จบไปเรียบร้อยสำหรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงิน 3,300,000 ล้านบาท ด้วยคะแนนเสียง 273 ต่อ 200 งดออกเสียง 3 เสียง ภายหลังเปิดอภิปรายกันมา 3 วัน ใช้เวลารวม 47 ชั่วโมง
แน่นอนว่าการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องงบประมาณ ทุกครั้งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมักจะตกเป็นเป้าของฝ่ายค้านที่จะอภิปราย เสนอแนะ และท้วงติงในเรื่องของการใช้งบประมาณและแผนโครงการต่างๆ เรื่องนี้ดูเหมือนว่ากระทรวงคมนาคมก็พร้อมที่จะชี้แจงทุกประเด็นปัญหาที่นำมาเป็นประเด็นในการประชุมงบประมาณในครั้งนี้
งานนี้ ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เจ้ากระทรวง ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 จากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับภารกิจของกระทรวงคมนาคม ในประเด็นของ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า กระทรวงคมนาคมไม่เอาใจใส่ในการดูแลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้
โดยชี้แจงว่า การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ภาคใต้จะแบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ 1.การบำรุงรักษาทางหลวงภาคใต้ ซึ่งมี 3 เส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงหมายเลข 41 และทางหลวงหมายเลข 42 ซึ่งมีการตั้งงบประมาณในการบำรุงรักษาตั้งแต่ปี 2558 จำนวน 7,055.91 ล้านบาท และงบประมาณซ่อมบำรุงทางหลวงสายหลักภาคใต้เพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563 ตั้งงบไว้ถึง 14,059 ล้านบาท ปี 2564 ได้เพิ่มเป็น 16,808 ล้านบาท เพื่อซ่อมบำรุงผิวถนน ทางหลวงสายหลักเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีความปลอดภัยในการสัญจร
ทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) จากจังหวัดเพชรบุรี-สงขลา 1,183 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 2,901 ล้านบาท, ทางหลวงหมายเลข 41 (ชุมพร-พัทลุง) งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 974 ล้านบาท และทางหลวงหมายเลข 42 (สงขลา-นราธิวาส) ระยะทาง 262 กม. งบประมาณซ่อมบำรุง ปี 2561-2564 จำนวน 689 ล้านบาท
ทั้งนี้ หลังการซ่อมบำรุงถนน จะมีการทดสอบสภาพ ซึ่งพบว่ามีค่าเฉลี่ยความเรียบถนนทั่วประเทศอยู่ที่ 78% แต่ถนนในภาคใต้มีค่าเฉลี่ยความเรียบสูงกว่า โดยอยู่ที่ 93.1% โดยทางหลวงหมายเลข 41 มีมาตรฐานความเรียบดีกว่าเกณฑ์ที่ 89.5% ซึ่งอาจจะมีผิวทางบางช่วงที่มีสภาพไม่เรียบร้อย โดยกระทรวงคมนาคมไม่ได้นิ่งนอนใจในการจัดสรรงบประมาณไปดูแล
และ 2.การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ในพื้นที่ภาคใต้ ขณะนี้มี 2 โครงการ ได้แก่ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 79,006 ล้านบาท โดยคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ได้เห็นชอบแล้ว สำรวจที่ดินและทรัพย์สินเวนคืนแล้ว โดยเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทบทวนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมอเตอร์เวย์สายหาดใหญ่ ชายแดนไทย-มาเลเซีย (M84) ระยะทาง 71 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร วงเงิน 40,620 ล้านบาท ปัจจุบันออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว และรายงาน EIA ผ่าน คชก.แล้ว การศึกษา PPP เสร็จแล้ว
นอกจากนี้แล้วกระทรวงคมนาคมเห็นว่าการแยกศึกษามอเตอร์เวย์อย่างเดียวจะมีปัญหาเนื่องจากระบบโลจิสติกส์ทางบกมีเส้นทางรถไฟด้วย ซึ่งนโยบายต้องการใช้ระบบรางในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางของอาเซียนตามภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาการแก้ปัญหาแบบบูรณาการโดยการพัฒนาโครงข่ายร่วมกันระหว่างทางรถไฟกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เป็นแผนแม่บท MR-MAP (มอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่) รวม 8 เส้นทาง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทุกภูมิภาคของประเทศกับด่านชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
โดยในปี 2564 จะเป็นการศึกษาแผนแม่บท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ซึ่งประโยชน์จากการบูรณาการพัฒนามอเตอร์เวย์-ทางรถไฟ 1.ลดผลกระทบต่อชุมชน 2.สร้างความคุ้มค่าในการลงทุน 3.กระจายความเจริญเข้าสู่ทุกภูมิภาค 4.ส่งเสริมการพัฒนาเมือง 5.พัฒนาเศรษฐกิจ 6.พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน นอกจากนี้ยังลดการลงทุนภาครัฐ ด้านค่าเวนคืนและลดการลงทุนโดยเปิดให้เอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุน
รมว.คมนาคมย้ำอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ทอดทิ้งพี่น้องภาคใต้ และไม่ได้ทอดทิ้งพี่น้องในพื้นที่ภาคใดๆ เลย เรามีการดำเนินการในการบริหารงบประมาณเพื่อที่จะดูแลถนนต่างๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ใช้อย่างสะดวก และปลอดภัย.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |