ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย รัฐบาลมีมาตรการยับยั้งป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส มีการปิดห้างสรรพสินค้า ห้างร้าน และร้านอาหารต่างๆ ที่อาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อ รวมทั้งมีการประกาศเคอร์ฟิวส์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะคนยาก คนจน ผู้มีรายได้น้อยที่ทำงานรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ ต้องถูกเลิกจ้าง หรือมีรายได้ลดน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ กลุ่มคนจนในเมือง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ได้รวมตัวช่วยเหลือกัน โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง เรื่องอาหารการกิน โดยจัดทำครัวกลางขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายอาหารในชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ รวม 44 ครัว และจังหวัดนนทบุรี 3 ครัว รวมอาหารกว่า 120,000 กล่อง/ชุด นอกจากนี้ยังมีที่ต่างจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งศูนย์ฟื้นฟูคนไร้บ้าน (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และปทุมธานี) เป็นการช่วยเหลือกันในยามยากที่คนจนหยิบยื่นน้ำใจให้แก่กัน
“รวมน้ำใจสู้ภัยโควิด”
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจไปทุกหย่อมย่าน โดยเฉพาะคนจนเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง หรือหากินเป็นรายวัน เช่น ลูกจ้างร้านอาหาร มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขับแท็กซี่ ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า หลายคนต้องถูกเลิกจ้าง ปิดงานกระทันหัน ขาดเงิน ขาดรายได้ หรือมีรายได้ลดน้อยลง ไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงครอบครัว
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จึงสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ที่มีความพร้อมจัดทำครัวชุมชนขึ้นมาเพื่อทำอาหารแจกจ่ายกันกินในชุมชน โดยมีภาคเอกชน ห้างร้านต่างๆ ร่วมนำข้าวสาร อาหารสด-แห้ง ผักสด รวมทั้งแอลกอฮอล์เพื่อทำเจลล้างมือ เช่น กลุ่มนิสิตเก่า น้องใหม่จุฬาฯ รุ่น 2514 เครือข่ายเพื่อนปลูกเพื่อนกิน บริษัทน้ำตาลมิตรผล จำกัด Tesco Lotus บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัทหยั่นหว่อหยุ่น บริษัท เอช เค ฟาร์มาซูติคอล มูลนิธิพุทธรักษา ฯลฯ
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมที่ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง
เริ่มเปิดกิจกรรมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. เป็นประธานในการเปิดกิจกรรมเป็นชุมชนแรก จากนั้นจึงขยายไปยังชุมชนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดนนทบุรี รวมทั้งในต่างจังหวัด โดยชุมชนที่จัดทำครัวขึ้นมา จะมีแม่ครัวอาสาและลูกมือมาช่วยกันทำอาหารสารพัดอย่าง ทั้งต้ม ยำ แกง ผัด ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ราดหน้า กระเพาะปลา ฯลฯ แล้วแต่ว่าใครมีฝีมือทางไหน นอกจากนี้ยังนำผลผลิตของชุมชนมาทำอาหารด้วย
นุชจรี พันธุ์โสม ผู้แทนชุมชนรุ่งมณี เขตวังทองหลาง เล่าว่า ชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลาง จำนวน 20 ชุมชน รวมตัวกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง (ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) ขึ้นมาในปี 2556 เพื่อทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนร่วมกัน เมื่อมีสถานการณ์โควิด สภาองค์กรชุมชนฯ จึงให้สมาชิกแต่ละชุมชนสำรวจข้อมูล พบผู้เดือดร้อนประมาณ 1,300 คน จากนั้นจึงจัดทำครัวชุมชนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยจัดทำข้าวกล่องแจกครั้งละ 400-500 กล่อง ใช้งบประมาณเริ่มแรกจากกองทุนสวัสดิการชุมชน เงินสนับสนุนจากสภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง รวมทั้งหมดประมาณ 130,000 บาท หลังจากนั้นจึงได้รับงบประมาณสมทบจาก พอช.
“การทำครัวกลางจะช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า แต่ไม่ยั่งยืน เราจึงคิดว่าชุมชนควรจะสร้างแหล่งอาหาร เพราะเรามีพื้นที่อยู่แล้วเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เนื้อที่ 400 ตารางวา จึงเริ่มปลูกผักตั้งแต่เดือนมีนาคม มีผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง เป็นผักอินทรีย์ และเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์อีก 6 บ่อ เอามาทำอาหารแจกกันกิน” นุชจรีบอก
นอกจากที่ชุมชนรุ่งมณีแล้ว ยังมีชุมชนอื่นๆ ที่นำผลผลิตจากชุมชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผักสวนครัวที่ชุมชนปลูก เช่น ชุมชนเฟื่องฟ้า เขตประเวศ ชุมชนบ้านมั่นคง 133 เขตบางบอน ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาธร ฯลฯ เป็นการสร้างแหล่งอาหารในระยะยาว แม้ว่าสถานการณ์โควิดจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม
แปลงผักที่ชุมชนรุ่งมณีและชุมชนเฟื่องฟ้า
“ไม่ใช่เพียงแค่ข้าวห่อเดียวเท่านั้น
จากการจัดทำครัวชุมชนในเขตกรุงเทพฯ และนนทบุรี ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน จนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย รัฐบาลมีมาตรการผ่อนคลายต่างๆ ทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น รวมทั้งวงจรธุรกิจที่หยุดชะงักได้ขับเคลื่อนต่อไป เครือข่ายองค์กรชุมชนที่จัดทำครัวชุมชนและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จึงได้จัดเวทีสรุปบทเรียนการจัดทำครัวชุมชนเมื่อวันที่ 8 กรกฏาคมที่ผ่านมาที่สถาบันฯ โดยมีผู้แทนชุมชนต่างๆ เข้าร่วม
พบว่า มีการจัดทำครัวชุมชนทั้งหมดในพื้นที่ 22 เขตในกรุงเทพฯ และ 2 เทศบาลในจังหวัดนนทบุรี รวม 47 ครัวทำอาหารแจกจ่ายทั้งหมด 124,333 กล่อง/ชุด (เป้าหมาย 118,094 กล่อง/ชุด) นอกจากนี้ยังมีการตั้งตู้ปันสุข รวมทั้งหมด 17 ตู้ พื้นที่ปลูกผัก เพาะเห็ด สร้างแหล่งอาหาร รวม 10 ชุมชน และได้รับเงินบริจาคทั้งหมด 467,269 บาท นำไปสนับสนุนชุมชนรวม 462,881 บาท ยอดคงเหลือ 4,388 บาท (นำไปจัดตั้งกองทุนสู้ภัยพิบัติ) และช่วยเหลือผู้เดือดร้อน/ยากไร้ 1,800 รายใน 17 จังหวัด
ครัวที่ชุมชนบ้านมั่นคงสวนพลู เขตสาธร
ผู้แทนชุมชนบ้านมั่นคง 133 เขตบางบอน บอกว่า ชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเขตบางบอนอยู่แล้ว จึงนำเงินกองทุนสวัสดิการมาช่วยเหลือสมาชิก เช่น แจกแมส เจล ข้าวสาร อาหารแห้ง เมื่อทำครัวชุมชนจึงได้ทำอาหารแจกสมาชิกในเขตบางบอน รวม 12 ชุมชน 33 กลุ่ม กลุ่มที่ตกขอบเราก็เข้าไปช่วยเหลือ เข้าถึงทุกกลุ่ม มีความภูมิใจที่ได้ได้ดูแลช่วยเหลือผู้ยากไร้ ได้เห็นครอบครัวมีความสุข ได้กินข้าวร่วมกันจากอาหารของเรา
วิเชียร แสงพลอย จากชุมชนบ้านมั่นคงเจริญชัยนิมิตใหม่ บอกว่า มีความประทับใจเรื่องการทำครัวกลาง โดยทำ 8 ครั้ง แจกครั้งละ 500 ชุด บางวันแจก 3 ชุมชน แต่ชุมชนไหนที่มีคนเยอะก็แจกชุมชนเดียว จากการทำกิจกรรมได้พบชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อก็ได้มอบอาหารจากครัวชุมชนให้
ผู้แทนชุมชนพูลทรัพย์ เครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าประสบการณ์ว่า การทำครัวชุมชนทำให้เกิดทีมงานช่วยเหลือดูแลกัน ได้ข้อมูลผู้พิการ ด้อยโอกาส แม่ครัวได้พูดคุยกันมีความสนุก ประทับใจในการทำงาน ได้กินข้าวร่วมกัน แบ่งปันอาหารให้ชุมชนข้างเคียง เมื่อก่อนไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วย ครัวกลางได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่หน่วยงานเข้าไม่ถึง คนทำงานทุกคนเหนื่อยมาก แต่ก็มีความสุข
ผู้แทนชุมชนริมทางรถไฟมักกะสัน บอกว่า ชุมชนมีสมาชิกประมาณ 700 คน บุกรุกริมคลองมักกะสัน บางบ้านไม่มีเงินจะซื้อหม้อหุงข้าว บางบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ได้ถุงยังชีพมา ก็หุงต้มไม่ได้ จึงขอของในถุงยังชีพมาหุงต้มให้ โดยขอความช่วยเหลือจากวัดใกล้ๆ พอได้งบครัวกลาง จึงตั้งครัวกลางขึ้น หน่วยงานต่างๆ ก็นำสิ่งของบริจาคมาช่วยเหลือ เป็นสิ่งดีๆ ที่ชุมชนได้รับในช่วงที่มีสถานการณ์ถูกไล่รื้อ
ครัวกลางที่ชุมชนบ้านครัว
เวทีสรุปบทเรียนยังได้ข้อสรุปร่วมกัน เช่น เกิดการร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทำ เชื่อมร้อยเครือข่ายคนจน และชุมชน ทำให้เกิดความรัก ความสามัคคี ชาวชุมชนเกิดกำลังใจ มีความภูมิใจ แสดงพลังเครือข่ายชุมชนให้สังคมได้เห็น เปลี่ยนจากผู้รับผลกระทบ เป็นผู้จัดการปัญหา และเปลี่ยนจากผู้รับเป็นผู้ให้ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เปลี่ยนกิจกรรมชั่วคราวเป็นความยั่งยืน เพราะหลายชุมชนมีแผนที่จะทำเรื่องอื่นๆ ต่อไป เช่น ปลูกผัก เพาะเห็ด เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ไว้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน
นอกจากนี้ชุมชนที่ยังไม่เคยมีการจัดตั้งกองทุนหรือกิจกรรมต่างๆ ก็มีแผนจะจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นกองทุนสำหรับเอาไว้ช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อน หรือรวมกลุ่มกันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับเขต เพื่อรวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชน เพราะมีกฎหมายรองรับ (พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551) รวมทั้งชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อก็มีแผนที่จะรวมกลุ่มเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคงโดย พอช.จะให้การสนับสนุน ฯลฯ
อาหารจากครัวชุมชนบ้านมั่นคงสวนพูลแบ่งปันไปให้ชุมชนอื่นด้วย
สมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สังคมไทยมีโครงสร้างชุมชนเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ดูแลเฝ้าระวังกันเอง สมัยก่อนเมื่อเกิดภัยพิบัติ คนไทยก็เยียวยากันด้วยครัวกลาง ตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันก็เริ่มจากครัวกลาง ครั้งนี้เกิดภัยพิบัติโควิด ตอนแรกมีแรงคัดค้านเรื่องครัวกลาง เพราะมองว่าคนสามารถอยู่บ้านได้ แจกข้าวสารอาหารแห้งดีกว่า แต่ทาง พอช. เห็นว่าครัวกลางมีประโยชน์มากกว่า โดยใช้หลักการว่า “ครัวของชุมชนโดยชุมชน” ทำกันได้เอง แต่ละครัวก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดความรักสมัครสมาน
“ครัวกลาง ความหมายมันไม่ใช่เพียงแค่ข้าวห่อเดียว แต่น้ำใจการยื่นมือเข้าช่วยเหลือกันในยามยากนี้มีค่ามากนัก เพราะได้ช่วยเหลือแบ่งปันยามยาก และเป็นเรื่องที่น่าดีใจ เวลาที่เกิดเรื่องร้ายๆ เราจะเห็นคนที่ลำบากยากไร้ ช่วยเหลือ เอื้ออาธรณ์ซึ่งกันและกัน ดูแลกันและกัน ทำให้คนจนลดค่าใช้จ่าย ใช้เงินน้อย แต่ทำได้มาก เกิดผลที่ยิ่งใหญ่ เกิดพลังที่ยิ่งใหญ่ ขอให้เชื่อมั่นในพลังแล้วเดินหน้าต่อไป” ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ กล่าวทิ้งท้าย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |