“หมอนิติเวช” คาใจ ตำรวจตั้งธงหาทางลง "คดีน้องชมพู่" เชื่อเด็กเดินหลงป่าเอง แนะปฏิรูปกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ "ดร.น้ำแท้" ยันไม่ได้ออกมาดิสเครดิตใคร แต่ออกมาช่วยเหลือก่อนคนที่บริสุทธิ์จะถูกกล่าวหา
เมื่อวันที่ 7 ก.ค.63 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ร่วมกับ Innocence International Thailand จัดเสวนาวิชาการ “นิติวิทยาศาสตร์แบบไทยๆ เชื่อถือได้แค่ไหน (ศึกษากรณีน้องชมพู่, ครูจอมทรัพย์, มิก หลงจิ, น้องหญิง และหวย 30 ล้าน ฯลฯ )”
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการ สป.ยธ. กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรม ทุกคนโหยหากระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ เพราะพยานบุคคลนั้นนำมาซึ่งความผิดพลาดได้ แต่นิติวิทยาศาสตร์ถือว่ามีความแม่นยำ แต่ก็เป็นดาบสองคม เพราะบางครั้งคนไม่ค่อยให้ความเชื่อถือ ก่อให้เกิดปัญหาตามมา หลายคดีแม้จะจบด้วยกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ แต่ไม่ได้จบไปในความรู้สึกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคดีน้องชมพู่, ครูจอมทรัพย์, มิก หลงจิ,น้องหญิง, หวย 30 ล้าน เป็นต้น
“แสดงว่าความจริงจากการตรวจสอบไม่ได้รับการเคลียร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์บ้านเรานั้นมีหลายมุม นำไปสู่ความไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้น เราจะต้องช่วยให้กระบวนการนี้มีความถูกต้อง เป็นธรรมมากที่สุด หากเกิดความผิดพลาด ต้องเกิดด้วยความไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งเราต้องยอมรับว่าระบบนิติวิทยาศาสตร์ของไทยนั้นมีปัญหา จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้” พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าว
พ.ต.อ.วิรุตม์กล่าวว่า อีกปัญหาหนึ่งของงานนิติวิทยาศาสตร์ไทย คืออยู่ในระบบยศแบบทหาร มีวินัยแบบทหาร มีจิตใจแบบทหาร แต่โดยหลักการแล้ว งานเช่นนี้จะเอาชั้นยศมาเกี่ยวข้องไม่ได้ สำหรับคดีน้องชมพู่ ตอนนี้เกิดการอุปาทานหมู่ไปแล้ว ทำให้เจ้าหน้าที่เดินตามกระแสสังคม ซึ่งในข้อเท็จจริง อาจเกิดความผิดพลาดได้ จึงจะต้องมีการปฏิรูปกระบวนการนิติเวช การเก็บรวบรวมหลักฐาน เพราะคนจนเข้าไม่ถึง ไม่มีสิทธิ์ได้รับการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ หากไม่เป็นคดีดังจริงๆ
นพ.ภานุวัฒน์ ชุติวงศ์ ภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความจริงแล้วกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ของไทยไม่ได้แตกต่างจากเมืองนอกเลย แต่สิ่งที่ต่างอาจเป็นระบบ เช่น การชันสูตร โดยในสหรัฐหมอจะมีหน้าที่ชี้ว่าการตายนั้นเป็นอย่างไร เพื่อที่ตำรวจจะได้ไปตามถูก แต่ในไทยหมอเป็นเพียงขาข้างหนึ่งของตำรวจเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ประชาชนมักมองว่าหมอเป็นฮีโร่ในการชันสูตร แต่ความจริงแล้ว หมอไม่ได้อยากเป็นฮีโร่เลย เพราะงานนิติเวชไม่ค่อยมีใครอยากทำ และทั่วประเทศมีหมอประเภทนี้เพียงกว่า 200 คน เมื่อเกิดคดีความขึ้น จำเป็นต้องให้หมอทั่วไปมาทำหน้าที่แทน เนื่องจากบางพื้นที่ไม่มีหมอนิติเวช ดังนั้น การทำงานของแพทย์จึงมีข้อจำกัด
นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า ด้วยความที่ตำรวจมีอำนาจค่อนข้างมากในกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงทำให้กระบวนการชันสูตรถูกลดความน่าเชื่อถือลงไป แม้กระบวนการดังกล่าวจะทำอย่างถูกต้องก็ตาม ฉะนั้นกระบวนการชันสูตรควรแยกออกจากตำรวจ
นพ.ภานุวัฒน์กล่าวว่า ในคดีของน้องชมพู่ มีการผ่าชันสูตรศพถึง 2 ครั้ง แต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน เพราะการผ่าครั้งแรกไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ แต่ครั้งที่ 2 กลับพบบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ซึ่งดูแล้วคล้ายต้องการผ่าใหม่ ให้ตรงกับความต้องการ หรือให้คดีนี้นำไปสู่สิ่งที่อยากให้เป็น ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การผ่าครั้งแรกนั้นถือว่าดีกว่าครั้งที่ 2 เพราะศพยังไม่ถูกนำไปทำอะไร สิ่งสำคัญของการผ่าการชันสูตร คือจะต้องตัดความเห็นและความรู้สึกออกไปด้วย เพราะเหล่านี้จะทำให้ตำรวจทำงานลำบาก
"โดยหลักการกระบวนการนิติวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง เพราะบางเรื่องก็ไม่มีคำตอบ หากหลักฐานไม่เพียงพอ การผ่าครั้งที่ 2 เป็นเพราะว่าครั้งแรกนั้นผ่าได้ไม่ถูกใจหรือเปล่า ซึ่งความจริงแล้วควรต้องมีการตั้งเป็นคณะกรรมการมาตรวจสอบการผ่าครั้งที่ 2 เพื่อความเป็นธรรมกับคนที่ผ่าในครั้งแรกด้วย” นพ.ภาณุวัฒน์กล่าว
นพ.กฤติน มีวุฒิสม หัวหน้ากลุ่มงานนิติเวช รพ.ระนอง กล่าวว่า บุคลากรที่ใช้ชันสูตรในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นหมอทั่วไป หรือหมอใช้ทุน ผ่านหลักสูตรเพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งจะไม่สามารถรับประกันความถูกต้องได้เลย เพราะแม้แต่หมอที่มีความเชี่ยวชาญ ก็เกิดความผิดพลาดได้ เราต้องยอมว่าความเห็นของแพทย์นั้น เกิดความผิดพลาดได้
นพ.กฤตินกล่าวว่า สำหรับคดีน้องชมพู่ ผลทางนิติเวชที่ออกมานั้น การผ่าครั้งที่ 1 โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายร่างกาย ไม่พบร่องรอยการร่วมเพศ ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ 2.สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ไม่ปรากฏสาเหตุการตาย แต่มีบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ ด้วยความเห็นที่แตกต่างกันนี้ จึงทำให้เกิดความสับสน แต่ตำรวจให้สัมภาษณ์ว่า เหตุผลที่ส่งร่างน้องชมพู่ไปผ่าครั้งที่ 2 เพราะการผ่าครั้งแรกไม่พบการกระทำชำเรา จึงส่งชันสูตรใหม่ เพื่อให้กระบวนการเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนกับตำรวจตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะให้คดีนี้จบอย่างไร
นพ.กฤตินกล่าวว่า กรณีของน้องชมพู่ ที่สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ พบมีบาดแผลตามร่างกายและอวัยวะเพศ มองได้ว่าเป็นร่องรอยหลังการตาย โดยอาจเกิดจากหลายกรณี เช่น มดกัด เพราะในการชันสูตรไม่พบการฉีกขาดของอวัยวะเพศ ส่วนการที่เด็กไม่ใส่สวมเสื้อผ้านั้น อาจเกิดจากหลายกรณี เช่น อากาศร้อน ปลดทุกข์ เป็นต้น ซึ่งหากน้องชมพู่เดินไปเอง เป็นไปได้ที่จะเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ และส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับที่ตำรวจตัดประเด็นการเดินหลงป่าเอง
“ผมว่าเด็กเดินไปเองได้ เพราะถ้าถูกฆ่าเด็กน่าจะเสียชีวิตไปตั้งแต่วันแรกแล้ว ซึ่งหากสันนิษฐานว่าหากเด็กเดินไปเองก็เป็นไปได้ว่าเด็กไปแล้วหลายวัน แล้วเจอสภาพอากาศต่างๆ เพราะไม่มีหลักฐานว่ามีการล่วงล้ำอวัยวะเพศ” นพ.กฤตินกล่าว
นพ.กฤตินกล่าวด้วยว่า สำหรับข้อเสนอแนะในกระบวนการชันสูตรนั้น เนื่องจากแพทย์ชันสูตรส่วนใหญ่เป็นแพทย์ทั่วไป ความเห็นของแพทย์จึงผิดได้เป็นธรรมดา นอกจากนี้แพทย์ชันสูตรยังไม่ได้ลงไปดูในพื้นที่ แต่เป็นการชันสูตรในห้องของโรงพยาบาล อีกทั้งตำรวจกับแพทย์ยังไม่ค่อยได้พูดคุยกันในเรื่องของคดีความ และตำรวจยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความถูกต้องของผลชันสูตรนัก เหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข
ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การชันสูตรหลายครั้งในประเทศไทย ไม่ได้ใช้หมอนิติเวช จึงต้องตั้งคำถามว่ากระบวนการชันสูตรนั้นถูกต้องหรือไม่ สำหรับคดีน้องชมพู่ เราไม่ได้ออกมาดิสเครดิตใคร แต่ออกมาช่วยเหลือ ก่อนคนที่บริสุทธิ์จะถูกกล่าวหา เพราะเราเชื่อว่าน้องชมพู่มีโอกาสสูงที่จะเดินหลงป่าเอง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |