ธุรกิจการค้าของประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เคยได้เปรียบในเรื่องของการผลิตสินค้าที่มีต้นทุนต่ำ และแรงงานที่ราคาถูก แต่ปัจจุบันมีการแข่งขันของคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงการแข่งขันในด้านราคาเพียงอย่างเดียว แต่การค้ายุคใหม่ที่แข่งขันกันด้วยองค์ประกอบในหลากหลายด้าน อาทิ การออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ ออกแบบแพ็กเกจจิ้ง การสร้างเรื่องราวให้กับสินค้า รวมถึงการทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการออกแบบถือเป็นสิ่งสำคัญในอันดับต้นๆ เพราะหากมีการออกแบบสินค้าให้มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จดจำได้ง่าย ดึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ และนำมาสื่อสารเรื่องราวตั้งแต่กระบวนการผลิต หรือแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้านั้นๆ ให้สูงขึ้น ก็จะสามารถทำรายได้ให้กับธุรกิจเพิ่มมากขึ้นได้เช่นเดียวกัน
จากปัจจัยข้างต้น การให้ผู้ทำธุรกิจหันมาใส่ใจกับการออกแบบเพิ่มมากขึ้น สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการค้ายุคใหม่ (NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงอยากพาไปรู้จักกับคำว่า การมองอนาคตเรื่องการออกแบบของธุรกิจ ซึ่งเป็นการมองอนาคตผ่านกระบวนการออกแบบและคิดสร้างสรรค์ให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ และเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งในเรื่องของการสร้างแบรนด์หรือตราสินค้าสู่สากล มาดูกันว่า มล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จะแนะนำอะไรที่น่าสนใจไว้บ้าง
แน่นอนว่าการมองอนาคตเรื่องการออกแบบเป็นเรื่องจำเป็นที่หลายๆ ธุรกิจจำเป็นต้องทำเพราะการมองเห็นเทรนด์ผู้บริโภค และการมองเห็นสิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า จะช่วยให้ธุรกิจสามารถกำหนดพฤติกรรมของลูกค้า และสร้างความน่าจดจำได้ง่ายขึ้น โดยกระบวนการเรื่องการออกแบบของธุรกิจ จะแบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การคิดอย่างมีมิติ ต้องยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสินค้าอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งการออกแบบต้องให้ความสำคัญกับเรื่องรูปแบบและประโยชน์ในการใช้สอยของสินค้าให้มากที่สุด โดยจะต้องเน้นสร้างสินค้าที่มีรูปทรงและสีสันที่แตกต่างจากคู่แข่ง รวมถึงประโยชน์ใช้สอยที่แตกต่างของผลิตภัณฑ์ ต้องค้นหาจุดเด่นของสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้เจอ และนำมาเป็นจุดเด่นในการขายและการส่งออก
ข้อต่อมา 2.การคิดเชิงนวัตกรรม สินค้าที่ขายต้องสามารถสร้างความแตกต่างโดยใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ดีและแปลกใหม่มากยิ่งขึ้น เพื่อสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ตามแนวคิดดังกล่าวแล้ว ต่อจากนั้นคือการพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อขยายช่องทางในการขยายตลาด โดยผลิตภัณฑ์หรือบริการในปัจจุบันสามารถลอกเลียนแบบกันได้ แต่การพัฒนานวัตกรรมรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ นั้นเป็นสิ่งที่เลียนแบบกันได้ยาก
อย่างสุดท้ายเลยคือ 3.การสร้างแบรนด์ให้กับสินค้า ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องสร้างเรื่องราวและที่มาของสินค้าให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปเปรียบเทียบกับร้านที่ขายสินค้าคล้ายๆ กัน โดยการสร้างแบรนด์จะต้องมีเรื่องราวน่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้สามารถตัดสินใจซื้อ จะต้องเริ่มจากการสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับแบรนด์ ให้ลูกค้ารับรู้ถึงการผลิตด้วยวัตถุดิบที่มีคุณภาพสูง กระบวนการผลิตที่ดีกว่าคู่แข่ง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการจะต้องศึกษาและหาข้อมูล ทำความรู้จักกับตลาดสินค้าของตนเอง มีข้อมูลช่องทางการขาย ข้อมูลวัตถุดิบ กระบวนการบริโภค กระบวนการการผลิต จึงจะสามารถนำเสนอสินค้าที่แตกต่างมากพอจะดึงดูดความสนใจผู้บริโภคได้
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันทุกองค์กรและภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการนำเอานวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์และบริการเกิดการพัฒนาทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ ตอบโจทย์การใช้งาน และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อให้เกิดความพึงพอใจได้มากที่สุด ซึ่งเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้นวัตกรรมสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการนำเอาเทคโนโลยีด้านการผลิต และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเป็นองค์ประกอบ ตลอดจน 3 ด้านหลักข้างต้น นำมาประยุกต์ใช้และปรับปรุง เปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์สินค้าให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และในที่สุดมูลค่าของสินค้าและผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น และช่วยให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องตัว.
รุ่งนภา สารพิน
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |