ผมรอตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 2 อย่างใจจดใจจ่อ...เพราะจะเป็นสัญญาณสะท้อนความจริงสำหรับทั้งปีนี้ได้
เดือนพฤษภาคมน่าจะเป็นเดือนที่แย่ที่สุด เดือนมิถุนายนเริ่มกระเตื้องขึ้น เริ่มเห็นแสงสว่างบ้างแล้ว
แต่จะเป็น “แสงจริงๆ หรือแสงปลอมๆ” ต้องรอสรุปตัวเลขเป็นทางการ
นั่นเป็นรายงานจากคุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
ตรงนี้แหละที่น่าสนใจ เพราะแม้มือเศรษฐกิจอย่างคุณดอนยังต้องลุ้นเหมือนชาวบ้านอย่างเรา
ที่น่าตกใจพอสมควรคือ ตัวเลขคนตกงานและสูญเสียรายได้ที่ประเมินโดยสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทยที่ออกมาบอกว่าอยู่ที่ประมาณ 8.3 ล้านคน
และผู้มีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 170 บาท จะสูงขึ้นกว่าหนึ่งเท่าตัว โดยเพิ่มขึ้นจาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสแรก เป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่สอง
โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนชนชั้นกลางในภาคการผลิตและภาคบริการจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว จาก 6% เป็น 20%
คุณดอนบอกว่ายังบอกไม่ได้ว่าเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่เศรษฐกิจลงต่ำสุดแล้ว
แต่พูดได้ว่าไตรมาสที่ 2 จะเป็นไตรมาสที่เศรษฐกิจอยู่จุดต่ำสุดแน่นอน
เพราะคุณดอนคาดว่าไตรมาสที่ 2 จะมีการขยายตัวที่ติดลบอยู่ที่ 10% กว่าๆ แต่ไม่ติดลบถึง 20% แน่นอน
โลกวันนี้เปลี่ยนไปถึงขนาดที่ว่า ถ้าติดลบไม่ถึง 20% ก็ถือว่าเป็นข่าวที่ไม่เลวร้ายเกินไป!
คุณดอนบอกนักข่าวตอนหนึ่งว่า เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่สองที่เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะวิกฤติเต็มตัว
เหตุผลก็ชัดเจน นั่นคืออุปสงค์ต่างประเทศทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวสูงจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ
ภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขึ้น
แต่การใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง สะท้อนบทบาทการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงบ้าง จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและมาตรการเยียวยาของภาครัฐ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดอาหารสด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง
แต่แบงก์ชาติมองว่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น
ขณะเดียวกันตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก
ดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ จากทั้งด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน และนักท่องเที่ยวหดตัว 100% เป็นเดือนที่สอง
มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ 23.6% จากระยะเดียวกันปีก่อน
ถ้าไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 29.0% โดยเป็นการหดตัวสูงในเกือบทุกหมวดสินค้าและเกือบทุกตลาด ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่หดตัวสูง
ประกอบกับผลของภัยแล้งที่ทำให้การส่งออกน้ำตาลหดตัวสูง
แต่น่าสังเกตว่ามีเพียงการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ตามการส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นสำคัญ
“การส่งออกในเดือน พ.ค.63 มีมูลค่า 1.59 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำมากและเราไม่ได้เห็นตัวเลขนี้มานานแล้ว เทียบกับภาวะปกติมูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการขยายตัวของการส่งออกที่ติดลบ 23.6% ถือว่าใกล้เคียงกับตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ที่ติดลบ 22% กว่าๆ เพราะก่อนหน้านี้มีการส่งออกเครื่องบินเช่า ทำให้ตัวเลขของ 2 หน่วยงานเลยดูถ่างกันเยอะ แต่ตอนนี้เข้าหากันมากขึ้น และปกติจะห่างกัน 0.5-1% ซึ่งไม่ได้ห่างกันเยอะ” คุณดอนบอกนักข่าว
การใช้จ่ายหดตัวในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ ทั้งในมิติการจ้างงาน รายได้และความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ
แต่อัตราการหดตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เพราะในเดือนนี้เริ่มมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้กิจกรรมบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินการได้ รวมทั้งได้รับแรงพยุงจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ประกอบกับรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง
อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ เมื่อประกอบกับสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวสูงขึ้น
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวสูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการลงทุนหมวดก่อสร้าง สะท้อนถึงการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ เพราะอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศที่อ่อนแอ ทำให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก
ประกอบกับผู้ประกอบการมีความกังวลกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ 34.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน
ที่หวังพึ่งได้ในภาวะเช่นนี้ก็คือการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน
แต่รายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว หลังจากที่ขยายตัวสูงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน
มีผลให้รายจ่ายรัฐบาลที่ไม่รวมเงินโอนโดยรวมแล้วทรงตัว แม้รายจ่ายลงทุนที่ไม่รวมเงินโอนจะขยายตัวต่อเนื่อง
เมื่อเรามาถึงจุดที่หากไตรมาสที่สองติดลบไม่ถึง 20% เราก็ “โล่งอก” ย่อมแปลว่ามันคือ New Abnormal ที่แท้จริง!.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |