เสร็จสิ้นไปแล้วกับภารกิจตลอดเกือบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม ที่จัดตารางคิวงาน เดินสายพบผู้บริหาร-กอง บ.ก.สื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งจริงๆ ทุกแห่งทุกฉบับที่นายกฯ เดินสายไปคุยด้วย แต่ละสำนักก็มีสื่ออื่นอย่าง เว็บไซต์ข่าว-ทีวีรายการข่าว-เฟซบุ๊กของต้นสังกัด รวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น
โดยบางแห่งที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปที่สำนักงานก็พบว่า สื่อในสังกัด แต่อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ข่าว ที่ใช้ชื่อเดียวกับหนังสือพิมพ์ ก็อยู่ในลำดับต้นๆ ของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมในประเทศไทย
โดยหลายวันที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์และทีมงานส่วนตัว รวมถึง ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี-อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการรับผิดชอบเรื่องการพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการที่ทำเรื่องขออนุมัติตามเงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบวิกฤติโควิด-19 โดยทั้งหมดได้ร่วมเดินสายพบสื่อหลายสำนัก เช่น บางกอกโพสต์-ไทยโพสต์-เครือเนชั่น -ไทยรัฐ-เดลินิวส์-เครือมติชน ที่มีหนังสือพิมพ์ในสังกัดอย่างมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ-แนวหน้า-ผู้จัดการ
ที่พบว่า พลเอกประยุทธ์ ได้สนทนาพูดคุยกับผู้บริหารสื่อ-กอง บ.ก.ข่าวหลายแห่ง ด้วยการยืนยันว่าที่เดินสายพบสื่อหลายแห่งไม่ได้เป็นเรื่องของการเมืองแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะหลังจากนี้ ประเทศมีปัญหาวิกฤติหลายเรื่องรออยู่จากผลกระทบเรื่องโควิด-19 โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลก็ต้องปรับรูปแบบการทำงานแบบ new normal ด้วย โดยเฉพาะการทำงานที่จะต้องรับฟังความเห็น ข้อมูล จากหลายฝ่าย ถึงผลกระทบเรื่องโควิด-19 ที่แต่ละภาคส่วนก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ไม่มากก็น้อย อันเป็นการทำงานตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศและการแก้ปัญหาประเทศแบบ รวมไทยสร้างชาติ ที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนหลายกลุ่ม
หลายวงพูดคุยกับสื่อ พลเอกประยุทธ์ บอกว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลก็ไปฟังความเห็น ข้อเสนอแนะจากบางภาคส่วนมาแล้ว เช่น ภาคธุรกิจ โดยที่เดินสายพบ สื่อมวลชน ก็เพื่อต้องการฟังความเห็นจากฝ่ายสื่อมวลชนด้วยว่า มองปัญหาของประเทศในเวลานี้ในแต่ละด้านอย่างไร-สื่อมองภาพรวมประเทศไทยต่อจากนี้อย่างไร, มีอะไรที่รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญ และต้องเตรียมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น และอะไรที่เห็นว่ารัฐบาลควรทำโดยเร่งด่วน ซึ่งเมื่อได้รับฟังข้อมูลต่างๆ แล้ว ก็จะนำข้อเสนอแนะ ความเห็นต่างๆ จากสื่อแต่ละแห่งไปประมวล วิเคราะห์สรุปผล เพื่อนำไปขับเคลื่อนทำงานต่อไป
จากข้อมูลที่ได้รับพบว่า กอง บ.ก.หนังสือพิมพ์-กอง บ.ก.สื่อหลายสำนัก ตลอดจนผู้บริหารสื่อหลายแห่ง มีการให้ความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีในหลายประเด็น แต่ภาพใหญ่ก็คือ การส่งเสียงสะท้อนถึงปัญหาเรื่องผลกระทบด้านเศรษฐกิจ-ความเดือดร้อนประชาชน โดยสะท้อนความเห็นและข้อมูลถึงตัวนายกรัฐมนตรีว่า ยังมีประชาชนอีกไม่น้อย และผู้ประกอบอาชีพอีกหลายสาขาที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก แต่การช่วยเหลือจากภาครัฐยังไปไม่ถึง ประชาชนจำนวนไม่น้อยที่เดือดร้อน ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทต่อเดือน จึงมีการฝากให้นายกฯ เร่งเข้าไปช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม โดยกระบวนการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาต่อจากนี้ โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ-การว่างงาน ที่อาจจะรุนแรงกว่าที่รัฐบาลประเมินไว้ จึงเห็นว่ารัฐบาลต้องมีการทำงานที่รวดเร็ว ทำงานให้เป็นเอกภาพ มีการให้ข่าวกับประชาชนอย่างต่อเนื่องถึงสภาพปัญหาและการแก้ไขของรัฐบาลว่า แต่ละหน่วยงานดำเนินการไปถึงไหนแล้ว โดยให้ทำในรูปแบบเดียวกับที่ตั้งวอร์รูม ศบค.ขึ้นมาที่ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น
นอกจากนี้ วงพูดคุยระหว่างนายกฯ กับสื่อหลายแห่งก็มีข่าวว่า กอง บ.ก.สื่อบางสำนักก็ย้ำกับนายกฯ ในเรื่องการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ที่ออกมาเพื่อรับมือโควิด-19 โดยเฉพาะการอนุมัติเงินตามโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ว่า ต้องใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพ การพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการต่างๆ ต้องรอบคอบ ทำอย่างโปร่งใส โดยแต่ละโครงการที่อนุมัติให้ไปทำ ต้องทำแล้วได้ผล ช่วยเหลือประชาชนได้จริง อีกทั้งวงหารือหลายแห่ง คนสื่อก็สะท้อนว่า เป็นห่วงภาคธุรกิจที่จะแบกรับภาระต่างๆ ไม่ไหว จนอาจมีการเลิกกิจการ ที่จะส่งผลกระทบต่อปัญหาการว่างงาน ที่จะกลายเป็นปัญหาสังคมตามมา
และเป็นธรรมดา เมื่อหัวหน้ารัฐบาลเดินสายไปพบสื่อถึงสำนักงานแต่ละแห่ง เลยทำให้กอง บ.ก.แต่ละแห่ง ก็ใช้โอกาสสนทนาพูดคุยดังกล่าว สอบถามในประเด็นข่าวที่สนใจและเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแส เช่น เรื่อง "การปรับคณะรัฐมนตรี" โดยบางแห่ง นายกฯ ไปพูดคุยด้วยหลังกลุ่มอดีตแกนนำผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐอย่าง อุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก็พบว่านายกรัฐมนตรีก็ให้ความเห็นกับสื่อบางแห่งไว้ว่า เรื่องการปรับ ครม.คงต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ และวุฒิสภาเสียก่อน ซึ่งก็คือประมาณเกือบปลายๆ เดือนกันยายนนั่นเอง
เสร็จสิ้นภารกิจเดินสายคุยสื่อรอบนี้ไปแล้ว ก็ต้องดูกันว่า พลเอกประยุทธ์จะนำข้อคิดเห็น-มุมมอง-ทัศนะ ที่ได้รับจากการปิดห้องพูดคุยกับสื่อหลายแห่ง ไปประมวลความเห็นแล้วนำไปขับเคลื่อนการทำงานเพื่อแก้ปัญหาให้กับประเทศอย่างไรต่อไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |