"สิ่งที่รัฐควบคุมโควิดได้ดี ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยเก่ง สามารถบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ได้อย่างดีมาก ดังนั้นเอกชนจะต้องเตรียมพร้อมและปรับตังเองเพื่อรองรับ สำหรับอมตะก็พร้อมอยู่แล้วเมื่อประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เปิดคลายล็อกดาวน์ เชื่อนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน แต่อุตสาหกรรมที่เข้ามานั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่รักษ์สิ่งแวดล้อม"
อีอีซี หรือเขตพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคตะวันออก ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาครัฐที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจของไทยให้เติบโต แต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ทำให้เศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ยิ่งแย่ลงไปอีก แต่ก็มีหลายฝ่ายต่างคาดหวังว่าหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลคลายล็อก ทำให้หลายภาคส่วนต่างคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มมีการขยับตัว
(นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์)
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA ได้มองว่าภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมภายหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และตอนนี้ยังอยู่ในสภาวะโควิด-19 ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวให้เข้ากับโควิด-19 ซึ่งภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรมในไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ช่วงปกติเป็นโลว์ซีซั่น และเมื่อรวมกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปด้วย จึงดูว่าแย่มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันแย่ขนาดไม่มีความต้องการอะไรเลย ยังมีความต้องการอยู่เข้ามาเรื่อยๆ
เร่งปรับตัวรับชีวิตวิถีใหม่
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาวะปกติคงไม่ใช่ เพราะก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็เริ่มส่งสัญญาณเข้ามาว่าสภาวะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี เมื่อมีโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องปรับทัพกันทั้งหมด เพื่อเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพราะ ถ้าปรับไม่ทันก็จะเข้าสู่สภาวะที่ลำบาก ซึ่งโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เราเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเร็วขึ้น ซึ่งก็มีทั้งดีและไม่ดี สำหรับข้อดีคือ ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและเร่งสร้างรายได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ลำบาก เนื่องจากเราต้องอยู่กับโควิดไปจนกว่าจะมีวัคซีน นอกจากนี้นิคมอุตสาหกรรมเองก็จะต้องปรับตัวเองโดยใช้ดิจิทัลอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในทุกด้าน และต้องเร่งหาแนวทางในการกระตุ้น ดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน
"ยอมรับว่าเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะที่เหนื่อย แต่ก็ไม่ได้เหนื่อยทุกอย่างเซ็กเตอร์ ยังมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่มีศักยภาพ และพร้อมที่จะลงทุน ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยอัดฉีด ซึ่งเขาทำกันทั่วโลก เพื่อหนุนเกื้อกูลให้เอกชนค่อยๆ ฟื้น เมื่อภาคฟื้นภาครัฐก็ค่อยถอน นี่คือกลไกของเศรษฐกิจ สำหรับไทยก็มีงบ 1.9 ล้านล้านบาท ที่เตรียมอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ" นายวิบูลย์กล่าว
วิกฤติเป็นโอกาส
นายวิบูลย์ กล่าวว่า การควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทย ทำให้ทั่วโลกยอมรับในด้านระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จึงทำให้มีภาคอุตสาหกรรมย้ายฐานลงทุน และไทยคือหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพขณะนี้เป็นเทรนด์โลก
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าโรคระบาดก็น่ากลัว แต่เงินไม่มีสักบาทน่ากลัวกว่า เราจะทำอย่างไรให้มาเจอกัน ถ้าวัคซีนมา คิดว่าตัวเศรษฐกิจจะเดินไปค่อนข้างดี แต่ขณะที่ยังไม่มีก็ต้องใช้วิธีการนี้ และต้องทำตัวให้เข้ากับโควิด-19 แต่เรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญ จะล้มละลายก็ไปไม่ได้ ดีที่สุดก็ถอยคนละก้าว เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า เรื่องประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญหา เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ประเทศที่เป็นโซเชียลลิสเหมือนท็อปดาว การควบคุม (control) ของเรา จึงมีโอกาสที่จะดึงการลงทุน
(แท็งก์แยกตะกอน)
สำหรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีนั้น โควิดทำให้เกิดโอกาสการลงทุนในพื้นที่อีอีซีมามากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแพลตฟอร์มถูกเปลี่ยน และถูกผลักดันเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะปรับตัวให้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและผลิตสินค้า
"สิ่งที่รัฐควบคุมโควิดได้ดี ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยเก่ง สามารถบริหารจัดการเรื่องโควิด-19 ได้อย่างดีมาก ดังนั้นเอกชนจะต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเองเพื่อรองรับ สำหรับอมตะก็พร้อมอยู่แล้วเมื่อประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เปิดคลายล็อกดาวน์ เชื่อนักลงทุนจะเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน แต่อุตสาหกรรมที่เข้ามานั้นต้องเป็นอุตสาหกรรมที่รักษ์สิ่งแวดล้อม" นายวิบูลย์กล่าว
ยอดขายที่ดินฟื้น
นายวิวัฒน์ กรมดิษฐ์ ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาที่ดิน บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ก็ต้องยอมรับว่าการซื้อขายที่ดินอาจจะลดลงไปบ้าง แต่เชื่อว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ยิ่งหากมีวัคซีนแล้วก็จะยิ่งมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งลูกค้าหลักของบริษัทเป็นชาวจีน เชื่อว่าหากรัฐบาลผ่อนคลายให้นักธุรกิจเดินทางก็จะทำให้นักธุรกิจเหล่านี้กลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ เพราะการซื้อขายที่ดินต้องยอมรับว่าต้องมีการเดินทางมาดูทำเลด้วยตนเอง หากผ่อนคลายให้นักลงทุนเข้ามาก็เชื่อว่ายอดขายจะเร่งตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งบริษัทมีที่ดินที่รองรับนักลงทุนราว 1 หมื่นไร่ ทั้งในระยองและชลบุรี และยังเดินหน้าในการเจรจาซื้อที่ดินต่อเนื่อง แต่จะพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ส่วนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง อย่างในประเทศเวียดนาม บริษัทเดินหน้าในการพัฒนาต่อเนื่อง
นายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยในภาพรวมแล้วเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจต่อการลงทุนมากประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ที่มีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เส้นทางคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล ล้วนเป็นปัจจัยบวกในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดจะสูงขึ้นมากถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี พ.ศ.2580 จึงเป็นปัญหาสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นอย่างมาก
(น้ำเสียในบ่อบำบัด)
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ ได้มีการพัฒนาการบริหารจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีระบบบำบัดน้ำเสียและการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ภายในนิคมฯ ถึง 5 สถานี มีกำลังการผลิตน้ำเสียทั้งหมด 35,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ระบบการหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดสามารถประหยัดหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับการนำน้ำดิบ 1 ลูกบาศก์เมตรมาใช้ได้เท่ากับ 1.4 ลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้อมตะฯ ยังได้นำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นดังกล่าวไปใช้กับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศเวียดนาม เมียนมา และลาว โดยมีเป้าหมายในการประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักการ 3Rs และกระบวนการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ ตามรูปแบบที่ดำเนินการอยู่ จะส่งผลโดยตรงทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดการใช้น้ำ การจัดการน้ำเสีย และลดการแย่งชิงน้ำกับชุมชนในปีวิกฤติภัยแล้ง รวมถึงการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เกิดจากกระบวนการจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้รองรับกับระบบกรอง RO (Reverse Osmosis Membrane) จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการประหยัดน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง
“การพัฒนาเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่มีความมั่นคงและยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และการตัดสินใจของนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมการพัฒนาประเทศให้เติบโต ด้วยความมั่นคงและยั่งยืน เป็นผู้นำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป”
นายชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ “การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่อีอีซี” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ กล่าวว่า “น้ำเสีย” จากภาคอุตสาหกรรม จะเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC ที่สำคัญสามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งได้ดี โดยแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)
(บ่อพักน้ำของนิคมฯ อมตะซิตี้)
โดยจากการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ในปี 2563 พื้นที่อีอีซีมีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำโดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และระยอง ประมาณ 40% และที่มากกว่า 15% ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา, นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก, นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น นอกจากนี้ผลการสำรวจ พบว่า ประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่อีอีซี มีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 15% อาทิ กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-49.5%, กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-37%, กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55%, กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34%, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18% และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15%
มุมมอง “น้ำเสีย” จากนี้จะเปลี่ยนไป เมื่อน้ำเสียจะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคต เทคโนโลยีการจัดการน้ำตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของอุตสาหกรรม เพราะโอกาสของอีอีซีอยู่ที่ความมั่นคงด้านน้ำ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |