'ดร.สามารถ'เปิดปริศนาคมนาคมยุค'ลุงตู่'ที่คนไทยต้องรู้!


เพิ่มเพื่อน    

6 ก.ค. 63 - ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่าในหัวข้อ "เปิดปริศนาคมนาคมยุคลุงตู่ ที่คนไทยต้องรู้" ว่า "เสียงค่อนแคะ ดูหมิ่นดูแคลนลุงตู่ว่าพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งไม่เข้าท่า กล่าวหาว่าลุงตู่ไม่รู้เรื่องรถไฟฟ้า และต่างๆ นานา มีคนถามผมมามากว่ามีความเห็นอย่างไร?

หากได้ติดตามบทความของผม จะรู้ว่าผมจะวิพากษ์วิจารณ์ตามข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นธรรม อิงเหตุและผลพร้อมข้อเสนอแนะ ไม่แฝงประเด็นทางการเมือง แต่มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้สนใจในประเด็นต่างๆ

ผมได้เกาะติดงานคมนาคมของรัฐบาลประยุทธ์มาตั้งแต่รัฐประหารในปี 2557 มาจนถึงรัฐบาลเลือกตั้งในปัจจุบัน มีความเห็นดังนี้

1.รถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ

ลุงตู่ลงมือก่อสร้างรถไฟฟ้าทันทีตามแผนแม่บทที่ได้จัดทำและได้เริ่มก่อสร้างมาในหลายรัฐบาล ไม่เสียเวลามาปรับแก้แผนแม่บทที่ผ่านการศึกษามาแล้วโดยสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ก่อนลุงตู่เข้ามาบริหารประเทศ เรามีรถไฟฟ้าใช้เป็นระยะทาง 87.2 กิโลเมตร หลังจากลุงตู่เป็นนายกฯ มา 6 ปี เรามีรถไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้นเป็น 157.8 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 70.6 กิโลเมตร ซึ่งเป็นผลจากการก่อสร้างต่อเนื่องมาจากหลายรัฐบาลรวมทั้งรัฐบาลนี้ และกำลังก่อสร้างรถไฟฟ้าอีกหลากหลายสีในรัฐบาลนี้ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและออกแบบรวมทั้งเวนคืนที่ดินในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

1.1 รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน

รถไฟฟ้าสายนี้ที่เปิดใช้ในเดือนสิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นสมัยลุงตู่ มีผู้โดยสารน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แนวคิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลทักษิณ แล้วมีการดำเนินการต่อเนื่องมาในหลายรัฐบาล ลุงตู่ได้ใช้อำนาจตาม ม.44 แก้ปัญหาฟันหลอช่วงเตาปูน-บางซื่อได้สำเร็จ ช่วยให้ผู้โดยสารไม่เสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถไฟฟ้า ทำให้จำนวนผู้โดยสารกระเตื้องขึ้นมา

1.2 รถไฟฟ้าสายสีเขียว

รถไฟฟ้าสายนี้ช่วงในเมืองหรือช่วง “ไข่แดง” เป็นการลงทุนและเดินรถโดยบีทีเอส แต่ช่วงต่อขยายไปชานเมืองเป็นการลงทุนโดยภาครัฐ แล้วจ้างให้บีทีเอสเป็นผู้บริหารจัดการเดินรถ ลุงตู่ใช้อำนาจตาม ม.44 ทำให้ค่าโดยสารถูกลง จากเดิมที่ต้องจ่ายอัตราสูงสุดถึง 158 บาท เหลือไม่เกิน 65 บาท เป็นการเปิดโอกาสให้คนชานเมืองได้ใช้รถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ด้วยค่าโดยสารที่ถูกลง

2.รถไฟความเร็วสูง

รัฐบาลอภิสิทธิ์จัดทำแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ 

2.1 รถไฟความเร็วสุงกรุงเทพฯ-หนองคาย

รัฐบาลอภิสิทธิ์ริเริ่มโครงการก่อสร้างเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงกับคุนหมิงของจีน โดยต้องการที่จะตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-จีน เพื่อก่อสร้างและบริหารรถไฟความเร็วสูงสายนี้ แต่ยุบสภาฯ เสียก่อน ทำให้โครงการคั่งค้าง ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้บรรจุโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ไว้ในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาถึงรัฐบาลประยุทธ์ ได้ตัดสินใจลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งน่าเสียดายที่ไม่ให้จีนมาร่วมลงทุนด้วย เพราะถ้าจีนร่วมลงทุนด้วย เขาจะทำทุกวิถีทางไม่ให้โครงการนี้ขาดทุน เช่น พยายามสนับสนุนคนจีนให้มาเที่ยวไทยด้วยรถไฟความเร็วสูง ถ้าสมมติว่าคนจีนนั่งรถไฟความเร็วสูงเข้ามาวันละ 5,000 คน ปีหนึ่งเกือบ 2 ล้านคน ถ้าเขามาใช้จ่ายในเมืองไทยคนละ 50,000 บาท ก็จะมีเงินหมุนเวียนในประเทศถึงปีละ 1 แสนล้านบาท

2.2 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

แนวคิดโครงการนี้มาจากแผนแม่บทรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง แต่รัฐบาลประยุทธ์ได้ปรับแก้เส้นทางให้เชื่อมโยงกับสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นการเสริมศักยภาพให้กับโครงการ EEC และแบ่งเบาภาระการรับผู้โดยสารอย่างหนักของสนามบินสุวรรณภูมิที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนการระบาดของโรคโควิด-19

3.รถไฟทางคู่

รัฐบาลชวนริเริ่มการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขึ้นมาในต้นปี 2536 รัฐบาลต่อมาเมินรถไฟทางคู่ จนมาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ได้จัดทำแผนแม่บทรถไฟทางคู่ขึ้นมาและได้จัดสรรงบประมาณมากที่สุดในขณะนั้นเพื่อก่อสร้างรถไฟทางคู่ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เลือกรถไฟทางคู่บางเส้นทางจากแผนแม่บทมาใส่ไว้ในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่ได้สร้าง จนมาถึงลุงตู่ ได้เร่งก่อสร้างหลายเส้นทางตามแผนแม่บท

4.มอเตอร์เวย์

รัฐบาลชวนได้จัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ครอบคลุมทั่วประเทศ และได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์เส้นทางแรกของไทยคือเส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยาเมื่อปี 2537 หลังจากนั้น ได้มีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์เพิ่มเติมบางเส้นทาง เช่นเดียวกับลุงตู่ที่ได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ซึ่งรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยบรรจุไว้ในแผนเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ไม่ได้ก่อสร้าง

5.สนามบิน

สนามบินที่อยู่ในความสนใจของผู้คนมากที่สุดก็คือสนามบินสุวรรณภูมิ รัฐบาลชวนเป็นผู้จัดทำแผนแม่บทการก่อสร้างสนามบินแห่งนี้เมื่อปี 2536 จนถึงปัจจุบันนี้แผนแม่บทนี้ก็ยังคงทันสมัย และใช้งานได้ดี แต่น่าเสียดายที่บริษัท ท่าอากาศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต้องการที่จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ที่ผิดแผนแม่บท หรือเทอร์มินัล 2 ตัดแปะ แต่ ทอท.เรียกว่า North Expansion ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ นานาตามมา ลุงตู่ได้สั่งการให้ ทอท.ทบทวนการก่อสร้างเทอร์มินัล 2 โดยต้องคำนึงถึงแผนแม่บทและให้เป็นไปตามหลักสากล แต่ดูเหมือนว่า ทอท.ยังคงพยายามดึงดันที่จะก่อสร้าง North Expansion ให้ได้

6.การบินไทย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขาดทุนอย่างหนักของการบินไทยจนต้องเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการมีปัจจัยหลักมาจากการซื้อเครื่องบินขนาดใหญ่หลายลำที่กินน้ำมันมากให้บินทางไกล แต่สุดท้ายขาดทุนต้องจอดทิ้งไว้อย่างไร้ประโยชน์ การซื้อเครื่องบินดังกล่าวเกิดขึ้นในรัฐบาลไหน? มาถึงรัฐบาลนี้ ลุงตู่ไม่ยอมอุ้มการบินไทยอีกต่อไป เพราะเกรงว่าถ้าอุ้มแล้วก็ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ อาจขาดทุนอีก แถมลุงตู่ยังลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังเหลือต่ำกว่า 50% ทำให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กลายเป็นบริษัทที่จะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อเลี้ยงตัวเองให้ได้ ไม่ให้ล้มละลาย

นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นจะต้องรู้รายละเอียดทุกเรื่องโดยเฉพาะด้านวิชาการเชิงเทคนิคที่ไม่ได้เรียนมา แต่ไม่ได้หมายความว่านายกฯ ด้อยสติปัญญา หากนายกฯ จะต้องรู้รายละเอียดทั้งหมดทุกเรื่อง แล้วจะมี รมต.และผู้บริหารในแต่ละกระทรวงไว้ทำไม ความรับผิดชอบหลักของนายกฯ จึงอยู่ที่การกำกับดูแล ครม.ให้ทำงานสำเร็จตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา 

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องวัดคนที่ผลสัมฤทธิ์ของงานซึ่งเป็นไปตามสุภาษิต “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” ไม่ใช่อยู่ที่การ “ยกตนข่มท่าน”.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"