ผลเลือกตั้งสิงคโปร์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาสะท้อนความจริงท่ามกลางวิกฤติโควิดหลายประการ เช่น
1.ประชาชนยังต้องการรัฐบาลเดิมบริหารประเทศให้ผ่านวิกฤติ แต่ด้วยความเชื่อใจที่ลดน้อยลง
2.ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องการมี “ความเห็นหลากหลาย” มากขึ้นในรัฐสภา
3.ที่เชื่อว่าในยามวิกฤติ ผู้คนจะแห่กันแสวงหา “ความปลอดภัย” (flight to safety) ด้วยการเทคะแนนให้พรรครัฐบาลไม่จริงเสมอไป
4.ที่กลัวว่าในยามวิกฤติ ประชาชนจะทิ้งฝ่ายค้าน หันไปหาผู้มีอำนาจจนฝ่ายค้านในรัฐสภา “สูญพันธุ์” (Wipe-out) ก็ไม่จริงเช่นกัน
เพราะผลเลือกตั้งครั้งนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจมากคือ
พรรค PAP ของรัฐบาลได้ 83 จาก 93 ที่นั่ง ด้วยคะแนน 61.24% ซึ่งร่วงหล่นลงมาจากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2015 ถึง 8.7%
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรครัฐบาลได้ 83 ที่นั่ง จากทั้งหมด 89 ที่นั่ง
คะแนนของพรรครัฐบาลครั้งนี้สูงกว่าเมื่อปี 2011 เล็กน้อย เพราะคราวนั้นได้ 60.1%
และผลเลือกตั้งปี 2011 ถือว่าเป็นครั้งที่แย่ที่สุดสำหรับ PAP ตั้งแต่ตั้งพรรคมา
ฝ่ายค้านคือ Workers’ Party กระโดดจาก 6 ที่นั่งในสภา มาเป็น 10 ที่นั่ง ถือเป็นผลงานน่าประทับใจ
แม้แต่นายกฯ หลี่ เสียนหลง ยังยอมรับว่าการที่พรรคฝ่ายค้านได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่าคนสิงคโปร์ต้องการ “ความหลากหลาย” ในสภาอย่างชัดเจน
แกยอมรับด้วยว่าผลการเลือกตั้งออกมาอย่างนี้ แม้พรรครัฐบาลจะยังได้รับอาณัติให้บริหารประเทศผ่านวิกฤติไปให้ได้ แต่ก็ “สะท้อนถึงความเจ็บปวดและความอึดอัดเพราะวิกฤติโควิด” เช่นกัน
พูดง่ายๆ คือคนสิงคโปร์ต้องการจะส่งคนเข้าไปตรวจสอบเพื่อถ่วงดุลอำนาจของพรรค PAP มากกว่าเดิม พรรคฝ่ายค้านหลักได้คะแนนเพิ่มในเขตเลือกตั้งที่แข็งแกร่งของตัวเองคือ Aljunied GRC และ Hougang SMC โดยได้คะแนนเพิ่มจากการเลือกตั้งครั้งก่อนถึงประมาณ 10%
แต่ที่สร้างความประหลาดใจและช็อกพรรครัฐบาลเต็มๆ คือการที่พรรค WP สามารถเอาชนะได้ที่เขตเลือกตั้ง Sengkang GRC แบบทิ้งห่างคู่แข่งด้วยซ้ำไป
พรรคตั้งใหม่ที่น้องชายนายกฯ ชื่อ หลี่ เสียนหยาง เข้าร่วมด้วยคือ Progress Singapore Party (PSP) แม้จะไม่ได้ที่นั่งเลย แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยการแพ้พรรค PAP ที่เขตเลือกตั้ง West Coast GRC เพียง 4% ถือว่าเป็นการเปิดตัวพรรคฝ่ายค้านพรรคใหม่ที่เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อยเลย
หากติดตามโซเชียลมีเดียของสิงคโปร์ช่วงก่อนเลือกตั้งก็พอจะเห็นสัญญาณได้ว่าคนรุ่นใหม่ของประเทศนั้นเรียกร้องต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ฝ่ายค้านหลักคือ WP สามารถระดมคนรุ่นใหม่มาเป็นผู้สมัครและเป็นอาสาสมัครช่วยหาเสียงได้อย่างค่อนข้างคึกคัก
ข้อเสนอในแง่นโยบายแก้วิกฤติของพรรคฝ่ายค้านได้รับการตอบสนองที่ดีจากประชากรออนไลน์ที่ดูจะมีผลต่อผลการเลือกตั้งไม่น้อย
แนวทางการหาเสียงของฝ่ายค้านที่ได้ผลคือ การเตือนคนสิงคโปร์ว่าจะต้องไม่ให้เสียงฝ่ายค้านสูญพันธุ์ในยามวิกฤติ
ตรงกันข้าม ฝ่ายค้านเรียกร้องให้คนรุ่นใหม่มาลงคะแนนเสียงเพื่อส่งตัวแทนเข้าสภาเพื่อถ่วงดุลอำนาจของพรรค PAP ที่มีอำนาจล้นเหลือเกินควร
ฝ่ายค้านบอกว่าประชาชนต้องไม่ยื่น “เช็คเปล่า” หรือ blank cheque ให้กับรัฐบาลในการใช้จ่ายเพื่อนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤติ
“เช็คเปล่า” หมายถึงการยอมให้รัฐบาลใส่ตัวเลขงบประมาณเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ตัวเองเห็นควร โดยไม่มีการตรวจสอบและซักถามจากฝ่ายค้าน
ดูเหมือนวิธีการหาเสียงแนวนี้ของฝ่ายค้านได้ผลไม่น้อย
เพราะคนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิ์กันอย่างคึกคัก
กรณีของเขตเลือกตั้ง Sengkan GRC เป็นตัวอย่างว่าคนรุ่นใหม่ต้องการจะส่งสัญญาณเตือนไปถึงรัฐบาลด้วยการเลือกฝ่ายค้านอย่างเห็นได้ชัด
เขตนี้มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 60% ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี
ผลการหย่อนบัตรให้พรรค WP 52.13% ทั้งๆ ที่ทีมของพรรค PAP นำโดยผู้นำแรงงานคนดัง Ng Chee Meng ที่พรรคเคยเชื่อว่า “นอนมา” แน่ๆ
พรรครัฐบาลหาเสียงด้วยการเน้น “จงหย่อนบัตรให้พรรคที่ปกป้องชีวิตคุณ, งานการของคุณและอนาคต”
ฝ่ายค้านปลุกระดมให้ผู้ใช้สิทธิ์ออกมาลงคะแนนให้พวกเขา เพราะ “เราต้องการฝ่ายค้านที่จะถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลในยามวิกฤติเช่นนี้”
โควิด-19 เขย่าการเมืองทุกระดับจริงๆ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |