ศบค.เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 กระโดดไป 14 ราย ทั้งหมดเดินทางกลับจากต่างประเทศ และอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ ส่วนในประเทศเป็น 0 ติดต่อกัน 47 วันแล้ว ภูเก็ตวางแผนเตรียมเปิดการท่องเที่ยว อนุญาตให้ 5 ประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ประมาณเดือนสิงหาคมนี้
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้เผยแพร่ข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 14 ราย อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,216 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย อยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ 279 ราย หายป่วยสะสม 3,088 ราย รักษาอยู่ 70 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ยอดสะสมคงที่ 58 ราย และประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศติดต่อกัน 47 วัน
สำหรับผู้ป่วยใหม่ รายที่ 1 เดินทางมาจากบาห์เรน เป็นหญิงไทย อายุ 42 ปี เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐจังหวัดชลบุรี และตรวจหาเชื้อในวันที่ 9 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ, รายที่ 2 มาจากสหรัฐอเมริกา เป็นหญิงไทย อายุ 31 ปี อาชีพลูกเรือสำราญ เดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม เข้าพักในสถานที่กักตัวของรัฐ ที่กรุงเทพมหานคร และตรวจหาเชื้อในวันที่ 9 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ
รายที่ 3-14 มาจากซูดาน เป็นนักศึกษาชายไทย จำนวน 11 ราย อายุ 19-31 ปี และเด็กหญิงไทย 1 ราย อายุ 9 ขวบ (เดินทางมาพร้อมครอบครัว) ทั้งหมดเดินทางมาถึงไทยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบว่าทั้งหมดมีอาการเข้าเกณฑ์ PUI คือ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จึงส่งตรวจหาเชื้อในวันที่ 10 กรกฎาคม ผลตรวจพบเชื้อ
สำหรับสถานการณ์โลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 12,625,155 ราย อาการรุนแรง 58,898 ราย รักษาหายแล้ว 7,360,954 ราย เสียชีวิต 562,769 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 3,291,786 ราย 2.บราซิล จำนวน 1,804,338 ราย 3.อินเดีย จำนวน 822,603 ราย 4.รัสเซีย จำนวน 713,936 ราย 5.เปรู จำนวน 319,646 ราย ส่วนประเทศไทย วันนี้อยู่ในอันดับที่ 100 จำนวน 3,216 ราย ทั้งนี้ สำหรับเที่ยวบินนำคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศวันที่ 11 ก.ค. มี 3 เที่ยวบิน จากเนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา รวม 421 ราย
คนไทยการ์ดตก
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยผลสำรวจเรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน เพื่อประเมินว่าคนไทยการ์ดตกหรือไม่ โดยพบว่าคนไทยยังมีความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอก 2 ในประเทศ แต่ยังมั่นใจในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจยังพบว่าการป้องกันตนเองภาพรวมของประชาชนมีแนวโน้มลดลง
รองโฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสามารถคลายมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดได้ เพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากประชาชนในการปฏิบัติตามข้อกำหนด รวมถึงป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง แม้วันนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะคลี่คลายไปมากแล้ว แต่ในหลายประเทศยังอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง รัฐบาลจึงต้องขอความร่วมมือทุกคนให้ยังคงเฝ้าระวัง ป้องกันตัวเองจากความเสี่ยง เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 อันจะนำมาซึ่งผลกระทบหลายด้านตามมา
น.ส.ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า ขอบคุณประชาชนที่เชื่อมั่นในมาตรการของรัฐบาลว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ซึ่งรัฐบาลต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถและเสียสละ รวมถึงประชาชนที่มีส่วนสำคัญช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ด้วยดี ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการเฝ้าระวังต่างๆ ไปมาก เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ แต่เราทุกคนก็ยังต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันตัวเอง โดยใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ new normal เพื่อป้องกันตนเองจากการติดเชื้อ
คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตเผยว่า จังหวัดภูเก็ตไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมา 48 วัน (รายล่าสุดวันที่ 23 พฤษภาคม 2563) โดยตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม-9 กรกฎาคม 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 จำนวน 227 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 224 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำหน่าย 1 ราย
ทั้งนี้ นับแต่ 1 กรกฎาคม ประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 โรงเรียนทุกสังกัดเปิดเทอม กลุ่มกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง กลับมาเปิดบริการได้ปกติภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ เปิดได้ถึง 4 ทุ่ม ร้านสะดวกซื้อสามารถเปิดได้ 24 ชั่วโมง
โดยทุกกิจการที่ได้รับอนุญาตให้เปิด ผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนเข้า-ออกด้วยแอปพลิเคชันไทยชนะอย่างเคร่งครัด เจ้าหน้าที่มีการติดตามประเมินผลอย่างเข้มงวด และมีบทลงโทษสำหรับผู้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และอนุญาตให้บุคคล 6 กลุ่มเดินทางเข้าประเทศไทย เช่น กลุ่มนักธุรกิจและคู่สมรสของผู้มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย มีการวางแผนเตรียมเปิดการท่องเที่ยวอนุญาตให้ 5 ประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ประมาณเดือนสิงหาคมนี้
เพิ่มคนเที่ยวเกาะ
ที่โรงแรมแกรนด์วิว รีสอร์ท เกาะเสม็ด จ.ระยอง นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ จ.ระยอง โดยเฉพาะเกาะเสม็ดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญว่า นับตั้งแต่ได้เริ่มการผ่อนคลายมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนทุกคนปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้
ขณะที่บรรดาร้านอาหารต่างๆ มีมาตรการเสริมจากอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ที่ห้ามมีการเล่นดนตรีในร้าน และให้เที่ยวบนชายหาดได้แค่เวลา 18.00 น. ซึ่งทุกคนก็ปฏิบัติตามข้อกำหนดเหล่านี้ สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะให้เข้ามาเที่ยวในอุทยาน แบ่งเป็นพื้นที่เกาะเสม็ดให้เข้ามาประมาณ 2,700 คน ขณะที่เขาแหลมหญ้าและหาดแม่รำพึง แห่งละ 1,300 คน ซึ่งทั้งหมดเป็นการคำนวณของแต่ละพื้นที่ แต่เกาะเสม็ดมีขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางมาก ในอนาคตก็อาจจะมีการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ จึงคิดว่าอาจจะปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวได้ในเดือน ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาจากการลงทะเบียนตามโครงการเที่ยวปันสุขตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.อย่างไร นายสาธิตกล่าวว่า จะมีการหารือกับ ผอ.อุทยานฯ จากนั้นจะไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดถึงเรื่องนี้ ทั้งนี้ เกาะเสม็ดเป็นพื้นที่เปิดโล่ง มีอากาศถ่ายเท พื้นที่กว้างขวาง ขณะที่เรายังคงให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ตนจึงเชื่อว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่นี้ได้
รมช.สาธารณสุขกล่าวต่อว่า สถานการณ์โรคโควิด -19 ในประเทศไทย โดยภาพรวมถือได้ว่าเราแทบจะไม่มีความเสี่ยงอีกแล้ว ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เรามั่นใจว่าระบบที่มีอยู่ทั้งสถานที่กักกัน ที่ทั้งรัฐบาลกำหนดให้ และที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งสามารถตรวจโรคจากบุคคลเหล่านั้นได้ แต่แนวทางเปิดประเทศท่องเที่ยวแบบจับคู่ระหว่างประเทศ (ทราเวลบับเบิล) จากที่เราได้พูดคุยกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีความเห็นว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะประเทศที่ต้องการมาจับคู่กับประเทศไทย อาทิ จีน และเกาหลีใต้ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเปลี่ยนแปลง เราจึงต้องดูสถานการณ์ของเขาไปอีกสักระยะ ขณะเดียวกันในส่วนของประเทศไทยจะต้องพิจารณาจำนวนห้องพักในสถานที่กักกันด้วยว่าเพียงพอกับการเพิ่มจำนวนให้คนเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นด้วย
อสม.เลือกโปรแกรมเที่ยว
นายสาธิตกล่าวต่อว่า ส่วนโครงการให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้รับสิทธิไปท่องเที่ยวฟรีในแพ็กเกจ "กำลังใจ" นั้น มีหลักการให้บริษัทที่เป็นตัวแทนนำเที่ยว ต้องไปลงทะเบียน และต้องผ่านการตรวจสอบจากสภาการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งบริษัทที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจะส่งให้ อสม.เลือกบริษัทและโปรแกมเที่ยวเอง ทั้งนี้ ขอให้อสม.ใช้สิทธิของตัวเอง หากผู้ใดไม่ใช้สิทธินี้ก็ไม่ควรยกสิทธิให้คนอื่นใช้แทน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การพัฒนายาใหม่หรือวัคซีน จะมีขั้นตอนและใช้เวลามาก เป็นเวลา 5 ถึง 10 ปี จากการเริ่มต้นศึกษาวิจัยในห้องปฏิบัติการ เมื่อได้สารหรือยาหรือวัคซีน ก็จะต้องส่งต่อให้สถานที่มีมาตรฐานขยายจำนวนเพื่อมาศึกษาในสัตว์ทดลอง
ในสัตว์ทดลองจะศึกษาความปลอดภัย และผลของยาหรือวัคซีนในสัตว์เล็กก่อน จะใช้หนูหรือกระต่าย ต่อมาจะใช้สัตว์ใหญ่เช่น ลิง ขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลาเป็นปี ยาและวัคซีนจะต้องผลิตแบบมีมาตรฐาน ไม่ใช่ใน Lab ใส่ถุงมือกับเสื้อกาวน์อย่างเห็นในรูปสื่อไทยบ่อยๆ เมื่อผ่านการศึกษาความปลอดภัย และผล จะขอขึ้นทะเบียน IND (Investigation New Drug) จาก อย. เพื่อศึกษาวิจัยในคน ยาหรือวัคซีนนั้น จะต้องผลิตจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน
การศึกษาวิจัยในคน จะแบ่งเป็น 3 ระยะ 1.ศึกษาความปลอดภัย จะใช้กลุ่มอาสาสมัครขนาดน้อย เป็นหลักสิบหรือหลักร้อยต้น 2.ศึกษาผลของยาหรือวัคซีน จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักร้อย 3.ศึกษาประสิทธิภาพ จะใช้อาสาสมัครเป็นหลักพันหลักหมื่น และมีการเปรียบเทียบกลุ่มที่ให้ยาหรือวัคซีน กับกลุ่มที่ให้ยาหลอก แต่ถ้ามียาหรือวัคซีนที่ใช้ได้ผลแล้ว จะต้องเอายาหรือวัคซีนนั้นมาเป็นตัวเปรียบเทียบ
ขั้นตอนแต่ละขั้นตอนจะใช้เวลาเป็นปี และมีรายละเอียดมาก เราจะเห็นว่าเราพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 2009 ขณะนี้เป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โรงงานวัคซีนก็สร้างเสร็จแล้ว
ไม่อยู่ในภาวะปกติ
แต่การศึกษาวิจัยยังอยู่ในระยะที่ 3 ทั้งที่วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ใช้กันมานานแล้ว ไม่ได้เป็นการคิดของใหม่ เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคใหม่ เรายังไม่รู้อะไรอีกมาก ขณะเดียวกัน การพัฒนายาหรือวัคซีนจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ต้องทุ่มทรัพยากรทุกด้านจำนวนมาก มาแข่งกับเวลา ขั้นตอนต่างๆ จึงถือว่าไม่อยู่ในภาวะปกติ
ศ.นพ.ยงเผยว่า ขั้นตอนบางขั้นตอนจึงทำเหลื่อมกัน โดยเฉพาะในสัตว์ทดลอง เพื่อลดระยะเวลาให้น้อยที่สุด ระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน มีวัคซีนบางตัวกำลังจะเข้าสู่การศึกษาในอาสาสมัครระยะที่ 3 แล้ว การศึกษาในระยะที่ 3 จะต้องใช้อาสาสมัครจำนวนมากที่อยู่ในแหล่งระบาดของโรค
การเปรียบเทียบจึงจะเห็นผลได้ง่าย ด้วยเหตุผลนี้ ทางประเทศจีนเองไม่สามารถทำการศึกษาระยะที่ 3 ในประเทศจีนเองได้ เพราะไม่มีโรคนี้มากเพียงพอ ต้องไปศึกษาในประเทศที่กำลังมีการระบาดโรค
"การศึกษาในระยะที่ 3 จะต้องมีการลงทุนอย่างเป็นจำนวนมาก เพราะใช้อาสาสมัครเป็นหลักหมื่น ในอดีตที่ผ่านมา ในประเทศไทย หลังจากที่นักวิจัยพบสารหรือยาหรือวัคซีน ที่น่าจะมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือป้องกัน ก็มักจะประกาศว่าจะได้ใช้ภายใน 2 ปีบ้าง 4 ปีบ้าง ที่ผ่านมาก็เห็นได้ชัดว่าทำไม่ได้ตามเป้าหมาย แล้วทุกคนก็ลืมไป" ศ.นพ.ยงกล่าว
ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ว่าผลการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย โดยใช้สารพันธุกรรมของเชื้อ “ชนิด mRNA” ในลิงที่ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งฉีดเข็มที่ 2 ไปเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา เมื่อครบ 2 สัปดาห์ นักวิจัยได้เจาะเลือดมาทำการทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีชนิดที่ยับยั้งเชื้อ หรือ Neutralizing antibody นั้น พบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อได้ในระดับสูงเป็นที่น่าพอใจ และลิงทุกตัวมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีผลข้างเคียงจากวัคซีนดังกล่าว ดังนั้นจึงได้ตกลงเดินหน้าต่อไปตามแผนที่จะเริ่มทดสอบในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้
เขากล่าวว่า การดำเนินการต่อไปนั้น ได้มีการดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกัน เพื่อให้ได้วัคซีนอย่างรวดเร็ว ซึ่งการทดสอบในมนุษย์ จะเริ่มสั่งการผลิตวัคซีนในสัปดาห์หน้า และเริ่มรับอาสาสมัครในเดือน ส.ค.-ก.ย. และจะฉีดเข็มแรกในมนุษย์ในเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ การทดสอบจะทำทั้งหมด 3 ระยะ รวมทั้งจะเตรียมการผลิตให้เพียงพอและเตรียมขึ้นทะเบียนวัคซีน โดยประสานกับผู้ผลิตวัคซีนทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีความพร้อมที่จะผลิตให้พร้อมใช้ รวมทั้งร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีกับต่างประเทศด้วย
"เบตาดีน"โวปราบโควิดได้
นายสุวิทย์เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องวัคซีนอย่างมาก และได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ท่านได้มอบนโยบายเพื่อให้คนไทยสามารถมีวัคซีนอย่างรวดเร็วเป็นลำดับแรกๆ เมื่อสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ โดยมอบให้ อว.และกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันดำเนินงานในเชิงรุก ทั้งโดยการวิจัยและพัฒนาในประเทศ และร่วมมือกับต่างประเทศ รวมทั้งเตรียมการผลิตให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ในขณะนี้ ยังได้เจรจาหารือกับต่างประเทศในการร่วมวิจัย ถ่ายทอดเทคโนโลยีและเตรียมการผลิตไว้ด้วยแล้ว
ขณะที่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ และ ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผอ.ศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แจ้งว่า ผลการทดสอบที่น่าพอใจนี้ เป็นกำลังใจให้ทีมวิจัยว่าจะสามารถพัฒนาวัคซีนได้และแสดงศักยภาพการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย ที่นับว่าเป็นการวิจัยที่ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้ โดยก้าวต่อไปและรายละเอียดการวางแผนในการผลิต เพื่อทดสอบในอาสาสมัคร รวมทั้งการวางแผนในการผลิตในประเทศเพื่อใช้ให้เพียงพอในประเทศ จะมีการแถลงโดยละเอียดในวันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 น. ที่ตึกภูมิสิริ ชั้น 12 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บริษัท มุนดิฟาร์มา ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เบตาดีน ประกาศว่า ผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการประเทศสิงคโปร์ได้ยืนยันประสิทธิภาพของเบตาดีนผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคในการฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ Duke-NUS Medical School ในสิงคโปร์ ได้เผยให้เห็นฤทธิ์ในการทำลายเชื้อไวรัสอันแข็งแกร่งของเบตาดีนในหลอดทดลอง (in vitro) โดยฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้มากถึง 99.99% ในเวลา 30 วินาที
โดยรามาน ซิงห์ ซีอีโอของมุนดิฟาร์มาเผยว่า เมื่อใช้เบตาดีนอย่างเหมาะสมและควบคู่กับอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ เช่น ชุด PPE แล้ว สิ่งนี้จะมีบทบาทในการจำกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรคโควิด-19
ทั้งนี้ ในการทดสอบ นักวิจัยได้ใช้ผลิตภัณฑ์หลายประเภทได้แก่ ยาฆ่าเชื้อเบตาดีน (Betadine Solution), น้ำยาล้างทำความสะอาดผิวหนัง (Skin Cleanser), น้ำยาบ้วนปาก (Gargle and Mouthwash) และสเปรย์พ่นปากและคอ (Throat Spray)
นอกเหนือจากผลการวิจัยที่สิงคโปร์แล้ว ยังมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ศูนย์ Tropical Infectious Diseases Research and Education Center (TIDREC) ในสังกัดมหาวิทยาลัย University of Malaya ประเทศมาเลเซียด้วย
ขณะที่ผลการวิจัยของมาเลเซียเผยให้เห็นฤทธิ์ในการทำลายเชื้อไวรัสของน้ำยาบ้วนปากเบตาดีนในหลอดทดลอง โดยฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ 99.99% ในเวลา 15 วินาที โดยผลการวิจัยดังกล่าวได้เผยแพร่เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |