ไวรัสกับ “โครงสร้าง ศก.ไทย”


เพิ่มเพื่อน    

 

             สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 ยังน่าเป็นห่วงอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จนรัฐบาลต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทุกประเภทต้องหยุดชะงักลง โดยสถานการณ์เศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดแค่กับประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายประเทศทั่วโลกด้วย

                โดยปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศขณะนี้ กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจ เครื่องยนต์ที่ทำหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกือบทุกตัวไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)” ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยมองว่าจะหดตัวที่ระดับ 10.3% ซึ่งต่ำกว่าช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชียในปี 2541 โดยประเมินว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัวและเติบโตที่ระดับ 2.9% ในปี 2564 ด้วยเหตุผลหลักคือ “โควิด-19” ที่แม้ไทยจะไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมากกว่า 1 เดือน และมีการผ่อนผันคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว

                แต่มาตรการเฝ้าระวัง อย่างการรักษาระยะห่างทางสังคม การระงับการบินระหว่างประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ยังเป็นปัจจัยกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่พุ่งสูงเกิน 10 ล้านคน และยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเสี่ยงของการเกิดการแพร่ระบาดรอบ 2 ในหลายประเทศ อาจทำให้การบังคับใช้มาตรการห้ามเที่ยวบินระหว่างประเทศต้องเกิดขึ้นนานกว่าที่คาดไว้ ทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวสูง ทำให้ไทยเปราะบางจากโควิด-19 มาก โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้จะลดลงไปถึง 83%”

                ไม่เพียงภาคการท่องเที่ยวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างเด่นชัดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะสถานการณ์ “หนี้ครัวเรือน” ที่สูงขึ้นในขณะนี้ของประเทศไทย ก็เป็นผลมาจากโควิด-19 เช่นเดียวกัน โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ระบุว่า จากข้อมูลล่าสุดหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1/2563 ในมิติสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 80.1% ซึ่งสะท้อนได้ว่า ภาคครัวเรือนกำลังรับมือกับปัญหาการหดตัวของรายได้ ซึ่งเร็วกว่าการชะลอตัวของการกู้ยืม โดยภาพดังกล่าวอาจจะตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไทยกำลังเผชิญ

                แต่ทั้งนี้เมื่อลงมาดูในรายละเอียดจะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 1/2563 อยู่ที่ 13.479 ล้านล้านบาท ลดลง 3,562 ล้านบาท จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีครึ่ง โดยเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในช่วงปลายปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.483 ล้านบาท เนื่องจากครัวเรือน-กลุ่มลูกหนี้รายย่อยยังคงมีการชำระคืนหนี้ตามปัจจัยฤดูกาล ขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลทำให้หนี้คงค้างกับบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงตามการทรุดตัวครั้งใหญ่ของตลาดหุ้น เช่นเดียวกับสินเชื่อในกลุ่มที่ไม่มีหลักประกัน ทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ลดลงตามการใช้สอยของครัวเรือนที่เป็นไปอย่างระมัดระวัง

                แต่จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ ทำให้คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของไทยอาจขยับสูงขึ้นในกรอบ 88-89% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2563 ได้ ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 18 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่หดตัวแรง ขณะที่สัญญาณช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของสถาบันการเงิน จากมาตรการลดภาระทางการเงินให้ลูกหนี้ น่าจะมีผลทำให้ยอดหนี้คงค้างของครัวเรือนและรายย่อยไม่ลดลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตาคือ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อรายได้ และความสามารถในการชำระคืนหนี้” โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มลูกหนี้บุคคลซึ่งเดิมมีปัญหาฐานะทางการเงินและกลุ่มที่ถูกปรับลดชั่วโมงการทำงาน

                “สถานการณ์เศรษฐกิจไทย” ในขณะนี้ เป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะปัญหาในหลายมิติที่เกิดขึ้นกับระบบเศรษฐกิจขณะนี้ กำลังส่งผลกระทบไปถึงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในประเทศ การแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ถูกวิธีเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก.

 ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"