"เขาพระยาเดินธง"จากเขาหัวโล้นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียว


เพิ่มเพื่อน    

เขาพระยาเดินธง ในวันนี้ ต้นไม้ค่อยๆเจริญเติบโต มีสีเขียวปกคลุม เขาที่เคยเป็นเขาหัวโล้น


เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ที่มีเนื้อที่  5,971ไร่ แห่งนี้  เคยเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม เพราะถูกบุกรุกทำลาย  จนทุกวันนี้มีทั้งร่องรอยของการตัดต้นไม้ใหญ่ สัตว์ใหญ่น้อยย้ายถิ่นอาศัยออกไป เพราะหมดสภาพป่า แต่ในช่วง4-5ปี ได้มีหน่วยงานต่างๆได้เข้ามาร่วมปลูกป่า พลิกฟื้นป่าให้อุดมสมบูรณ์ จนในปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีจุดชมวิวที่สวยงาม 

ซ่อมฝายไว้ให้ความชุ่มชื่นแก่พื้นดิน

การฟื้นฟูเขาพระยาเดินธง ได้มีภาคเอกชนอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งได้ร่วมกับ กรมป่าไม้ ในการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าแห่งนี้ เป็นเวลาหลายปี จนทำให้ป่ามีความชุมฃื้นขึ้น  และล่าสุด ทางซีพีเอฟ  ได้จัดกิจกรรมซ่อมฝายชะลอน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูฝน ภายใต้โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ปีที่  5 ในระยะที่  1  (ปี 2559-2563) พร้อมขยายโครงการสู่ระยะที่2 ในปี 2564-2568 และมีชุมชนรอบพื้นที่เข้าร่วมกว่า 200 คน เพื่อปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่   พร้อมสร้างเครือข่ายชุมชน ดูแล ปกป้องผืนป่าและคืนสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน      

ชาวบ้านช่วยกันซ่อมแซมฝาย

 

 

 ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า จังหวัดลพบุรีนับว่าเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติ ทั้งน้ำ จากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และป่า ที่เขาพระยาเดินธง เป็นผืนป่าสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ ทั้งยังเป็นป่าต้นน้ำของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จากภาพในตอนนี้ที่ป่าเริ่มมีสีเขียวของต้นไม้ปกคลุม ต่างจากแต่ก่อนที่มีการเข้ามาใช้ทรัพยากรจนนำไปสู่ป่าเสื่อมโทรม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าหรือสร้างฝายที่ทางโครงการได้ดำเนินการ ทำให้รู้สึกมั่นใจว่าป่าจะกลับมาสู่ความสมดุล   และชุมชนได้ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการช่วยกันปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ ตามแนวทางพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ การปลูกป่าในใจคน ทำให้ประชาชน เกิดความรักและหวงแหนต้นไม้ สู่การลงมือทำจริง และการปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก คือ เพียงแค่เราไม่ตัดไม้ทำลายป่า

 

ฝายที่ใช้ชะลอน้ำ บนเขาพญาเดินธง

ด้าน นายดวงมนู ลีลาวณิชย์ รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ของโครงการฯ ในช่วงเข้าสู่ฤดูฝน จำนวน 6 ฝาย จากที่สร้างไว้ 45 ฝาย และยังได้ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 4-5 แสนต้น ทั่วทั้งพื้นที่ 5,971 ไร่ เพราะพื้นที่ภูเขาแห่งนี้เมื่อก่อนมีความแห้งแล้ง ไม่มีต้นไม้ ดินขาดความชุ่มชื่น จึงได้มีการเข้ามาทำโครงการดังกล่าว  เพื่อพลิกฟื้นต้นไม้ พืชพรรณต่างๆ และได้สร้างความชุ่มชื่นให้กับผืนดิน ชะลอการไหลของน้ำเวลาฝนตก สู่การสร้างความสมดุลทางระบบนิเวศ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้กิจกรรมผ่านไปได้ด้วยดี คือ การรวมพลังของชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ ลงมือ และตระหนักถึงความสำคัญของป่าในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง 

“ดังนั้นในระยะเวลา 5 ปีที่ได้ทำโครงการนี้ รู้สึกภูมิใจและดีใจที่ต้นไม้เหล่านี้ค่อยๆเจริญเติบโต มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิดซึ่งจะสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์   ช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยในปี 2562  ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้  39,690 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และแน่นอนว่าในอนาคตป่าแห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปและสถานศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสารคนในชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองและเก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกและแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียง และอนุบาลปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะอีกด้วย” ดวงมนู กล่าว 

 

 

ชาวบ้านเฮ หลังร่วมกันฃ่วยซ่อมแซมฝายสำเร็จ 

 

 

  นายชาตรี  รักษาแผน  ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว   สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้  กล่าวว่า  เขาพระยาเดินธง เป็นป่าเบญจพรรณกว่า 5,000 ไร่ ซึ่งแต่ก่อนมีสภาพแห้งแล้ง  มีปัญหาไฟป่า อีกทั้งยังมีร่องรอยการบุกรุกตัดต้นไม้ใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม 100% แต่เมื่อได้มีการร่วมมือทำโครงการนี้ ก็ได้ใช้ใช้รูปแบบการปลูกป่า  4  รูปแบบที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ คือ  1.การปลูกแบบพิถีพิถันใช้ในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมมาก ด้วยการใช้ระบบน้ำหยด ต้นไม้จะเจริญเติบโตได้เร็ว 2. การปลูก แบบเสริมป่า ใช้ในพื้นที่ที่มีการเสื่อมโทรมเป็นจุดๆ 3.การปลูกป่าแบบวิธีการส่งเสริมการสืบพันธุ์ธรรมชาติ ก็จะเลือกตัดเถาวัลย์ในพื้นที่ที่ต้นไม้ขึ้นหนาแน่น และมีวัชพืช เพื่อเปิดแสงให้กับไม้พื้นบ้านได้งอกขึ้นมา

4. ปลูกป่าเชิงนิเวศ เป็นการปลูกป่าเลียนแบบธรรมชาติ ไม่มีระบบน้ำหยด ส่งผลให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพป่าค่อนข้างเร็ว และทำให้สัตว์ได้กลับคืนสู่ป่า อย่างที่มีการพบ หมาใน หรือนกกระทา และนก ที่มีหลากหลายชนิดมากขึ้น ในส่วนพื้นที่การซ่อมฝายครั้งนี้ จะมีการส่งเสริมอนุรักษ์ต้นน้ำ ลำธาร เพราะเดิมไม่มีการสร้างฝาย ทำให้เวลาฝนตกน้ำจะไหลลงไปยังพื้นที่ด้านล่างค่อนข้างเร็ว และเมื่อพ้นหน้าฝน ดินบนเขาก็จะแห้งแล้ง แต่เมื่อมีการสร้างฝายทำให้น้ำฝนชะลอการไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่าง และยังช่วยให้ดินบนเขากักเก็บความชุมชื่นไว้ได้ และยังเป็นดินที่มีธาตุอาหารเยอะด้วย การอนาคตอาจจะพัฒนาเป็นป่าชุมชน

นายเอกชัย สลุงใหญ่ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เล่าว่า กิจกรรมซ่อมฝายในครั้งนี้ได้พาชาวบ้านมาช่วยซ่อมแซมทั้งผู้เฒ่าผู้แก่ และเด็กๆ ทุกคนก็ดูสนุกสนานที่ได้ทำงานเพื่อส่วนรวม ซึ่งก่อนจะพามาลงพื้นที่ก็ได้มีการให้ความรู้ว่าฝาย มีหน้าที่ช่วยชะลอน้ำเวลาฝนตก และยังทำให้ต้นไม้บนภูเจาได้เติบโต ชาวบ้านก็ได้ตระหนักช่วยกันดูแล แม้ว่าส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ราบลุม แต่ที่นี่ก็เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดตนเองด้วย

เอกชัย สลุงใหญ่ นำทีมลูกบ้านซ่อมฝาย

 

 

ลำใย เพ็งสลุง ชาวบ้านม.1 อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี บอกว่า  เมื่อก่อนที่จำได้ป่าแถวเขาพระยาเดินธงจะมีต้นไม้ใหญ่น้อย ต่อมาก็ถูกทำลายจนเสื่อม กลายเป็นเขาหัวโล้น แห้งแล้ง ถ้าหากฝนตกน้ำฝนก็จะไหลลงไปข้างล่างไวมาก พอ 4-5 ปีที่ผ่านนี้ได้เห็นต้นไม้เล็กๆเริ่มโตขึ้น ดีใจมากๆที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม และได้มีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของฝาย ตนก็หวังว่าจะได้ช่วยดูแลผืนป่าแห่งนี้ตลอดไป  

ลำใย เพ็งสลุง

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"