ่ายต่างเห็นด้วยกับแนวทางการนิรโทษกรรม-สร้างความปรองดอง อย่างสมัยผมเป็นกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองฯ ก็ได้คุยกับหลายฝ่าย เช่น เสื้อเหลือง เสื้อแดง ฝ่ายทหาร กลุ่มญาติผู้สูญเสีย แต่ละฝ่ายก็เห็นว่าเราต่างก็หัวอกเดียวกัน เป็นเหยื่อทั้งนั้น จึงขอให้เชื่อได้ว่าเมื่อมีการปรองดอง มีการอโหสิกรรม ลดความเกลียดชังแล้ว ทุกฝ่ายต่างก็ไม่เอาอีกแล้วเรื่องการใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวทางการเมือง หากพลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้นำแต่กลับไม่ทำในเรื่องนี้ เพื่อทำให้ทุกฝ่ายสามัคคีปรองดองกัน ก็บอกได้เลยว่า ถ้าใช้ภาษาไทยก็คือ อาจจบไม่สวยแน่
อดุลย์ ย้ำว่า การปรองดองนิรโทษกรรมไม่ใช่การนำกฎหมายมาบังคับให้คนปรองดองกันได้ แต่มันเกิดจากความรู้สึกทางจิตใจ ในการให้อภัยกับอีกฝ่ายหนึ่งในฐานะที่ตัวเองถูกกระทำ ก็ให้อภัยกับอีกฝ่ายหนึ่ง หรือฝ่ายตรงข้าม กรณีที่เคยเกิดขึ้นคนเสื้อแดงก็เข้าใจว่าถูกเสื้อเหลืองกระทำ ก็ให้อภัยฝ่ายเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองก็ให้อภัยฝ่ายเสื้อแดงเช่นเดียวกัน สิ่งนี้คือหลักการของการปรองดอง
“พลเอกประยุทธ์อย่าไปเข้าใจผิดว่า กฎหมายบังคับคนได้ แต่การปรองดองเกิดจากการให้อภัย เมตตาธรรม มันไม่ใช่แค่ใจกว้าง แต่ต้องใจใหญ่ด้วย หากนายกฯ ใจใหญ่ แล้วทำตามหน้าที่ในการทำให้ประชาชนมีความสามัคคีกัน ไม่ใช่ต้องให้คนมาร้องขอ เพราะเป็นหน้าที่นายกฯ อยู่แล้ว ก็ควรที่นายกรัฐมนตรีจะต้องรีบทำเรื่องนี้” อดีตกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. กล่าวย้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |