การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์หลายมิติ มีหลายสิ่งเกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป หรือนิวนอร์มอล (New Normal) เช่น มนุษย์เงินเดือนในหลายองค์กรต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ได้เรียนรู้และสัมผัสกับการทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ อย่างเช่น ห้างร้าน สถานประกอบการหลายประเภทต่างปิดให้บริการอย่างไม่มีกำหนด ทำให้สูญเสียรายได้ จึงต้องหันมาศึกษา เรียนรู้ และพัฒนา หาวิธีการขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์ และผันตัวเองมาเป็นร้านค้าออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
ดังนั้น ต้องยอมรับว่าหลังจากนี้ไปทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนต้องปรับตัวเองให้รองรับกับการเปลี่นแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องเร่งปรับตัวเองเพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ที่จะมีเรื่องดิจิทัลเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากภาครัฐและเอกชนยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยในช่วงแรกภาครัฐอาจทุ่มไปกับการเยียวยาประชาชนเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย น่าจะถึงเวลาที่ภาครัฐและเอกชนควรให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยจากภายในอย่างแท้จริง เพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องเผชิญกับวิกฤติที่อาจมีขึ้นในอนาคตได้
แต่การลงทุนนั้นต้องสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ ซึ่ง สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้นำนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และ อุตสาหกรรม 4.0” มาพัฒนาต่อยอดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคอุตสาหกรรม เพื่อสร้างให้เกิดความร่วมมือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน และสร้างความสมดุลระหว่างปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงได้จัดทำหลักเกณฑ์นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ หรือ Smart Eco เพื่อยกระดับนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ ในการตรวจติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม การปล่อยมลพิษ การกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การจัดการด้านความปลอดภัย รวมทั้งจัดการระบบขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการปล่อยมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ ที่มุ่งไปที่การจัดการน้ำและน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ เพื่อกำกับดูแลและบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ เพื่อการจัดการด้านความปลอดภัยที่อาจส่งผลกระทบต่อพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
และยังต้องมีระบบขนส่งอัจฉริยะ เพื่อการจัดการระบบขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพ, ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาคารอัจฉริยะ เพื่อการปรับปรุงและออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม จากบทวิจัยของฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มองว่าวิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสลงทุนในสาขาที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อาทิ กลุ่ม อาหาร ซึ่งเป็นสาขาพื้นฐานที่ไทยมีความพร้อมและเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย วิกฤติโควิด-19 ชี้ให้เห็นความสำคัญ ดังนั้นการทำให้ “ครัวไทยเป็นครัวโลก” เป็นเรื่องที่ไม่ยาก
กลุ่มการแพทย์ สาธารณสุข และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกใส่ใจกับคุณภาพของบริการสาธารณสุขและการแพทย์มากขึ้น ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านการให้บริการด้านการแพทย์อยู่แล้ว จึงควรใช้จังหวะนี้เร่งลงทุนการแพทย์แบบครบวงจร ทั้งการผลิตบุคลากรและการพัฒนาเครื่องมือให้ทันสมัย
ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤติในโอกาสที่จะดึงนักลงทุนกลุ่มนี้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย.
บุญช่วย ค้ายาดี
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |