ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย กลับจากอินเดีย-คูเวต-สหรัฐ-ญี่ปุ่น ไร้ติดเชื้อในประเทศ 41 วัน สวนดุสิตโพลเผยประชาชนคลายกังวลโควิด ลุ้นสิ้นปีกลับสู่ภาวะปกติ ตร.คุมเข้ม 11 ประเทศเข้าไทย
เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ประจำวันว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 5 ราย ทั้งหมดอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) โดยเดินทางมาจากประเทศอินเดีย 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 42 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางมาถึงไทย 23 มิ.ย. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อ 3 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ, คูเวต 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 42 และ 57 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางมาถึงไทย 29 มิ.ย. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อ 3 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ, สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นนักศึกษาหญิงไทย อายุ 17 ปี เดินทางมาถึงไทย 29 มิ.ย. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อ 3 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ และญี่ปุ่น 1 ราย เป็นชายไทย อายุ 38 ปี อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางมาถึงไทย 30 มิ.ย. เข้าพัก State Quarantine ที่กรุงเทพฯ และตรวจหาเชื้อ 2 ก.ค. ผลตรวจพบเชื้อไม่มีอาการ
ทั้งนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่อง 41 วันแล้ว หายป่วยแล้ว 3,071 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,190 ราย เสียชีวิตสะสม 58 ราย ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 11,380,633 ราย อาการรุนแรง 58,530 ราย รักษาหายแล้ว 6,439,666 ราย เสียชีวิต 533,449 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1.สหรัฐอเมริกา จำนวน 2,935,770 ราย 2.บราซิล จำนวน 1,578,376 ราย 3.รัสเซีย จำนวน 674,515 ราย 4.อินเดีย จำนวน 673,904 ราย 5.เปรู จำนวน 299,080 ราย ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 97
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางศาสนา ทำให้มีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปทำบุญ จนบางแห่งเกิดความแออัด และมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ จึงขอความร่วมมือวัดทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เช่น จัดจุดคัดกรองวัดไข้ จัดพื้นที่เว้นระยะห่างไม่ให้เกิดความแออัด จัดจุดให้บริการล้างมือ จัดระบบระบายอากาศให้ถ่ายเท จัดชุดสำหรับฉันอาหารเฉพาะรูป พระภิกษุสงฆ์ทุกรูป และประกอบพิธีกรรมให้สั้นลง สำหรับผู้มาทำบุญนั้น ขอให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เลี่ยงการหยิบจับของที่มีสัมผัสร่วม เช่น ที่กรวดน้ำ ราวบันได และปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาสนสถานเรื่องการเว้นระยะห่างอย่างเคร่งครัด และเมื่อกลับถึงบ้านให้เปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19
คุมเข้ม 11 ประเทศเข้าไทย
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 12) ลงวันที่ 30 มิ.ย.63 และคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ 7/2563 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 30 มิ.ย.63 ประกอบกับประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องกำหนดเงื่อนไขในการอนุญาตให้อากาศยานทำการบินเข้าออกประเทศไทย (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 2 ก.ค.63 ซึ่งห้ามอากาศยานขนส่งบุคคลทำการบินเข้ามายังท่าอากาศยานประเทศไทยเว้นแต่เป็นกรณี 11 กลุ่มผู้โดยสารนั้น โดยทั้ง 11 กลุ่มจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อันดับแรก ในการเตรียมตัวก่อนเดินทาง ผู้โดยสารต้องตรวจสอบว่าเป็นบุคคลตามข้อยกเว้น 11 ประเทศหรือไม่ พร้อมกับเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องตามเงื่อนไขบุคคลแต่ละประเภท โดยติดต่อสถานทูตไทยหรือกงสุลไทยประจำประเทศต้นทาง เพื่อขอหนังสือรับรอง ซึ่งผู้โดยสาร (เฉพาะบุคคลบางประเภท) ต้องมีใบรับรองการตรวจ COVID-19 FREE โดยวิธี RT-PCR มีอายุไม่เกิน 72 ชั่วโมง ก่อนการเดินทาง, ประกันภัยครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ตลอดระยะเวลาในไทยไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเข้ารับการกักตัวของรัฐ หรือการกักตัวในพื้นที่ควบคุมโรคแห่งรัฐทางเลือก หรือคุมตัวไว้สังเกตตามมาตรการควบคุมโรค ตามเงื่อนไขของแต่ละประเภท และเมื่อเข้ามาภายในราชอาณาจักรแล้ว ผู้เดินทางต้องโหลดแอปพลิเคชันเพื่อติดตามอาการ เข้าสถานที่ต่างๆ และรายงานสุขภาพตนเอง
ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ในกรณีอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยตามการผ่อนปรนของ ศบค. โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขับเคลื่อนการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด เพื่อการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พร้อมหน่วยร่วมปฏิบัติทุกภาคส่วน ยังคงมาตรการเข้มข้นในกระบวนการคัดกรองและกักกันคนไทย หรือบุคคลที่ได้รับการยกเว้นที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ ตามมาตรการและแนวทางที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้โดยเคร่งครัด
“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,109 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ค.2563 เรื่อง “การใช้ชีวิตของประชาชน หลังผ่อนคลายมาตรการโควิด-19” สรุปผลได้ดังนี้ ความวิตกกังวลของประชาชนกับสถานการณ์โควิด-19 ณ วันนี้ที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศกว่า 30 วัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.93 มีความกังวลลดลง รองลงมาร้อยละ 29.94 กังวลเหมือนเดิม และร้อยละ 12.44 ไม่กังวล ขณะที่ร้อยละ 4.69 กังวลมากขึ้น
หวังสิ้นปีโควิดจบ
สำหรับความคาดหวังอยากให้โควิด-19 ของไทยเข้าสู่สถานการณ์ปกติเมื่อใด ส่วนใหญ่ร้อยละ 39.40 ระบุว่า ภายในสิ้นปี 2563 รองลงมาร้อยละ 27.95 กลางปี 2564 ร้อยละ 23.90 ปลายปี 2564 และร้อยละ 8.75 ไม่แน่ใจ คาดเดายาก/อาจดีขึ้นเมื่อค้นพบวัคซีน
เมื่อถามว่าประชาชนมีส่วนช่วยในการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.77 ระบุว่า สวมหน้ากากอนามัย รองลงมาร้อยละ 88.19 ล้างมือบ่อยๆ ร้อยละ 81.24 เว้นระยะห่างทางสังคม ร้อยละ 79.80 ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และร้อยละ 76.92 ไม่ไปในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก
ทั้งนี้ หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการฟื้นฟูอย่างไรบ้าง ส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.55 ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างเข้มงวด รองลงมา ร้อยละ 71.78 มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง, ร้อยละ 69.43 เน้นการสร้างงาน สร้างอาชีพ, ร้อยละ 65.64 ช่วยเหลือคนตกงาน และร้อยละ 57.26 ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
กล่าวโดยสรุป ประชาชนถึงแม้จะมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ลดลง แต่ก็ยังอยากให้เฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของไทยอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องด้วย
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐ และคณะ ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทยตามข้อตกลงพิเศษ ในฐานะแขกทางการ ไม่ต้องกักตัว 14 วัน โดยใช้หัวเรื่องว่า "เมื่อภรรยา ส.ส. เดินทางกลับบ้าน" ว่า "นี่หรือครับ รัฐไทย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เห็นข่าวนี้แล้วมีรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาทันที เพราะเป็นคนหนึ่งที่รับรู้ความรู้สึกของภรรยาผมมาโดยตลอด ด้วยความที่ต้องเดินทางไปทำงาน ออกนอกประเทศไปนาน เดินทางกลับประเทศก็ไม่ได้ เพราะติดช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา รอคิวจากสถานทูตไทยในสิงคโปร์อยู่แรมเดือน พอกลับเข้ามาในประเทศก็ยังกลับเข้าบ้านไม่ได้ เพราะต้องกักตัวทำ state quarantine กลับก็เหมือนไม่ได้กลับ
แต่พวกเราเข้าใจครับ ว่าพวกเราต้องเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม เพราะหากมีผู้ติดเชื้อหลุดเข้าประเทศแม้แต่รายเดียว ก็อาจเกิดเป็นเหตุการณ์ super spreader ได้ และเมื่อถึงตอนนั้น ก็คงไม่มีใครรับผิดชอบแทนคนไทยเกือบ 70 ล้านคนทั่วประเทศที่จะต้องถูกล็อกดาวน์อีกรอบได้ แต่พวกเรามิอาจต่อว่านายพลที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ แต่สิ่งที่เราต้องช่วยกันประณามในครั้งนี้ก็คือ วิธีเลือกปฏิบัติของกองทัพไทยที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
นี่ละครับ ประเทศที่ผู้มีอำนาจมาจากทหาร มีระบบการบังคับบัญชาแบบแบ่งแยกชนชั้น ที่เหมาะที่จะเอาไว้ใช้บัญชาการกับการรบเมื่อต้องการความเด็ดขาด แต่ไม่ใช่ในประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นใหญ่ในสังคมนะครับ".
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |