เบื่อเกาะรั้วแดงตั้งพรรค สุดช้ำไปได้แค่หัวบันได/ยุรวมกลุ่มอีสานเลิกกินน้ำใต้ศอก‘พท.’


เพิ่มเพื่อน    

  ไม่ยอมกินน้ำใต้ศอก เสื้อแดงอีสานจุดพลุตั้งพรรคใหม่ แกนนำแดงสกลนครเผยที่ผ่านมาจะเสนอเรื่องนโยบายทำได้แค่ยื่นที่หัวบันไดพรรคเพื่อไทย ยามเป็นรัฐบาลก็ไปยื่นได้แค่ข้างรั้วรัฐสภา จะได้แยกคนเสื้อแดงให้ชัด "อภิสิทธิ์" ฝากถึง คสช. พรรคการเมืองไม่ได้มีเพื่อแย่งชิงอำนาจและเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นสถาบันที่ดูแลประชาชนด้วย "ชวน" ไม่หวนกลับ ยันหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังเป็น "อภิสิทธิ์"  

    นายสิระ พิมพ์กลาง แกนนำคนเสื้อแดง สกลนคร ให้สัมภาษณ์ว่า ควรมีการก่อตั้งพรรคคนเสื้อแดง หากมีประชาชนหรือพี่น้องคนเสื้อแดงเห็นด้วย ตนพร้อมเอาด้วย ปัจจุบันแนวคิดเสื้อแดงในพื้นที่ หากเสนอเรื่องนโยบายทำได้แค่ยืนที่หัวบันไดของพรรคเพื่อไทย ยามเป็นรัฐบาลก็ไปยื่นได้แค่ข้างรั้วรัฐสภา เข้าไปข้างในไม่ได้ นโยบายหลายเรื่องจึงไม่ถูกขับเคลื่อน 
    เขากล่าวว่า การจะขับเคลื่อนได้ ต้องมีพรรคที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เชื่อว่าหากมีการก่อตั้งพรรคเสื้อแดงจริง จะมีแนวร่วมในภาคอีสาน หรือแม้แต่ภาคใต้ พร้อมเข้าร่วมด้วย จะได้แยกกันชัดเจนระหว่างคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย กับคนเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเสื้อแดง จะได้แยกกัน เหมือนกับที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีแนวคิดจะทำพรรคการเมืองในนาม กปปส. การแยกเสื้อแดงออกมาตั้งพรรคเอง เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย 
    "นโยบายที่เสนอก็ต้องเป็นเรื่องที่จับต้องได้ สิ่งใดดีต้องคงไว้ เช่น โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงแต่ต้องทำให้ดีกว่าเดิม โดยยาที่ได้รับต้องไม่แบ่งแยก ไม่ใช่คนรวยได้รับยาแบบหนึ่ง คนจนได้รับยาอีกแบบหนึ่ง สวัสดิการด้านแรงงาน ทุกคนต้องมีสิทธิอย่างเทียมกัน ในสิทธิที่พึงจะได้รับ ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งความเป็นอยู่ สุขภาพ เรื่องเศรษฐกิจ เป็นเชิงรุก มุ่งเน้นค้าขายนำเงินเข้าประเทศ ไม่ใช่จ้องแต่จะรีดภาษีประชาชนในประเทศ การศึกษาไม่ใช่แค่กระจุกไว้ใน กทม. ต้องกระจายออกไปตามต่างจังหวัด รวมถึงเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชันต้องจริงจัง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ หากให้การช่วยเหลือ ทำหน้าที่โอนเอียง ทำให้คนผิดกลายเป็นคนถูก สมควรได้รับโทษเพิ่มเป็น 2 เท่า"   
    นายสิระกล่าวอีกว่า หลายเรื่องเราล้วนเดินมาผิดทาง เช่น การปฏิรูปตำรวจ ในฐานะที่เคยอยู่ในแวดวงตำรวจชั้นประทวนมากว่า 31 ปี เห็นการปฏิรูปตำรวจแล้ว แต่กลับไม่มีตัวแทนตำรวจชั้นประทวนเข้าไปร่วมด้วย มีแต่นายตำรวจที่มียศศักดินา แล้วอย่างนี้จะไปมองเห็นปัญหาของตำรวจชั้นประทวนได้อย่างไร
    พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประสานพูดคุยฝ่ายการเมืองเพื่อเตรียมตั้งพรรคการเมือง โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะร่วมด้วยหรือไม่ ว่าเมื่อใกล้เวลาตามที่ประกาศไว้ในโรดแมปที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ฝ่ายการเมืองและผู้ที่จะลงเล่นการเมืองควรจะมีความชัดเจนรวมถึงบุคคลในรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรอ้ำอึ้ง แต่ควรแสดงท่าทีให้ชัดว่าจะสนับสนุนเรื่องการตั้งพรรคของนายสมคิด
ท้าเปิดหน้าเล่น
    "เปิดหน้าเล่นให้เห็นอย่างชัดเจน พร้อมเสนอแนวทางและนโยบายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาและตัดสินใจหากจะมาเล่นการเมือง"
    ส่วนข้อสังเกตว่า ในระหว่างนี้เริ่มมีการพูดคุยเพื่อดึงตัวอดีต ส.ส.ของพรรคต่างๆ ไปร่วมงานกับนายสมคิดนั้น สำหรับพรรคเพื่อไทยไม่กังวลว่าจะมีผลอะไรกับพรรค และขณะนี้สมาชิกของเรายังอยู่กับพรรค มีการยืนยันสมาชิกของพรรคเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีข่าวหรือมีท่าทีว่าจะมีคนของเราไปร่วมงานกับพรรคอื่น     พล.ต.ท.วิโรจน์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีข่าวว่ากลุ่มวาดะห์เตรียมจะย้ายไปร่วมงานกับพรรคประชาชาติ จนถึงขณะนี้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็ยังอยู่กับพรรครวมถึงบุตรสาวก็ยังเป็นประธานสาขาพรรคที่จังหวัดยะลา ยังคอยช่วยงานอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง
    พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมายืนยันเรื่องที่นายสมคิดจะตั้งพรรคการเมืองว่า หากการเมืองมาสร้างสิ่งดีๆ ให้กับประเทศชาติก็เป็นเรื่องดี ใครที่มีความพร้อม มีความสามารถ และมีความบริสุทธิ์ ที่จะมาทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าใครทั้งสิ้น ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพียงตัวบุคคลที่พูดมา ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าหรือนักการเมืองรุ่นใหม่ ก็เป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น ถ้าทุกคนทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ใจ 
    อย่างไรก็ตาม หลังช่วงสงกรานต์คงไม่ถือว่าเป็นช่วงร้อนแรงของสถานการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด แต่ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของช่วงเวลาที่ต้องดำเนินไป เพราะอย่างไรก็ต้องมีการเลือกตั้ง และเมื่อต้องมีการเลือกตั้ง ก็ต้องมีคนเข้ามาใช้อำนาจรัฐที่เรียกว่าการเมือง ก็อยากให้คนที่มานั้นมีความตั้งใจ และอยากให้ประชาชนเลือกคนดี ทั้งนี้ยืนยันว่าประเทศชาติมีสิ่งดีๆ มากมาย ถ้าเรามาช่วยกันทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น ประเทศชาติเราจะเจริญ ทุกคนก็จะมีความสุข จึงอยากให้ทุกคนมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดี
       เมื่อถามถึงการจัดตั้งพรรคของรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ใช่พรรครัฐบาล จะมาสรุปแบบนั้นไม่ได้ จะพรรคอะไรตนเองไม่รู้ และไม่ได้รู้เรื่องด้วย จึงไม่มีความเห็นเรื่องนี้
        ซักว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ รมว.มหาดไทยยืนยันว่า ไม่ได้ร่วมด้วย ไม่เคยมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย   
"ป๊อก"ยันปลดล็อกแน่
    ส่วนความเป็นไปได้หรือไม่ว่าหลังเดือนเมษายนนี้จะมีการปลดล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ยังไงก็ต้องมีการปลดล็อกให้มีการเคลื่อนไหวได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช.เป็นผู้พิจารณา ทราบว่านายกรัฐมนตรีก็พิจารณาอยู่ ตนจึงไม่ขอพูดในเรื่องของวันเวลา เพราะอย่างไรก็ต้องปลดล็อก และก่อนการเลือกตั้งใหญ่ก็ต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองหลังสงกรานต์ว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องดำเนินการเรื่องกฎหมายให้เรียบร้อย เพราะขั้นตอนโรดแมปเชื่อมโยงกับกฎหมาย จึงต้องสะสางปัญหาที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งเรื่องเนื้อหาในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 รวมถึงการส่งร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสองฉบับให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ จากนั้นจะเห็นภาพชัดว่าจะมีส่วนใดที่กระทบการเลือกตั้งหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หัวหน้า คสช.มีอำนาจในการสร้างความมั่นใจในเรื่องกรอบเวลาได้ โดยให้ร่นเวลาการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.ให้เร็วกว่า 90 วัน จึงอยากให้คสช.ทำให้เกิดความชัดเจนกับประเทศ 
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวอีกว่า ช่วงสองสามเดือนต่อจากนี้ คงจะเห็นพรรคใหม่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ส่วนพรรคเก่าต้องดูสิ้นเดือนเมษายน ว่าจำนวนสมาชิกจะเป็นอย่างไร แต่หลังจากนี้ทุกคนก็ต้องรอเพราะยังประชุมใหญ่ตามกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ หาสมาชิกและตั้งสาขาพรรคไม่ได้ การที่ กกต.บอกว่าให้ไปขออนุญาต คสช.นั้น เป็นแนวทางที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากอนุญาตช้าหรือไม่อนุญาตบางพรรคก็จะเกิดปัญหาไม่เป็นธรรม คสช.จึงควรให้ระบบเดินหน้าด้วยความเรียบร้อย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง 
    "อยากให้เข้าใจว่าพรรคการเมืองไม่ได้มีเพื่อแย่งชิงอำนาจและเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นสถาบันที่ต้องดูแลปัญหาประชาชนทั้งในช่วงที่มีและไม่มีการเลือกตั้ง จึงต้องพัฒนาแนวคิดและนโยบายของตนเองการให้พรรคการเมืองปฏิบัติตามกฎหมายได้ ก็จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมือง จึงอยากให้ คสช.ทบทวน เพื่อให้ครึ่งปีจากนี้ไปเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีความขัดแย้ง เพราะไม่ว่ากรอบเวลาเลือกตั้งจะขยายออกไปอย่างไร สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นต้องมีการเลือกตั้ง เพราะประชาชนยอมรับสถานการณ์พิเศษเพราะเรื่องความมั่นคงเท่านั้น แต่จะทำอย่างนี้ไปไม่จบ ไม่สิ้นคงไม่ได้" 
    นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สำหรับพรรคการเมืองต้องฟื้นศรัทธาประชาชนให้กลับมายอมรับการทำงานของพรรคการเมือง ซึ่งตนรู้สึกเสียดายว่าการถกเถียงทางการเมืองยังวนเวียนอยู่ว่าใครจะจับมือกับใคร ใครจะมีปัญหากับใคร แต่ไม่ค่อยพูดว่าปัญหาที่มีแต่ละพรรคคิดอย่างไร เราอยู่กับการเมืองแบบนี้มา 4 ปี เศรษฐกิจชะงักไปเท่าไหร่ อย่างไร จะแก้ไขแบบไหนจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารประเทศ 
คนรุ่นใหม่เสียเปรียบ
    เขากล่าวว่า ประชาธิปัตย์ยุคใหม่จะเป็นการแข่งขันกับตัวเอง เสนอทางเลือกให้แก่ประเทศ ซึ่งต้องทำสองอย่างคือ การบริหารภายในของพรรค และกำหนดจุดยืนเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ซึ่งประชาธิปัตย์จะเดินหน้าเป็นพรรคของประชาชนมากขึ้น เดิมมีสมาชิกมาก และมีระบบเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว แต่จะเปิดทางให้สมาชิกมีส่วนร่วมเลือกหัวหน้าพรรคได้ และจะใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมเพื่อติดต่อสองทางกับสมาชิก รวมถึงสร้างมาตรฐานด้านจริยธรรมมากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง โดยพรรคก็เปิดรับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานร่วมกับพรรคตลอดเวลา แต่ยังไม่สามารถเปิดรับสมาชิกพรรคใหม่ได้ เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ไม่ได้เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น แต่ก็มีหลายคนที่ติดต่อไว้แล้ว เมื่อเต็มรูปแบบก็จะดำเนินการได้ง่ายขึ้น เพราะพรรคมีหน้าที่สร้างนักการเมืองทุกรุ่น 
    "ภายใต้กติกาใหม่ที่มีการทำไพรมารีโหวต คนรุ่นใหม่อาจเสียเปรียบคนเก่า ซึ่งพรรคจะส่งสัญญาณให้สมาชิกพิจารณาคนรุ่นใหม่ด้วย อย่าพิจารณาแต่คนเดิม" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว 
    นายอภิสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าจะมีอดีต ส.ส.ของพรรคย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่ว่า การออกไปก็เป็นสิทธิ ถ้าคิดว่าเหมาะสมที่จะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่น เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งก็มีทั้งคนออกและคนเข้า พรรคจะเสีย ส.ส.ไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของประชาชน แต่ตอนนี้อดีต ส.ส.เกือบทุกคนก็มายืนยันความเป็นสมาชิกพรรคแล้ว ยกเว้นนายธานี เทือกสุบรรณ ส่วนนายเชน เทือกสุบรรณ เคยบวชจึงพ้นสมาชิกภาพไปแล้ว และยังสมัครใหม่ไม่ได้ แต่ก็ยังคุยการเมืองกับคนในพรรคอยู่ 
    หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า คสช.อาจจะไม่มีการหารือกับพรรคการเมืองในเดือนมิถุนายนตามที่เคยมีการระบุไว้ว่า อาจเป็นเพราะว่าไม่มั่นใจว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะประกาศราชกิจจาฯ ได้ในเดือน มิ.ย.หรือไม่ เพราะมีการส่งกฎหมายไปตีความ อย่างไรก็ตาม หากมีการหารือเกิดขึ้น พรรคก็พร้อมให้ความร่วมมือ ไม่มีเหตุผลที่จะไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับการผ่อนปรนคำสั่งที่เป็นปัญหาว่าจะทำอย่างไร จึงไม่อยากให้ คสช.ขัดแย้งในตัวเอง เพราะถ้าไม่ผ่อนปรนแล้วทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้ ก็เลือกตั้งไม่ได้จะทำให้ คสช.มีปัญหามากขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็จะเป็นเรื่องที่ คสช.ตัดสินใจเองว่าจะดำเนินการอย่างไร 
    ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาว่าใช้พรรคเล็กมาออกเสียงเพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะเชื่อว่าทุกคนเคารพรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งไว้ชัดเจนว่าให้จัดเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จึงหวังว่าจะไม่มีการออกคำสั่งตามมาตรา 44 มาลบล้างกรอบเวลาเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนด เพราะรัฐธรรมนูญต้องใหญ่ที่สุด คสช.ออกคำสั่งลบล้างรัฐธรรมนูญไม่ได้ ถ้าทำจะเกิดคำถามความสงสัยและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้ง ซึ่งไม่ควรให้บ้านเมืองเดินไปอย่างนั้น เพราะสุดท้ายก็ต้องเลือกตั้ง 
"ชวน"ยัน"มาร์ค"หัวหน้า
    ด้านนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ หลังจากร่วมกิจกรรมทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ และรดน้ำขอพร เนื่องในวันปีใหม่ไทย เทศกาลสงกรานต์ ถึงสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า การเลือกตั้งเป็นการเมืองระบบใหม่จะมีพรรคเล็กพรรคน้อยเกิดขึ้นมาก ซึ่งความจริงแล้วการไปยุให้ตั้งพรรคเล็กๆอย่างที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปปราศรัยให้มีการตั้งพรรคเล็กเยอะๆ ตนว่าไม่ถูกหลักเท่าไหร่ ปกติก็พยายามไม่ให้มีพรรคการเมืองมากเกินไป เพราะว่าหากพรรคการเมืองมากแล้ว
        "คอยดูกันในอนาคตว่าสถานการณ์อะไรจะเกิดขึ้น แต่ว่าระบบใหม่ ทุกคนจะไปตั้งพรรค เพราะคะแนนเสียงลงถ้าได้เสียงจำนวนหนึ่งก็ได้ผู้แทนฯ 1 คน ถ้าได้เพิ่มขึ้นมาก็อาจ 2 คน เพราะฉะนั้นพรรคที่สามารถรวบรวมได้จำนวนหนึ่ง เช่น แสนคะแนน หรือมากกว่านั้น ก็อาจจะได้ผู้แทนฯ 1 ถึง 2 คน ก็ทำให้เกิดพรรคเล็กขึ้นมามากมาย แต่ไม่ส่งผลต่อพรรคใหญ่ เพราะพรรคใหญ่ทำไปตามที่ฐานที่มีอยู่ แต่ต่อไปนี้สมมุติว่าพรรคเล็กๆ แต่เดิมคะแนนไม่ถึงไม่ได้ แต่ตอนนี้คะแนนถึงก็ได้หมด เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม"
         ถามว่า ในส่วนของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เลือกตั้งสมัยหน้ายังคงเป็นนายอภิสิทธิ์หรือไม่ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ตอบว่า ขณะนี้ยังคงเป็นนายอภิสิทธิ์ เพราะยังคงไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการประชุม เมื่อเปิดโอกาสก็ว่ากันไปตามเงื่อนไขข้อบังคับกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และข้อบังคับของบ้านเมือง ถึงแม้นายอภิสิทธิ์จะเป็นต่อ ก็ต้องผ่านกระบวนการตามกฎหมายใหม่
         ซักว่ามีกระแสข่าวว่า ส.ส.ส่วนใหญ่เรียกร้องให้กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวนยอมรับว่า มีความคิดแบบนั้นอยู่บ้าง แต่ตนก็ได้บอกทุกคนแล้วว่า ขอช่วยอยู่ข้างหลังดีที่สุด เพราะเป็นหัวหน้าพรรคมานานถึง 12 ปี ได้ทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเต็มที่ และเป็นช่วงจังหวะได้เป็นรัฐบาล 
    "เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งนานที่สุด ได้ใช้เวลาดังกล่าวทำงานมาเต็มที่ ต่อไปก็เอาประสบการณ์ที่มีอยู่ใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนรุ่นใหม่ แนะนำแนวทาง ซึ่งหลายคนก็มีความคิดความอ่านที่ดี"
        ถามว่า หากสมาชิกส่วนใหญ่ให้กลับมานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ท่านยินดีหรือไม่ เขาตอบว่า สมาชิกเข้าใจตนที่อธิบายว่าพรรคต้องสร้างคนใหม่ขึ้นมากๆ สิ่งที่พยายามทำในขณะนี้คือ ดึงคนใหม่ๆ คนใหม่ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนอายุน้อยเสมอไป แม้กระทั่งข้าราชการเกษียณ ข้าราชการดีๆ ข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ดีๆ รวมทั้งนักธุรกิจดีๆ ที่มีจิตใจสะอาด เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ก็พยายามดึงเข้ามาช่วยทำงาน
เชื่อ"บิ๊กตู่"เคลียร์ได้
      ผู้สื่อข่าวถามว่า โดยส่วนตัวมองคุณศุภชัย พานิชภักดิ์ อย่างไรบ้าง นายชวนตอบว่า นายศุภชัยเคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีสมัยตนเป็นนายกรัฐมนตรี อันนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เพราะเราจะไปดึงใครมาต้องให้เขาสมัครใจ ถ้าไม่เต็มใจงานจะเสียหาย เวลามาทำงาน แล้วก็ปัญหาการเมือง งานเหนื่อยและหนัก เพราะฉะนั้นคนที่ไม่เต็มใจเข้ามาแล้วจะมีปัญหา
    นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตรียมนัดพรรคการเมืองหารือว่า เท่าที่ฟังจากนายกรัฐมนตรีบอกว่ามีอะไรนัดคุยกันได้ เช่น หากคิดว่าช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่งคสช.ยาวหรือสั่นไป หรือไม่สอดคล้องกันสามารถบอกกับนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งตนคิดว่านายกรัฐมนตรีคงช่วยแก้ไขได้ แต่ถ้าจู่ๆ จะให้แก้ไขเลย ไม่แน่ใจว่าถูกต้องหรือไม่ เพราะนายกฯ ไม่ใช่นักการเมืองมืออาชีพ
       เมื่อถามว่า มีพรรคการเมืองประกาศไม่ร่วมหารือกับนายกฯ จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ประธาน กรธ.เชื่อว่า หากไม่พร้อมเพรียงหรือไม่ครบถ้วน นายกฯ จะมีวิธี แต่ในชั้นต้นนี้ต้องดูก่อนว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)  และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะมีหน้าตาอย่างไร หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว
    "ถ้าพูดตอนนี้จะไม่ชัดเจน เพราะนอกจากกฎหมายลูกดังกล่าวแล้ว ยังมีผู้ไปยื่นต่อผู้ตรวจการแผ่นดินในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะยิ่งทำให้การเดินหน้าปรับปรุงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53 ตามความต้องการของ กกต.ต้องรอ ตนก็ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรอหรือไม่"
        เมื่อถามย้ำว่า นายกฯ ต้องหารือพรรคการเมืองภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือไม่ นายมีชัยชี้แจงว่า ไม่ทราบว่าจะแก้ไขอะไร ปัญหาที่ กกต.ส่งมาคือเรื่องอะไร ไม่ทราบ แต่ถ้ารอได้ก็ควรรอ แต่ถ้ารอไม่ได้หรือจังหวะขัดกันก็อาจเดินหน้าไป เพื่อแก้ปัญหาให้กับ กกต.และพรรคการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการพูดคุยระหว่างนายกรัฐมนตรีและพรรคการเมืองจะคุยตอนไหนก็ได้ เพราะไม่มีผลบังคับ อีกทั้งต้องนำกลับมาทบทวนอีก ถ้าต่างคนต่างพร้อม
        “การหารือเป็นเรื่องดี ใครมีปัญหาอะไรพูดคุยกันได้ เพราะอยู่ในยุคที่ต้องพยายามทำความเข้าใจกัน ทุกคนหวังประโยชน์ให้บ้านเมืองเดินหน้า เบื้องต้นที่นายกฯ จะนัดหารือในเดือน มิ.ย.นั้น คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว เพราะจากนี้ยังเหลืออีก 2 เดือน”  นายมีชัยกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"