“รักแลกภพ” ละครรักย้อนยุคแนวข้ามภพข้ามชาติ (Time Travel Romance) ที่ บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด จับมือร่วมผลิตกับ ช่องวัน 31 นอกจากจะน่าสนใจเพราะเป็นละครที่เขียนบทขึ้นใหม่ ไม่ได้นำเรื่อง มาจากนวนิยายแล้ว ละครยังดึงนักแสดงชื่อดังทั้ง ฟิล์ม-ธนภัทร กาวิละ, วิว-วรรณรท สนธิไชย, ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย, ลิลลี่-ภัณฑิลา วิน ปานสิริธนาโชติ ฯลฯ มาประชันจอ เรียกฐานแฟนคลับให้มาติดตามชมได้ไม่ยาก รวมไปถึงเหล่าคอละครย้อนยุคที่พร้อมใจกันมานั่งติดจอรอชม ใน ทุกวันจันทร์ -พฤหัสบดี เวลา 20.15 น.
เรื่องราวของละครย่อมมีความสนุกสนาน โกลาหล ผูกโยง ซ่อนปมให้ชวนติดตามตามขนบของละครย้อนยุค/ข้ามภพ/โรแมนติก/คอมเมดี้ โดยอิงฉากหลังเป็นสยามประเทศในปีพุทธศักราช 2463 คือเมื่อ 100 ปีก่อนซึ่งตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ (พ.ศ.2453-2568)
การเดินเรื่องในภพอดีตที่เน้นไปที่ “คลังออมสิน” ผ่านตัวละครหลักอย่าง “คุณเพียร” คนหนุ่มอนาคตไกล และรับราชการในคลังออมสิน สะท้อนว่าผู้ผลิตละครย่อมมุ่งหมายการแผยแผ่พระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 6 ที่ทรงปลูกฝังให้ราษฎร รู้จักการออมไว้ใช้และเพื่อการลงทุนในภายหน้า ด้วยทรงพระราชทานกำเนิด “คลังออมสิน” เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2456 ตามพระราชปรารภในพระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ.2456 ว่า “... เพื่อประโยชน์ในการรับ รักษาเงินที่ ประชาชนนำมาฝากเป็นรายย่อย แลรับภาระจัดให้เงินนั้น เกิดผลแก่ผู้ฝากตามสมควร …” ซึ่งในเวลานั้นการชวนประชาชนทั่วไปมาฝากเงินถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทยด้วยราษฎรกลัวจะถูกโกง และแม้ธนาคารแห่งแรกของไทยคือ บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด จะได้จัดตั้งขึ้นก่อนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2449 แต่ก็ตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อื่นคือเพื่อ อำนวยประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุนเป็นสำคัญ “คลังออมสิน” จึงถือเป็นเซฟวิ่งแบงก์หรือสถาบันการเงิน เพื่อผู้ฝากรายย่อยแห่งแรกของประเทศไทย และตั้งขึ้นเพื่อให้ราษฎรได้มีที่ฝากทรัพย์โดยมีรัฐบาลเป็นประกัน
ประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เล่า บางเรื่องราวในปี พ.ศ.2463
ในภพอดีตของละคร “รักแลกภพ” ดำเนินเรื่องราวอยู่ใน พ.ศ.2463 ซึ่งเป็นปีที่ 10 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 6 รัฐบาลในเวลานั้นประสบภาวะเงินคงคลังไม่มากพอ อันเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงคราม โลกครั้งที่ 1(พ.ศ.2457- 2460) ทั้งยังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปีมะเส็ง (พ.ศ.2460) ภัยแล้งต่อเนื่องรุนแรง (พ.ศ.2461-2463) เกิดวิกฤติข้าวแพง (พ.ศ.2462-2463) และไม่มีข้าวมากพอที่จะส่งออกเพื่อเพิ่มรายได้ นอกจากนั้นด้วยพระราโชบายที่ไม่ต้องการให้ราษฎรหมกมุ่นกับการพนัน จึงโปรดเกล้าฯให้ยกเลิกหวย กข. (พ.ศ.2458) ยกเลิกการพนันบ่อนเบี้ย (พ.ศ.2460) ซึ่งล้วนเป็นการซ้ำเติมภาวะการคลังของประเทศเพราะขาดรายได้ที่เคยมีเป็นประจำปีละหลายล้านบาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯให้ตั้งกระทรวงเศรษฐการ หรือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน เพื่อแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากฝนแล้งและโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท เป็นเสนาบดีคนแรก แต่แม้จะเกิดวิกฤตการคลัง รัฐบาลล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ก็ยังคงนโยบายการคลังแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเคร่งครัด
จึงไม่โปรดฯ ให้มีการนำเงินคงคลังมาใช้หรือกู้เงินจากต่างประเทศ เพราะเกรงรัฐบาลต้องรับภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้ผู้ถือใบกู้รัฐบาลสยามที่ขายออกไปในต่างประเทศดังในรัชกาลก่อน (เงินกู้เพื่อนำมาสร้างทางรถไฟ) คลังออมสินในเวลานั้นจึงมีบทบาทในการเป็นเครื่องมือทางการเงินการคลังสำคัญของรัฐบาล ด้วยแนวคิดการระดมเงินออมภายในประเทศผ่านการขาย “ใบกู้รัฐบาล” แก่ราษฎร ซึ่งจูงใจด้วยดอกเบี้ยสูงกว่าฝากเผื่อเรียกทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎรจนระดมเงินฝากได้มากขึ้น
โดยในระยะแรกได้มีการนำเงินไปฝากไว้ในธนาคารต่างประเทศ เพื่อนำสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยมาเป็นดอกเบี้ยให้กับผู้ฝากและยังเป็นรายได้เข้าคลังอีกด้วย จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในละครเราจะได้ เห็นข้าราชการออมสินอย่าง “คุณเพียร” ที่นอกจากจะต้องสร้างความเข้าใจให้ราษฎรไว้ใจมาฝากทรัพย์แล้ว ยังต้องเร่งหาลูกค้าเงินฝากในรูปแบบอื่นๆเพื่อสร้างผลงาน ไม่เพียงปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ในปี พ.ศ.2463 ยังเป็นช่วงเวลาที่เกิดไข้หวัดใหญ่ ระบาดในพระนคร (เริ่มระบาดตั้งปี พ.ศ.2561 จากมณฑลพายัพ) ซึ่งมีเอกสารของกระทรวงนครบาลระบุว่าเกิดการระบาดของ “ไข้หวัดใหญ่ สแปนนิชฟลู” หรือไข้หวัดสเปน (เชื่อว่าเป็นเชื้อที่ติดมาจากทหารไทยที่กลับจากสงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะในเวลานั้นเกิดการระบาดไข้หวัดสเปนอย่างหนักในยุโรป) การระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสยามรุนแรงไม่แพ้กัน จนคร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 80,000 คน รวมถึงการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลก ประชานารถ ผู้ทรงเป็นองค์รัชทายาทในเวลานั้น จากอาการไข้หวัดใหญ่ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 7 ตุลาคม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงนำเรือหลวงพระร่วง เรือรบลำแรกของสยาม และเป็นเรือรบที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในเวลานั้น แล่นออกจากประเทศอังกฤษถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทรงใช้นำเรือถึง 90 วัน และน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนามพสกนิกรไทย (การจัดซื้อเรือรบหลวงพระร่วง พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและราษฎรทั่วไปเรี่ยไรทุนเพื่อซื้อถวายเป็นเรือรบสำหรับป้องกันพระราชอาณาจักรทางทะเล โดยล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมทุนเรี่ยไรด้วย)
และเหตุการณ์สำคัญอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นผลจากการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตัดสินพระทัยเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งมีอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยทรงให้สยามประกาศสงครามกับเยอรมนี-ออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2460 และส่งทหารไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตร เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ไทยจึงได้เข้าร่วมการเจรจาสันติภาพ ณ พระราชวังแวร์ซายส์ และเริ่มขอการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับประเทศต่างๆ โดยประเทศแรก ที่ไทยเจรจาการแก้ไขสนธิสัญญาได้สำเร็จคือสหรัฐอเมริกา สนธิสัญญาไทย-สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2463 เป็นสนธิสัญญาฉบับแรกที่ฟื้นฟูเอกราชทางการศาลและศุลกากรของไทย โดยให้ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวอเมริกันในประเทศไทย และให้สิทธิไทยในการกำหนด อัตรภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมต่างๆได้เอง และมีการลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2463 สนธิสัญญาดังกล่าวมีอายุ 10 ปี
“รักแลกภพ” นับเป็นสื่อละครที่ปรุงสาระความรัก (ในแบบโรแมนติกคอมเมดี้) และสาระความรู้ (ประวัติศาสตร์)ได้กลมกล่อม โดยการสอดแทรกพระราชกรณียกิจ พระอัจฉริยภาพ และพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในยุคสมัยให้แทรกอยู่ในทุกๆตอน ได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้ชมสนใจใคร่รู้และอยากค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ของตนเองและเพื่อเผยแผ่พระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 ให้เป็นที่ประจักษ์ต่ออนุชนส่งท้ายความคิดไว้ว่า ในยุคที่ประวัติศาสตร์มักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารด้วยเจตจำนงที่หลากหลายดัง เช่นเวลานี้ การเสพประวัติศาสตร์ผ่านการชมละครที่ให้มากกว่า “ความสนุก” ดูจะเป็นความสุขและเป็นการใช้เวลาที่มีค่าอย่างยิ่ง
อ้างอิง
1. พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว : พระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ.2456 ,
หนังสือที่ระลึก 100 ปีธนาคารออมสิน (พ.ศ.2456-2556) ,ธนาคารออมสิน ,2556
2. วรชาติ มีชูบท, “พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม”
,สร้างสรรค์บุ๊คส์ ,2553 หน้า 9
------------------------------------------------
ล้อมกรอบเรื่องย่อละคร “รักแลกภพ”
“รักแลกภพ” เป็นเรื่องราวของ พิริยะ (ฟิล์ม ธนภัทร) ยูทูปเบอร์หนุ่มหล่อ ที่ใช้เงินเกินตัวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเอง จนทำให้มีหนี้ท่วมหัวแทน วันหนึ่งเขาบังเอิญพบสมุดบัญชีเงินฝากของบรรพบุรุษ ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินนี้ได้ แต่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อจู่ๆ พิริยะ ได้ข้ามภพกลับไปใน พ.ศ.2463 และได้พบกับ เพียร (ฟิล์ม ธนภัทร) คุณทวดของเขาที่กำลังตัดสินใจเลือกผู้หญิงที่เพียบพร้อมเพื่อมาเป็นเจ้าสาว ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คุณวรรณ (วิว วรรณรท) สาวสวยที่มีความคิดทันสมัยกว่าผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้น ภารกิจช่วยคุณทวดเลือกเจ้าสาวจะโกลาหลขนาดไหน เมื่อพิริยะเริ่มหลงรักคุณวรรณว่าที่คุณทวดหญิงของตนเอง
พิริยะ (ฟิล์ม ธนภัทร)
คุณวรรณ-ทวดเพียร
คุณวรรณี - ปีติ
จรุงจิต -ดำเกิง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |