นโยบายด้าน “สวัสดิการ” ของไทย ก้าวหน้าหรือล้าหลัง? เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” สมัย 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง พร้อมกับ “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นคณะรัฐมนตรีชุดที่ 62 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.2562 เป็นต้นมา
บ่ายวันที่ 11 ก.ค.2563 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือเครือข่าย “We Fair” จัดงานใหญ่เสวนาสาธารณะ “ประเมินผลงาน 365 วัน รัฐบาลประยุทธ์ รัฐสวัสดิการไทยถดถอยหรือก้าวหน้า” ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถ.ราชดำเนิน
เชิญนักการเมืองบิ๊กเนมมาร่วมงาน อย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนแล้ว นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการและเอ็นจีโอชื่อดังเข้าร่วม ทั้ง เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี นักวิชาการวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์, นุชนารถ แท่นทอง ที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค, สุนี ไชยรส นักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต และจอน อึ๊งภากรณ์ นักกิจกรรมทางสังคม
สาระที่น่าสนใจในการประเมินผลงานด้านสวัสดิการของรัฐบาล นอกจากทัศนะของนักการเมืองคนดัง คือการนำเสนอรายงานสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การประเมินผลงาน 1 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้านการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม (กรกฎาคม 2562-มิถุนายน 2563)” ที่ “เดชรัต สุขกำเนิด” เป็นผู้อภิปราย เขาสำรวจจากผู้ตอบแบบสอบถาม 660 ราย ระหว่างวันที่ 1-6 ก.ค.2563 พบว่า คะแนนความพึงพอใจต่อผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้านการพัฒนาสวัสดิการสังคม ต่ำกว่า 5.00 คะแนน ในทุกรูปแบบ โดยคะแนนมากที่สุดคือ การเพิ่มสวัสดิการผู้พิการถ้วนหน้า 4.47 คะแนน และคะแนนน้อยที่สุดคือ สวัสดิการแรงงานนอกระบบ 3.37 คะแนน
ประเภทสวัสดิการทั้งหมดที่สำรวจ ประกอบด้วย สวัสดิการสำหรับเด็กเล็ก 4.25 คะแนน การศึกษาแบบถ้วนหน้า 3.56 คะแนน ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3.76 คะแนน การคุ้มครองแรงงานและค่าจ้างขั้นต่ำ 3.62 คะแนน สวัสดิการด้านที่อยู่อาศัย 3.60 คะแนน สวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ 3.37 คะแนน ระบบบำนาญแห่งชาติแบบถ้วนหน้า 4.41 คะแนน การเพิ่มสวัสดิการผู้พิการแบบถ้วนหน้า 4.47 คะแนน การช่วยเหลือเยียวยาผู้มีรายได้น้อย 4.00 คะแนน สิทธิและสวัสดิการแรงงานข้ามชาติ 3.49 คะแนน และผลงานของรัฐบาลปัจจุบัน ในรอบ 1 ปี รวมได้ 3.39 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10
“ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ให้คะแนนผลงานของรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคมในภาพรวมสอบตก มีถึงร้อยละ 67 หรือเท่ากับ 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด” เดชรัตระบุ และยังสรุปว่า ผู้ตอบแบบสอบถามไม่พึงพอใจผลงานของรัฐบาลด้านสวัสดิการสังคมในรอบ 1 ปีอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่มีรายได้ปานกลางจนถึงรายได้สูง น่าจะเกี่ยวพันกับการโฆษณาหาเสียงในช่วงเลือกตั้งของพรรคแกนนำรัฐบาล และผลงานที่ไม่เป็นไปตามที่หาเสียง
ส่วนสิ่งที่ผู้ตอบแบบสอบถามอยากเห็นในรอบปีหน้า เรียงตามลำดับมากที่สุดคือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพที่มีคุณภาพการบริการทัดเทียมกัน 2.การศึกษาฟรีแบบถ้วนหน้าจนถึงระดับปริญญาตรี 3.การเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้เป็นระบบบำนาญแห่งชาติแบบถ้วนหน้า (3,000 บาท/เดือน) 4.การออก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานและการดูแลค่าจ้างขั้นต่ำ 5.สวัสดิการของเด็กเล็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า 600 บาท/เดือน
“รัฐบาลควรเสนอแผนการจัดสรรงบประมาณและสวัสดิการสังคมในภาพรวม ระยะ 6 ปี (พ.ศ.2564-2570) ให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมด้านต่างๆ ให้มีความทั่วถึง และมีคุณภาพที่ทัดเทียมกันโดยเร็ว” เดชรัตระบุทิ้งท้าย
อีกส่วนที่น่าสนใจคือ เอกสารประกอบการเสวนา โดย “นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์” ผู้ประสานงานเครือข่าย We Fair เสนอหลักการสร้างรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าไว้ สรุปได้รวม 9 ประเด็น คือ 1.เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 4.3 ล้านคน 2.พัฒนามาตรฐานการเรียนการสอนทุกระดับ การศึกษาฟรีถ้วนหน้าถึงปริญญาตรี 3.พัฒนาระบบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันถ้วนหน้า
4.การเข้าถึงระบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ดินเกษตรกรรม สร้างบ้านเช่าราคาถูก เกษตรกรมีที่ดินการเกษตร 15 ไร่ มีมาตรการกระจายการถือครองที่ดิน 5.เพิ่มวันลาคลอด กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามอายุงาน ลดชั่วโมงการทำงาน 6.สร้างแรงจูงใจให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ อาทิ การสนับสนุนเงินสมทบ 7.บำนาญแห่งชาติสำหรับผู้สูงอายุ โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน 8.เบี้ยความพิการเพิ่มขึ้นจาก 800 เป็น 1,000 บาทถ้วนหน้า 9.ลดสิทธิประโยชน์ BOI ลดงบประมาณอาวุธ ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า
จากงานเสวนาครั้งนี้ จะเห็นว่า การมีสวัสดิการภาครัฐที่ไม่ก้าวหน้า ย่อมส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาล เมื่อความมั่นคงพื้นฐานของปากท้องประชาชนไม่ถ้วนหน้า และวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซ้ำเติม ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องปรับทัศนคติจากการ “สงเคราะห์” ให้สมบูรณ์ด้วย “รัฐสวัสดิการ” จึงจะรวมใจไทยสร้างชาติให้รอดได้.
นายชาติสังคม
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |