ประชาธิปัตย์ ต้องปฏิรูปพรรค


เพิ่มเพื่อน    

 72 ปี พรรคสีฟ้า กับยังบลัด ปชป.

พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย โดยล่าสุดเพิ่งครบรอบการก่อตั้งพรรค 72 ปี เมื่อ 6 เมษายนที่ผ่านมา

ในเส้นทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ที่ผ่านมา 72 ปี มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก โดยเฉพาะช่วงหลังว่าในความเป็นพรรคเก่าแก่ที่คน ปชป.ภาคภูมิใจว่าเป็นสถาบันการเมือง แต่ก็ถูกมองว่าเป็นพรรคที่พะยี่ห้ออนุรักษนิยม ไม่มีความคล่องตัว ไม่ตอบโจทย์การเมืองสมัยใหม่ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่หรือคนหนุ่มสาว ทั้งคนที่สนใจการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่กำลังเบื่อการเมืองแบบเดิมๆ ต้องการหาทางเลือกใหม่ ที่น่าสังเกตก็คือระยะหลัง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. มีการพูดถึงเรื่อง ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ อยู่หลายครั้ง 

หนึ่งในนักการเมืองรุ่นใหม่-ยังบลัดของ ปชป. ที่เป็นอดีต ส.ส.ที่อายุน้อยที่สุดคือ 25 ปี ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554 (ไม่นับการเลือกตั้งปี 2557 ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยุบสภาฯ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นโมฆะ) เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรค ปชป. ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีในฐานะอดีตโฆษก กปปส.-คนสนิทของสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ยืนยันว่าอยู่กับพรรค ปชป.แน่นอน และทุกวันนี้ก็ลงพื้นที่เลือกตั้งเดิมตลอดเกือบทุกวัน พร้อมกับให้ความเห็นว่าพรรค ปชป.จะเดินหน้าปฏิรูปพรรคตามแนวทางที่นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประกาศไว้เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เช่น การให้สมาชิกพรรค ปชป.ทั่วประเทศ มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองไทยไม่เคยมีการทำมาก่อน พร้อมกับเชื่อมั่นว่าคนในพรรค ปชป.ทุกคน รวมถึงผู้อาวุโสในพรรค จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปพรรค ปชป. เพื่อให้พรรค ปชป.ปรับตัวให้ทันกับการเมืองยุคใหม่ อีกทั้งบอกว่าพร้อมจะไปขับเคลื่อนการชูนโยบายการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          เอกนัฏ เกริ่นนำว่า พรรค ปชป.อยู่มาได้ 72 ปี เพราะมีการปรับตัว เปิดรับคนใหม่ๆ เข้ามาตลอด โดยคนเหล่านี้ก็ได้เข้าไปนำเสนอวิธีคิดแบบใหม่ๆ และเมื่อผสมผสานกับประสบการณ์ที่พรรค ปชป.มี ภายใต้การยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค จึงทำให้พรรค ปชป.เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง พรรคมีการปรับเปลี่ยนบุคลากร วิธีคิดให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา จุดนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ส่วนผสมสำคัญที่ทำให้พรรค ปชป.ยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

...ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 เท่ากับว่า 8 ปีแล้วที่เราไม่มีการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ประชาชนทั่วประเทศ ผมไม่ได้คิดแต่เฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ที่จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก แต่สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง วันนี้ประเทศเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เราเจอกับปัญหามากมายในอดีต ในครั้งนี้หลายคนก็คิดว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ หากหลายคนมาร่วมกันตัดสินใจเลือกสิ่งดีๆ ให้กับประเทศ ก็จะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ตอนนี้ทุกคนต้องคิดต้องตัดสินใจอย่างถูกต้อง เพื่อเลือกทางที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย

ถามความเห็นว่า ที่ ปชป.อยู่มาได้ 72 ปี อะไรคือจุดแข็งของพรรค เอกนัฏ ให้ทัศนะว่า วันนี้เราจะเห็นการเปิดตัวของพรรคการเมืองเยอะ มีคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอาสาทำการเมือง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่การเมืองวันนี้เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็มาช่วยกัน

...ผมคิดว่าจุดแข็งของพรรค ปชป. นอกจากเรามีคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ วิธีคิด มุมมอง สร้างความทันสมัยให้กับพรรคแล้ว พรรค ปชป.เราก็ยังมีบุคลากรที่เรียกว่าคนรุ่นก่อนก็ว่าได้ ที่มีประสบการณ์ ที่เมื่อผสมผสานกันแล้ว ก็เกิดเป็นความสมดุลระหว่างประสบการณ์ที่คนในพรรคมีบวกกับความทันสมัย แนวคิดแบบใหม่ ที่เมื่อผสมผสานกันแล้วก็ทำให้เกิดทิศทาง แนวทางที่ดีเหมาะสมให้กับประเทศ

-แต่พรรค ปชป.ก็มีภาพของการเป็นพรรคอนุรักษนิยม ยึดระบบอาวุโส มีระบบการตัดสินใจ ต้องเข้าที่ประชุมพรรค เลยมองกันว่าเป็นระบบที่ทำให้พรรค ปชป.ไม่คล่องตัว ไม่ทันสมัย?

หากใครได้ฟังสิ่งที่นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคพูดเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมา ที่เป็นวันแรกที่พรรคเปิดให้สมาชิกมายืนยันการเป็นสมาชิกพรรคต่อไป สิ่งที่หัวหน้าพรรคพูดในวันนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการปฏิรูปพรรค ปชป.อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการพูดเรื่อง ประชาธิปไตยในพรรค ปชป. ที่ต้องไปคู่กัน คือความเป็นประชาธิปไตยในพรรคต้องมาคู่กับประสิทธิภาพการตัดสินใจ การตัดสินใจที่กระฉับกระเฉง ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์

วันดังกล่าว หัวหน้าพรรคพูดอย่างชัดเจนว่า เราจะมีการปฏิรูปพรรคให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และจะใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาข้อบกพร่อง เพราะบางทีเป็นประชาธิปไตยมากก็อาจขาดประสิทธิภาพ แต่ประชาธิปไตยบวกเทคโนโลยี มันสามารถทำให้ประชาธิปไตยมีประสิทธิภาพ เป็นคุณสมบัติ 2 อย่างที่มีพร้อมกันได้

...สิ่งแรกที่หัวหน้าพรรคประกาศจะทำก็คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพรรค ปชป.เลยก็ว่าได้ จะเป็นครั้งแรกที่จะทำให้สมาชิกพรรคเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง ผ่านการมีสิทธิ์เลือกหัวหน้าพรรค แล้วก็มีสิทธิ์ในการกำหนดทิศทางพรรคต่อจากนั้นด้วย

          เอกนัฏ ยกตัวอย่างเรื่องการหยั่งเสียงของสมาชิกพรรคการเมืองต่อการกำหนดทิศทางพรรคในต่างประเทศ มาอธิบายประกอบว่า แนวทางดังกล่าวในต่างประเทศก็มี อย่างหากเราดูเปรียบเทียบจาก 2 ระบบ ที่คนบ้านเราน่าจะพอคุ้นเคย ตัวอย่างแรกคือ ระบบของสหรัฐอเมริกา เขามีการหยั่งเสียงในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประธานาธิบดีลงมาถึงระดับ ส.ส. และ ส.ว. ภายในพรรคการเมืองจะมีหยั่งเสียง เฟ้นหาตัวผู้สมัครที่สมาชิกเห็นชอบ โดยระบบของอเมริกาเป็นการหยั่งเสียง ไม่ใช่การเลือกโดยตรง เพราะมีการเลือกคณะผู้แทน แล้วให้คณะผู้แทนไปเลือกตัวผู้สมัคร อันนี้คือตัวอย่างของประธานาธิบดี แต่แน่นอนที่สุดก็คือว่า ผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในพรรคการเมือง เพราะเขาถือว่าเป็นผู้นำพรรค จะมีที่มาจากการหยั่งเสียงของสมาชิก ที่อาจไม่ใช่แบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือการเลือกโดยตรง แต่ก็มีที่มาจากสมาชิก

...หรือหากดูที่ประเทศอังกฤษ กรณีอย่างพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ที่มีการเลือกนางเทเรซา เมย์ เป็นผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี หลังนายเดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีลาออก ก็จะเห็นได้ว่ามีกระบวนการคัดกรองผู้สมัครของพรรคให้เหลือ 2 คน แล้ว 2 คนสุดท้าย ก็นำชื่อไปให้สมาชิกทั่วประเทศได้ตัดสินใจเลือกว่าจะสนับสนุนใคร แต่เนื่องจากการเลือกครั้งสุดท้าย มีผู้สมัครคนหนึ่งตัดสินใจลาออกไปก่อน ก็เลยได้เทเรซา เมย์ มา

เอกนัฏ กล่าวต่อไปว่า แต่สำหรับบ้านเราต้องบอกว่าการหยั่งเสียงเป็นนวัตกรรมใหม่ตามรัฐธรรมนูญ แต่ในกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน ก็บัญญัติให้หยั่งเสียงเฉพาะตัวผู้สมัคร ส.ส.

วันนี้พรรค ปชป.ไปไกลกว่านั้น คือเปิดให้เลือกหัวหน้าพรรคด้วย ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ก้าวหน้ามาก ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเลยก็ว่าได้ เพราะระบบการเมือง การปฏิรูปพรรคการเมืองถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการเมือง แล้วการปฏิรูปการเมืองก็เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำประเทศไปสู่สังคมยุคใหม่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปทั้งหมด การตัดสินใจครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก

ถามย้ำว่า ในฐานะเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ในพรรค ปชป. คิดว่า ปชป.ควรต้องมีการปฏิรูปพรรคอย่างไร เอกนัฐ ตอบว่า จริงๆ พรรค ปชป.มีข้อดี คุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง แต่เราทำให้มันดีขึ้นได้ เช่น หลักแนวคิดที่ต้องการทำให้พรรคเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง

วันนี้การปฏิรูปควรอยู่ที่การกระจายอำนาจ การเพิ่มอำนาจให้กับประชาชน ซึ่งในระดับพรรคที่เป็นสถาบันการเมือง ต้องมีการกระจายอำนาจ เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกหัวหน้าพรรค ไม่ใช่มาปิดประตูแล้วให้เฉพาะผู้บริหารพรรค ให้เฉพาะ ส.ส.ของพรรค ซึ่งจริงๆ ส.ส.ก็มาจากผู้บริหารพรรคเลือกกันเอง คือเลือกในโอ่งนั่นแหละ ที่ไม่ใช่ เพราะวันนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การเปิดประตู เปิดกว้าง เปิดเวทีให้สมาชิกทั่วประเทศที่เขาเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง มีสิทธิ์ในการเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจที่มีผลสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของพรรค เราสามารถทำได้

...แต่หลายคนอาจถามว่า แล้วพรรคจะทำอย่างไร ซึ่งหากเป็นสมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การทำอาจลำบาก การเลือกหัวหน้าอาจทำได้ แต่หากมากกว่านั้นอาจมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพ เพราะหากเขียนจดหมายตอบกันไปมา มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ แต่ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยี เรามีแอปพลิเคชัน ปชป.น่าจะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่สมาชิกเก่าที่มายืนยันการเป็นสมาชิกสามารถยืนยันผ่านแอปพลิเคชันได้ ซึ่งหากเรามีความคิดต้องการให้สมาชิกมีส่วนร่วม แล้วเรามีเทคโนโลยีคือแอปพลิเคชันที่จะเป็นเครื่องมือทำให้สมาชิกเกิดความสะดวกและมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้จากนี้ต่อไป ปชป.จะเป็นพรรคที่เปิดกว้างมากขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการของสมาชิกพรรคได้มากยิ่งขึ้น

-ยืนยันว่า ปชป.ต้องมีการปฏิรูปพรรค?

มีแน่นอน เพราะสิ่งที่หัวหน้าพรรคประกาศไปเมื่อ 1 เมษายน ที่ให้สมาชิกได้เลือกหัวหน้าพรรค รวมถึงที่พูดเรื่องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมต่างๆ ตรงนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปพรรคการเมือง

-เหตุใดช่วงหลังหัวหน้าพรรค ปชป.หรือคนในพรรค พยายามพูดหรือสื่อสารเรื่องประชาธิปัตย์ยุคใหม่มากขึ้น เป็นเพราะหลังการเปิดตัวของพรรคอนาคตใหม่หรือไม่?

จริงๆ ผมคิดว่า มีแนวคิดแบบนี้อยู่แล้ว วันนี้ต้องยอมรับก่อนว่า เรื่องนี้ผมไม่คิดว่ามาจากพรรคการเมืองใด แต่ผมคิดว่ามาจากความต้องการของประชาชน

วันนี้ต้องยอมรับก่อนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากประชาชนไม่ศรัทธานักการเมือง ระบบการเมือง แล้วการแก้ปัญหาความไม่ศรัทธา ก็ต้องมีการปฏิรูป มีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง มันปฏิเสธไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดจากความต้องการของประชาชน

...เมื่อเราเป็นสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นจากอุดมการณ์ ความต้องการของประชาชน เราก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามความต้องการของเขา โดยต้องคงไว้ซึ่งอุดมการณ์ที่ดี แต่ต้องมีการปรับรูปแบบการทำงาน เป็นต้น มันก็ต้องมีการปรับ จึงเป็นที่มาที่ต้องบอกว่า เป็นประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ซึ่งจริงๆ ก็คือ เป็นพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็น ปชป.ที่กำลังก้าวเข้าสู่การเมืองยุคใหม่ ที่เกิดจากความต้องการของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามต่อไปว่า เรื่องปฏิรูปพรรค ปชป. แต่คนในพรรคก็ยังให้ความสำคัญกับเรื่องระบบอาวุโส การบริหารงานแบบระบบภาค หากคนรุ่นใหม่ในพรรคต้องการเข้าไปผลักดันให้เกิดการปฏิรูป แต่คนในพรรคก็ยังจะมีคนรุ่นเก่าๆ อดีต ส.ส.หลายสมัย ตรงนี้จะเป็นอุปสรรคหรือไม่ เอกนัฏ ยืนยันว่า ผมพูดด้วยประสบการณ์ของผมจริงๆ แม้ผมอายุยังน้อย แต่ผมก็อยู่ในพรรค ปชป.มา 7 ปีแล้ว สิ่งที่มีการพูดกัน เช่น ในพรรค ปชป.มีระบบอาวุโส มีอะไรก็แล้วแต่ที่จะขีดขวางการแสดงออกของเรา ไม่เป็นความจริง ที่ผมให้ความเชื่อมั่น มีความศรัทธาในพรรค ปชป. ไม่ใช่เฉพาะคุณสมบัติภายนอกที่ผมเห็น แต่เพราะผมได้มีโอกาสสัมผัสภายใน

ผมเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแสดงออก ในการนำเสนอของผมเลย ผมสามารถนำเสนอแนวทาง วิธีคิด โดยที่คนในพรรค ปชป.ก็ให้ความสำคัญมาตลอด ผู้บริหารของพรรค ปชป.ก็ไม่เคยละเลยในการจะฟังความคิดเห็นของ ส.ส.-สมาชิกหรือผู้สนับสนุนก็ตาม ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของ ปชป.ด้วยซ้ำ

ยืนยันว่า ปชป.มีกระบวนการรับฟังความเห็นอยู่ตลอด แต่จากนี้ต่อไป ที่เรากำลังเดินไปสู่การปฏิรูปพรรค ที่จะทำให้กระบวนการรับฟังและตอบสนองสมบูรณ์แบบมากขึ้น เช่นที่จะให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค ตรงนี้จะไม่มีเรื่องระบบอาวุโส ชั่วโมงบิน เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่จะเลือกด้วยคุณสมบัติ

-เท่าที่ได้พูดคุยกับคนในพรรค เขาเห็นด้วยกับเรื่องที่พรรค ปชป.ต้องมีการปรับตัว ปฏิรูปพรรคกันเยอะหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ก็เคยมีคนของ ปชป. อย่างอลงกรณ์ พลบุตร สมัยเป็นรองหัวหน้าพรรค ก็เคยผลักดันเรื่องนี้ แต่ไม่สำเร็จ?

ต้องขอบคุณผู้สนับสนุนพรรค เพราะต้องไม่ลืมว่าเจ้าของพรรคตัวจริงไม่ใช่พวกผม ผมก็เป็นคนหนึ่งในพรรค เป็นสมาชิกพรรคที่มีหน้าที่ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เป็นคนที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้มาช่วยขับเคลื่อนพรรค ปชป.เท่านั้น

การที่หลายคนได้พยายามบอก พยายามสื่อสารกับพรรคว่าสิ่งที่เขาต้องการวันนี้ คือการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงเพื่อให้พรรคปรับตัวเข้ากับการเมืองยุคใหม่ได้ ทั้งหมดคือจุดเริ่มต้น คือบ่อเกิดของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในพรรค เพราะคนไม่กี่คนจะเป็นผู้บริหาร จะเป็น ส.ส.ไม่กี่ร้อยคน ไม่สามารถต้านทานความคิดของเจ้าของพรรคที่มีอยู่เป็นล้านๆ คนทั่วประเทศได้

ถามอีกว่า ถ้าประชาธิปัตย์ไม่ปฏิรูปพรรคจะเกิดอะไรขึ้น เอกนัฏ ย้ำว่า ประชาชนเขามีความคิดที่ก้าวหน้าไปไกลพอสมควรแล้ว ไปไกลกว่าพวกผมก็ว่าได้ ไปไกลกว่านักการเมืองอีกหลายคน หากเรามัวแต่ยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิมๆ ไม่เปิดกว้าง ไม่ยอมรับ เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการยอมรับ มีการรับฟังก่อนว่ามันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่มานั่งคิดว่า วันนี้ทุกอย่างที่เราทำมันสุดยอด มันดีแล้ว ก็ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า โอเค มีหลายอย่าง รูปแบบการทำงาน วิธีคิดอะไรที่ยังไม่เต็มร้อย ยังไม่สมบูรณ์แบบ ก็ต้องมีการปรับตัวทำให้มันดีขึ้นได้

 ถ้าเรายอมรับตรงนี้ ในที่สุดระบบการเมืองมันจะจัดการกับคนที่คิดล้าหลังประชาชนไปเอง ซึ่งวันนี้ผมคิดว่าประชาชนเขาไปไกลแล้ว เขามีความก้าวหน้าในทางความคิดแล้ว เป็นความท้าทายที่เหล่านักการเมืองอย่างพวกผมต้องก้าวให้ทันประชาชน ก็เป็นความท้าทาย เราก็ต้องสู้กับตัวเอง

-คงไม่ต้องถึงกับรีแบรนด์พรรค เพียงแต่ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคมากขึ้น?

ประชาธิปัตย์ ชื่อก็เป็นประชาธิปัตย์อยู่แล้ว แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงวันนี้กับสิ่งที่เรานำเสนอไป เรื่องการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ให้เขาเป็นเจ้าของพรรคอย่างแท้จริง ให้เขามีส่วนร่วม เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมที่สุด ที่จะเป็นข้อพิสูจน์ให้คนเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในพรรค ปชป. เป็นการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่เปลี่ยนแบบสะเปะสะปะ

เมื่อถามถึงความมั่นใจว่าคนในพรรค โดยเฉพาะผู้อาวุโสจะสนับสนุนและรับฟังเสียงคนรุ่นใหม่ๆ ใน ปชป. เอกนัฏ แจงว่า ทำไมเราไปตีความว่า คนที่อยู่ในพรรคที่อยู่มาก่อน ทำไมไปมองว่าเขาเป็นไดโนเสาร์ หรือเป็นคนโบราณ ไม่ใช่นะครับ จากที่ผมได้สัมผัสอย่างเช่น ท่านชวน หลีกภัย มีความคิดที่ก้าวหน้าทันสมัยมาก ตอนผมจัดรายการทางทีวีแล้วพูดเรื่องการหยั่งเสียงการเลือกตั้งในสหรัฐ ท่านก็โทรศัพท์มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ท่านมีความคิดทันสมัยมาก ท่านไปพบปะประชาชนทุกกลุ่ม รับฟังคนทุกกลุ่ม

จากที่ผมได้มีโอกาสสัมผัส ผมกล้าพูดเลยว่า คนที่อยู่ในพรรค ปชป.มาก่อน มีความทันสมัยอยู่มาก แล้วก็รับฟังความคิดเห็นของคนใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ มีการรับฟังตลอดเวลา แล้วก็มีการปรับจุดสมดุลอยู่ตลอดเวลาระหว่างความคิดที่เกิดขึ้นจากคนหลายรุ่น เพราะแน่นอนที่สุด วันนี้ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ใหม่ รุ่นใหม่ เพราะผมก็บอกแล้วว่า วันนี้สิ่งที่สำคัญคือ คนรุ่นใหม่ก็ต้องร่วมกับคนรุ่นก่อน และคนทุกรุ่น แสวงหาจุดสมดุลระหว่างประสบการณ์กับแนวความคิดที่ใหม่ทันสมัย และที่สำคัญที่สุด คนรุ่นใหม่จะคิดเฉพาะแต่เรื่องใหม่ๆ ให้กับเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องคิดให้กับคนทุกรุ่น

เอกนัฏ ยังได้กล่าวตอบข้อถามถึงกรณีที่หัวหน้าพรรค ปชป.สื่อสารออกมาว่าพรรคจะยึดแนวทางเสรีนิยมว่า ลองมองดูในมุมนี้ก็ได้ว่า ประเทศไทยเราอ้างแต่เรื่องประชาธิปไตย ซึ่งการที่เราจะปฏิรูปประเทศ การแก้ปัญหาเราต้องตีโจทย์ให้แตกก่อน ถ้าเรามองแต่เฉพาะเรื่องวิธีการเข้าสู่อำนาจ มองแค่ว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น ก็เป็นการมองประชาธิปไตยแค่เปลือก หรือมองแค่เฉพาะว่า การเข้าสู่อำนาจไม่ถูกต้อง คือมีรัฐประหาร มีเผด็จการเข้ามา แต่ผมคิดว่าถ้าเราจะตอบโจทย์จริงๆ เราต้องมองปัญหาให้ลึกกว่านั้น ไม่ใช่เฉพาะการเข้าสู่อำนาจเท่านั้น แต่ต้องดูการใช้อำนาจด้วย มันก็เป็นที่มาของการถ่วงดุลอำนาจ การกระจายอำนาจ ซึ่งหลักเหล่านี้เป็นหลักสำคัญที่เป็นเสาค้ำระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

แนวคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยก็จากลักษณะนี้ คือไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแค่รูปแบบ เพียงแค่พิธีการเท่านั้น แต่มันมีหัวใจ มีหลักของความเป็นประชาธิปไตยที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถ่วงดุลอำนาจ การกระจายอำนาจ รวมถึงเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน

            -เห็นเคยบอกว่าพร้อมจะชูนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศโดยตรง?

มาจากหลักที่ว่ากำลังจะปฏิรูปพรรคเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ ไปสู่สังคมยุคใหม่ ซึ่งการปฏิรูปประเทศก็ต้องมีหลายเรื่อง เช่น ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบราชการหรือการเมือง ซึ่งเรื่องปฏิรูปการกระจายอำนาจเป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่อง

โดยเฉพาะปฏิรูปการเมืองการปกครองที่ผ่านมา พรรค ปชป.เป็นผู้ขับเคลื่อนระบบการปกครองบ้านเรามาตลอด เช่น อบต., เทศบาล, อบจ.เกิดขึ้นจากการผลักดันของพรรค ปชป.

จากนี้เราจะเดินหน้าต่อ เป็นการปฏิรูปการปกครองแบบเต็มรูปแบบ ตัดระบบราชการบริหารส่วนภูมิภาค และปฏิรูปกระจายอำนาจและงบประมาณไปสู่การปกครองท้องถิ่น จัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร แต่จะมีการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของเขาเองในทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจะยกระดับเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศให้เป็นมหานคร วันนี้ถ้ามีโอกาส จากที่พรรคได้ทำมาแล้วระดับหนึ่ง แต่เราจะสานต่อไปสู่การปฏิรูป การกระจายอำนาจเต็มรูปแบบ

ถามให้ชัดว่า เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวหรือว่าได้มีการคุยกันแล้วในพรรค เอกนัฏ ตอบว่าเราจะไปขับเคลื่อนตรงนี้ ทางหัวหน้าพรรคเองเมื่อวันที่ 1 เมษายนก็มีการพูดเรื่องนี้ และจากการที่ได้มีการพูดคุย ผมเชื่อว่าหัวหน้าพรรคต้องการขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่ใช่เฉพาะหัวหน้าพรรค แต่เท่าที่ได้พูดคุยมีสมาชิกของพรรคจำนวนมากที่ต้องการนำเสนอสิ่งเหล่านี้

เอกนัฏ ยังกล่าวถึงกรณีหากมีโอกาสนำเสนอนโยบายพรรคในการหาเสียง ปชป.ควรนำเสนอนโยบายอะไรที่จะทำให้คนจำได้ ว่าเรื่องดังกล่าวต้องมองกันแบบเป็นขั้นตอน ตอนนี้ก็ต้องรอ คสช.ปลดล็อก เมื่อปลดล็อกก็จะมีการจัดประชุมใหญ่พรรค มีการเลือกกรรมการบริหารพรรค มีการร่างข้อบังคับพรรคใหม่ มีการกำหนดทิศทาง วางนโยบายพรรค การจัดตั้งสาขาพรรค เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง

ในช่วงนี้ ขั้นตอนแรกเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เราจะฟื้นฟูความศรัทธาของสมาชิกพรรค เรียกสมาชิกพรรค ผู้สนับสนุนพรรคทั่วประเทศ ที่เขามีความเชื่อมั่นพรรค ปชป. เรียกคนเหล่านี้ให้เขามาช่วยกัน  เช่น กำหนดผู้บริหารพรรค เพราะบุคลากรก็มีความสำคัญ หรือมาช่วยกันกำหนดทิศทางพรรค และที่สำคัญคือมาช่วยกันคิด ร่วมกันสร้างนโยบายใหม่ๆ ที่ก็คือมีที่มาจากหลักความคิดการปฏิรูปประเทศไปสู่สังคมยุคใหม่ เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม

          อย่างเรื่องเศรษฐกิจเท่าที่ได้พูดคุยกันกับคนในพรรค ก็มีแนวคิดที่ผมคิดว่าเข้ากับยุคสมัยนี้มากยิ่งขึ้น เช่น การชี้วัดผลจากตัวเลข อย่างตัวเลขการส่งออก ตัวเลขจีดีพี วันนี้เราเห็นแล้วและมีบทพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จของนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่มองแค่ว่าระบบเศรษฐกิจต้องสร้างรายได้ให้ประเทศมากๆ อย่างเดียว แต่ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจทำให้ประชาชนทุกคนมีรายได้ที่ดี มีความมั่นคง มีความสุขกับชีวิตด้วย จึงต้องดูจากหลายองค์ประกอบเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ดูแค่ตัวเลขจีดีพีหรือการส่งออก ยิ่งต่อไปเราจะต้องมองเรื่องอื่นๆ เช่น ระบบสวัสดิการของคนในภาพรวมด้วย เลยเป็นที่มาของเรื่องสังคมสวัสดิการ มีการคิดกันถึงเรื่องการคำนวณรายได้พื้นฐานที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีชีวิตอยู่ได้แบบมีเกียรติมีศักดิ์ศรี

นุน-ไม่หนุนนายกฯ คนนอก?

          ถามถึงเรื่องจุดยืน-แนวคิดการโหวตเลือกนายกฯ เพราะสถานะของ เอกนัฏ ทุกคนรู้กันดีว่าเขาคือ หนึ่งในอดีตแกนนำ กปปส. ที่ใกล้ชิดกับสุเทพ เทือกสุบรรณ เพราะที่ผ่านมาตัวนายสุเทพแสดงจุดยืนชัดเจนหลายครั้งว่า พร้อมสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี

          เรื่องดังกล่าว เอกนัฏ-อดีตโฆษก กปปส. ย้ำว่าผมอยู่ในพรรค ปชป. พอหลังเลือกตั้งเราก็ต้องเลือกนายกฯ คนใน เพราะก็ต้องเลือกคนที่พรรคเสนอ แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาเปิดโอกาส มันเหมือนกับมีประตูหนีไฟ กรณีที่เกิดวิกฤติขึ้น หากสภาไม่สามารถตกลงกันได้ เขาก็เปิดช่องว่าก็สามารถเลือกนายกฯ คนนอกได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติมาแล้ว

...ผมถึงบอกว่าเราก็ต้องเลือกนายกฯ คนใน คือเลือกหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกฯ อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไปสร้างเงื่อนไขขึ้นมาใหม่ เช่นเงื่อนไขที่มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็รัฐธรรมนูญเขียนเปิดโอกาสให้นายกฯ คนนอก แล้วเรามาสร้างเงื่อนไขที่มันขัดกับรัฐธรรมนูญ ในอนาคตมันเสี่ยงมากว่าเราจะเดินหน้าไปสู่ทางตัน ในที่สุดมันอาจถึงขั้นที่ว่าถ้าคุณไม่เอา แล้วจะทำอย่างไร จะไปฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วจะมีปัญหาหรือไม่

“ผมไม่มีปัญหากับคนที่บอกว่าเขาไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก ก็คือเขาไม่โหวตให้นายกฯ คนนอก เป็นสิทธิ์ของเขา แต่ก็ต้องบอกว่าเขาจะคัดค้านถึงระดับไหน เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะมีการทำประชามติ”

ขั้นตอนการเลือกนายกฯ ก็จะเกิดหลังเลือกตั้งที่มีสภา แล้วก็ไปโหวตเห็นชอบเลือกนายกฯ เริ่มต้น ก็ต้องเลือกนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอไป ที่คือนายกฯ คนใน ทุกพรรคก็ต้องไปทำหน้าที่เลือก อย่างผมอยู่ประชาธิปัตย์ ผมก็ต้องเลือกคนที่พรรคเสนอไปเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทุกคนที่ผ่านการเลือกตั้งใหม่เข้าไปเป็น ส.ส. ผมเชื่อว่าทุกคนเลือกนายกฯ คนในอยู่แล้ว 

- หากพรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน  250 เสียงที่เกินกึ่งหนึ่งของสภาแล้วยังไง ส.ว.ที่โหวตนายกฯ ก็ต้องฟัง ส.ส.ด้วย?

คือในที่สุดเพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคง ยังไงก็ต้องให้มีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เกิน 250 เสียงอยู่แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็จะไม่สามารถผ่านกฎหมาย ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ หากไม่มีเสียงส.ส.ส่วนใหญ่ในสภายังไงก็ต้องมีเสียง ส.ส. 250 เสียง

 “ลำดับแรก ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไป ก็จะไปตกลงกันก่อนว่าจะเลือกนายกฯ คนไหน ที่จังหวะนี้จะเป็นนายกฯ คนในอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าสามารถไปเลือกนายกฯ คนนอกได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไปเลือกนายกฯ คนนอกที่มีชื่ออยู่ในใจอยู่แล้ว  ถ้าจะเดินหน้าไปสู่ตรงนั้นก็ต้องดูที่มาว่าเป็นคนที่ดีหรือไม่ ทำไมเราติดยึดกับเรื่องคนนอกหรือคนใน วันนี้จริงๆ เราต้องพูดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะเลือกนายกฯ คนที่ดีที่สุดให้ประเทศ”

เมื่อถามถึงกรณีมีการวิเคราะห์กันว่า หลังเลือกตั้งพวก ส.ส.ปชป.ที่มาจากสาย กปปส.เดิม ตอนโหวตเลือกนายกฯ อาจไม่เลือกคนที่พรรคบอกให้โหวต เอกนัฏ ย้ำว่าเป็นการเข้าใจผิดมาก เพราะคนที่ลาออกจาก ส.ส.ปชป.ไปร่วมเคลื่อนไหวเมื่อปี 2556 ที่ทำตอนนั้นก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การชุมนุมไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเรื่องการเมือง แต่เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่มีเป้าหมายชัดเจนคือ การต่อสู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ไม่ใช่ทำเพื่อให้พรรคการเมืองใดเข้ามาสู่อำนาจ ตรงนี้เราชัดเจนอยู่แล้ว

...มีบางคนไปพูดอีกว่าแกนนำ กปปส.บางคนกลับเข้ามาพรรค แล้วจะมาอะไร ผมก็ไม่รู้ไปคิดอะไรกัน แต่จริงๆ แกนนำทุกคนก็เป็นอดีต ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ได้ไปร่วมต่อสู้กับประชาชน เขาก็อาจมีแนวคิดที่ซึมซับมาจากประชาชนที่ไปร่วมต่อสู้ด้วยกันก็คือ ความคิดที่ต้องการให้มีการปฏิรูป ที่จริงๆ แล้วสิ่งที่เราอยากทำในพรรคก็คืออยากผลักดันเรื่องการปฏิรูป ทั้งการปฏิรูปพรรค การปฏิรูปประเทศ ที่ก็ไม่ขัดแย้งกับอุดมการณ์พรรค ปชป.ตรงไหนเลย จึงไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไรเลยที่คนเหล่านั้นเขาจะไปร่วมทำงานกับพรรค ปชป. แล้วก็ไม่ได้ปิดกั้นว่า กปปส.ต้องมาทำกับพรรค ปชป.เพราะที่เคยไปร่วมชุมนุมกับ กปปส.หลายคนที่ไปตั้งพรรค เช่น นายไพบูลย์ นิติตะวัน (พรรคประชาชนปฏิรูป) หรือ นพ.ระวี มาศฉมาดล (พรรคพลังธรรมใหม่) วันนี้เมื่อออกมาจากท้องถนนแล้ว เขาสามารถไปสานต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปในรูปแบบไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองก็ได้ ทำได้หมด ไปทำตามความถนัดของแต่ละคนได้  หรือจะมาเป็นนักการเมือง หรือจะอยู่พรรคไหน ก็ทำได้หมด ไม่มีปัญหาอะไรเลย.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

...............................................

ล้อมกรอบ 4-5

คสช.ต้องเร่งเครื่องปฏิรูป

พร้อมชูธงเลือก ผวจ.ทั่วประเทศ

          สนทนาการเมืองมาถึงประเด็นนอกเหนือจากเรื่องภายในพรรคประชาธิปัตย์ โยนประเด็นถาม เอกนัฏ-อดีตโฆษก กปปส.-เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เพื่อถามมุมมองต่อกรณีที่ กปปส.เคยชูธงการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ มาถึงตอนนี้เกือบจะครบสี่ปีหลายคนมองว่า คสช.-รัฐบาลไม่มีผลงานเรื่องปฏิรูปประเทศอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง

          เอกนัฏ มองว่าเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาก็มีที่ดีและไม่ดี เรื่องที่เห็นว่ามีความก้าวหน้าก็คือจะเห็นได้ชัดว่า รธน.มีการบัญญัติเรื่องขั้นตอนต่างๆ ในการปฏิรูปที่ชัดเจนมากที่สุด ถือว่ามีการวางรากฐานการปฏิรูปเอาไว้แล้ว แต่การปฏิรูปบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานเป็น 4-5 ปี ไม่ควรอ้างว่ามีเยอะมากจนทำไม่หมด เพราะควรนำเรื่องสำคัญๆ ที่ต้องทำ ที่ใช้เวลานาน ก็หวังว่าช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงมีการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจก็จะใช้เวลาที่เหลือให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

          เอกนัฏ กล่าวตอบหลังถามว่า ประเด็นที่ กปปส.เคยเรียกร้อง เช่น ปฏิรูปตำรวจ หรือการกระจายอำนาจแทบไม่ได้เห็นความคืบหน้า โดยมองว่าสิ่งที่เราอยากเห็นอย่างน้อยที่สุด ก็คือเรื่องระบบการเมือง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีการทำเช่นเรื่อง ไพรมารีโหวต ที่ให้หยั่งเสียง แต่บางพรรคอย่างประชาธิปัตย์ไปไกลกว่านั้น มีการให้หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคด้วย จึงเห็นว่ามีการปฏิรูปเรื่องระบบการเมือง

...ส่วนสิ่งที่ขาดก็อย่างเช่นการกระจายอำนาจ ที่ไม่ใช่เรื่องการปกครองอย่างเดียว แต่เราอยากเห็นการกระจายอื่นๆ เช่น กระจายอำนาจด้านงบประมาณ ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้หัวเมืองต่างๆ เป็นมหานคร รวมถึงการกระจายอำนาจของตำรวจด้วย เพราะวันนี้มีการกระจุกอำนาจ ทำให้การตัดสินใจหรือการแต่งตั้งโยกย้ายจะเป็นระบบการปกครอง หรือตำรวจ มีการกระจุกไว้กับคนไม่กี่คน โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการให้คุณให้โทษกับตำรวจที่ดีหรือไม่ดีเลย แล้วก็ไม่มีการคิดเรื่องการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ตำรวจได้ทำหน้าที่ของเขาได้เต็มที่ ก็เช่นเดียวกับระบบการปกครองที่อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายผู้ว่าฯ นายอำเภอ ตัวแทนส่วนราชการภูมิภาค เช่น  อุตสาหกรรมจังหวัด เกษตรจังหวัด อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายก็กระจุกอยู่ที่แค่คนไม่กี่คน

เอกนัฏ ย้ำว่าเมื่อไม่มีการปฏิรูปดังกล่าวเกิดขึ้น ปัญหาก็คือ กลไกเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ ซึ่งเรื่องพวกนี้จริงๆ ก็ใช้เวลาไม่นานที่จะทำ ในช่วงก่อนมีการเลือกตั้งหากจะทำจริงๆ ก็ทำได้ แต่หากเขาไม่ทำพวกเราก็ต้องมาทำกันเอง

...พูดตรงๆ เราไม่ท้อถอย แล้วเราก็ไม่อยากมองโลกในแง่ลบ หากเขามีความตั้งใจจะทำ แล้วทำไม่ได้ เราก็ต้องมาช่วยกันทำ หลายเรื่องเช่นการปฏิรูปการศึกษา มูลนิธิฯ ก็มาตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาภาวนาโพธิคุณ เกาะสมุย ที่เน้นเรื่องการผลิตบุคลากรมารองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างทักษะและคุณธรรมเพื่อให้เรียนแล้วออกมามีงานทำ แล้วก็มีการให้เด็กเรียนฟรี สร้างโอกาสให้เด็กด้อยโอกาส สิ่งเหล่านี้ไม่เห็นต้องรอรัฐบาลมาทำ แต่เราทำเป็นต้นแบบไว้แล้ว เพราะต่อไปเราต้องมองภาพใหญ่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนการประเมินการทำงานของ คสช.ผมคิดว่าก็โอเคระดับหนึ่งที่ทำให้บ้านเมืองสงบ แต่วันนี้ที่จะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง กำลังไปสู่อนาคต จึงเป็นเวลาที่เราต้องมาร่วมกันคิดมากกว่าต่อจากนี้เราจะทำอะไร ที่ผ่านมาหลายคนเวลามาคุยกับผม มักจะถามว่าเห็นเราเป็นแกนนำการชุมนุม ส่วนใหญ่ก็จะถามว่าชุมนุมต้องทำอย่างไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่สิ่งที่ผมอยากตอบมากกว่าก็คือ จะทำยังไงที่จะไม่ต้องชุมนุม ทำอย่างไรให้ประเทศมีระบบการเมืองที่ตอบสนองประชาชน นักการเมืองเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง เราอยากเอาประสบการณ์เหล่านี้มาช่วยกำหนดทิศทางในอนาคตมากกว่า ว่าอะไรที่ควรจะทำ ไม่ใช่มาแก้ปัญหาเฉพาะปัญหาที่เกิดไม่นาน มองไปก็ไม่เคยมองข้ามการรัฐประหารไปเสียที โดยไม่มองว่าที่เขารัฐประหารเพราะอะไร คนออกมาเพราะอะไร เกิดอะไรขึ้นกับการเมืองของประเทศ อยากให้มองให้ลึกๆ เราจะได้เห็นปัญหารอบด้าน แล้วเวลาแก้ปัญหาจะได้สมบูรณ์แบบ ถึงเป็นที่มาว่าถ้าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบก็อย่ามองประชาธิปไตยแค่เป็นวาทกรรมแต่ปาก แต่ต้องหัดรับฟัง ใช้หูและใช้หัวใจที่เป็นประชาธิปไตยด้วย

...ประชาธิปไตยไม่ใช่มีแค่การเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจเท่านั้น แต่วันนี้ต้องมีการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงไปสู่การถ่วงดุลอำนาจ การกระจายอำนาจ ที่ก็จะเป็นเกราะป้องกันประเทศในการทำให้ระบบการเมืองเดินหน้าไปได้โดยไม่ต้องติดหล่มหรือมาสะดุด.

.................................


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"