'เมทินี ชโลธร' จ่อนั่งประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

16 ก.ค.63 - ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เปิดเผยบัญชีรายชื่อที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา วาระ 1 ต.ค. 2563 มีการเสนอ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา โดยหาก ก.ต.มีมติเห็นชอบ จะถือว่าเป็นประธานศาลฎีกาหญิงคนแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ มีการสับเปลี่ยนตำแหน่ง จำนวน 48 ตำแหน่ง โดยมีตำแหน่งที่น่าสนใจ ประกอบด้วย น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งตามลำดับอาวุโสมีโอกาสที่จะขึ้นประธานศาลฎีกาในวาระต่อไป ต่อจากนางเมทินี สำหรับตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ ถือว่ามีความอาวุโสรองลงมาจากประธานศาลฎีกา

การเสนอขึ้นดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ประกอบด้วย นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา, นายพศวัจณ์ กนกนาก ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา, นายนิพันธ์ ช่วยสกุล ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา, นายประสิทธิ์ เจริญถาวรโภคา ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา, นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา และนายเสรี เพศประเสริฐ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นรองประธานศาลฎีกา 

นอกจากระดับรองประธานศาลฎีกายังมีตำแหน่งที่น่าสนใจ เช่น นางนุจรินทร์ จันทร์พรายศรี หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ขึ้นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งปัจจุบันเป็น ก.ต.ที่ได้รับเลือกคะแนนสูงอันดับ 1, นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งนับอาวุโสเป็นคิวขึ้นประธานศาลฎีกา ต่อจาก น.ส.ปิยกุล ผู้ที่ถูกเสนอบัญชีรายชื่อนั่งประธานศาลอุทธรณ์ และนายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ขึ้นประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งเป็นพื้นที่จังหวัดสำคัญในภาคเหนือ

โดยบัญชีรายชื่อที่สำนักงานศาลยุติธรรมจัดทำดังกล่าว นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการ ก.ต.จะนำเสนอเข้าที่ประชุม ก.ต.ในวันที่ 24 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาผ่านความเห็นชอบในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งบริหารดังกล่าว

สำหรับประวัติของนางเมทินี ชโลธร ผู้ถูกเสนอบัญชีรายชื่อขึ้นเป็นประธานศาลฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา และเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา ประวัติการศึกษา จบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรนิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาการบริหารงานยุติธรรม) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเนติบัณฑิต สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

ประวัติการทำงานในอดีต เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุรินทร์, ผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครนายก, ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือ, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเขียว, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอุบลราชธานี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา, ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 4, ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลอุทธรณ์, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ, ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา

ปัจจุบันยังมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นประธานที่ปรึกษาฯ และประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน และนโยบายด้านอื่นๆ ของนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา หลายคณะทำงาน เคยนำคณะผู้พิพากษาลงพื้นที่เรือนจำนำร่อง เพื่อนำคำร้องใบเดียวให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้ทราบถึงสิทธิการประกันตัว ประกอบกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหลายอย่าง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"