ถ้าสหรัฐฯ จัดเลือกตั้งประธานาธิบดีวันนี้ โจ ไบเดน แห่งพรรคเดโมแครตจะเขี่ยโดนัลด์ ทรัมป์ ที่นั่งเก้าอี้ทำเนียบขาววันนี้ค่อนข้างแน่นอน
โพลหลายสำนักของสหรัฐฯ ให้คะแนนนิยมไบเดนโดดเด่น นำทรัมป์ 10-12% ในภาพรวมส่วนใหญ่
ล่าสุดผมเห็นนิตยสาร The Economist ของอังกฤษเปิดรายงานพิเศษ เกาะติดความนิยมของไบเดนกับทรัมป์อย่างละเอียดถี่ยิบชนิดวันต่อวันและแยกย่อยวิเคราะห์กันทุกเม็ดทีเดียว
พอเปิดมา บทวิเคราะห์ของเขาก็ประกาศว่าไบเดนชนะทรัมป์แน่...โดยเน้นไปที่คะแนน Electoral College ที่เป็นตัวตัดสินว่าใครชนะใครแพ้ ไม่ใช่คะแนนรวมหรือ Popular Votes เท่านั้น
แนววิเคราะห์ของนิตยสารอังกฤษฉบับนี้บอกว่าไบเดนจะได้ระหว่าง 246-415 ขณะที่ทรัมป์จะได้ 123-292
เส้นตัดสินใครแพ้ใครชนะอยู่ที่ 270
ผมสนวิธีการวิเคราะห์ของ The Economist เพราะไม่ใช่อเมริกัน แต่เขาจับเอาข้อมูลและการสำรวจความเห็นในระดับท้องถิ่นตลอดไปถึงระดับชาติมาผสมผสานเพื่อประเมินให้ใกล้กับความเป็นจริงที่สุด
“ด้วยโมเดลของเรา เราปรับเปลี่ยนผลทุกวันด้วยข้อมูลอัพเดตล่าสุด โดยเอาผลโพลในระดับรัฐและระดับชาติของสหรัฐฯ พร้อมกับดัชนีเศรษฐกิจเพื่อทำนายผลการเลือกตั้งในฉากทัศน์ต่างๆ...จุดตรงกลางคือแนวพยากรณ์ของเราว่าด้วยคะแนน Electoral College ของคู่แข่งทั้ง 2 คน ณ วันเลือกตั้ง....” คือคำอธิบายวิธีการคำนวณ
เช่นสัปดาห์ที่แล้ว วันที่ผมกดเข้าไปตรวจสอบคำทำนายล่าสุด เขาให้ไบเดนได้ 347 และทรัมป์ 191
แต่ในวันเดียวกันนั้นโมเดลนี้ให้ไบเดนได้คะแนนรวม หรือ Popular Votes 54.3% ขณะที่ทรัมป์ได้ 45.7%
เขาประเมินว่าถึงวันเลือกตั้ง ไบเดนจะได้ 54.1% และทรัมป์ได้ 45.9%
แหล่งข้อมูลที่ไหลเทเข้ามาทุกวันมาจาก
US Census Bureau
MIT Election and Data Science Lab
2016 Cooperative Congressional Election Study
US Bureau of Economic Analysis
American National Election Studies
270towin.com
Gallup
FiveThirtyEight
YouGov
ที่ทรัมป์ต้องกังวลมากเป็นพิเศษคือกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กลุ่มใหญ่ได้ประกาศว่าจะสนับสนุนไบเดน ไม่เอาทรัมป์
ถ้ากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรครีพับลิกันแสดงจุดยืนโหวตข้ามพรรคอย่างนี้ ทรัมป์มีสิทธิ์จะแพ้เลือกตั้งได้จริงๆ
ผลเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ มีความสำคัญต่อทั้งโลก และสำหรับประเทศไทย ใครชนะใครแพ้ที่อเมริกาครั้งนี้จะมีผลต่อการวางนโยบายต่างประเทศหลักของเราอย่างสูง
จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย ไม่เฉพาะรัฐบาลที่จะต้องเกาะติดและวางแนวทางของการปรับทิศทางของประเทศให้ดี
เพราะปัจจัยของผลกระทบอันรุนแรงจากโควิด-19 ประกอบกับการเติบใหญ่ของจีนที่กำลังกระทบกระทั่งกับสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์นั้นย่อมแปลว่าเราต้องเลือกแนวทางนโยบายต่างประเทศอย่างระมัดระวังและชาญฉลาด
ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รอบนี้จะมีผลต่อทิศทางความร่วมมือระหว่างมหาอำนาจอย่างยิ่ง
ทรัมป์ได้ทำลายความสัมพันธ์ดั้งเดิมกับพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็นเอเชียหรือยุโรป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตการค้าเสรีหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น WTO หรือ WHO และ Paris Agreement
ผลกระทบต่อไทยเรา เพราะความแปรผันของนโยบายทรัมป์มีหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการค้าและการลงทุน รวมไปถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงและด้านเทคโนโลยี
มิหน้ำซ้ำ ทรัมป์ยังใช้นโยบายสกัดจีนทุกๆ ด้าน ทำให้ไทยตกอยู่ในฐานะลำบากที่ถูกกดดันให้ต้องเลือกข้าง
การต้องเลือกข้างในภาวะที่โลกกำลังปรับเปลี่ยนอย่างหนักหน่วงและรุนแรง และในสถานการณ์โรคระบาดที่ทับซ้อนกับสงครามการค้า และสัญญาณของ “สงครามเย็นรอบใหม่” อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเราจะต้องทบทวนทิศทางของนโยบายของเราโดยการระดมความคิดและทรัพยากรทุกๆ ด้านของประเทศเพื่อวางแนวทางใหม่
ให้มี Post-Covid Public Policy ที่จะรวมถึงนโยบายทั้งในและต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
เป็นความท้าทายที่กระทรวงต่างประเทศไม่อาจจะเป็นกลไกของการประเมินสถานการณ์และวางยุทธศาสตร์ของชาติในอนาคตได้อีกต่อไป
การเมืองสำคัญเกินกว่าที่เราจะปล่อยให้เป็นเรื่องของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ฉันใด
นโยบายต่างประเทศก็สำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยเป็นเรื่องของกระทรวงต่างประเทศแต่เพียงกลไกเดียวเช่นกัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |