พลังประชารัฐถ่ายเลือด! "บิ๊กป้อม" นั่งหัวโต๊ะเคาะ รองหัวหน้าพรรค 10 คน ตามคาด หน้าเก่ามากันครบทุกสาย "สันติ-สุริยะ-ธรรมนัส-สมศักดิ์-วิรัช" ขู่ตบท้ายตั้งได้ก็เปลี่ยนได้ ไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ส่วนเก้าอี้ รมต.โยนให้น้องตู่ตัดสินใจ ด้าน "ชัยวุฒิ" ท้าชน "บิ๊กตู่" โควตารัฐมนตรี 4 กุมารไม่ใช่สมบัตินายกฯ แต่เป็นของ พปชร. ขณะที่ "สมคิด" เผย "ใจผมถอดมาหลายปีแล้ว"
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ อาคารรัชดาวัน ถนนรัชดาฯ พรรคพลังประชารัฐได้จัดประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 2/2563 โดยผู้มีบริหารพรรค สมาชิกพรรค เข้าร่วมการประชุมอย่างคึกคัก และเป็นการประชุมภายหลัง 4 กุมารลาออกจากสมาชิกพรรค โดยวาระสำคัญเพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง จำนวน 11 คน และแก้ข้อบังคับพรรคให้อำนาจหัวหน้าพรรคตั้งรองหัวหน้าพรรคได้ไม่เกิน 10 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเริ่มการประชุม นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค ได้สักการะศาลพระพรหมพร้อมถวายขนมมงคล เพื่อเป็นสิริมงคล พร้อมระบุว่า ขอให้พรรคพลังประชารัฐเจริญรุ่งเรือง เป็นที่พึ่ง เป็นที่หวังของประชาชน ทำให้ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง เป็นพรรคที่เป็นเสาหลักในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ต่อมาเวลา 16.30 น. ที่ประชุมใหญ่สามัญพรรค ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค พปชร.เป็นประธาน ได้แต่งตั้งรองหัวหน้าพรรค 10 คน โดยนายบุญสิงห์ วรินทร์ลักษณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรค ได้ประกาศทั้ง 10 รายชื่อ ได้แก่ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ควบผู้อำนวยการพรรค, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ดูแลด้านปฏิบัติการ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ด้านสนับสนุน, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ด้านแผนพัฒนาบุคลากร, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านข้อมูลเทคโนโลยี สารสนเทศ, นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้านกิจการงานสภา, นายนิพันธ์ ศิริธร ส.ส.ตรัง ด้านเครือข่ายสัมพันธ์, นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ด้านกฎหมาย และนายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี ด้านรับเรื่องราวร้องทุกข์
ส่วนรองเลขาธิการพรรค ได้แก่ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี ขณะที่โฆษกพรรคคือ น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. รองโฆษกพรรค 3 คน ประกอบด้วย น.ส.ไพลิน เทียนสุวรรณ ส.ส.สมุทรปราการ, น.ส.พิมพ์พร พรพฤฒิพันธุ์ ส.ส.เพชรบูรณ์ และนายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.นครศรีธรรมราช ส่วนรองผู้อำนวยการพรรค 2 คน ได้แก่ นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร และนายภาคิน สมมิตรธนกุล
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้กล่าวตอนหนึ่งกับที่ประชุมว่า สำหรับคำสั่งแต่งตั้งต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตนมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลง คนไหนทำงานไปแล้ว อยากจะเปลี่ยนแปลงไม่อยากจะอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวแล้วก็เปลี่ยนแปลงกันได้ ก็ขอให้เข้าใจกันว่าไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง ตนได้คุยกับรองหัวหน้าพรรคทั้ง 10 คนไปแล้วว่าใครเหมาะสมยังไง
ต่อมา พล.อ.ประวิตรแถลงภายหลังการประชุมสามัญประจำปี ว่าขอเน้นย้ำเรื่องความรักความสามัคคีของคนในพรรค โดยได้บอกไปแล้วว่าทุกคนมีความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวอยู่แล้ว ซึ่งการแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคทั้ง 10 คน เพื่อให้ครอบคลุมทุกด้าน โดยรองหัวหน้าพรรคจะทำหน้าที่เหมือนหัวหน้าพรรคตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และจากนี้การปรับเปลี่ยนตำแหน่งใด อำนาจจะอยู่ที่ตนเอง ซึ่งก็ต้องดูว่าหากทุกคนตั้งใจทำงานก็ไม่ต้องเปลี่ยน หรือหากมีใครเข้ามาทำงานก็ต้องเปลี่ยน แต่ต้องอยู่กับเสียงส่วนใหญ่
เมื่อถามว่า ผลงานชิ้นแรกหลังนั่งหัวหน้าพรรคอยากทำอะไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ทำให้คนในพรรครักกัน รวมถึงเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำที่ได้ทำอยู่แล้ว เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ที่ฝนตกชุกอยู่แล้ว
ถามอีกว่า ศักยภาพของ พปชร.จะมีรัฐมนตรีได้กี่คน พล.อ.ประวิตรตอบว่า จะไปรู้ได้อย่างไร ต้องถามนายกฯ เพราะท่านนายกฯ ต้องคิดของท่านเอง เพราะในเรื่องการทำงาน ท่านไม่ยุ่งเรื่องพรรค เนื่องจากนายกฯ ดูแลปัญหาเรื่องที่อยู่ที่กิน การอยู่อาศัยของประชาชนที่ดีขึ้น โดยท่านทำงานหนัก เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีรายได้มากขึ้น ซึ่งนายกฯ ได้ทำทุกเรื่อง
เมื่อถามว่า พรรคได้ส่งรายชื่อ รมต.ที่พรรคจะเสนอให้นายกฯ แล้วหรือไม่ พล.อ.ประวิตรตอบว่า "ผมไม่ส่ง แล้วทำไมผมต้องส่ง นายกฯ เดี๋ยวต้องดูว่าใครสำคัญอย่างไร แค่ไหน ซึ่งคนในพรรคมีความพร้อม มีศักยภาพเพียงพอทุกด้าน แต่ผมยังไม่รู้ว่า รมต.กี่คน"
ถามต่อว่า นายกฯ บอกว่าโควตากลุ่ม 4 กุมารเป็นโควตากลาง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่รู้ ต้องไปถามนายกฯ และเมื่อถามว่ามีการทาบทามคนนอกให้มาร่วมทีมเศรษฐกิจของพรรคหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เรามีอยู่แล้ว ทั้งของพรรคที่จะเขียนนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ รวมถึงคนนอกด้วย โดยมีชื่อหมดแล้ว แต่สื่ออย่าเพิ่งรู้เลย
ขณะที่นายอนุชาให้สัมภาษณ์ถึงการลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ของนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะส่งผลต่อโควตารัฐมนตรีหรือไม่ ว่าไม่ขอวิจารณ์เรื่องนี้ เพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี
"ชัยวุฒิ"ท้าทาย"บิ๊กตู่"
ผู้สื่อข่าวถามว่า การลาออกดังกล่าวถือว่าจากกันด้วยดีหรือไม่ นายอนุชากล่าวว่า เป็นการจากกันด้วยดี ไม่มีอะไร เพราะทุกคนได้ร่วมทำงานกับพรรคมาระยะหนึ่งแล้ว เมื่อถึงจุดหนึ่งก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างเป็นไปตามวิถีทางการเมือง ไม่มีอะไรขุ่นข้องหมองใจกัน
เมื่อถามว่า แต่ท่าทีของนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ยังออกมาขับไล่ให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐตอบว่า สมาชิกพรรคเรามีจำนวนมาก อาจมีบางคนที่ทำบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถไปกำหนดกฎเกณฑ์ได้ ซึ่งก็เป็นไปด้วยดี แต่อาจจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้มีการเตรียมส่งประวัติเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปรับคณะรัฐมนตรีหรือยัง นายอนุชาปฏิเสธว่า ยังไม่มีและยังไม่มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ ที่ผ่านมาจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ ไม่เคยพูดเรื่องตำแหน่งใน ครม. ยืนยันได้ และทราบดีอยู่แล้วว่าทำงานให้พรรค ส่วนตำแหน่งใน ครม.เป็นเรื่องของนายกฯ ตัดสินใจเพียงคนเดียว
ถามย้ำว่า พร้อมหรือไม่หากมีชื่อใน ครม. นายอนุชาตอบว่า ตนเป็นคนทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็จะทำประโยชน์เพื่อประชาชนให้มากที่สุด “ผมพร้อมตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน”
เมื่อถามว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคจะพิจารณาเรื่องสัดส่วนรัฐมนตรีอย่างไร นายอนุชากล่าวว่า ยังไม่เคยมีการคุยกันเรื่องนี้ สมัยก่อนอาจต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา แต่ในครั้งนี้จะพูดคุยในส่วนของกรรมการบริหารพรรคอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากเราเป็นพรรคแกนนำที่จะจัดตั้งรัฐบาล
ถามกรณีที่นายกฯ ระบุว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 คนที่ลาออกเป็นโควตาของนายกฯ ในส่วนของพรรคจะมีโควตาเท่าไหร่ เลขาธิการพรรค พปชร.ปฏิเสธว่า ไม่ทราบ ไม่ขอตอบ เพราะเป็นคำพูดของนายกฯ ไม่อาจก้าวล่วงได้ แล้วแต่นายกฯ ขึ้นอยู่กับนายกฯ ตัดสินใจ เราทำงานเพราะพรรคของเราทำงานเพื่อประชาชนในทุกมิติ จะไม่ไปกำหนดกฎเกณฑ์อะไร
ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า การลาออกน่าจะมีเหตุปัจจัยหนึ่งว่าจะไปทำงานกับพรรคการเมืองอื่น เพราะหากยังเป็นสมาชิกพรรค พปชร.อยู่ ถ้าจะไปเลี้ยงหลานหรือทำงานส่วนตัว ก็คงไม่ต้องลาออกก็ได้ แต่ตนก็ไม่แน่ใจต้องให้ติดตามต่อไป ยืนยันว่ากลุ่ม 4 กุมารยังไม่หยุดเล่นการเมือง เพราะว่าจากประสบการณ์ตัวเอง คนที่ลาออกจากพรรคหนึ่ง มักจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ หรือไปทำงานกับกลุ่มการเมืองอื่น ซึ่งมีนักการเมืองทำให้เห็นหลายคนแล้ว
เมื่อถามว่า ตำแหน่งรัฐมนตรี 4 กุมารเป็นโควตาของพรรคพปชร.หรือไม่ นายชัยวุฒิตอบว่า ถ้าไม่ใช่โควตาพรรคแล้วจะเป็นโควตาของใคร เพราะตอนที่ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีก็ส่งไปในนามของพรรค โดยส่งชื่อนายอุตตม เพราะเป็นหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์เป็นเลขาธิการพรรค และนายสุวิทย์เป็นรองหัวหน้าพรรค โดยผ่านที่ประชุม คณะกรรมการบริหารพรรคส่งชื่อในนามพรรคพลังประชารัฐ
“ผมคิดว่า 4 กุมารไม่ใช่โควตาของท่านนายกกรัฐมนตรี เพราะเป็นโควตาของพรรค พปชร. เพราะท่านเป็นหัวหน้าและเลขาธิการพรรคที่เราส่งไปทำงานในนามพรรค เหมือนนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นรัฐมนตรีในโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล”นายชัยวุฒิกล่าว
"สมคิด"ถอดใจมาหลายปีแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า ไม่มี ตนไม่ได้คุยอะไรกับนายกฯ เชื่อตนเถอะว่า ใครที่บอกว่ารู้ ไม่จริงทั้งนั้น ต้องฟังจากนายกฯ
เมื่อถามย้ำว่านายกฯ ระบุว่าการปรับ ครม.เป็นไปได้ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป นายวิษณุกล่าวว่า “ก็ถูกแล้ว จะได้ไม่ต้องมานั่งถามคำถามว่าเมื่อไหร่ ก็จะรู้ว่าเมื่อนี้แหละ”
ถามว่า หากมีการปรับ ครม.จะกระทบต่อการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 หรือไม่ เพราะมีรัฐมนตรีหลายคนเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เช่น หากมีการปรับนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ซึ่งเป็นประธาน กมธ. นายวิษณุตอบว่า ก็เหมือนกับวิธีปฏิบัติที่ผ่านมา คือ 1.ไม่ต้องออกจาก กมธ. เพราะตอนแต่งตั้งก็ตั้งโดยชื่อบุคคล เหมือนกับกรณีคราวยุบพรรคการเมือง ใครยังเป็น กมธ.ก็ยังเป็น กมธ.กันอยู่ แต่ในส่วนนี้จะเป็นกรณีที่เป็น กมธ.วิสามัญเท่านั้น และ 2.การขอลาออกจาก กมธ.เอง คนที่เป็นรองประธาน กมธ.สามารถขึ้นมาแทนได้ เพราะใน กมธ.มีรองประธานถึงกว่า 10 คน และประธาน กมธ.ก็ไม่ได้นั่งกำกับการประชุมทุกครั้ง แต่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เนื่องจากใช้เวลาพิจารณาเป็น 100 วัน
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่ม 4 กุมารลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ ว่าไม่มีอะไร ไม่ได้ปรึกษา เป็นเรื่องในพรรค เป็นเรื่องปกติ ฟังจากคำแถลงถือเป็นการแถลงที่ดี ที่เป็นมิตรต่อกัน เป็นการจากกันด้วยดี ก็แค่นั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ตอนนี้ถูกมองไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วย รองนายกฯ ตอบว่า เรื่องตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี คิดว่าจะต้องพิจารณาด้วยความเหมาะสม
เมื่อถามว่า นายกฯ พูดชัดแล้วว่าจะมีการปรับ ครม.เศรษฐกิจ นายสมคิดกล่าวว่า “แล้วแต่ท่านนายกฯ เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาเลย”
ถามว่าเรื่องการเมืองจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจหรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า การเมืองดี เศรษฐกิจก็จะดี สังคมก็จะดี นี่เป็นเรื่องปกติ ฉะนั้นจะต้องพยายามดูแลการเมืองให้ดี เมื่อถามว่า ตอนนี้คิดว่าการเมืองไหวหรือไม่ นายสมคิดกล่าวปฏิเสธว่า ไม่รู้เหมือนกัน ตนไม่ค่อยถนัดการเมือง
ซักว่านายกฯ ระบุว่านายสมคิดพร้อมทุกอย่าง แล้วพร้อมหรือไม่ นายสมคิดบอกว่า "ผมพร้อมตั้งแต่ปีที่แล้ว อายุมากแล้ว"
ต่อข้อถามว่า ที่ระบุว่าอายุมากแล้ว หมายถึงมีคนแทนแล้วใช่หรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า อยู่ที่นายกฯ ถามอีกว่า อายุมากแล้วคือถอดใจแล้วใช่หรือไม่ รองนายกฯ ตอบว่า “ใจผมถอดมาหลายปีแล้ว"
เมื่อถามว่า หากปรับ ครม.แล้วไม่มีรัฐมนตรีในกลุ่ม 4 กุมารอยู่ ท่านจะยังอยู่ต่อหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า เป็นไรไม่ได้ การที่จะตั้ง ครม. นายกฯ ต้องดูให้ถ่องแท้ว่าใครจะทำอะไร ต้องเอาบ้านเมืองเป็นหลัก นั่นคือสิ่งสำคัญสุด แต่ใครจะมาจะไปเป็นเรื่องปกติ
ถามว่าเหมือนเสร็จนาฆ่าโคถึกหรือไม่ นายสมคิดกล่าวว่า ไม่หรอก เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ทั้ง 4 คนแถลงชัดเจน พวกเขาร่วมกันก่อตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน วันนี้เรื่องเหล่านั้นได้บรรลุแล้ว เขาก็พร้อมที่จะไปทำหน้าที่อื่น เท่านั้นเอง “ภารกิจของผมเหรอ ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีในตอนนี้”
สุภาพบุรุษทางการเมือง
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ" ระบุถึงการลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐของกลุ่ม 4 กุมารว่า ส่วนตัวผมขอชื่นชมสปิริตของทั้ง 4 ท่าน เป็นสุภาพบุรุษทางการเมือง เมื่อทำภารกิจเพื่อพี่น้องประชาชนสำเร็จ ก็ให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ทำต่อ เป็นการจากลากันด้วยดี ไม่ได้มีความขัดแย้งใดๆ ทั้งสิ้น และยังให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ เพียงแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกเท่านั้น
"ผมมั่นใจและเชื่อมั่นในตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฉะนั้นหากพล.อ.ประยุทธ์ปรับ ครม. ก็จะเป็น ครม.ที่ประชาชนคาดหวังได้ เชื่อมั่นใจได้ว่าจะเป็น ครม.new normal ยิ่งตอนนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากโควิด-19 เพราะฉะนั้นแล้วรัฐบาลก็จะต้องได้คนดี คนเก่งมาบริหารบ้านเมือง ผมให้กำลังใจทั้ง 4 ท่าน ที่สำคัญผมให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤติครั้งนี้ ผมรู้ว่าท่านเหนื่อย ท่านล้า แต่ผมเชื่อว่าท่านจะสู้เพื่อพี่น้องคนไทยทุกคน" นายธนกรระบุ
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า อำนาจในการปรับ ครม. ขึ้นอยู่กับนายกฯ และเชื่อว่าหากมีการปรับนายกฯ ก็จะให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคไปดูกันเอง อย่างพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีสัญญาณใด ทั้งนี้ พรรคเราเป็นพรรคที่บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) และมีกฎระเบียบอยู่ ดังนั้นก็ต้องฟังเสียงของบุคคลต่างๆ ที่เป็นองค์ประชุมในการประชุมพรรค
เมื่อถามว่า ทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว คิดว่าต้องมีการประเมินอย่างไร นายถาวรกล่าวว่า พรรคเราเป็นพรรคที่เปิดกว้าง ฉะนั้น การประเมินก็จะมาจากหลายทาง 1.มาจากการประเมินภายนอก เช่น โพลต่างๆ ส่วนโพลภายในยังไม่ทราบว่าจะมีการประเมินความพึงพอใจว่าเป็นไปตามอุดมการณ์และนโยบายพรรคหรือไม่ และไม่แน่ใจว่าจะมีการประเมินรัฐมนตรีพรรคหรือไม่
ถามต่อว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ตอนนี้ เป็นเพราะต้องการชิงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างๆ ใช่หรือไม่ นายถาวร ชี้แจงว่า ไม่ใช่เช่นนั้น แต่เป็นความหวังดีต่อการทำงานของพรรคและความพึงพอใจของพี่น้องประชาชน สมาชิกพรรคที่รักพรรคสามารถสอบถาม มีสิทธิ์ที่จะเสนอแนะ นั่นคือความปกติของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมประชาธิปไตย ที่พรรคอื่นไม่สามารถเอาแบบพรรคของเราได้ พรรคของเราเป็นพรรคประชาธิปไตยจริงๆ
นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า หลักการที่พรรคประชาธิปัตย์ยึดมาตลอดคืออดีต ส.ส.ที่เป็น ส.ส.มามากสมัยที่สุดจะได้เป็นรัฐมนตรี แต่ขณะนี้อดีต ส.ส. 8 สมัยรุ่นเดียวกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีเหลือเพียงคนเดียวที่ยังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี คือนายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง ปัจจุบันเป็นเลขานุการ มท.2 จึงอยากให้พรรคได้คงหลักการเดิมไว้ อย่าให้อำนาจอย่างอื่นมาเปลี่ยนแปลง และอยากให้ผู้บริหารพรรครักษากำลังทุกส่วนไว้ในภาวะที่พรรคบอบช้ำอย่างหนักในขณะนี้
เพื่อไทยก็ปรับ
ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค, น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรค พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยว่า ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค วาระสำคัญคือการกำหนดวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี วันอังคารที่ 21 ก.ค. เรื่องสำคัญที่จะนำเสนอคือ การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ชุดใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง
ถามว่าจะมีการปรับโครงสร้างหรือไม่ นายอนุสรณ์กล่าวว่า ต้องรับฟังความคิดเห็น และรอการประชุมพรรคอีก ถึงจะมีแนวทางออกมา หากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็เป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ โดยรูปแบบที่จะปรับเปลี่ยน ยังมีเวลาที่กรรมการบริหารพรรคได้พิจารณาก่อนถึงวันประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทย
นายอนุสรณ์ยังกล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์พร้อมปรับ ครม.ว่า การลาออกของ 4 กุมาร ชัดเจนว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของพล.อ.ประยุทธ์ และไม่น่าจะรู้ตัวมาก่อน ขนาดลาอออกยังไม่ลา แต่กลับไปขออนุญาตนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีแทน สภาพ พล.อ.ประยุทธ์ในขณะนี้ กำลังกลายเป็นตำบลกระสุนตก ศูนย์กลางพื้นที่รับปัญหา ทั้งปัญหาสภาล่ม ที่แม้จะได้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรคแบบนอนมา ก็ไม่ได้ช่วยให้การทำงานสภาของพรรคพลังประชารัฐดีขึ้น
“ทางเลือกของ พล.อ.ประยุทธ์เหลือน้อยลงทุกขณะ รัฐมนตรีเก่าก็ยังไม่ยอมลาออก จะชวนคนใหม่มาเป็นรัฐมนตรีก็ไม่มีใครกล้ารับเผือกร้อน เสร็จนาฆ่าโคถึก อาจกลายเป็นแพะทำเศรษฐกิจเจ๊ง” นายอนุสรณ์กล่าว
มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ในวัย 88 ปี จะให้สัมภาษณ์เรื่องการเมืองทุกประเด็น ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 ภายหลังเสร็จภารกิจที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ถนนวิภาวดี ในเวลา 11.00 น. ทั้งนี้ ต้องจับตาวาทะการเมืองของ "บิ๊กจิ๋ว" ที่เมื่อออกมาให้สัมภาษณ์แต่ละครั้ง จะมีประเด็นทิ้งไว้ให้คิด ในห้วงสถานการณ์การเมืองร้อนแรง ก่อนการปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2
ที่ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการเปิดเผยศูนย์สำรวจของอีสานโพล ที่ได้มีการสำารวจเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2563 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผลการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2/2563 เท่ากับ 56.0 ซึ่งต่ำกว่า 100 เป็นไตรมาสที่ 12 ติดต่อกัน และคาดว่าไตรมาสถัดไป (ก.ค.-ก.ย.63) จะแย่ลงกว่าเดิม
ในส่วนคะแนนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ 29.6 จากเต็ม 100 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ได้ 25.0 จากการที่ประชาชนได้รับเงินเยียวยาและความช่วยเหลืออื่นๆ ขณะที่มาตรการทางเศรษฐกิจที่ต้องการให้รัฐบาลทำ 3 อันดับแรกคือ จ่ายเงินเยียวยาต่ออีก 1 เดือน จัดหางานให้คนตกงาน และลดภาษีต่างๆ นอกจากนี้หากมีเลือกตั้งใหม่กลุ่มตัวอย่างอีสาน ต้องการคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจมากที่สุด ตามมาด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |