ใช้งบฟื้นฟูให้คุ้มค่าที่สุด


เพิ่มเพื่อน    

 

    สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก กลับมาระอุอีกครั้ง เพราะพบว่า ในขณะนี้ในหลายประเทศที่เคยมีสถานการณ์คลี่คลายแล้ว กับมาเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติดกันเป็นคลัสเตอร์ เป็นกลุ่มก้อน ในหลายประเทศ ทำให้มีบางประเทศต้องงัดมาตรการล็อกดาวน์ ออกมาใช้ซ้ำ อย่างที่เกิดขึ้นในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา หรือในออสเตรเลีย เรียกได้ว่าทั้งประชาชน ทั้งเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงมาก

                ไม่แปลกใจเลยที่ทำให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชียได้รับผลกระทบถ้วนหน้า จากข้อมูลศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (เจซีอีอาร์) สำรวจความคิดเห็นรายไตรมาสจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 38 คน จาก 5 ประเทศใหญ่อาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย พบว่าระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย.  เศรษฐกิจทั้งหกประเทศดิ่งหนัก และก่อให้เกิดการว่างงานที่เพิ่มสูงอย่างก้าวกระโดด โดยการล็อกดาวน์และมาตรการอื่นๆ ทำให้กิจกรรมของภาคธุรกิจต้องชะงักลง คาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจ 5 ประเทศอาเซียนขยายตัว -7.8%เศรษฐกิจมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ ลดลงกว่า 10%

                ขณะที่การพยากรณ์เศรษฐกิจในประเทศไทยเอง ในขณะนี้หลายสำนักก็ประเมินแล้วว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะติดลบแน่ราว -7-10% เหตุผลการท่องเที่ยวของไทย คงไม่น่าจะเปิดได้อย่างเร็ววัน อันเนื่องมาจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรง ซึ่งในส่วนนี้ทำให้รายได้หายไปจำนวนมาก

                ไม่รวมกับภาคการส่งออก ที่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ไม่แพ้กัน โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) ได้ปรับลดคาดการณ์ส่งออกในปี 2563 หดตัว -10% จากเดิมหดตัว -8% เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ตลาดส่งออกในหลายประเทศล็อกดาวน์ และปัญหาเงินบาทแข็งค่า ซึ่งตอนนี้ทางผู้ส่งออกเองก็เจอปัญหาคู่ค้าเริ่มจะมีการเบี้ยวจ่ายหนี้บ้างแล้ว นั่นยิ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่จะตามมาอีก

                อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์บางรายก็เริ่มยอมรับแล้ว ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปีนี้ ทำอย่างไรก็ไม่ได้ดีขึ้น เพราะสภาพแวดล้อมของโลกไม่ได้เอื้ออำนวย ดังนั้นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือการประคองธุรกิจ และประคองการจ้างงานให้ได้มากที่สุดมากกว่า

                ดังนั้น บทบาทที่พอเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจได้ ก็คือ ภาครัฐจะต้องพยายามอย่างที่สุดที่จะช่วยให้ธุรกิจในประเทศต้องประคองตัวเองให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความวิกฤตินี้ไปได้

                ทั้งนี้ ในแง่ของภาครัฐ ก็ได้มีการออกอนุมัติแผนงานภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งในระยะที่ 1 ได้อนุมัติวงเงินราว 1 แสนล้านบาท โดยเน้นเรื่องการเกษตร การสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชน และให้ความสำคัญกับการดูแลแหล่งน้ำ ซึ่งในเรื่องนี้ก็ถือเป็นโอกาสในวิกฤติ ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาไทยเราเจอปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งทุกปี ฝนมามากก็เก็บไม่ได้ ฝนมาน้อยก็มีปัญหาน้ำใช้ ซึ่งมองว่าการใช้งบในส่วนนี้ ถ้าลงไปที่ชุมชนจริงๆ ก็ถือว่าตรงจุด

                ขณะที่อีก 2 ประเด็น คือ การประคองธุรกิจนั้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ การช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น รัฐบาลต้องออกมาตรการที่เหมาะสม ซึ่งตอนนี้การหวังพึ่งระบบธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะหวังไม่ได้มากนัก เพราะธนาคารก็ตั้งการ์ดสูง เพื่อป้องกันหนี้เสีย และมีภาระต้องกันสำรอง ดังนั้นอาจจะต้องใช้กลไกบางอย่าง อย่างการจัดตั้งกองทุนพิเศษ สำหรับเสริมสภาพคล่องเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ โดยเป็นการช่วยในลักษณะเติมทุน ถือหุ้น มากกว่าการปล่อยกู้ เพราะจะไม่เป็นภาระให้กับธุรกิจรายเล็ก และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายก็ค่อยขายหุ้นคืนให้กับเจ้าของเดิมต่อไป น่าจะเป็นแนวทางที่น่าลองทำดู

                ในขณะนี้รัฐบาลได้เริ่มเคาะโครงการใช้วงเงินกู้ไปแล้วเกือบ 1 แสนล้าน และเหลืออีก 3 แสนล้านนั้นจะต้องใช้อย่างตรงจุด ตรงประเด็น และรั่วไหลให้น้อยที่สุด เพื่อให้งบที่กู้มานั้นเกิดประโยชน์มากที่สุดสำหรับคนไทยทุกคน.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"