ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2563 เวลา 14.45 น. นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้สั่งยกเลิกการประชุม ในเวลา 15.00 น. ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกับผู้บริการกระทรวงการคลัง, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.), สมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ พิจารณาในวันที่ 10 ก.ค. นี้
ทั้งนี้การยกเลิกการประชุมมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีดังกล่าว เป็นการยกเลิกอย่างกะทันหัน ก่อนหน้าการประชุมเพียง 15 นาทีเท่านั้น หลังจากที่นายอุตตม 1 ใน 4 กุมาร ได้ร่วมแถลงลาออกจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร)
อย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมา ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แจ้งยกเลิกการประชุม ครม.เศรษฐกิจ ในวันที่ 10 ก.ค. 2563 เนื่องจากรัฐมนตรีเศรษฐกิจกลุ่ม 4 กุมาร นำโดยนายอุตตม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้มีการแถลงข่าวลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค พปชร.
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า การลาออกจากพรรค พปชร. ของ 4 กุมารนั้น ไม่มีกระทบต่อเศรษฐกิจ ที่ไม่มีผลกระทบเพราะใครก็ตามที่มาแทนทั้ง 4 คน ก็จะยังเดินหน้าทำงานตามแนวนโยบายที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพราะประเทศไทยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับมือการระบาดของโควิด-19 ระยะที่ 2 หลังจากที่ไทยผ่านการดูแลในระยะแรก ซึ่งเน้นการดูแลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มากไปแล้ว
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปจึงเป็นขั้นตอนผสมระหว่างการดูแลเพื่อไม่ให้การแพร่ระบาดบานปลาย โดยตรงนี้ต้องใช้งบด้านสุขภาพ กับอีกส่วนต้องใช้งบในการกระตุ้นเศรษฐกิจและงบในการป้องกันเรื่องคนที่ยากจนลง เพราะฉะนั้นในเงินกู้ จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งมี 4 แสนล้านบาทเพื่อการฟื้นฟู และงบเยียวยา 6 แสนล้านบาท ไม่ว่าใครก็ตามที่มาเป็น รมว.การคลัง คงหนีไม่พ้นต้องทำตามแนวนโยบายนี้ และยังมีมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่อง จึงเป็นเรื่องความรู้สึกของคนว่าใครจะมา ใครมาก็ดำเนินมาตรกาภายใต้กรอบนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
“ถ้ามีการเปลี่ยนแปลง รมว.คลัง ผลกระทบทางเศรษฐกิจคงไม่มี แต่ที่กระทบในแง่ความรู้สึก ด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะภาคธุรกิจ คือ คนจะจับตาดูว่า ใครจะมาเป็น รมว.การคลัง จะสร้างความมั่นใจได้หรือไม่ หากเอาคนที่ไม่มีความเชื่อมั่นมาทำงานภายใต้สถานการณ์ขณะนี้ ก็อาจมีผลกระทบกับความมั่นใจคนทั่วไปในส่วนนี้บ้าง” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า กรณีนายอุตตมลาออกจากพรรค ยังไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็นรัฐมนตรี ตรงนี้เป็นคนละเรื่อง กรณีนี้คิดว่าเป็นบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงจะเก็บนายอุตตมเอาไว้ ไม่ต้องการเปลี่ยนม้าศึกเร็วเกินไป เพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในขั้นหน้าสิ่วหน้าขวาน ดังนั้นนายกรัฐมนตรี หรือ พปชร. ยังเห็นความจำเป็นของนายอุตตม และการหาคนมาแทนไม่ง่าย แต่แรงกดดันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นน่าจะเกิดขึ้นหลังการพิจารณางบประมาณปี 2564 ผ่านไปแล้ว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีการประกาศลาออกจากพรรค พปชร. ของ 4 กุมารนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และไม่มีผลต่อการทรุดตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่ได้เป็นการลาออกจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่อาจจะเกิดความกังวลทางด้านจิตวิทยาเล็กน้อยในประเด็นการปรับเปลี่ยน ครม. ใหม่
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |