เมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระราม 2 ที่ใครผ่านมาผ่านไป ต่างบนกันเป็นเสียงเดียวกัน ถึงความสาหัสบนท้องถนนเส้นนี้ จากหลากหลายปัจจัย ทั้งการเป็นเส้นทางหลักในการจราจรลงพื้นที่ภาคใต้ รวมไปถึงโครงการก่อสร้าง ซ่อมแซม ปรับปรุง ที่ไม่มีวันจบสิ้น กลายเป็นภาพชินตา จนได้รับฉายานามพูดกันติดปากว่า ถนน 7 ชั่วโคตร
แต่เรื่องนี้ ”นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้สั่งการถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบว่า ต้องแก้ปัญหาจราจรบนถนนพระราม 2 ขณะเดียวกันต้องไม่ให้กระทบกับการเดินทางของประชาชน โดยมีการหยิบยกแนวทางการบริหารจัดการจราจรในงานก่อสร้างโครงการก่อสร้างในพื้นที่การจราจรหนาแน่น 6 มิติ จากโมเดลของโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทางหลวงหมายเลข 9 (วงแหวนตะวันออก) เพื่อวางแผนในการดำเนินการ
ขณะเดียวกันการปรับปรุงเก่าที่ได้เปิดคืนผิวจราจรให้รถวิ่งฉิว ยังไม่ทันจะให้สบายใจ มีเมกะโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการเตรียมตอกเสาเข็มบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) รวม 2 โครงการ ทั้งโครงการก่อสร้างทางยกระดับพระราม 2 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง และโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก (สัญญาที่ 2) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
จะว่าไปแล้วปัญหาการจราจร แม้จะมีการเตรียมแผน เตรียมคน และเครื่องมือ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ งานนี้ร้อนถึงคนใช้ถนนในเส้นพระราม 2 ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันว่า โครงการก่อสร้างจะมาอีกแล้วหรือ สะท้อนถึงว่ารถจะติดหนักอีกหรือไม่ ล่าสุด นายศักดิ์สยามได้นำคณะผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ถนนพระราม 2 อีกครั้ง จากวันนั้นจนถึงวันนี้ จวบเวลา 1 ปีในการลงพื้นที่ของเจ้ากระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเริ่มก่อสร้างและร่วมบูรณาการการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงาน ก่อนที่จะมีการเข้าพื้นที่ และจะเริ่มต้นการก่อสร้างในวันที่ 8 ก.ค.2563 (หลังจากวันหยุดยาวตามมติ ครม. 4-7 ก.ค.ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้กรมทางหลวงได้ขยายถนนพระราม 2 เป็น 14 ช่องเสร็จและคืนผิวจราจรหมดแล้ว โดยเมื่อมีการก่อสร้างโครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 จึงมีความจำเป็นจะต้องใช้พื้นผิวจราจรตรงกลางประมาณ 1 ช่องจราจร ซ้าย-ขวาข้างละ 1 ช่องจราจร เพื่อใช้ในการก่อสร้าง ทั้งนี้ จะไม่มีการปิดช่องจราจรแต่อย่างใด แต่จะปรับลดขนาดช่องจราจรจาก 3.50 เมตรเหลือ 3 เมตร ซึ่งยังอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจากขนาดรถยนต์มีความกว้างที่ 2.80 เมตร กล่าวคือ ยังคงช่องจราจร 14 ช่อง ไป-กลับตามเดิม
นอกจากนี้จะเริ่มก่อสร้างเป็นช่วงๆ ช่วงละ 1-1.5 กม. เมื่อเสร็จแล้วถึงจะเริ่มสร้างจุดต่อไป และจะไม่มีการปิดถนนยาวขณะที่ยังไม่ก่อสร้างเด็ดขาด ส่วนเส้นทางกลับรถ ที่จะมีการก่อสร้าง “เกือกม้า” นั้น โดยในเส้นทางดังกล่าวจะมีทั้งหมด 6 จุด จะก่อสร้างในช่วงหลัง เมื่อดำเนินการพื้นราบแล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด ทั้งนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2565 ขณะเดียวกัน ในส่วนของการอำนวยความสะดวกนั้น จะมีการติดตั้งป้ายสัญญาณต่างๆ รวมถึงกล้องวงจรปิด เพื่อที่จะนำมาลงในแอปพลิเคชัน Thailand Highway Traffic ของกรมทางหลวง ในการตรวจสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ด้วย
สำหรับโครงการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ระยะทางประมาณ 8.335 กิโลเมตร โดยจะเริ่มเข้าพื้นที่ก่อสร้างจำนวน 2 จุดก่อน ได้แก่ กม.14+000 ถึง กม.15+000 และ กม.18+000 ถึง กม.20+295 ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ยังมีช่องจราจรจำนวน 12 ช่องจราจรเช่นเดิม (ทิศทางละ 6 ช่องจราจร) เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้ทางได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
ขณะที่โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.13+000 ของถนนพระราม 2 เชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างทางยกระดับ บนทางหลวงหมายเลข 35 ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย ของกรมทางหลวง ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน อันเป็นจุดบรรจบกันของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกกับถนนพระราม 2
ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะหลีกหนีปัญหาการจราจรในช่วงที่มีการก่อสร้าง แต่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ใช้รถใช้ถนนบนเส้นทางถนนพระราม 2 กระทรวงคมนาคมต่างก็หาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาให้กระทบต่อการเดินทางน้อยที่สุด โดยในวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคมนี้ นายศักดิ์สยามพร้อมด้วยผู้บริหาร จะลงพื้นที่เป็นครั้งที่ 2 เพื่อตรวจความคืบหน้าโครงการทางยกระดับบนถนนพระราม 2 และโครงการทางพิเศษพระราม 3 ต่อไป.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |