“โควิด-19” กับ “ความยากลำบาก” ของเศรษฐกิจไทย


เพิ่มเพื่อน    

"ประเทศไทยกำลังเจอพายุเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น หากไม่มีการตั้งรับให้ดี ทุกฝ่ายจะเหนื่อยกันหมด ไทยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งเข้าไปดูแล และจากผลกระทบของโควิด-19 ครั้งนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยยอมรับว่าในเดือน ก.ค.นี้ มีแนวโน้มที่ธุรกิจจำนวนมากต้องทยอยปิดตัวลง"

 

      ต้องยอมรับว่า ปี 2563 เป็นอีกปีที่ “ยากลำบาก” ของเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงเศรษฐกิจอีกหลายประเทศทั่วโลก จากผลกระทบหลักที่สำคัญคือ “การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงักลง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละประเทศ 

      สำหรับประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาด จากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น ส่งผลชัดเจนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก แต่ในมิติของ “เศรษฐกิจ” แน่นอนว่า มาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นของรัฐบาลในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

      “ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์)” ได้ประเมินผลกระทบที่สำคัญของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโควิด-19 ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2563 อาจหดตัวกว่า 5% และน่าจะใช้เวลามากกว่า 2 ปีที่จะกลับไปสู่ระดับการเติบโตของจีดีพีในช่วงก่อนจะประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19

      แม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการชะลอการระบาดของโควิด-19 ภายในระยะเวลา 3 เดือน แต่ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจนั้น “รุนแรง” เพราะความเปิดกว้างทางการค้าของไทย และความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 5% ในปีนี้ และคาดว่าจะเป็นการหดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวอย่างรุนแรงของการส่งออก โดยเฉพาะรายรับจากการท่องเที่ยวและการค้าในตลาดโลกที่อ่อนแอลง รวมถึงการชะลอตัวลงของอุปสงค์ในประเทศ ที่สะท้อนได้ชัดเจนจากการจำกัดการเดินทางและคำสั่งปิดสถานประกอบการ

      “ธนาคารโลก” ประเมินต่ออีกว่า กรณีที่ไทยเริ่มมีการผ่อนคลายการเดินทาง ก็จะช่วยทำให้การบริโภคภายในประเทศที่เดิมมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว จะกลับมาเป็นปัจจัยหลักในการดันเศรษฐกิจให้เริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2/2563 และในปี 2564 โดยเป็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอน เพราะโดยพื้นฐานแล้วเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวที่ระดับ 4.1% และในปี 2565 ที่ระดับ 3.6% ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวกลับไปสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดได้ภายในกลางปี 2565 นั่นเอง

      ขณะที่ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)” เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัว -7.7% และประเทศกลุ่มอาเซียนขยายตัว -2% เป็นผลจากผลกระทบโควิด ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ระดับ -7.7% นั้น น่าจะเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย ที่คาดว่าปีนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 1%, อินเดีย -4.5%, ญี่ปุ่น -5.8% และเกาหลีใต้ -2.1% รวมทั้งน่าจะขยายตัวได้ต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ โดยอินโดนีเซีย -0.3%, มาเลเซีย -3.8% และฟิลิปปินส์ -3.6% มีเพียงเวียดนามไม่ได้แจ้งตัวเลขคาดการณ์ไว้

      ในทิศทางเดียวกัน เมื่อ “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” ก็ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาอยู่ที่ -8.1% ลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว -5.3% พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการส่งออก อยู่ที่ -10.3% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ -8.8% และยังประเมินอีกว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ที่ถือเป็นอีกหนึ่งรายได้สำคัญของประเทศ จะลดลงเหลือเพียง 8 ล้านคนเท่านั้น จากคาดการณ์เดิมที่ 15 ล้านคน การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวที่ -3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ -1.5% การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว -13.8% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ -4.3%

      โดย กนง.มองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบลึกที่สุดในไตรมาสที่ 2/2563 ซึ่งมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่กระทบทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในระดับที่รุนแรงกว่าที่คาด และจากคาดการณ์ทั้งปีนี้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ -8.1% นั้น ถือเป็นระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้จะเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ในระดับที่ดีกว่า ที่ -7.6%

      ในมุมของภาคเอกชน อย่าง “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)” ก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกับ กนง. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2563 จะหดตัวลงลึกสู่ตัวเลข 2 หลัก และแม้จะผ่านช่วงเวลาเลวร้ายมาได้ ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยก็ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ทั้งจากการระบาดของโควิด-19 ในบางประเทศที่ยังรุนแรงอยู่ จนอาจเป็นผลทำให้การเปิดพรมแดนระหว่างประเทศของไทยทำได้อย่างจำกัด ซึ่งก็จะมีผลต่อภาคการท่องเที่ยว อีกทั้งแรงฉุดจากเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ไปจนถึงการแข็งค่าของเงินบาท ก็ยังเป็นปัจจัยกดดันภาคการผลิตและการส่งออกของไทยอยู่ไม่น้อย

      และจากปัจจัยเสี่ยงทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ กกร.ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ มาอยู่ที่ -5% ถึง -8% จากคาดการณ์เดิมที่ -3 ถึง -5% ขณะที่การส่งออก ลดลงมาอยู่ที่ -7 ถึง -10% จากคาดการณ์เดิมที่ -5 ถึง -10%

      เช่นเดียวกับ “Krungthai COMPASS” ที่ยังคงประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่ามีโอกาสจะหดตัวลงลึกถึง 8.8% ผลจากอุปสงค์ต่างประเทศที่หดตัวอย่างรุนแรง ขณะที่รูปแบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) หลังวิกฤติโควิด-19 นั้น จะทำให้ไทยต้องพึ่งพาตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภาครัฐอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในระยะหลังพึ่งพาอุปสงค์จากต่างประเทศมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี แต่กลับเป็นว่ากลไกดังกล่าวต้องหยุดชะงักลงจากแรงกดดันรอบด้าน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ต้องเผชิญกับการกีดกันทางการค้าที่จากนี้จะรุนแรงขึ้น ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็คาดว่าจะยังไม่กลับมาจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกจะคลี่คลาย ขณะที่อุปสงค์ในประเทศก็ดูเหมือนจะอ่อนแรงลงจากปัญหา “หนี้ครัวเรือน”

      จากปัจจัยทั้งหมด ทำให้ “มาตรการทางการคลังแบบเร่งด่วน” กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเดียวที่มีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสถานะหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยแม้จะยังอยู่ตามกรอบวินัยทางการคลัง ที่ 42.88% แต่คิดเป็นมูลค่าก็สูงถึง 7.9 ล้านล้านบาท ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปยังส่อเค้าไม่ฟื้นไปสู่จุดเดิมในปีที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้เม็ดเงินพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติม ขณะที่การจัดเก็บรายได้ก็มีแต่จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งทำให้เกิดขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกลายเป็น “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” ที่วนกลับไปซ้ำเติมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

      ขณะที่ก่อนหน้านี้ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาระบุว่า ประเทศไทยกำลังเจอพายุเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น หากไม่มีการตั้งรับให้ดี ทุกฝ่ายจะเหนื่อยกันหมด ไทยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องเร่งเข้าไปดูแล และจากผลกระทบของโควิด-19 ครั้งนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก โดยยอมรับว่า ในเดือน ก.ค.นี้ มีแนวโน้มที่ธุรกิจจำนวนมากต้องทยอยปิดตัวลง

      หน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่แค่การเยียวยาประชาชนทุกกลุ่มจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ยังต้องคิดล่วงหน้าด้วยว่า หลังจากควบคุมสถานการณ์ได้แล้วจะทำอะไรต่อ จึงเป็นที่มาของมาตรการเยียวยาโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งยอมรับว่าทำไปด้วยความยากลำบาก เพราะไทยไม่พร้อมเรื่องข้อมูล ทำให้ในช่วงแรกมีเสียงโจมตี วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ซึ่งก็ได้หารือกับนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และบอกว่าต้องอดทน เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤติ คลังคือหลักที่จะยึดเหนี่ยว ดังนั้น ถ้าคลังอ่อนแอ ประเทศจะไม่มีเหลือเลย เราได้ประสบการณ์นี้จากสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ดังนั้นต้องรับฟังคำวิจารณ์และทำทุกอย่างให้ดีขึ้น นั่นเป็นหน้าที่ของ รมว.การคลังที่จะต้องรับสิ่งเหล่านั้นและกลืนลงในกระเพาะเปลี่ยนเป็นแก๊สในกระเพาะ ตรงนี้เป็นเรื่องปกติ

      อย่างไรก็ดี จากปัจจัยเสี่ยงข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมด มีผลต่อมิติของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ ซึ่งจะกลายเป็น “โจทย์ใหญ่” ของรัฐบาล ในการแก้เกมเพื่อพาประเทศไทยก้าวข้ามผ่าน “มรสุมเศรษฐกิจ” ลูกใหญ่ครั้งนี้ไปให้ได้ วิกฤติเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญครั้งนี้ อาจรุนแรงและเลวร้ายกว่าที่เคยเจอเมื่อปี 2540 เพราะขณะนี้ “คนไทย” ทั้งหมดกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาด้านรายได้ ซึ่งเป็นผลมาจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจเกือบทุกตัวที่หยุดชะงักลงไป การแก้ปัญหาจึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนที่ผ่านมา แต่การหยิบเอาบทเรียนที่สำคัญจากวิกฤติครั้งก่อน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปอย่างเหมาะสม อาจจะพอช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และลดทอนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยได้ ไม่มากก็น้อย!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"