"นิรุฒ มณีพันธ์"ผู้ว่าฯรฟท.คนที่19 ภารกิจพลิกฟื้นองค์กร-ยกระดับสู่นิวนอร์มอล


เพิ่มเพื่อน    

"ต่อจากนี้จะเห็นการทำงานแบบใหม่ ปรับปรุงขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดความซ้ำซ้อนและล่าช้า ภายใต้แนวคิด “ถูกเวลา ถูกต้อง ยั่งยืน และหลังจากนี้รถไฟยุค New Normal เป็นองค์กรที่ชาญฉลาด เมื่อคนข้างนอกหันเข้ามาในองค์กร จะไม่เห็นภาพขององค์กรที่ล้าหลัง ทุจริต ไม่มีประสิทธิภาพ สกปรกอีกต่อไป"

 

      หลังที่นั่งว่างมาร่วม 2 ปี สุดท้ายก็ได้ตัวจริงมาบริหารงานกันสักที "นิรุฒ มณีพันธ์" ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คนที่19 ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือวันที่ 24 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการนั้นคือการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19   และรักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ รวมถึงพนักงานของการรถไฟฯ 

        อย่างไรก็ตาม เมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  คลี่คลายลง ก็ยังมีปัญหาต่างๆ ของการรถไฟที่สะสมมานานและรอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นคดีความของการรถไฟฯ กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ยังค้างคา ซึ่งล่าสุดศาลปกครองได้รับคำร้องตามที่ รฟท.ยื่นไปก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้ศาลช่วยตรวจสอบในประเด็นบริษัท โฮปเวลล์ จดทะเบียนไม่ถูกต้อง เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของภาครัฐ

        รวมถึงการเร่งรัดดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการของ รฟท.ที่มีหนี้สะสมจำนวนมาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ซึ่ง นายนิรุฒ ได้ระบุว่า ในช่วง 2 เดือนแรกที่เข้ารับตำแหน่งนั้นจะเป็นการลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและตรวจเยี่ยมพนักงานทั่วประเทศ ในการลงพื้นที่ทำให้เห็นถึงการดำเนินงานต่างๆ ของการรถไฟฯ ทั้งในเรื่องของข้อจำกัดต่างๆ

        นายนิรุฒกล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การรถไฟต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แต่ก็สามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ มาได้ จึงเห็นได้ว่าการรถไฟ เป็นองค์กรแห่งโอกาส ทั้งโอกาสในการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางสู่ความเป็นเลิศ และความเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน โอกาสที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับระบบราง เพื่อรับใช้สังคมไทยในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ  ซึ่งในฐานะผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมแล้วที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนภารกิจของการรถไฟฯ อย่างเต็มศักยภาพ ตามวิสัยทัศน์ เป็นผู้ให้บริการระบบรางของรัฐที่ดีที่สุดในอาเซียนในปี 2570 สู่อนาคต

        "การขับเคลื่อนและการยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการพัฒนาองค์กรและการจัดการให้เชื่อมโยงอย่างบูรณาการ โดยจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้กับพนักงานในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในการยกระดับโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ การพัฒนาความรู้ ความสามารถของบุคลากร เพื่อให้มีศักยภาพตรงตาม Competency ที่การรถไฟฯ ต้องการ และการ Reskill & Upskill พนักงาน โดยมีส่วนสำคัญคือการรักษาองค์ความรู้ โดยการสร้างระบบถ่ายทอดและเก็บรักษาองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น มีแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น" นายนิรุฒกล่าว

      นอกจากนี้ ยังต้องยกระดับการจำหน่ายบัตรโดยสาร การจ่ายเงินทุกอย่างผ่านแอปพลิเคชัน ลดการใช้เงินสด ลดการรั่วไหล ซึ่งได้หารือกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อระบบการเช่าที่ดิน ที่มีผู้เช่ากว่า 10,000 ราย จ่ายเงินค่าเช่าผ่านแอป แทนพนักงานรถไฟ เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นไปทำงานอื่นๆ ได้ ซึ่งได้เสนอแผนทั้งหมดและได้รับความเห็นชอบจากบอร์ด  รฟท.แล้ว จะเร่งนำไปสู่การปฏิบัติ

        "ต่อจากนี้จะเห็นการทำงานแบบใหม่ ปรับปรุงขั้นตอนการบริหารจัดการ ลดความซ้ำซ้อนและล่าช้า ภายใต้แนวคิด “ถูกเวลา ถูกต้อง ยั่งยืนและหลังจากนี้ รถไฟยุค New Normal เป็นองค์กรที่ชาญฉลาด เมื่อคนข้างนอกหันเข้ามาในองค์กร จะไม่เห็นภาพขององค์กรที่ล้าหลัง ทุจริต ไม่มีประสิทธิภาพ สกปรกอีกต่อไป" นายนิรุฒกล่าว

3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนรถไฟ

        นายนิรุฒ กล่าวว่า สำหรับหลักในการทำงานได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน คือ เพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางราง, เพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย และขับเคลื่อนและยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนว่าการรถไฟฯ จะต้องเพิ่มอะไร และอย่างไรบ้าง

        อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่การรถไฟต้องเร่งรัดดำเนินการ คือแผนเพิ่มรายได้องค์กร เบื้องต้นประกอบไปด้วยแนวทางเพิ่มการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง เช่น การผลักดันโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ระบบรถไฟสายชานเมืองสายสีแดง และส่วนต่อขยาย โดยการรถไฟอยู่ระหว่างผลักดันการประกวดราคา รถไฟทางคู่เส้นทางใหม่ 2 โครงการ คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และช่วงบ้านไผ่-นครพนม คาดว่าจะเปิดประมูลภายในปลายปีนี้"

        สำหรับการพัฒนารถไฟทางคู่นั้น การรถไฟจะเร่งผลักดันการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวม 7 เส้นทาง ซึ่งจะเร่งรัดในส่วนของเส้นทางที่ปัจจุบันยังเป็นทางเดี่ยวฟันหลอ เพื่อพัฒนาจะกลายเป็นทางคู่ทั้งเส้นทาง เช่น สายปากน้ำโพ-เด่นชัย และขอนแก่น-หนองคาย เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังมีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟตามหัวเมือง (TOD) อาทิ สถานีรถไฟขอนแก่นและนครราชสีมา เป็นต้น เนื่องจากพบว่าสถานีรถไฟเหล่านี้มีพื้นที่ใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการพาณิชย์ และจะสร้างรายได้ธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก (Noncore Business) ให้กับองค์กรมากขึ้น อีกทั้งเพื่อผลักดันให้สถานีรถไฟกลายเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) กลางเมือง

สร้างรายได้จากที่ดิน

        นายนิรุฒ กล่าวว่า ยังต้องเร่งสร้างรายได้ให้กับการรถไฟ โดยการพัฒนาที่ดินของการรถไฟ ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นนั้นพบว่า การรถไฟมีที่ดินทั้งหมดประมาณ 240,000 ไร่ และในจำนวนนี้ประมาณ 20,000 ไร่ที่เหมาะกับการนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์มีรายได้ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งรายได้ดังกล่าวถือว่าน้อยมาก เนื่องจากที่ดินของการรถไฟบางส่วนตั้งใจกลางเมือง หากสามารถบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบมากขึ้น รฟท.จะมีรายได้มากขึ้น โดยการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีใหญ่ อาทิ สถานีกลางบางซื่อ สถานีแม่น้ำ สถานีมักกะสัน 

        "อัตราค่าเช่า อาจจะต้องพิจารณาอีกทีในภายหลัง  เพราะอาจจะกระทบกับภาระค่าครองชีพของประชาชน ทั้งนี้ คาดว่าการจัดประเภทและบริหารจัดการที่ดินจะสรุปได้ภายในปีนี้ ส่วนการทำแผนฟื้นฟูภาระหนี้สิน 1.67 แสนล้านขององค์กร ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เพราะยังไม่ได้แตะส่วนไหนของแผนเป็นพิเศษ องค์ประกอบเดิมยังอยู่ทั้งหมด แต่เท่าที่เห็นแผนดังกล่าวเป็นแผนที่ดี และทุกอย่างจะเดินหน้าต่อ" นายนิรุฒ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"