เฉ่ง!ปฏิรูปแค่วาทกรรม ‘ลุงตู่’ฟุ้ง20ปีเกิดสิ่งดีแน่


เพิ่มเพื่อน    

  ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์อีก! หลังสภาเข็นรับทราบรายงานปฏิรูปประเทศเข้าที่ประชุมโดยไม่สนสภาล่ม โวยไม่ใช่สภาตรายาง "นิกร" ลากไส้สถานะ กก.ปฏิรูปเพิ่งเริ่มนับหนึ่งทั้งที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี "เทพไท" ซัดแค่วาทกรรมล้มเหลว ส่วนการปฏิรูปตำรวจต้องรอชาติหน้าตอบบ่ายๆ นายกฯ อ้างภาครัฐอ่อนประชาสัมพันธ์ทำคนมองยุทธศาสตร์ชาติไม่คืบ ฟุ้ง! ครบ 20 ปีทุกโครงการที่เกิดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

     ที่รัฐสภา วันที่ 9 กรกฎาคม ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระการพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ (เดือน ต.ค.-ธ.ค.2562) ต่อจากเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการขอนับองค์ประชุม และปรากฏว่าองค์ประชุมไม่ครบจนสภาล่ม นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในการประชุมแจ้งว่า จากการประชุมสภาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ซึ่งองค์ประชุมไม่ครบจนต้องสั่งปิดการประชุมนั้น วันนี้จึงขอประกาศจำนวนสมาชิกที่เข้ามาลงชื่อขณะนี้จำนวน 443 คน ถือว่าครบองค์ประชุม จึงขอดำเนินการประชุมต่อ
     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่า ระเบียบวาระนี้ตนได้อภิปรายไปแล้วว่าไม่ขอรับทราบรายงานฉบับนี้ เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ก็ได้มีการตรวจสอบองค์ประชุมเพื่อให้เห็นว่าสภามีความสำคัญ ไม่ใช่สภาตรายาง แต่สภากลับแสดงภาพที่ไม่พร้อมให้ฝ่ายบริหารตำหนิได้ ดังนั้นวันนี้ถ้าเอาระเบียบวาระดังกล่าวเข้ามาพิจารณาอีก ในฐานะตัวแทนฝ่ายค้านจึงไม่สามารถที่จะรับทราบรายงานฉบับนี้ได้ แต่ถ้าหากเสียงข้างมากจะดำเนินการไปตามระเบียบวาระนั้น พวกตนก็ไม่ว่า แต่พวกตนขอไม่อยู่รับทราบในวาระนี้ หากเสร็จจากการพิจารณาในวาระนี้แล้วก็ยินดีที่จะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม จึงขออนุญาตออกจากห้องประชุม
     จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านจึงทยอยเดินออกจากห้องประชุมสภาทันที
    ทั้งนี้ แม้ว่านายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล จะพยายามชี้แจงขั้นตอนและหลักการในการรับทราบรายงานว่าเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย แต่ฝ่ายค้านก็ยังยืนยันที่จะไม่ขออยู่รับทราบรายงานฉบับนี้ ในที่สุดที่ประชุมสภาจึงเข้าสู่การพิจารณาตามระเบียบวาระต่อไป
    จากนั้น นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายว่า ทำไมกรรมการปฏิรูปประเทศไม่มาร่วมรับฟังความเห็นจากสภา มีแต่ตัวแทนสภาพัฒน์ จึงเรียกร้องให้เชิญกรรมการปฏิรูปมาร่วมรับฟังด้วย สถานะของคณะกรรมการแต่ละชุดเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่ง แม้จะผ่านมาแล้วเกือบ 3 ปีก็ตาม เพราะกรรมการลาออกกันเยอะ บางคณะทำงานไม่ได้ ซึ่ง ครม.เพิ่งได้มีการแต่งตั้งไปแทน พร้อมๆ กับตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศขึ้นใหม่อีก 2 คณะ คือด้านการศึกษากับด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แม้จะช้าไป 2 ปี แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา ส่วนความก้าวหน้าของการปฏิรูปในภาพรวมเกือบทุกด้านตามรายงาน ยังไม่มีโครงการต่างๆ ที่ปรากฏเป็นนามธรรม ไม่อาจวัดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมได้เลย อย่างการปฏิรูปด้านการเมืองถือว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
    "เหตุที่ไม่มีความก้าวหน้า อาจมาจากเหตุที่กรรมการปฏิรูปลาออกไปจนเป็น ส.ส. เป็นรัฐมนตรี จนเหลือเพียง 2 คนมานาน ประชุมไม่ได้ ขณะนี้มีปัจจัยท้าทายการปฏิรูป 2 เรื่องที่ต้องมีการแก้ไข 1.แก้ไขปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉินเฉพาะหน้า ควรปรับปรุงแผนการให้สอดคล้องกับสภาวการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะแผนงานด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และการบริหารประเทศต้องจูนใหม่  และ 2.ควรแก้ไขปัญหาสภาวะสำคัญของสถานะการปฏิรูปตามรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยส่วนตัวให้คงหมวดนี้ไว้ แล้วปรับปรุงกลไกเสียใหม่ทั้งหมด และยังขอให้ขยายการรายงานต่อสภาออกไปเป็นทุก 6 เดือนแทน 3 เดือนที่เป็นไปไม่ได้ในเชิงบริหาร จนทำให้รัฐบาลกับฝ่ายค้านผิดใจกัน" นายนิกรกล่าว
ปฏิรูปแค่พิธีกรรม
     ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การรายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ 12 ด้าน ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปให้เสียเวลา เพราะหัวใจของการปฏิรูปประเทศอยู่ที่รัฐธรรมนูญ ถ้ามีการปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยตามหลักสากล ก็สามารถครอบคลุมการปฏิรูปในทุกด้าน หัวใจสำคัญที่สุดที่ต้องปฏิรูปคือการเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองของ ส.ส. คือหมวดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่เมื่อ กกต.ชุดนี้มีความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 มีการซื้อเสียงอย่างมโหฬาร แต่ กกต.ไม่สามารถให้ใบแดงกับผู้สมัครคนใดได้เลยแม้แต่คนเดียว เมื่อการเข้าสู่ตำแหน่งของ ส.ส.ไม่สุจริต ทำให้การเข้าสู่ตำแหน่งของนายกฯ และรัฐบาลที่ต้องใช้เสียงโหวตจาก ส.ส.รวมกับ ส.ว.ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.จำนวน 250 คน เพื่อมาเลือกตั้งนายกฯ ตำแหน่งนายกฯ จึงเป็นหวยล็อก เปรียบเสมือนเปิดถ้วยไฮโลแทง  
    "ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองจึงเป็นแค่วาทกรรม ทั้งที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง ก็ไม่ประสบความสำเร็จจนถึงบัดนี้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ก็อย่าคาดหวังเรื่องการปฏิรูปอีกเลย เพราะสมัย คสช.มีมาตรา 44 อยู่ในมือ ยังไม่สามารถปฏิรูปอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอัน แม้แต่การปฏิรูปตำรวจก็ยังรอให้ปฏิรูปหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งไม่มีความเป็นไปได้เลย ต้องรอชาติหน้าตอนบ่ายๆถึงจะสำเร็จ เมื่อการปฏิรูปที่เป็นวาทกรรมล้มเหลว ตอนนี้ก็มาเป็นการปฏิรูปแค่พิธีกรรม นั่นก็คือการรายงานความคืบหน้าแผนการปฏิรูปประเทศต่อสภาเพื่อรับทราบอยู่ในขณะนี้ จึงเป็นพิธีกรรมตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น" นายเทพไทกล่าว
     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องการเดินสายพบกองบรรณาธิการสื่อมวลชนว่า ได้มีการทำงานแบบ new normal โดยการพบทุกภาคส่วน ตั้งแต่บรรดาผู้มีรายได้สูงหรือสมาคมต่างๆ ผู้ประกอบการต่างๆ ด้วยตนเอง และวันนี้ก็ได้ไปพบสื่อด้วยตนเอง ไม่ได้ไปเพื่อสร้างคะแนนนิยมให้สื่อรักหรือเกลียดตน ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการรับฟังแนวความคิดของผู้บริหารสื่อว่าประเทศไทยควรเดินหน้าอย่างไรในช่วง 3 ปีข้างหน้า และจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไร จากปัญหาทับซ้อนที่มีมายาวนาน ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ หลายคนมีข้อสงสัย และจากการพบสื่อ ก็มีปัญหาเรื่องความเข้าใจ แต่ไม่โทษสื่อ ถือว่าเป็นความบกพร่องของรัฐบาลและส่วนราชการที่ชี้แจงทำความเข้าใจไม่ได้ ซึ่งยุทธศาสต์ชาติมี 6 ด้าน ทั้งความมั่นคง ความเหลื่อมล้ำ การรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบราชการ งานช่วงปลายปีที่ผ่านมาปรากฏว่าปิดสภา ตอนนี้เมื่อเปิดสภาก็เจอวาระเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องใครจะเบี้ยวใคร
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คำว่ายุทธศาสตร์ชาติเราอาจจะสร้างความเข้าใจได้ไม่ชัดเจนว่าทำไมต้องมี ซึ่งเรามีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนหลายโครงการ ต้องมีหลักการในการทำงาน ทุกกระทรวงจะต้องตอบยุทธศาสตร์ชาติเหล่านั้นให้ได้ โดยการเดินหน้างาน ทั้งนี้การรายงานทุก 3 เดือนถือเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งบางทีเป็นเพียงแค่การประชุมหารือ จัดทำแผนงานโครงการ เป็นการเริ่มต้น ซึ่งอยากให้มองย้อน 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการทำงานตอบยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้านไปแล้วเท่าไร บางคนอาจไม่รู้สึกว่าได้อะไรไปแล้วหรือยัง ตนจะสร้างการรับรู้แบบใหม่ให้เห็นในระยะต่อไป รวมถึงการใช้งบประมาณ จะต้องตอบยุทธศาสตร์ชาติในแต่ละข้อให้มีความก้าวหน้า
    “บางโครงการจบใน 1 ปี มีผลสัมฤทธิ์แล้ว แต่บางอย่าง โครงการเกิน 1 ปี โดยเฉพาะโครงการปานกลาง 3 ปี ระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ต้องใช้ระยะเวลา ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ ท้ายที่สุดเมื่อถึง 20 ปีจะเกิดการสร้างสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในลักษณะมหภาคใหญ่ขึ้นมาตอบสนองคนทั้งประเทศ และโครงการอีอีซีก็เป็นส่วนหนึ่งในมาตรการแข่งขัน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากมีกิจกรรมย่อยอยู่ในนั้น ทั้งนี้ต้องมองบริบทโดยรวมถึงจะเข้าใจว่ายุทธศาสตร์ชาติคืออะไร บางคนอาจจะรู้สึกว่าไม่เห็นมีอะไรสำเร็จเลย ตรงนี้ตนจะตอบสนองว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อไป รวมถึงเรื่องที่ยังค้าง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกฯ พบสื่อแค่อีเวนต์
    ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เดินสายพบสื่อรับฟังความเห็น ว่าถ้าอยากจะฟังจริง สิ่งที่สื่อและสังคมเรียกร้องมาโดยตลอดมีหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ก้าวข้ามความขัดแย้ง แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับ ปรับนโยบายเศรษฐกิจที่สามารถแก้ไขวิกฤติของประเทศ แม้แต่นโยบายปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ สภาปฏิรูปแห่งชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งมากับมือ เสนอมาก็ไม่เคยทำ เขียนจดหมายหา 20 เจ้าสัว เจ้าสัวตอบกลับ แล้วนำสิ่งใดมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมได้จริงบ้าง
    “การเดินสายพบสื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นเพียงอีเวนต์ทางการเมือง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของสังคม ทั้งเรื่องบ้อท่าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความล่าช้าในการปรับคณะรัฐมนตรี ความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ ให้ไปสนใจกิจกรรมที่เขาต้องการเป็นคนกำหนดขึ้นเท่านั้น” นายอนุสรณ์กล่าว   
     นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีการประชุมสภาล่มเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ว่าการประชุมสภาในวันดังกล่าวไม่คิดว่าจะมี ส.ส.คนใดเสนอนับองค์ประชุม เพราะเป็นเพียงวาระเพื่อทราบเท่านั้น ไม่ได้เป็นวาระที่ ส.ส.ต้องลงมติใดๆ ประกอบกับช่วงนี้ได้แจ้งมาตั้งแต่แรกว่าในช่วงโควิด-19 ขอความร่วมมือให้ ส.ส.ที่ไม่ได้อภิปรายอยู่นอกห้องประชุมสภาได้ จึงไม่แปลกอะไรที่ในห้องประชุมสภาจะมี ส.ส.นั่งอยู่ไม่มาก สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ต้องการตำหนิใคร เพราะมีความเป็นไปได้อยู่แล้วที่สภาจะล่ม และไม่มีใครตั้งหลักมาก่อน
     "ทุกคนทำหน้าที่ในสภาให้ดีที่สุดตามกรอบของรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ซึ่งผมได้บอกกับทุกคนว่าข้างนอกจะเป็นอย่างไร แต่ในสภาต้องร่วมกันทำตามกระบวนการประชาธิปไตยให้ได้ ซึ่งองค์ประชุมจะต้องประกอบไปด้วยทุกฝ่าย เหตุการณ์เมื่อวานก็คงเป็นการเตือนหลายคนว่าอย่าประมาท อาจจะคิดว่าเรื่องอย่างนี้ไม่เกิด เพราะเกิด ส.ส.คนใดคนหนึ่งอยากจะนับองค์ประชุมก็สามารถทำได้ตามข้อบังคับ" นายชวนกล่าว
     นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝ่ายค้านได้ให้รัฐบาลถอนรายงานการปฏิรูปประเทศเพื่อนำกลับไปทบทวนใหม่ และหากยังเสนอเข้ามาใหม่อีก ฝ่ายค้านจะพิจารณาว่าคงร่วมประชุมด้วยไม่ได้ โดยจะให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลพิจารณาไปฝ่ายเดียว หากฝ่ายค้านยังเข้าร่วมประชุมจะเป็นการประชุมที่มีข้อกังขาว่ารายงานดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะหลักใหญ่ที่ใช้พิจารณาเมื่อวันที่ 8 ก.ค. คือ 1.ไม่มีการปฏิรูปเป็นรายงานเท็จ 2.ในตัวรายงานขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ 3.วัดใจ ส.ส.รัฐบาลว่าแม้แต่ส.ส.รัฐบาลเองก็ยังไม่เข้าร่วมพิจารณา ดังนั้น หากรัฐบาลนำกลับไปแก้และทบทวน ปัญหาทุกอย่างจะจบ
    "องค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบของทั้งสภาก็จริง แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบก่อน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด มิเช่นนั้นเสียงข้างมากก็ไม่รู้จะมีประโยชน์อะไร รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน" นายสุทินกล่าว
    พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมสภาล่ม นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ?พรรค? พปชร.และประธานวิปรัฐบาลได้รายงานหรือยังว่า เขาก็มาอยู่ที่สภานั่นแหละ แต่กำลังประชุมคณะกรรมาธิการอยู่ บางคนไม่รู้ว่ามีการเรียกเพื่อนับองค์ประชุม ทั้งนี้คงไม่ต้องเข้มงวด เพราะเขาอยู่ที่สภาอยู่แล้ว.
   


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"