เริ่มมีเสียงเชียร์ให้โจ ไบเดนเลือกคุณ "ลัดดา" Tammy Duckworth นักการเมืองอเมริกันเชื้อสายไทย เป็นคู่หูในฐานะรองประธานาธิบดีสู้กับโดนัลด์ ทรัมป์ และไมก์ เพนซ์แล้ว
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงคนไทยได้ลุ้นกันสนุกเลยครับ
เพราะถ้าไบเดนเขี่ยทรัมป์และเข้าสู่ทำเนียบขาวได้ สหรัฐฯ จะมีรองประธานาธิบดีพูดภาษาไทยและเข้าใจประเทศไทยลึกซึ้งเป็นครั้งแรกทีเดียว
เสียงเชียร์ล่าสุดมาจากคอลัมนิสต์ New York Times ที่ชื่อ Frank Bruni ที่เสนอให้ไบเดนเลือกคุณลัดดา เพราะเธอมีคุณสมบัติพร้อมที่จะเอาชนะทรัมป์
คุณลัดดาเป็นสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐอิลลินอยส์ อดีตเคยเป็น ส.ส. เขต 8 รัฐอิลลินอยส์ และเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก
ประวัติของเธอโชกโชน เคยรบในสงครามอิรักและต้องเสียขาทั้งสองข้างจากระเบิดในการสู้รบ
คุณลัดดาเกิดที่กรุงเทพฯ ปีนี้อายุ 52 คุณพ่อเป็นทหารอเมริกันชื่อแฟรงก์ แอล. ดักเวิร์ธ คุณแม่ชื่อละไม นามสกุลเดิม "สมพรไพลิน" เป็นสาวไทยเชื้อสายจีน
ตอนเด็กๆ คุณลัดดาติดตามคุณพ่อไปหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามภารกิจของคุณพ่อ ทำให้เธอพูดได้หลายภาษาไม่ว่าจะเป็นอินโดฯ อังกฤษและแน่นอนภาษาไทย
คุณลัดดาเรียนหนังสือที่โรงเรียนนานาชาติกรุงเทพฯ ก่อนจะตามคุณพ่อคุณแม่ไปอยู่ฮาวายในวัย 16 จบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยฮาวาย, ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นอิลลินอยส์
เธอมีลูกสาว 2 คนอายุ 6 และ 3 ขวบ
เธอสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการเอาลูกน้อยไปเลี้ยงในห้องประชุมรัฐสภาสหรัฐฯ อย่างเปิดเผยกันเลยทีเดียว
โจ ไบเดนได้บอกว่า เขาจะเลือกคนที่มาเป็นรองประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิง จึงมีการคาดการณ์ถึง Elizabeth Warren, Kamala Harris และอีกสิบกว่าคนซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงระดับชาติ
เกือบทุกคนมีจุดอ่อนที่อาจถูกค่ายทรัมป์โจมตีได้
แต่คอลัมนิสต์คนนี้บอกว่าคุณลัดดาเหมาะที่สุด เพราะสามารถเอาชนะทรัมป์ได้ทั้งเรื่องความนิ่ง, ความมุ่งมั่น, ความโดดเด่น...ที่ทรัมป์ไม่สามารถหาเรื่องมาโจมตีได้เหมือนคนอื่นๆ เลย
คุณลัดดาให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์ว่า
"ดิฉันสามารถยันกับทรัมป์ได้ชนิดที่คนอื่นทำไม่ได้..."
นั่นหมายความว่า เธอมั่นใจว่าประวัติการทำงานของเธอในแวดวงการเมืองและการได้ทำศึกสงครามในสนามรบจริง ทำให้ทรัมป์ไม่อาจจะหาเรื่องดูถูกเหยียดหยันเธออย่างที่เขาทำกับคู่แข่งทางการเมืองคนอื่นๆ ได้
ข้อเสียเปรียบของคุณลัดดาคือเธอไม่ได้อยู่ "วงใน" ของทีมงานไบเดนที่กำลังแสวงหาคู่หูในฐานะรองประธานาธิบดี
เธอไม่ได้มาจากรัฐที่อาจจะกำหนดชะตากรรมของผู้สมัคร หรือที่เรียกว่า battleground state
ปกติผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีจะเลือกนักการเมืองที่โดดเด่นจากรัฐที่อาจเทคะแนนไปข้างใดข้างหนึ่งเพื่อกำหนดชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ได้
แต่รัฐของเธอเป็นของเดโมแครตอย่างไม่มีข้อสงสัย
เธอไม่ใช่คนผิวดำซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่อาจจะมีส่วนช่วยระดมคะแนนเสียงในปีที่การเมืองเรื่องสีผิวเป็นประเด็นร้อนแรง
แต่จุดแข็งของคุณลัดดาคือ ความชัดเจนในจุดยืนการเมืองในแนวเสรีนิยมแบบเดโมแครต
เธอเคยได้รับเลือกให้กล่าวคำปราศรัยในการประชุมใหญ่ของพรรค 3 ครั้งที่ผ่านมา (โอบามาพูดครั้งเดียวก็เกิดในเวทีการเมืองระดับชาติเลย)
เธอเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและในวุฒิสภา
เธอมีผู้สนับสนุนในกลุ่มทหารผ่านศึก
จุดยืนการเมืองของเธอได้ชื่อว่าอยู่ตรง "กลางซ้าย" ซึ่งหลายคนเชื่อว่าโจ ไบเดนก็มีแนวโน้มเช่นนี้เหมือนกัน
คุณลัดดาเคยให้สัมภาษณ์สื่อสหรัฐฯ อย่างภาคภูมิใจว่า
"ดิฉันพูดได้อย่างเต็มปากว่าธงอเมริกันที่คลุมโลงศพคุณพ่อฉันจะคลุมโลงศพของฉัน ของสามีฉัน และของน้องชายฉัน...มันเป็นเช่นนี้มาหลายชั่วอายุคนในครอบครัวของฉัน...ไม่มีใครเคารพนับถือธงชาติมากกว่าฉัน แต่ฉันจะเคารพในสิทธิของคนที่ต้องการจะประท้วงธงนั้นเช่นกัน"
ยิ่งนานวันดูเหมือนคุณลัดดาจะยิ่งมีโอกาสได้เดินเคียงคู่ไบเดน ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
คนไทยมาช่วยกันลุ้นครับ!
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |