การเดินทางสู่ชนบทของผมได้พบกับเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจเสมอ
สัปดาห์ก่อนผมพบโรงเรียนเล็กๆ ต่างจังหวัดแห่งนี้ถูกสั่งยุบ...แต่เขาสู้ด้วยพลังชุมชนและนวัตกรรม
เรื่องราวนี้ผมได้ยินจากปากคำของผู้นำชุมชนที่เล่าให้ฟังสำหรับรายการ "ฟังเสียงประเทศไทย คำตอบอยู่ในหมู่บ้าน" ของ ThaiPBS (ทุกวันเสาร์ 17.30 น.)
เมื่อ 3 ปีก่อนโรงเรียนแห่งนี้ถูกทางการสั่งปิดเพราะมีนักเรียนน้อยเกินไป (ประมาณ 16 คน) ให้ไปควบรวมกับโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่ห่างไป 7 กิโลเมตร
ผู้นำชุมชนรวมถึงพระ ผู้ปกครอง ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนวัดประสิทธารามที่ตำบลบางชนะ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ไม่ยอมยุบโรงเรียนนี้เพราะเด็กๆ ไม่สามารถจะเดินทางไปกลับวันละ 14 กิโลเมตรได้
อีกทั้งนักเรียนส่วนใหญ่ขาดทุนทรัพย์ ไม่มีแม้เงินกินอาหารกลางวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเดินทางไปเรียนหนังสืออีกโรงเรียนหนึ่งที่ห่างไกลเช่นนั้น
นั่นเป็นที่มาของการรวมตัวกันรักษาโรงเรียนแห่งนี้ โดยมี "ครูอาสา" ผลัดเปลี่ยนกันมาสอนเด็กที่เริ่มจากมีเพียง 16 คน จนวันนี้ที่ผมไปเยี่ยมมีทั้งหมด 42 คน
"ผู้ปกครองและชุมชนรอบๆ โรงเรียนแห่งนี้ช่วยกันบริจาค ออกแรงออกทรัพย์เท่าที่มี ท่านเจ้าอาวาสก็ทอดผ้าป่าเพื่อระดมเงินมาจ่ายเงินเดือนให้ครูอาสาเท่าที่จะจ่ายได้ แต่ครูอาสามีจิตใจเสียสละทุ่มเทอย่างดียิ่ง..." พระอธิการภูวนารถ จารุธัมโมเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการต่อสู้เพื่อเด็กๆ ในชุมชน
เจ้าหน้าที่จากศึกษาจังหวัดและอำเภอเคยมาถามไถ่แล้วก็หายไป
ถ้าจะให้ได้งบประมาณสำหรับครูหนึ่งคนก็ต้องมีนักเรียนอย่างน้อย 80 คน ซึ่งยังเป็นความหวังที่ห่างไกล
"เจ้าหน้าที่บางคนบอกว่าเราเป็นพวกต่อต้านนโยบายทางการ แต่ความจริงเราเพียงต้องการจะอยู่รอดด้วยความร่วมมือของชุมชนมากกว่า เพราะเด็กๆ ไม่มีทางเลือกอะไรมาก..."
ครูอาสาคนหนึ่งบอกผมว่า เด็กนักเรียนจากประถมหนึ่งถึงประถมหกทั้งหมด 42 คนนั้น ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจนและมีปัญหา
"ร้อยละ 90 ของเด็กในโรงเรียนนี้พ่อแม่แยกกัน อยู่กับย่ากับยาย จึงต้องการทั้งโอกาสของการศึกษาและความอบอุ่น..." ครู "มินต์" หนึ่งในครูอาสาเล่าให้ฟัง
ที่นี่มีครูอาสาประจำอยู่ 3 คนและที่หมุนเวียนกันอีกหลายคน แต่ความไม่แน่นอนก็ยังมีอยู่สูงหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
ส่วนหนึ่งนักเรียนที่นี่เรียนผ่านระบบสอนผ่านดาวเทียม โดยมีครูอาสาช่วยตอบคำถามและข้อสงสัย อีกทั้งยังเป็นทั้งครู แม่และผู้ปกครอง
"บางวันเด็กบางคนมาถึงโรงเรียนก็มีอาการไม่อยากเรียน มีความหงุดหงิดอึดอัด ครูก็ต้องเข้าไปคุย ถามไถ่ว่าเกิดอะไรขึ้น...บ่อยครั้งก็เป็นเพราะมีปัญหากับพ่อหรือแม่ซึ่งแยกทางกัน"
บางครั้งเด็กบอกว่าอยากให้ใครมากอดเท่านั้นเพราะขาดความอบอุ่นที่บ้าน
นอกเหนือจากที่จะต้องเรียนครบตามหลักสูตรของทางการแล้ว เด็กๆ ที่นี่ยังเรียนภาคปฏิบัติ เช่นกิจกรรมตัดต้นจากมาต้มทำผ้ามัดย้อม, ทำขนมจาก และหัตถกรรมจากต้นจากที่มีปลูกกันมากในหมู่บ้านนั้นเอง
เป็นการสอนทักษะเด็กๆ ให้มีความรู้ความสามารถที่ได้จากท้องถิ่น และอาจจะเป็นทักษะที่ทำให้มีงานทำในวันข้างหน้า
หลังจากที่ชุมชนที่นี่ช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อให้มีการเรียนการสอนต่อเนื่อง ก็มีการเชื่อมต่อกับโรงเรียนบ้านทองสุขที่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร จนมีข้อตกลงให้โรงเรียนนี้กลายเป็น "ห้องเรียน" หนึ่งของอีกโรงเรียน โดยที่ยังไม่แน่ใจว่าทางการจะยอมรับมากน้อยเพียงใด
นี่คือ "นวัตกรรม" ท้องถิ่นที่เกิดจากความริเริ่มของชุมชนเองที่ระดับนโยบายมองไม่เห็น และไม่สนใจเพียงพอที่จะช่วยส่งเสริมให้ "ปัญญาท้องถิ่น" เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์และเสริมกับโครงสร้างหลักของแต่ละจังหวัด
แทนที่ทางการจะมองว่าการดิ้นรนของชุมชนเพื่อรักษาโรงเรียนเล็กๆ ของตนเอาไว้สำหรับเยาวชนด้อยโอกาสเป็นการ "ต่อต้าน" รัฐบาลควรจะเห็นเป็นความริเริ่มที่สร้างสรรค์ที่ควรแก่การสนับสนุนอย่างยิ่งด้วยซ้ำไป
แต่คนของรัฐยังคิดและทำทุกอย่างอยู่ใน "กรอบ" ของกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ปัญหาของชุมชนที่มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อย่างมีนัยสำคัญ
การปฏิวัติการศึกษาของชาติต้องเริ่มที่โรงเรียนระดับหมู่บ้านอย่างนี้ จึงจะเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |