ศบค.พบป่วยโควิด 1รายกลับจากญี่ปุ่น ปลอดเชื้อในประเทศ 48วัน นายกฯ ย้ำ ปชช.การ์ดอย่าตก นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยให้ต่างชาติเข้าไทย หวั่นระบาดรอบ 2 จุฬาฯ แจ้งข่าวดีทดลองวัคซีนเข็มที่ 2 ในลิงได้ผลดี เตรียมทดสอบอาสาสมัคร 100 คน ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1ราย มาจากสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine) โดยเดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น เป็นชายไทย อายุ 39 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทย 30 มิ.ย.63 เข้าพักสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ที่กรุงเทพมหานคร และ 10 ก.ค.63 ตรวจหาเชื้อ ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ ทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม 3,217 ราย หายป่วยสะสม 3,088 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดคงที่ 58 ราย และอยู่ระหว่างรักษาตัว 71 ราย ซึ่งเป็นวันที่ 48 แล้วที่ประเทศไทยไม่มีการติดเชื้อภายในประเทศ
สำหรับวันนี้จะมีเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับจากบาห์เรน 253 คน ปากีสถาน 45 คน ฟิลิปปินส์ 174 คน ขณะที่เมื่อวันที่ 11 ก.ค. มีผู้เสียชีวิต 1 รายในสถานกักตัวของรัฐ เป็นชายไทย อายุ 56 ปี มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและโรคไต เดินทางกลับจากประเทศอินเดีย และเข้าพักที่สถานกักตัวของรัฐจังหวัดชลบุรีเมื่อวันที่ 10 ก.ค.63 จากนั้นวันที่ 11 ก.ค. (กักตัววันที่ 2) ขณะที่พักอยู่ มีอาการแน่นอก เหงื่อแตก หมดสติในห้องน้ำ ญาติแจ้งเจ้าหน้าที่ตามรถพยาบาลมารับตัวและช่วยเหลือเบื้องต้น ขณะเดินทางไปโรงพยาบาลผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี แต่อาการไม่ดีขึ้น เมื่อถึงโรงพยาบาลได้รับการรักษาและวินิจฉัยว่าเป็นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจหยุดเต้น ขณะรับการรักษาทีมแพทย์ได้พยายามทำการฟื้นคืนชีพ 50 นาที แต่ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา ภรรยาผู้เสียชีวิตเข้าใจและขอบคุณโรงพยาบาลที่รับตัวไปรักษาและทีมงานเจ้าหน้าที่สถานกักตัวของรัฐที่ช่วยดูแลตลอดทุกขั้นตอน ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายนี้ผลตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้ฝากเตือนพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ "การ์ดอย่าตก" ในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ขอให้เข้มงวดกับการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่นิวนอร์มอล เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปพอสมควรแล้ว แต่หลายประเทศสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง รัฐบาลยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือทุกคนยังคงเฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง หลีกเลี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2ทั้งนี้เช่นเดียวกับสถานศึกษาซึ่งได้เปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. จึงขอให้ทุกโรงเรียนเข้มงวดและปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่ระบาดขึ้นมาอีกโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน
"หลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ พบว่าประชาชนมีการรวมกลุ่มและเดินทางไปต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย ดังนั้นจึงขอให้ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการลงทะเบียนเข้าออกผ่านแพลตฟอร์ม 'ไทยชนะ' ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าบางส่วนยังละเลย แต่การลงทะเบียนนี้สำคัญในการติดตาม สอบสวนโรค หากเกิดกรณีมีผู้ติดเชื้อใหม่ ทั้งนี้หากประชาชนเริ่มที่จะผ่อนคลายตัวเอง ไม่ระมัดระวัง อาจทำให้ประเทศไทยเจอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอก 2 ได้แน่นอน" นางนฤมลระบุ
ค้านคนต่างชาติเข้าไทย
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "เราจะเปิดให้ต่างชาติเข้าประเทศหรือไม่" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-8 ก.ค.63 จำนวน 1,251 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในไทย (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 14 วัน ก่อนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับบ้านได้ (โครงการ Medical and Wellness Program) พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 41.41 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะคนไทยที่กลับจากต่างประเทศก็ติดโรคและรักษาตัวอยู่เยอะมากแล้ว และกลัวคนต่างชาตินำเชื้อเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ทำให้เกิดโควิด-19 รอบ 2 ได้ รองลงมา ร้อยละ 23.10 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะทำให้การแพทย์ของไทยมีชื่อเสียง มีความน่าเชื่อถือ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มรายได้ให้ประเทศ ร้อยละ 21.58 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 13.91 ไม่ค่อยเห็นด้วย
ส่วนการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาเพื่อรักษาพยาบาล (ที่ไม่ใช่โรคโควิด-19) และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนอนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวในไทยได้ (โครงการท่องเที่ยวสุขภาพดีวิถีใหม่) พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 37.89 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะอยากให้โรคโควิด-19 หมดไปก่อน 100% กลัวระบาดรอบ 2 ร้อยละ 24.14 ระบุว่าเห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวในไทยให้มีรายได้เหมือนเดิม และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 23.26 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 14.55 ไม่ค่อยเห็นด้วย
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการทราเวลบับเบิล (Travel Bubble) ที่จะอนุญาตให้คนต่างชาติจากประเทศที่ปลอดเชื้อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยได้ พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 29.65 ไม่เห็นด้วยเลย เพราะไม่เชื่อมั่นในตัวนักท่องเที่ยวถึงจะเป็นประเทศปลอดเชื้อก็ตาม กลัวนำโรคเข้ามาในไทย และทำให้เกิดการระบาดรอบ 2 ได้ ร้อยละ 28.46 ค่อนข้างเห็นด้วย ร้อยละ 25.90 เห็นด้วยมาก เพราะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ด้านการบินจะได้ไม่หยุดชะงัก และประเทศไทยต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ร้อยละ 14.95 ไม่ค่อยเห็นด้วย
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการควบคุมไม่ให้มีการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศได้ หากมีการเปิดให้คนต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 30.53 ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะกลัวคนต่างชาติไม่ให้ความร่วมมือในการป้องกันตนเอง รองลงมาร้อยละ 29.10 ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดในไทยได้ ร้อยละ 15.43 เชื่อมั่นมาก เพราะมั่นใจการทำงานของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมคนต่างชาติที่เข้ามาประเทศไทยได้ และการแพทย์ของไทยมีความน่าเชื่อถือ ร้อยละ 23.90 ค่อนข้างเชื่อมั่น
ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ชื่อว่า CU-Cov19 โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แถลงความคืบหน้าว่า ผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ในลิงเข็มที่สอง พบว่าลิงสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง มีสุขภาพดี โดยจะเดินหน้าทดสอบในมนุษย์ตามแผนต่อไป
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า วัคซีน CU-Cov19 เป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ผลิตจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่บางส่วน ซึ่งเมื่อชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้ถูกฉีดเข้าไปในร่างกาย จะถูกเปลี่ยนเป็นโปรตีนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีที่ช่วยต่อสู้กับไวรัสได้ โดยจะได้รับการตรวจสอบว่ามีความปลอดภัยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ทดสอบวัคซีน 100 คน ต.ค.
จากผลการทดลองที่หนูได้รับวัคซีนเข็มแรก ระดับภูมิคุ้มกันขึ้นมาในระดับร้อย และฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นถึง 40,000 ซึ่งเราได้ทำการทดลองควบคู่กับลิง โดยฉีดในลิงเข็มแรกวันที่ 23 พ.ค.63 ฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1 เดือน ในวันที่ 22 มิ.ย.63 โดยมีลิงทดลองทั้งหมด 13 ตัว และมีการเจาะเลือดติดตามทุก 15 วัน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกลิง 5 ตัว จะได้รับวัคซีนโดสสูง คือมีความเข้มข้นระดับ 50 ไมโครกรัม กลุ่มที่ 2 ลิง 5 ตัว ที่จะได้รับวัคซีนเข้มข้นระดับ 5 ไมโครกรัม และกลุ่มที่ 3 ลิง 3 ตัว ซึ่งเป็นกลุ่ม Negative Control จะไม่ได้รับวัคซีน
ความคืบหน้าล่าสุดพบว่า ผลการตรวจเลือดลิงหลังจากได้รับการฉีดวัคซีน CU-Cov19 กระตุ้นเข็มที่ 2 พบว่าลิงที่ได้รับวัคซีนทุกตัวมีระดับภูมิคุ้มกันที่เพิ่มขึ้น สุขภาพแข็งแรง และไม่มีผลข้างเคียงจากการได้รับวัคซีน โดยเฉพาะในลิงกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนโดสสูงที่ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นกว่า 5,000 ทั้งนี้ ความแตกต่างระดับภูมิคุ้มกันของหนูและลิงนั้นตกไปถึง 20 เท่า เพราะขนาดของตัว ระดับการตอบโต้ของภูมิคุ้มกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อาศัย เพราะหนูอาศัยอยู่ที่สกปรกอาจจะมีภูมิคุ้มกันได้ดี ซึ่งคาดว่าถ้าทดลองในคนอาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงจากลิงไปอีก
"ทั้งนี้จากผลวิจัย mRNA เฟสแรก ของบริษัท ไบโอเทคไฟเซอร์ ที่ได้มีการทดลองฉีดในคนก่อนหน้าเรา 4-6 เดือน ด้วยโดส 10, 30 และ 100 โมโครกรัม เปรียบเทียบหลังเข็มที่ 2 อัตรา 30 โดส ใน 2 อาทิตย์ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000 ซึ่งเป็นไปได้ว่าวัคซีนของเราอาจจะมีระดับภูมิคุ้มกันลดลงแค่ประมาณ 5 เท่า" ศ.นพ.เกียรติระบุ
สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมผลิต โดยสัปดาห์หน้าจะนำวัคซีน mRNA สองตัวที่ดีที่สุดไปให้ 2 โรงงานได้ทำการผลิต แบ่งเป็นโรงงานที่ผลิตวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ทำโดยบริษัท TriLink สหรัฐอเมริกา และอีกโรงงานที่ผลิต LNP ส่วนผสมวัคซีน เพื่อใช้ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี เป็นของบริษัท Evonik ประเทศเยอรมนี แต่ตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา และได้เตรียมโรงงานไทย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จํากัด ในการผลิตวัคซีน mRNA และตัวเคลือบวัคซีนด้วย จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต
ศ.นพ.เกียรติกล่าวว่า ในส่วนของการวิจัยในคนซึ่งมีการดำเนินการไปแล้วในต่างประเทศ 18-20 ชนิด อย่างน้อยมี 4 ชนิดที่เป็น mRNA และมี 3 ชนิดที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับเรา แต่จะต่างกันที่ตัวเนื้อวัคซีน ทำให้เราสามารถเรียนรู้ความน่าจะเป็นได้ว่าแบบไหนจะได้ผล ดังนั้น ในแผนระยะแรกเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 จะทดลองในคน 100+ คน และเพื่อความปลอดภัยจะต้องเริ่มที่โดสต่ำๆ จึงกำหนดเป็นกลุ่มอายุ 18-60 ปี แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกจะได้รับวัคซีนเข็มแรก/เข็มที่ 2 ที่ 10/10 ไมโครกรัม กลุ่ม 2 ที่ 30/30 ไมโครกรัม กลุ่ม 3 ที่ 100/100 ไมโครกรัม กลุ่ม 4 ที่ 30/10 และกลุ่ม 5 ที่ 100/10 และคาดว่าจะทำให้คนเข้าถึงวัคซีนได้เยอะขึ้น
ในระยะที่ 2 ช่วงธันวาคม 2563 - มีนาคม 2564 ทดลองในคน 500-1,000 คน ในส่วนของระยะที่ 3 จากการเรียนรู้ติดตามในต่างประเทศที่มีการทดลอง mRNA สี่ชนิดที่ก้าวหน้ามากกว่าเราถึง 6 เดือน ที่คาดว่ามีวัคซีน 1 ตัวสำเร็จได้ในต้นปี 2021 และได้การรับรองจาก อย.สหรัฐอเมริกาและยุโรป ส่วนของจีนได้มีการเริ่มให้ใช้ได้ในทหาร เพราะวัคซีนมีความเสี่ยงสูง ทำให้ดูผลการทดลองได้เร็วขึ้น ซึ่งขณะนั้นไทยกำลังเริ่มดำเนินการทดลองในคนระยะที่ 2 จึงเป็นไปได้ว่าในระยะที่ 3 อย.ไทยอาจเห็นควรให้ ไม่ต้องดำเนินการเข้าสู่ระยะ Emergency Use Authorization (EUA) แต่ยังต้องทำการเก็บข้อมูลเหมือนระยะที่ 3 ซึ่งจะช่วยลดทรัพยากรและเวลาด้วย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |