พิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาชุมชนชาวแพสะแกกรัง จ.อุทัยธานี
อุทัยธานี/ 16 หน่วยงานร่วมลงนามความร่วมมือพัฒนาชุมชนชาวแพสะแกกรัง จ.อุทัยธานี ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำแล้งหนักในรอบ 50 ปี ทำให้เรือนแพเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเดินทาง การทำมาหากิน ฯลฯ โดย พอช.จะสนับสนุนการซ่อมแพจำนวน 127 ครัวเรือน เริ่มซ่อมแซมเดือนสิงหาคมนี้ ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อนุรักษ์วิถีชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศ
ตามที่ชุมชนชาวแพที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง จ.อุทัยธานี กว่า 100 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากความแห้งแล้ง เนื่องจากแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณลดน้อยลง ทำให้เรือนแพที่ปลูกอาศัยอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังเกยตื้น ลูกบวบแพที่ใช้พยุงแพได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา เช่น มีผักตบชวาอยู่ในแม่น้ำเป็นจำนวนมาก ทำให้การสัญจรทางเรือลำบาก การเลี้ยงปลาในกระชังได้รับความเสียหาย เนื่องจากน้ำเริ่มเน่าเสีย การทำมาหากินลำบาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนชาวแพที่ได้รับความเดือดร้อน โดยร่วมกับจังหวัดอุทัยธานีเริ่มสำรวจข้อมูลตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา
สภาพแพที่เกยตื้น
ล่าสุดวันนี้ (11 กรกฎาคม ) ระหว่างเวลา 10.30-12.00 น. ที่เทศบาลเมืองอุทัยธานี มีพิธีลงนามความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายณรงค์ รักษ์ร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานีเป็นประธาน มีนายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ 16 หน่วยงาน ชาวแพสะแกกรังและผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน
นายณรงค์ รักษ์ร้อย ผวจ.อุทัยธานี กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนาชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังเริ่มมานานหลายปีแล้วจากเทศบาลเมืองอุทัยธานีและทางจังหวัดอุทัยธานี แต่ติดขัดด้วยเงื่อนไขการใช้งบประมาณและระเบียบของทางราชการ การพัฒนาชุมชนชาวแพจึงไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทราบเรื่อง จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดเข้ามาดูแลและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวแพ
ผู้ว่าราชการจังหวัดอุทัยธานี (กลาง)
“ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมกันลงนามเพื่อพัฒนาชีวิตชาวแพในวันนี้ และไม่ใช่จะทำแล้วจบ แต่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดไป เช่น ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งกรมชลประทานพยายามดึงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไล่น้ำเสียในแม่น้ำสะแกกรัง และต่อไปจะมีเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเพื่อดันน้ำเสียออกไป ส่วนปัญหาเรื่องผักตบชวา ขณะนี้กำลังจัดเก็บ แต่ชาวชุมชนเรือนแพตั้งแต่ต้นน้ำจะต้องลงมาช่วยกันดูแลเรื่องผักตบและสิ่งแวดล้อมทั้งสองฝั่งแม่น้ำด้วย” ผวจ.อุทัยธานีกล่าว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังถือเป็นชุมชนเรือนแพแห่งสุดท้ายในประเทศไทยที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ แต่การจะพัฒนาชุมชนชาวแพให้ประสบผลสำเร็จจะต้องประกอบด้วยปัจจัยต่างๆ คือ 1.เกิดจากความต้องการของพี่น้องชาวชุมชนเรือนแพ 2.การลงนามทำความตกลงในวันนี้ของ 16 หน่วยงานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะหนุนเสริมให้การพัฒนาชุมชนประสบความสำเร็จ
“พอช.เข้ามาสำรวจชุมชนเรือนแพสะแกกรังจากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อให้เข้ามาพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเรือนแพซึ่งมีเอกลักษณ์และเป็นแห่งเดียวของประเทศ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศต่อไป ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลเราพบจุดอ่อนของชุมชน แต่ก็จะพัฒนาให้เป็นจุดแข็งได้ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ความยากจน คุณภาพชีวิต ตั้งแต่เด็ก ผู้สูงวัย คนพิการ คนด้อยโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเป็นโอกาสท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ไปพร้อมกัน โดยมีแนวคิดคือเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสมชาติกล่าว
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผอ.พอช.
ทั้งนี้นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. คือ พอช. และ พมจ.อุทัยธานีร่วมกับชุมชนชาวแพ ได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น การลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ การสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ การจัดทำแผนที่ทำมือ ถ่ายรูป จับพิกัด GPS ถอดข้อมูลการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน ฯลฯ โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน สำรวจพบปัญหาและความต้องการของชุมชนชาวแพทั้งหมด 127 ครัวเรือน รวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การจัดการท่องเที่ยวชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อยโอกาส อาชีพ-รายได้ ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
ตามแผนงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนเรือนแพจะเริ่มได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะเริ่มซ่อมแซมเรือนแพซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน ประกอบกับลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำสะแกกรังและเจ้าพระยามีปริมาณน้อย ทำให้เรือนแพเกยตื้น ลูกบวบจึงได้รับความเสียหาย รวมทั้งหมด 127 ครัวเรือน โดย พอช.จะสนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภค กายภาพ อุดหนุนการซ่อมแพ การพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน เฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาท รวมงบประมาณทั้งหมด 7,420,000 บาท และคาดว่าการซ่อมแพและพัฒนาที่อยู่อาศัยจะแล้วเสร็จบางส่วนในช่วงเดือนตุลาคมนี้
ส่วนการพัฒนาชุมชนเรือนแพสะแกกรังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปนั้น ตามแผนงานจะมีการส่งเสริมด้านต่างๆ เช่น 1.กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม อบรมให้เกิดวิทยากรชุมชน มัคคุเทศชาวชุมชนเรือนแพ 2.กลุ่มสืบทอดการทำเรือนแพ ถ่ายทอดความรู้ไม่ให้สูญหายไป 3.กลุ่มความเข้มแข็งของชุมชน พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้ดำรงวิถีชีวิตชาวแพ 4.การส่งเสริมอนุรักษ์ปลาพื้นถิ่น เช่น ปลาแรด 5.การแปรรูปปลา สร้างมูลค่า สร้างรายได้ให้ชุมชน 6.เปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นของใช้ ทำเป็นภาชนะใส่อาหารต่างๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม นอกจากการลงนามความร่วมมือในวันนี้แล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนยังได้มอบงบประมาณสนับสนุนโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี รวมทั้งหมด 20 พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำบลที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล หรือทำโครงการบ้านมั่นคง โครงการละ 45,000 บาท รวมทั้งหมด 900,000 บาท โดยชุมชนส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น ส่งเสริมการปลูกผัก เกษตรอินทรีย์ เลี้ยงสัตว์ ทำปุ๋ย ส่งเสริมอาชีพต่างๆ
นอกจากการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเรือนแพสะแกกรังแล้ว สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยังมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนแออัด มีรายได้น้อย สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ฯลฯ โดยจะเริ่มสำรวจข้อมูลทั้งเมืองภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนการจัดทำครัวชุมชนเพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้แก่ชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาปากท้องในช่วงภาวะวิกฤต และเป็นการกระตุ้นให้ชาวชุมชนเกิดการรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต่อไป
สำหรับ 16 หน่วยงานที่มีการลงนามความร่วมมือ MoU. (Memorandum of Understanding) ในวันนี้ ประกอบด้วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน พมจ.อุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี ปกครองอำเภอเมืองอุทัยธานี กอ.รมน.จังหวัด ส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โครงการชลประทานจังหวัดอุทัยธานี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประชาสัมพันธ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด สหกรณ์จังหวัด การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เจ้าท่า (นครสวรรค์) และองค์การบริหารส่นจังหวัด (อบจ.)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |